นั่งเพลิน-เดิน-วิ่ง
ที่‘เปรมประชาวนารักษ์’
ปอดแห่งใหม่ล่าสุดของพื้นที่ กทม. อยู่ที่ริมถนนกำแพงเพชร 6 หรือโลคัลโรด ติดกับคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่ ไปมาสะดวกด้วยถนนกำแพงเพชร วิภาวดี และรถไฟฟ้า หรือจะนั่งเรือไปก็ไม่ผิดกติกาอันใด สนามบินดอนเมืองก็ไม่ได้ไกลจากจุดนี้ มีนามพระราชทานว่า “สวนเปรมประชาวนารักษ์”
ประชาชนไม่น้อยเริ่มใส่รองเท้าวิ่ง เข้าไปออกกำลังกายยามเช้าหรือเย็นกันแล้ว
ที่มาของสวนแห่งนี้ ดร.เอ้ คงกระพัน อินทรแจ้งซีอีโอของ ปตท. เผยว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2567 กลุ่มบริษัท ปตท. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ ดำเนินโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากร และพัฒนาพื้นที่ถนนกำแพงเพชร 6 แนวขนานคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร จัดสรรพื้นที่ 10 ไร่ สร้างเป็นสวนสาธารณะภายใต้แนวคิด “สืบสาน รักษา ต่อยอด”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนแห่งนี้ว่า “เปรมประชาวนารักษ์” หมายถึง สวนที่นำความสุขและความเบิกบานใจมาสู่ประชาชน พร้อมพระราชทานพระบรม
ราชานุญาตเชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ ไปประดิษฐานที่ป้ายชื่อสวนสาธารณะ
สวนเปรมประชาวนารักษ์ออกแบบเป็นสวนใจกลางเมือง มีเส้นทางเชื่อมต่อระบบล้อ ราง เรือ และทางอากาศ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ สัมผัสธรรมชาติ และศึกษาโครงการพระราชดำริผ่านอาคารนิทรรศการชลวิถีธีรพัฒน์
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนเปรมประชาวนารักษ์ พร้อมกับทรงปลูกต้นประดู่ป่า จำนวน 1 ต้น ซึ่งเพาะเมล็ดจากต้นประดู่ป่าที่ทรงปลูกต้นที่ 100 ล้าน ณ แปลงปลูกป่า FPT 49 ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ ของ ปตท. ณ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปลูกต้นพิกุล จำนวน 1 ต้น เพื่อเป็นสิริมงคล เสริมส่งความร่มเย็นในพื้นที่
เป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นสิริมงคล
เมื่อวันที่ 7-8-9 ก.พ.2568 ปตท. ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และบริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จัดงาน “มหัศจรรย์เปรมประชาวนารักษ์” ขึ้น เปิดโอกาสให้ประชาชนได้สัมผัสบรรยากาศอันร่มรื่นของสวนเปรมประชาวนารักษ์อย่างเป็นทางการ พร้อมร่วมกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย
ในฐานะที่แลนด์มาร์กสีเขียวแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานครแห่งนี้ เป็นสวนสาธารณะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ได้มาพักผ่อนหย่อนใจ ใช้เป็นพื้นที่สันทนาการ เชื่อมโยงวิถีชุมชนโดยรอบ โดยมี ปตท.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่นี้ ได้แบ่งออกมา 10 ไร่ จัดสร้างเป็นสวนสาธารณะ เพื่อสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โดยภายหลังจากงาน “มหัศจรรย์เปรมประชาวนารักษ์” จะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งสวนเปรมประชาวนารักษ์จะเปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. เวลา 05.00-20.00 น.
ตลอด 3 วัน ของ “มหัศจรรย์เปรมประชาวนารักษ์” มีประชาชนหลั่งไหลมาชมสวน เดิน-วิ่งออกกำลัง และชมนิทรรศการ ร่วมกิจกรรมภายในงาน เช่น ล่องเรือชมคลองเปรม ฯลฯ
ในวันที่ 8 ก.พ. “ซีอีโอคงกระพัน” นำทีมฝ่ายบริหาร ปตท. มาร่วมงานกันอย่างพร้อมหน้า
มีทั้งประธานบอร์ด ปตท. ฉัตรชัย พรหมเลิศ, บอร์ด ปตท. จตุพร บุรุษพัฒน์, ปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการพีทีที โกลบอล เคมิคอล, พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา ประธานบอร์ดไทยออยล์, บัณฑิต
ธรรมประจำจิต ซีอีโอไทยออยล์,
อดีตซีอีโอ อย่าง ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ก็มาร่วมลงเรือล่องคลอง และร่วมเสริมข้อมูลความรู้ เรื่องการจัดหาพื้นที่ก่อสร้างสำนักงาน ปตท.
