‘ป้ายรถเมล์’#ยุคชัชชาติ คุ้มแดด คุ้มฝน คุ้มงบ? คำตอบที่ต้องฟังหลังฝุ่นตลบ

‘ป้ายรถเมล์’#ยุคชัชชาติ
คุ้มแดด คุ้มฝน คุ้มงบ?
คำตอบที่ต้องฟังหลังฝุ่นตลบ

นับเป็นกว่า 1 สัปดาห์เต็มๆ หลังข่าวการติดตั้งป้ายรถเมล์ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ศาลาที่พักผู้โดยสาร’ รูปแบบใหม่ให้ชาวกรุงเทพมหานครได้ใช้ในเวอร์ชั่นล่าสุดถูกเผยแพร่ออกมา

และเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์เต็มๆ เช่นกันที่ กทม.ถูกวิพากษ์วิจารณ์ อีกทั้งตั้งคำถามใน 2 ประเด็นหลัก

1.ศักยภาพในการบังแดด กันฝน และขนาดพื้นที่ให้ผู้คนพักคอยน้อยเกินไปหรือไม่

ADVERTISMENT

2.คุ้มค่าไหมกับงบประมาณศาลาแต่ละหลังที่อยู่ระหว่าง 2.3-3.2 แสนบาท

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการนำภาพป้ายรถเมล์ยุคผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครคนก่อนหน้า อย่าง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มาเปรียบเทียบว่าเลิศกว่า ปังกว่า เบิ้มกว่า ทันสมัยกว่า ฯลฯ

ADVERTISMENT

ร้อนถึง กทม.ต้องชี้แจงอย่างน้อย 3 ครั้ง เริ่มจากระดับผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง ที่อธิบายว่า งบข้างต้น รวมรื้อของเก่า เดินไฟ ระบายน้ำ ปูพื้นใหม่ ฯลฯ พร้อมย้ำด้วยว่า จัดซื้อจัดจ้างตามหลักเกณฑ์และราคาต่ำลงหลัง e-bidding (การประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือประมูลออนไลน์)

ตามด้วย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบัน ออกมาอธิบายเป็นข้อๆ หวังเคลียร์ใจชาวกรุงฯ ล่าสุด วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ตรวจการติดตั้งศาลาฯ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สามยอด ย่านเจริญกรุง พร้อมให้สัมภาษณ์สื่ออีกด้วย

⦁โฉมใหม่ ‘อารยสถาปัตย์’ 2.3-3.2 แสน รวมค่ารื้อถอน เดินไฟ ระบายน้ำ ปูพื้น และอื่นๆ เพียบ

ก่อนลงดีเทลอื่นใด ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการติดตั้งศาลาที่พักผู้โดยสารรูปแบบใหม่ โดยย้ำตั้งแต่ประโยคแรกของ ‘ข่าวแจก’ สื่อ ว่า ‘เป็นมิตรกับคนเดินเท้า’ มีจุดเด่นคือสามารถเลือกติดตั้งได้เหมาะสมกับกายภาพและข้อจำกัดของพื้นที่ที่แตกต่างกัน ไม่กีดขวางและลดผลกระทบต่อผู้ใช้ฟุตปาธ ดีไซน์เรียบง่าย โปร่งสบาย ติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างพร้อมข้อมูลสายรถประจำทาง รวมทั้งเตรียมพื้นที่รองรับฟังก์ชั่นเพื่อเป็น Smart Bus Shelter ในอนาคต มุ่งอำนวยความสะดวก รักษาความปลอดภัย ส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของรูปแบบ มีทั้ง 3 ที่นั่ง และ 6 ที่นั่ง ได้แก่ 1.Type M (C2) ขนาด 2X3 เมตร จำนวน 3 ที่นั่ง 2.Type L (C3) ขนาด 2X6 เมตร จำนวน 6 ที่นั่ง โดยในปีงบประมาณ 2566 ได้ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 30 หลัง ต่อมาในปีงบประมาณ 2567 ก่อสร้างแล้วเสร็จ 60 หลัง อยู่ระหว่างก่อสร้าง 29 หลัง และปีงบประมาณ 2568 นี้ได้สร้าง 300 หลัง ทั่วกรุงเทพฯ

