‘เทคโนโลยีชาวบ้าน’ เปิดเวทีใหญ่
เจาะลึกเทรนด์ ‘ไข่ผำ’ & ‘วานิลลา’
พืชทำเงินที่พร้อมเปลี่ยนโฉมเกษตรไทย
เพื่อผลักดันองค์ความรู้และเปิดโอกาสให้เกษตรกรไทยได้ก้าวทันกระแสพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต ‘เทคโนโลยีชาวบ้าน’ สื่อออนไลน์ด้านการเกษตรครบวงจร ภายใต้เครือมติชน จึงจับมือกับ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดฉากงานสัมมนาแรกของปี ‘ไข่ผำ-วานิลลา : เจาะลึกโอกาสธุรกิจพืชเทรนด์ใหม่’ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.68 ที่ผ่านมา ณ อาคารหนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งเป็นการเจาะลึกศักยภาพของสองพืชเศรษฐกิจมาแรงที่มีแนวโน้มสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ตอบรับกระแสผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและโภชนาการ
สำหรับเวทีสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมด้วยผู้บริหารภาครัฐสังกัดกระทรวงเกษตรฯ นำโดย พีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร, รพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และ อนุวัฒน์ กำแพงแก้ว
ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยพืชอนาคตใหม่ กรมวิชาการเกษตร
นอกจากภาครัฐแล้ว ยังมีผู้ประกอบการแถวหน้าในวงการเกษตรร่วมแบ่งปันประสบการณ์จริง ไม่ว่าจะเป็น ณัฐ-ณัฐวุฒิ จันทร์เรือง เจ้าของสวนจันทร์เรือง จ.จันทบุรี, กวาง-พาพร โตอินทร์ เจ้าของสวนแม่หม่อน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และ นิกกี้-วิสุตา โลหิตนาวี เจ้าของไร่วานิลลา Khao Yai Vanilla
โดยมี ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), ปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ กรชุลี เสนะเวส ผู้อำนวยการกองบรรณาธิการเส้นทางเศรษฐีและเทคโนโลยีชาวบ้าน พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมให้การต้อนรับ
⦁‘ไข่ผำ’ และ ‘วานิลลา’ พืชโอกาสใหม่ที่เกษตรกรต้องจับตา
เปิดเวทีสัมมนาด้วยปาฐกถาพิเศษจาก ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ในหัวข้อ ‘ทิศทางพืชมูลค่าสูงและโอกาสของเกษตรไทย’ ซึ่งได้กล่าวว่า ‘ไข่ผำ’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญและดำเนินการศึกษาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) โดยผลการวิจัยชี้ชัดว่า ไข่ผำเป็นพืชที่มีโปรตีนสูงและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เหมาะอย่างยิ่งในยุคที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร ไม่เพียงแต่ปริมาณอาหารที่เพียงพอ แต่ยังรวมถึงคุณภาพและสารอาหารที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ ในระดับนานาชาติยังมองเห็นศักยภาพของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านเกษตรกรรม ด้วยสินค้าเกษตรหลายชนิดของไทยที่สามารถส่งออกครองอันดับ 1 ของโลก
“เมื่อกล่าวถึงพืชเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่มักนึกถึง ข้าว อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน แต่ในความเป็นจริง พืชเศรษฐกิจมีความหลากหลายมากกว่านั้น ทางกระทรวงเกษตรฯกำลังผลักดันแนวคิด ‘เกษตรมูลค่าสูง’ ซึ่งได้รับการบรรจุในแผนงบประมาณปี 2568 โดยกำหนดกลุ่มพืชมูลค่าสูงจำนวน 14 ชนิด และในจำนวนนี้มี 3 ชนิด ที่ได้รับการผลักดันอย่างเร่งด่วน ได้แก่ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง ซึ่งล้วนเป็นพืชที่มีความต้องการสูงในตลาดโลก” รมว.เกษตรฯกล่าว
นอกจากพืชเศรษฐกิจสำคัญเหล่านี้แล้ว ศ.ดร.นฤมลกล่าวด้วยว่า กระทรวงเกษตรฯยังเล็งเห็นโอกาสของพืชเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน นั่นคือ ‘วานิลลา’ และ ‘ไข่ผำ’ ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร การจัดงานสัมมนาโดยเครือมติชนในครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันให้พืชทั้งสองชนิดเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น เปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการเพาะปลูกพืชหลักที่มีอยู่เดิม หรือแม้กระทั่งใช้เป็นพืชเศรษฐกิจหลักในการประกอบอาชีพ