คลองเปรมฯ ที่ทุกคนได้เห็น ขณะเดินทางด้วยเรือ มีรูปโฉมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก
น้ำในคลองสะอาดมากขึ้น และยังอยู่ในกระบวนการที่กำลังพัฒนาให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น โดยมีการขุดลอก ปรับพื้นที่ริมน้ำ
บ้านเรือนริมคลองที่เคยระเกะระกะหายไป ในเส้นทาง 7 กม.จากท่าเรือของสวนเปรมประชาฯ ไปที่แยกรัชโยธินก่อนวนกลับ จะพบชุมชนประชาร่วมใจ 1 หลังวัดเสมียนนารี และประชาร่วมใจ 2 ที่ประชาชนรื้อบ้านตามแนวริมคลอง เข้าไปอยู่บ้านใหม่สีฟ้าสดใส มีต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้ก่อนสร้างบ้านใหม่ให้ร่มเงา มีถนนริมคลอง เว้นพื้นที่เป็นสวนเล็กๆ สำหรับพักผ่อนในชุมชน
เมื่อเรือของผู้มาเยือนแล่นผ่าน จะมีชาวชุมชนโบกมือ ส่งเสียง รอยยิ้มทักทายอย่างเป็นมิตร
ถ้าจะเดินทางต่อไป จะพบอีกหลายชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่บ้านเรือนทั่วไปริมคลอง มีการตกแต่งทำความสะอาดอย่างสวยงาม
ประวัติศาสตร์ของคลองแห่งนี้ยิ่งน่าสนใจ และมีความเป็นมากว่า 150 ปี ข้อมูลจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า “คลอง” คือสิ่งสำคัญควรจะมีขึ้นทุกปี แม้ต้องออกพระราชทรัพย์ก็ไม่ทรงเสียดาย
ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฏว่าในรัชสมัยของพระองค์ มีการขุดคลองมากถึง 18 คลอง เป็นคลองที่ราชการร่วมกับราษฎรลงทุนขุด 11 คลอง และเอกชนขุด 7 คลอง
ทรงขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.2411 พอถึง พ.ศ.2412 โปรดให้ขุดคลองแรกในรัชกาลขึ้น คือ “คลองเปรมประชากร” จ้างแรงงานชาวจีนขุด ทำให้มีศาลเจ้าในความเชื่อของจีนริมคลองนี้หลายแห่ง
คลองขุดใหม่นี้ เริ่มต้นที่ “คลองผดุงกรุงเกษม” ฝั่งตรงข้ามวัดโสมนัสวิหาร ปลายคลองไปออกเกาะใหญ่ ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยา มาบรรจบกับแม่น้ำน้อยที่บางไทร ร.5 จึงโปรดให้ขุดคลองเปรมประชากร จากในพระนครไปออกที่บางไทร เพื่อรับน้ำเข้ามาในพระนครได้ตลอดทั้งปี
เริ่มลงมือขุดตั้งแต่ พ.ศ.2412 ใช้เวลาขุดราว 18 เดือน แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2413 จ้างคนจีนขุดได้คลองยาว 1,271 เส้น 3 วา สิ้นพระราชทรัพย์ 2,544 ชั่ง กับ 8 บาท
เนื่องจากเป็นคลองแรกที่ขุดขึ้นในรัชสมัย จึงโปรดให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองคลอง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2415 มีพิธีสงฆ์สวดมนต์เลี้ยงพระตามประเพณี ตกกลางคืนมีจุดประทีป ตามไฟ จุดดอกไม้ไฟโคมลอย เป็นงานใหญ่งานหนึ่งในครั้งนั้น
รัชกาลที่ 5 ประทับเรือพระที่นั่งไปตามคลอง มีเรือขุนนางข้าราชการตามเสด็จจำนวนมาก เสด็จฯไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางไทร แล้วล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยา เสด็จฯถึงพระบรมมหาราชวังในคืนนั้น
นั่นคือประวัติศาสตร์ของคลอง นอกจากนั่งเรือล่องคลองแล้ว เมื่อขึ้นจากคลอง ยังมีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ชลวิถีธีรพัฒน์” บอกเล่าเรื่องราวของโครงการพระราชดำริตามพระบรมราโชบายในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มุ่งเน้นโครงการฯ การพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ
หรืออาจเดินไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้ขอพรศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือหากมีเวลา น่าจะไปสักการะ โรงเจซินซุ่นตั๋ว สร้างขึ้นปี พ.ศ.2430 ที่มีกระถางธูปมีพระปรมาภิไธย จปร. ที่ ร.5 พระราชทานเมื่อคราวเสด็จทรงเยี่ยมคลอง
เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯเมื่อ 150 กว่าปีก่อน ที่ฝังอยู่ในชีพจรของคลองสำคัญแห่งนี้
ในงาน “มหัศจรรย์เปรมประชาวนารักษ์” นอกจากล่องคลองส่อง 2 ฝั่งกรุงเทพฯที่ไม่ค่อยได้เห็นกันมาก่อน
ยังมีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ชลวิถีธีรพัฒน์”บอกเล่าเรื่องราวของโครงการพระราชดำริตามพระบรมราโชบายในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มุ่งเน้นโครงการฯ การพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ
รายการบนเวที ที่เรียกความสนใจจากประชาชน ได้แก่ การแสดงดนตรีในสวน จากศิลปินนักเรียนนักศึกษา, การแสดงแสงสีเสียง โดยเฉพาะคือการแสดงน้ำพุที่น่าตื่นตาตื่นใจกับการแสดงน้ำพุประกอบแสง สี เสียง บทเพลง “พระราชาผู้ปิดทองหลังพระ”
การแสดงละครเพลง “สายนทีแห่งราชัน เดอะ มิวสิคัล” พร้อม 3D Mapping บนต้นไทร ครั้งแรกในประเทศไทย ละครเพลงสื่อสารชีวิตริมสายน้ำที่ดีขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณ
สวนเปรมประชาวนารักษ์ น่าจะเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาพื้นที่ใน กทม. ที่ครอบคลุมไปถึงแหล่งน้ำลำคลอง ที่ยังรอการพัฒนาทำนองเดียวกันนี้
เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดมลพิษ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับประชาชน