แท็งก์ความคิด : สนุกกับ‘โซเมีย’

แท็งก์ความคิด : สนุกกับ‘โซเมีย’

“โซเมีย” ชื่อนี้หลายคนคงไม่รู้จัก ส่วน “ไท-ไต” แม้หลายคนไม่รู้จัก แต่อีกหลายคนคงคุ้นหู

ส่วน “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ชื่อนี้เชื่อว่ารู้จักกันดี

ยิ่งมีชื่อ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” ด้วยแล้ว ยิ่งการันตีคุณภาพของหนังสือ

ADVERTISMENT

แค่นี้หนังสือชื่อ “รวมข้อมูลวรรณกรรมวิชาการ โซเมีย, ไท-ไต ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์” ที่มี สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นบรรณาธิการ ก็น่าอ่านอย่างยิ่ง

ใครที่คิดว่าเป็น “ข้อมูลวรรณกรรมวิชาการ” แล้วจะอ่านเข้าใจยาก ขอบอกว่าคิดผิด

ADVERTISMENT

ตรงกันข้าม หนังสือเล่มนี้อธิบายที่มาของคนไทยได้ดีมาก

อ่านแล้วทำให้เข้าใจความหมายของ “โซเมีย” ซึ่งเป็นชื่อเรียกดินแดนอันเป็นพื้นที่สูงที่ตั้งอยู่ในจีนใต้ ตั้งแต่ในประเทศจีนบริเวณใต้แม่น้ำแยงซีไปทางตะวันตก จนถึงที่ราบสูงทิเบต เทือกเขาหิมาลัย และย้อนลงทางใต้เป็นเทือกเขา ทางตะวันตกของเวียดนาม รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของลาว ไทย และพม่าตอนเหนือ

ใครไม่เข้าใจมีแผนที่ให้ดูเพื่อความแจ่มชัด

นอกจากจะเข้าใจ “โซเมีย” แล้วยังเข้าใจถึงวัฒนธรรม ไท-ไต ที่ดำรงชีพอยู่บนโซเมีย

ไท-ไตที่นับรวมชาวสยาม ซึ่งมีคนไทยอยู่ในกลุ่มชาวสยามนี้ด้วย

เหมือนดั่งเอกสารลาลูแบร์ที่ระบุว่า ชาวสยามในอยุธยา เรียกตัวเองว่าไทย

ตอกย้ำว่า สยามไม่ใช่คนไทย แต่คนไทยมาจากสยาม

ยังรู้อีกว่า คำว่า “สยาม” มีรากมาจากภาษาตระกูลไท-ไต คือ ซัม หรือ ซำ ซึ่งหมายถึงดินแดนบริเวณดินดำน้ำชุ่มอุดมสมบูรณ์

ขณะที่วัฒนธรรมไท-ไตนั้น ที่เด่นชัดมากๆ คือ ภาษา โดยภาษาไท-ไต เป็นภาษากลางในการสื่อสารระหว่างชาติพันธุ์ในการค้าภายในดินแดน

และ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นปัญญาชนที่ห่วงคนไทยและประเทศชาติ

ก่อนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง อาจารย์นิธิกำลังเขียนเรื่องโซเมีย โดย สุชาดา จักรพิสุทธิ์ เขียนไว้ใน “คำทรงจำ” เบื้องแรกของเนื้อหาตอนหนึ่งว่า

“อาจารย์ (นิธิ) เริ่มเขียนโซเมีย บทที่ 1 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ซึ่งคือช่วงเวลาระหว่างการรักษาโรคมะเร็งหายในช่วงแรก

อาจารย์ทยอยเขียนเพิ่มเติมอีก 5 หน้าในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 และเขียนเพิ่มอีกในวันที่ 30 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ตรวจพบว่าโรคมะเร็งกลับมาอีก”

แม้อาจารย์นิธิจะเขียนเรื่องโซเมียไม่จบ แต่หนังสือ “รวมข้อมูลวรรณกรรมวิชาการ โซเมีย, ไท-ไต ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์” ก็มีแรงบันดาลใจมาจากอาจารย์นิธิ

ยิ่งเมื่อ สุจิตต์ วงษ์เทศ ดำเนินการบรรณาธิการ ทำให้ภาพของโซเมีย ไท-ไต สยาม และคนไทย ชัดแจ้ง

ชัดแจ้งตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานของผู้คนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ การเข้ามาของอารยธรรมใหญ่คืออินเดียและจีน ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งมีศาสนาเข้าสู่ดินแดน เรื่อยมาถึงยุคสมัยการค้าในคริสต์ศตวรรษที่ 15-17

ก่อนจะเข้าสู่ไทยสมัยใหม่ สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม การปฏิวัติ พ.ศ.2475 และกำเนิดรัฐประชาชาติไทยในทางทฤษฎี ประเทศไทยยุคพัฒนา การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วสัมผัสถึงความสมจริง

แผ่นดินไทยไม่ได้มีเฉพาะด้ามขวานลอยๆ อยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่เป็นแผ่นดินผืนที่ติดต่อกับแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีมนุษย์อยู่อาศัยร่วมกัน

มนุษย์ที่อยู่ร่วมกันก็เพื่อความอยู่รอด รวมกันอยู่เพื่อความปลอดภัย

รวมกันทำการเกษตร เสาะแสวงหาความอุดมสมบูรณ์ และทำการค้าเพื่อความมั่งคั่ง

การดำรงอยู่ของมนุษย์หลายชาติพันธุ์ การพบปะเจรจา การเผยแผ่ศาสนา การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

ก่อเกิดเป็นระบบการปกครอง ระบบการค้า และวัฒนธรรมความเป็นอยู่

หลายอย่างหลายประการเกิดขึ้น และดำรงอยู่ในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่คนไทยควรอ่าน โดยเฉพาะคนที่อยากทราบว่า “คนไทยมาจากไหน”

รวมถึงคนที่สนใจความผูกพันของคนบริเวณไทยตอนบน พม่า ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้

อ่านหนังสือจบเล่มทำให้มีมุมมองเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของคนไทย

เป็นประวัติความเป็นมาที่มิได้เพ่งมองเฉพาะคนไทย หากแต่ยังสัมผัสชนชาติอื่นๆ อีกด้วย

ที่สำคัญการสื่อสารเป็นไปอย่างกระชับ เข้าใจง่าย ยิ่งได้เปิดแผนที่พิเคราะห์ติดตาม จะยิ่งทำให้ได้อรรถรส

หนังสือ “รวมข้อมูลวรรณกรรมวิชาการ โซเมีย, ไท-ไต ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์” เพิ่งตีพิมพ์ออกมาใหม่ๆ สดๆ

ใครสนใจรายละเอียดของโซเมีย และเรื่องราวต่างๆ ที่มากกว่าที่เอ่ยมาข้างต้น

แนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้

หนังสือที่มีชื่อว่า “รวมข้อมูลวรรณกรรมวิชาการ โซเมีย, ไท-ไต ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์”

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image