ยอช เซเดส์ กับชีวิตที่ไม่(เคย)เปิดเผย

คณะของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่จังหวัดลพบุรี พ.ศ.2466 (ภาพจากห้องสมุดส่วนตัวของครอบครัวเซเดส์)

ยอช เซเดส์
กับชีวิตที่ไม่(เคย)เปิดเผย

ยอช เซเดส์ (พ.ศ.2429-2512) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ผู้อุทิศเวลาส่วนใหญ่ของตน ในช่วง พ.ศ.2447-2512 ให้กับการศึกษาค้นคว้าเรื่องอารยธรรมโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการเผยแพร่องค์ความรู้ที่เขาศึกษาค้นคว้าจากห้องสมุด, วัด, การลงภาคสนาม ฯลฯ สู่สาธารณชน

ยอช เซเดส์ ณ บุโรพุทโธ พ.ศ.2469 (ภาพจากห้องสมุดส่วนตัวของครอบครัวเซเดส์)

ตลอดเวลา 65 ปี เซเดส์ตีพิมพ์บทความของด้านโบราณคดี, ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ กว่า 500 เรื่อง และหนังสือเล่มสำคัญ เช่น จารึกในประเทศกัมพูชา, ตำนานพระพิมพ์, จดหมายเหตุของคณะพ่อค้าฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา : สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, เมืองพระนคร นครวัด นครธม, ชนชาติต่างๆ ในแหลมอินโดจีน, ตำนานอักษรไทย ตำนานพระพิมพ์ การขุดค้นที่พงตึก และความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สมัยโบราณ แห่งประเทศไทย ศิลปไทย สมัยสุโขทัย ราชธานีรุ่นแรกของไทย ฯลฯ

แม้เซเดส์จะถึงแก่กรรมไปนานปี แต่ผลงานของเขายังคงอยู่ และเป็นหลักฐานสำหรับการค้นคว้าต่อไปไม่สิ้นสุด สำหรับผู้สนใจเรื่องเหล่านี้ หากชีวิตของเขากลับไม่ค่อยได้รับการเปิดเผย

ADVERTISMENT

แต่ท่านสามารถหาคำตอบได้ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2568 กับบทความที่ชื่อว่า “ยอช เซเดส์ ชีวิตที่ไม่เปิดเผยของผู้ค้นพบอาณาจักรที่ถูกลืมเลือน” ที่ แบร์นารด์ ครอส (Bernard Cros) หลานชายของเซเดส์ เขียนไว้ในบทความชื่อ “George Coedès, la vie méconnue d’un découvreur de royaumes oubliés” ในวารสารของสมาคมเพื่อการแลกเปลี่ยนและการสอนเกี่ยวกับเขมรศึกษา (Association d’échanges et de formation pour les études khmères) ที่ ธิษณา วีรเกียรติสุนทร อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แปลและเรียบเรียงมานำเสนอ

ซึ่งเราขอสรุปเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอ

ADVERTISMENT

ครอบครัวเซเดส์

บรรพบุรุษคนแรกของเซเดส์ที่ แบร์นารด์ ครอส บันทึกถึง คือเป็นเทียดของเซเดส์ชื่อ ฟรองซัวส์-อิกนาส (François-Ignace) เป็นข้าราชการระดับสูงของกรมพระคลังฝรั่งเศส เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์สายตระกูลของเซเดส์ มีข้อสันนิษฐานว่าตระกูลของเขาอาจมีต้นกำเนิดมาจากเมืองเซิด (Szöd) ในฮังการี

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และกลุ่มนักวิชาการฝรั่งเศส คือ ยอช เซเดส์ ซูซาน การ์เปอแลส (Suzanne Kapelès) และอองรี มาร์แชล ณ ปราสาทบายน เมืองพระนคร ใน พ.ศ.2467 (ภาพจาก EFEO_MARH02853 @École française d’Extrême-Orient ข้อมูลนี้มีที่มาจากคลังภาพถ่ายดิจิทัลของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (Ce document
provient du site internet de la photothèque virtuelle de l’ École française d’Extrême-Orient))

ทวดของเซเดส์คือ โยเซฟ-สตานิสลาส (Joseph-Stanislas พ.ศ.2322-2401) รับราชการในกรมการที่ดูแลเสบียงอาหาร ส่วนปู่ของเซเดส์คือ หลุยส์-อูแฌน (Louis-Eugène พ.ศ.2353-2448) เป็นจิตรกรมีชื่อเสียงในกรุงปารีส และบิดาของเซเดส์คือ อิบโปลีต (Hippolyte พ.ศ.2388-2460) เป็นผู้จัดการธนาคาร ผู้ดูแลการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน

อาชีพของสมาชิกในครอบครัวเซเดส์ 5 รุ่น พบว่า เทียด, ทวด, ปู่, พ่อ, เซเดส์ รวมถึงพี่น้องในแต่ละรุ่น ครึ่งหนึ่งเป็นจิตรกรและอีกครึ่งหนึ่งเป็นนักการเงิน มีส่วนน้อยไม่กี่คน รวมไปถึงตัวเซเดส์ที่หลุดออกจากวงจรนี้