ครั้นภาพศาลาโฉมใหม่ว่อนเน็ต เจอคอมเมนต์เต็มๆ ทั้งจากเพจอินฟลูฯ, แพลตฟอร์มออนไลน์ของสื่อหลัก กระทั่งเฟซบุ๊ก ‘กรุงเทพมหานคร’

เพียงข้ามคืน 4 กุมภาพันธ์ สิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เจ้าภาพ รีบแจงอย่างไวว่า ศาลาที่พักผู้โดยสารรูปแบบใหม่แบบ 3 ที่นั่ง ตกราว 230,000 บาท ส่วนแบบ 6 ที่นั่ง ใช้งบราว 320,000 บาท ทว่า ราคานี้ครอบคลุมงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค งานฐานรากคอนกรีตเสริมเหล็ก งานเชื่อมประกอบโครงสร้างเหล็ก งานหลังคาเมทัลชีท งานรางน้ำ งานม้านั่ง งานระบบไฟฟ้าแสงสว่างภายใน และงานบรรจบไฟฟ้าสาธารณะกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นต้น

พูดง่ายๆ คือ ไม่ใช่แค่ราคาของตัวศาลา หรือป้ายรถเมล์เท่านั้น

นอกจากนี้ยังเผยว่า ราคาค่าก่อสร้างศาลารถโดยสารรูปแบบใหม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเมื่อประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคาจึงต่ำลงอีก

ส่วนประโยชน์ใช้สอยที่ถูกเมนต์ถามรัวๆ ผอ.สำนักจราจรฯ กทม.ยืนยันว่า สามารถบังแดดบังฝนด้วยหลังคาขนาดใหญ่และแผ่นอะคริลิคใสด้านหลัง มีพื้นที่นั่งคอยเหมาะสม สวยงามกลมกลืน ไม่บดบังทัศนียภาพ ไม่สร้างจุดอับสายตา และที่สำคัญคือออกแบบโดยคำนึงถึงการประหยัดพื้นที่ทางเท้า ไม่กีดขวางทางเดิน การก่อสร้างแต่ละจุดจึงจำเป็นต้องรัดกุมเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคใต้ดินและแนวหน้าร้านของเอกชน ซึ่งล้วนมีรายละเอียดและข้อจำกัดที่แตกต่างกันและต้องใส่ใจอย่างมาก

ทั้งหมดนี้เป็นไปภายใต้แนวคิด ‘ศาลารอรถเมล์ใหม่สำหรับทุกคน’ ผ่านการออกแบบด้วยหลัก Universal Design (UD) ที่มีศัพท์บัญญัติใหม่ในภาษาไทยว่า ‘อารยสถาปัตย์’ คือ หลักการออกแบบสภาพแวดล้อมให้คนทุกกลุ่ม ทั้งคนรอรถเมล์ รถโดยสารสาธารณะ ผู้ใช้งานทางเดินเท้า ผู้พิการ ผู้สูงวัย ฯลฯ

“รถโดยสารสาธารณะเป็นรูปแบบการเดินทางหลักของคนกรุงเทพมหานคร รวมถึงผู้มีรายได้น้อยและนักเรียน-นักศึกษา ปัจจุบันมีการใช้งานมากกว่า 7-9 แสนเที่ยวต่อวัน การพัฒนาศาลารอรถเมล์เป็นหนึ่งในหัวใจในการดึงดูดให้ประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะ ควบคู่การเพิ่มป้ายหยุดรถโดยสารในจุดที่ขาด และการบอกข้อมูลการเดินทางและระยะเวลารอรถโดยสาร ซึ่งอยู่ระหว่างการขอข้อมูล GPS รถโดยสารสาธารณะจากกรมการขนส่งทางบกอีกด้วย” ผอ.สำนักจราจรฯ กทม.อธิบาย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ากระแสตั้งคำถามยังคงเดิม แถมเพิ่มเติมด้วยประเด็นปลีกย่อย กระทั่งผู้ว่าฯกทม.ออกมาเคลียร์เป็นข้อๆ ให้พิจารณา

⦁ป้ายรถเมล์ ‘อย่าคิดว่าง่าย’ ใช้ราคากลาง ตรวจสอบได้ ‘แต่ไม่ค่อยมีคนประมูล’

8 กุมภาพันธ์ ผู้ว่าฯชัชชาติจัดเต็ม เริ่มที่ข้อมูลพื้นฐาน คือ ป้ายรถเมล์ทั้งหมดในกรุงเทพฯมี 5,601 แห่ง แต่มีเพียง 2,520 แห่ง ที่เป็น ‘ศาลาที่พักผู้โดยสาร’ แบบถาวร มีหลังคาเรียบร้อย เอกชนรับไปทำ 341 แห่ง ส่วนอีกกว่า 3,000 แห่ง เป็น ‘เต็นท์ชั่วคราว’ ซึ่งก็มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเพิ่มเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน โดยเป็นการทดแทนจุดที่ไม่มีศาลา หรือจุดที่เป็นเต็นท์ชั่วคราว ไม่ได้ไปรื้อของเดิม

“ที่จะสร้างเพิ่มอย่าคิดว่าทำง่าย ต้องไปรื้อฟุตปาธออก เชื่อมต่อสาธารณูปโภคใต้ดิน ต้องเดินไฟเพิ่ม และทำได้เฉพาะเวลากลางคืน เพื่อไม่ให้กีดขวางการสัญจร” ผู้ว่าฯชัชชาติอธิบาย ก่อนไปถึงประเด็นร้อนแรง กับความ ‘แพง’ ที่ถูกวิพากษ์

“ประเด็นแรก คนบอกว่าแพง เรื่องราคาก็เป็นราคากลาง ตรวจสอบได้ และทำตามระเบียบขั้นตอนของทางราชการ สามารถชี้แจงได้ว่าก่อสร้างอย่างไร ฐานรากเท่าไหร่ มีการประกาศขึ้นเว็บไซต์ให้คนเข้ามาประมูลแข่งขันกัน เราเปิดกว้าง ไม่ได้ปิดกั้นอะไร ระหว่างขั้นตอนทีโออาร์ก็ไม่มีผู้ร้องเรียน

แต่ปรากฏว่าไม่ค่อยมีคนมาประมูล เพราะเป็นงานยาก พื้นที่กระจัดกระจาย ห่างกัน ผู้ประกอบการใดที่เคยทำงานก่อสร้างมูลค่าประมาณล้านบาท ไม่ว่าของราชการหรือเอกชน ก็สามารถประมูลเข้ามาได้ ตอนนี้เพิ่งทำไปได้ไม่กี่แห่ง ถ้าใครบอกว่าทำราคาได้ถูกกว่า ก็เชิญเลยครับ 6-7 หมื่นบาทก็ดีเลย ช่วยประหยัดได้อีก ผมยิ่งดีใจ เชิญมาร่วมประมูลได้เลย” ชัชชาติชี้ชวน

⦁สวยหรือไม่ อยู่ที่มุมมอง แต่ต้อง ‘แข็งแรง’ แจงเหตุ ‘ทำไมไม่ให้เอกชนทำ’?

ส่วนเรื่องความสวยงาม ผู้ว่าฯกทม.บอกว่า ยินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกคน โดยสามารถแนะนำเรื่องการออกแบบมาได้ แต่ทุกอย่างก็ทำตามระเบียบอยู่แล้ว ศาลาเหล่านี้ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ต้องแข็งแรงมั่นคง ถ้าล้มทับคนก็มีความผิด

“ประเด็นที่ 2 เรื่องความสวยงาม จริงๆ แล้วป้ายรถเมล์ไม่ได้ทำง่ายๆ คือต้องไม่เป็นพื้นที่ปิดล้อม คนใช้ทางเท้าเดินสะดวก กันแดดกันฝนได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถปิดกั้นด้านข้างได้ เพราะต้องให้วีลแชร์ผ่านได้