⦁ปรับตัวเกษตรกรไทย สู่เกษตรมูลค่าสูง
อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของเวทีสัมมนาคือ แนวทางเชิงรุกของกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้การนำของ รพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และ พีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ร่วมพูดคุยในวงเสวนาช่วง Special Talks ภายใต้หัวข้อ ‘Renewable ปรับเกษตรไทย สู่เกษตรมูลค่าสูง’
รพีภัทร์ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรให้ความสำคัญกับนโยบาย ‘ตลาดนำการวิจัย’ โดยมุ่งพัฒนางานวิจัยให้ตรงกับความต้องการตลาด รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรอย่างเป็นระบบ เช่น การพัฒนาพันธุ์พืชที่ทนต่อสภาพอากาศ และการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ นโยบายตลาดนำการวิจัย พัฒนาต่อยอดมาจากตลาดนำการผลิต เมื่อเรามีข้อมูลทางวิชาการที่แม่นยำแล้ว ก็จะสามารถกำหนดชนิดของพืชที่จะส่งเสริมให้กับพี่น้องเกษตรกรได้เลือกใช้ตามสภาพพื้นที่
สำหรับกลุ่ม ‘อาหารแห่งอนาคต’ กรมวิชาการเกษตรให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ โดยมีเทคโนโลยี ‘เพาะเลี้ยงไข่ผำ’ ให้ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งผลักดันแนวทางการผลิตพืชคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นอีกโมเดลสำคัญที่ช่วยยกระดับการผลิตให้มีความปลอดภัยและมีมาตรฐานสูง ที่เรียกว่า ING model ประกอบด้วย 1.Increase Productivity ใช้พันธุ์ดี มีคุณภาพและพัฒนาพันธุ์ด้วยเทคนิค GEds ให้มีผลผลิตสูง 2.New Technology/Innovation ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สั่งการอย่างแม่นยำ เพื่อลดแรงงาน เช่น เครื่องจักรกล โดรนจัดการน้ำและปุ๋ย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการลดต้นทุนแรงงาน และ 3.หัวใจสำคัญอยู่ที่การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Green Management ผลิตตามเกณฑ์มาตรฐาน GAP ให้เกิดความปลอดภัย ลดปัญหา PM2.5 และหันมาใช้สารชีวภัณฑ์ ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี ทั้งหมดนี้คือ การปรับตัวของเกษตรกรไทยสู่เกษตรมูลค่าสูง
ด้าน พีรพันธ์ ได้เสริมถึงความท้าทายในการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยระบุว่า การเปลี่ยนไข่ผำเป็นโปรตีนเสริมอาหารเพื่อสุขภาพจะต้องผ่านกระบวนการเข้าห้องแล็บตามมาตรฐาน ISO14000 ซึ่งพี่น้องเกษตรกรต้องเตรียมตัวในเรื่องนี้ และถ้าหากอยากยกระดับตนเองมากกว่าการทำวานิลลาเป็นไอศกรีม ก็ต้องทำสารสกัดกลิ่นวานิลลาที่ได้มาตรฐาน พร้อมส่งออกไปยังต่างประเทศ
“ส่วนเรื่องรายได้เกษตรกรนั้น พี่น้องเกษตรกรต้องคิดว่า สินค้าที่เราปลูกมีผลผลิตออกทุกวันหรือไม่ ถ้าออกทุกวันก็แสดงให้เห็นว่าเรามีรายได้ทุกวัน เราต้องวางแผนก่อนว่า ถ้าอยากจะมีรายได้ทุกวัน ต้องปลูกอะไร สินค้าเกษตรบางอย่างออกเป็นฤดูกาล หรือพืชไร่ที่ใช้เวลา อาทิ ข้าวโพด 4 เดือน ได้ผลผลิต 1 ครั้ง มันสำปะหลัง 10 เดือน ออกผลผลิต เพราะฉะนั้น ต้องวางแผนผลผลิตให้มีความหลากหลายและมีรายได้ต่อเนื่อง” พีรพันธ์แนะนำ
นอกจากนี้ พีรพันธ์ยังกล่าวเสริมว่า การผลิตที่มีความแม่นยำสูง หรือการเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน เกษตรกรต้องมั่นใจว่าผลผลิตของตนมีมาตรฐานและสามารถตรวจสอบได้ เช่น ไข่ผำ ต้องมีโปรตีน 40% ขึ้นไป คำถามคือ เราสามารถปลูกและเลี้ยงให้ได้แบบนี้ทุกล็อตหรือไม่ การมีมาตรฐานรองรับแบบนี้จะทำให้การเกษตรแม่นยำ มีความสำคัญในอนาคต ทั้งยังช่วยเรื่องการประหยัดต้นทุนและลดการสูญเสียทรัพยากร ซึ่งเป็นความยั่งยืน ถ้าอยากได้รายได้ที่มั่นคงก็ต้องทำให้ได้
⦁สองพืชเศรษฐกิจมาแรง โอกาสใหม่ของเกษตรกรไทย