หลุดวงโคจร “อาชีพนิยม” ของครอบครัว

เซเดส์จัดเป็นนักเรียนที่เฉลียวฉลาดและมีระเบียบวินัยเป็นอย่างยิ่ง เขาสนใจศึกษาภาษาเยอรมัน และตั้งใจว่าจะเป็นครูผู้สอนภาษาเยอรมันในอนาคต แต่แล้วก็มีเหตุพลิกผัน เดือนกันยายน พ.ศ.2445 เซเดส์มีโอกาสเข้าชมการแสดง “คาราวานอินเดีย” ของ คาร์ล ฮาเกนเบ็ค (Carl Hagenbeck) คณะคาราวานนอกจากจัดแสดงละครสัตว์ ยังนำกลุ่มคนที่ “แปลกตา” มาจัดแสดงต่อสายตาผู้ชมชาวตะวันตกทั่วทั้งยุโรป ซึ่งดูลึกลับและชวนค้นหาสำหรับเวลานั้น

เมื่อเขาอยู่ในระดับอุดมศึกษา นอกจากทุ่มเทให้กับการเรียนด้าน “เยอรมันศึกษา” (Germanic studies) เขายังให้ความสำคัญกับการศึกษาภารตวิทยา และการเรียนภาษาสันสกฤตเบื้องต้น ควบคู่ไปด้วย

พ.ศ.2447 เซเดส์สมัครเข้าศึกษาต่อ ณ สถาบันการศึกษาชั้นสูง (École Pratique des Hautes Études) ที่ที่เขาพบกับ หลุยส์ ฟีโนต์ (Louis Finot) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและจารึกของกัมพูชา ซิลแวง เลวี (Sylvain Lévi) นักบุรพคดีศึกษาและอินเดียศึกษา อัลเฟรด ฟูเชต์ (Alfred Fouchet) นักโบราณคดี นักนิรุกติประวัติ นักประวัติศาสตร์ศิลปะและผู้เชี่ยวชาญพุทธศาสนาชาวฝรั่งเศส

ต่อมานักวิชาการทั้ง 3 คน คืออาจารย์ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของเขา

ซึ่งทั้งหมดทำให้เซเดส์ในวัยเพียง 18 ปี ก็มีผลงานพิมพ์เผยแพร่ผลงานเรื่องแรกที่อุทิศให้กับการศึกษาจารึกหลักหนึ่ง ที่ชื่อว่า “Inscription de Bhavavarman II roi du Cambodge (561 çaka)” และผลงานอื่นที่ตามมา เช่น จารึกปราสาทตาพรหม, จารึกจามปาและกัมพูชา, จารึกเทพประนม ฯลฯ

นอกจากนี้ การถูกเรียกให้เป็นกำลังเสริมของกองทัพฝรั่งเศส และได้ทำหน้าที่บรรณารักษ์ห้องสมุด คือโอกาสที่เซเดส์มีเวลาให้กับงานด้านบุรพทิศศึกษา และตัดสินใจที่จะเลือกทำงานวิชาการในอินโดจีน

ยอช เซเดส์ ที่โต๊ะทำงานของท่านใน พ.ศ.2447 (ภาพจากห้องสมุดส่วนตัวของครอบครัวเซเดส์)

สู่อุษาคเนย์

ต้นปี 2455 เซเดส์เดินทางไปเวียดนามและกัมพูชา โดยเฉพาะที่กัมพูชาเขาไปเยี่ยมชมเมืองพระนครยาวนานถึง 6 สัปดาห์ ใช้โอกาสนี้ในการคัดลอกสำเนาจารึก การค้นพบพระนามใหม่ๆ ของกษัตริย์เมืองพระนคร ได้พบรักกับสตรีสาวชาวกัมพูชาที่มาจากครอบครัวชนชั้นที่นั่นจนสร้างครอบครัวด้วยกัน ฯลฯ

พ.ศ.2458 เซเดส์เข้ามาทำภารกิจในสยาม ได้เข้าเฝ้าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเดินทางไปยังลพบุรีและสวรรคโลกหลังจากที่มาถึงกรุงเทพฯ

พ.ศ.2460 เซเดส์และครอบครัวเดินทางมาสยาม ครั้งนี้เขาอยู่นานถึง 12 ปี โดยทำงานที่หอพระสมุดวชิรญาณร่วมกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทั้งสองได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่พวกท่านค้นพบและการวิเคราะห์ในงานด้านโบราณคดีและจารึกวิทยา เซเดส์เรียนรู้ภาษาสยามได้อย่างรวดเร็ว

ยอช เซเดส์ ออกภาคสนามเป็นประจำเพื่อศึกษาแหล่งโบราณคดีที่มีอยู่เป็นจำนวนมากของสยาม ได้สำรวจแผ่นดินสยามด้วยความอุตสาหะ ท่านเดินทางจากอยุธยาไปจนถึงกำแพงเพชรและจากลพบุรีไปถึงเชียงใหม่ โดยผ่านเมืองสุโขทัย

พ.ศ.2469 สยามตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้น โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับตำแหน่งสภานายกราชบัณฑิตยสภา และยอช เซเดส์ รับตำแหน่งสภาเลขานุการฝ่ายต่างประเทศ หลังจากนั้นไม่นานเขาก็จากประเทศไทยกลับไปฝรั่งเศส เพื่อรับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ

ส่วนประวัติชีวิตโดยละเอียดที่กล่าวมาข้างต้น และต่อจากนี้ของ ยอช เซเดส์ นักวิชาการเจ้าของผลงานที่ทรงอิทธิพล ขอท่านได้โปรดอ่านใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image