การออกแบบเกิดจาก CITY LAB ที่มหาวิทยาลัยนวมินทร์มาช่วย โดยจัดทำใน 2 รูปแบบ คือ Type M มี 3 ที่นั่ง และ Type L มี 6 ที่นั่ง ปรับใช้ตามความเหมาะสมของขนาดพื้นที่ เน้นประโยชน์ใช้สอย ไม่บดบังอาคารพาณิชย์ พยายามออกแบบมาให้เรียบง่ายที่สุด แล้วก็ทำเป็นที่ที่ยาวไม่ได้ เพราะกลัวคนจะมานอน ต้องทำเป็นที่นั่ง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้กันทั่วโลก

ส่วนเรื่องป้ายโกโรโกโส อยู่ที่คนมอง อาจจะเทียบกับแบบเก่าแบบใหม่ แต่เชื่อว่าดีกว่าไม่มี” ชัชชาติกล่าว

สำหรับประเด็นสุดท้ายที่เกิดคำถามว่า ทำไมไม่ให้เอกชนทำ ผู้ว่าฯชัชชาติให้คำตอบว่า หลายปีก่อนหน้านี้มีเอกชนมาทำให้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ฟรี โดยเป็นการช่วย ‘ปรับปรุง’ ป้ายรถเมล์ที่มีอยู่เดิม จำนวน 350 แห่ง และช่วยบำรุงรักษา 341 แห่ง รวม 691 แห่ง ไม่ได้เป็นการสร้างเพิ่มขึ้นมาใหม่

โดยขอแลกกับการใช้พื้นทางเท้าติดตั้งป้ายโฆษณารูปแบบป้ายสี่เหลี่ยม (แท่งไอติม) จำนวน 1,170 ป้ายทั่ว กทม. เป็นระยะเวลา 10 ปี

“ที่บอกว่าทำไมไม่ให้เอกชนทำฟรี ก็ต้องแลกกันกับการติดป้ายโฆษณา เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าแล้ว ไม่อยากพูดอะไร มันมีที่มาที่ไป ถามว่าจะอยากแค่ให้ไปติดป้ายโฆษณาเพิ่มไหม เราก็ไม่อยากให้ติดเพิ่ม เพราะจะดูเลอะเทอะมากขึ้นไปอีก” ชัชชาติกล่าวในข่าวแจกสื่อ โดยไม่ปรากฏชื่อบุคคลใด ก่อนทิ้งท้ายด้วยคำขอบคุณที่ช่วยแนะนำตามสไตล์

ในคำถามเดียวกันนี้ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคประชาชน เคยร่วมวงคอมเมนต์ในเพจข่าวสาร ยกข้อมูลเทียบป้ายรถเมล์ 2 ผู้ว่าฯกทม. โดยระบุว่า ยุคผู้ว่าฯชัชชาติ กทม.ลงทุนเองราว 3 แสนบาทต่อ 1 ป้าย ขณะที่ยุคผู้ว่าฯอัศวิน มีการดีลให้เอกชนสร้าง 600-700 ป้าย มูลค่าราว 400-500 ล้านบาท เฉลี่ยต้นทุนป้ายละ 7.5 แสน และจ่ายเงินให้ กทม.ปีละ 30 ล้าน สัญญา 10 ปี รวม 300 ล้าน แลกกับ ‘สัมปทาน’ ตั้งป้ายโฆษณาบนฟุตปาธ 1,200 ป้าย โดยเก็บค่าโฆษณาเองทั้งหมด ซึ่ง ส.ส.แบงค์ ศุภณัฐ คำนวณว่า ตลอด 10 ปี เอกชนน่าจะโกยรายได้หลายพันล้าน

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำถามจากประชาชน และคำตอบจากกรุงเทพมหานคร อีกทั้งคอมเมนต์ที่ชวนขบคิดพิจารณาว่าจะกดปุ่มไฟเขียวให้ผ่าน หรือส่ายหน้าว่าไม่เมกเซนส์ ก็ต้องลองใจเย็นๆ ฟังข้อมูลรอบด้านประกอบการฟันธง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image