ทางฟากของเกษตรกรรุ่นใหม่อย่าง ณัฐ-ณัฐวุฒิ จันทร์เรือง เจ้าของสวนจันทร์เรือง จ.จันทบุรี ผู้นำร่องการเลี้ยงผำเชิงอุตสาหกรรม ด้วยวิธีการเลี้ยงในระบบปิดแนวตั้ง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐาน ในงานนี้ก็ได้มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดในเวทีสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ภายใต้หัวข้อ ‘ปลดล็อกศักยภาพ ‘ไข่ผำ’ พืชเทรนด์ใหม่ ตอบโจทย์อนาคตยั่งยืน’
ณัฐวุฒิบอกว่า ‘ไข่ผำ’ ถือเป็นพืชน้ำขนาดเล็กที่มีโปรตีนสูงและเป็นแหล่งของสารอาหารสำคัญ อาทิ กรดอะมิโน วิตามิน และแร่ธาตุ จึงถูกยกให้เป็น ‘ซุปเปอร์ฟู้ด’ ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงไข่ผำให้ได้มาตรฐานจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพน้ำ ระบบการเลี้ยง และมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร
“ผมจึงนำระบบการเลี้ยงแบบ ‘รางแนวตั้ง’ มาใช้ช่วยให้การจัดการง่ายขึ้น และสามารถควบคุมคุณภาพน้ำได้ดีขึ้น ระบบน้ำที่ใช้เป็นระบบ RO (Reverse Osmosis) ซึ่งมีความสะอาดและปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อน
“แต่ถ้าตั้งรางเลี้ยงไว้กลางแจ้งโดยไม่มีการป้องกัน จะเสี่ยงต่อปัญหาลูกน้ำยุงลายและสิ่งปนเปื้อนจากภายนอก แต่เมื่อทำเป็นรางแนวตั้งในระบบปิด ก็สามารถควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมสารอาหาร และรักษาคุณภาพของไข่ผำได้อย่างสมบูรณ์” ณัฐวุฒิอธิบายพร้อมให้คำแนะนำการเลี้ยงไข่ผำ
ในอีกมุมหนึ่ง ‘วานิลลา’ ก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้ และมีแนวโน้มเติบโตสูงในตลาดโลก โดยเวทีสัมมนาครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก วิสุตา โลหิตนาวี เจ้าของไร่วานิลลา Khao Yai Vanilla จ.นครราชสีมา มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ช่วง Special Talks ในหัวข้อ ‘วานิลลา พืชมูลค่าสูง ปลูกอย่างไร ให้เป็นที่ต้องการของตลาด’ ซึ่งความตอนหนึ่งบอกว่า แนวคิดสำคัญของ Khao Yai Vanilla คือ คุณภาพและเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญสูงสุด เพราะเชื่อว่าแหล่งปลูกมีผลต่อรสชาติและกลิ่นของวานิลลา โดยเฉพาะทำเลที่ตั้งในเขาใหญ่ ที่มีสภาพอากาศ ดิน และน้ำ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
“เราเคยไปเข้าร่วมงานประชุมวานิลลาที่เกาะรียูเนียน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของวานิลลาชั้นนำระดับโลก และมีโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบรสชาติวานิลลาลองชิมวานิลลาของเรา เขาก็บอกว่า มันมีกลิ่นหอมซับซ้อน มีกลิ่นช็อกโกแลต ครีม ลูกเกด มีความเป็นเครื่องเทศเล็กน้อย และมีกลิ่นวู้ดดี้บางๆ
“สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า วานิลลาที่ปลูกต่างพื้นที่ก็ย่อมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งของเรา นอกจากนี้ เรายังนำประสบการณ์จากการทำไวน์ และเทคโนโลยี AI มาผสานกับระบบสมาร์ทฟาร์มวานิลลา เพื่อพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานระดับโลก โดยเราเรียกผลิตภัณฑ์ของเราว่า Single Origin เพราะวานิลลา
ของเรามาจากแหล่งเดียวกันทั้งหมด ก็คือ เขาใหญ่ ซึ่งช่วยสร้างจุดขายและความแตกต่างในตลาดได้เป็นอย่างดี” วิสุตาเผย
การจัดเวทีสัมมนา ‘ไข่ผำ-วานิลลา : เจาะลึกโอกาสธุรกิจพืชเทรนด์ใหม่’ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสใหม่ของเกษตรไทย ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงไข่ผำ หรือการปลูกวานิลลา ต่างก็มีศักยภาพสูงในตลาดโลก และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาล สิ่งสำคัญคือเกษตรกรต้องปรับตัวใช้เทคโนโลยีและให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐาน เพื่อให้สินค้าเกษตรไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และตอบโจทย์แนวคิด ‘เกษตรมูลค่าสูง’ ที่ยั่งยืนและเติบโตได้ในระยะยาว