10 ปีที่ฝันค้าง ถอดบทเรียน ‘ภูพระบาท’ ทำไม (ยัง) ไม่ผ่านมรดกโลก?!

กองเชียร์เข่าอ่อนอีกหน เมื่อทราบข่าวว่าอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ที่รอลุ้นมานานกว่า 10 ปี เป็นอันตกขบวนชิงมรดกโลก 59

ซึ่งแผนเดิมจะมีการพิจารณาและทราบผลราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมที่จะถึงนี้ เนื่องจากถูกตีกลับมาทำข้อมูลสำคัญให้ปึ้กกว่าเดิม โดยเฉพาะงานวิจัย ขุดค้น และการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แล้วค่อยส่งกลับไปใหม่ภายในกุมภาพันธ์ปีหน้า เพื่อเตรียมนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในเดือนมิถุนายน 2560 แทน

สรุปคือต้องร้องเพลงรอกันต่อไป หลังจากมีเรื่องให้ลุ้นเหงื่อแตกพลั่กๆ กันเป็นช่วงๆ สำหรับปฏิบัติการดันอุทยานแห่งนี้ให้ขึ้นแท่นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่การส่งเอกสารแทบไม่ทันในช่วงโค้งสุดท้าย เพราะ

ภูพระบาทได้รับการประกาศรายชื่อใน “บัญชีเบื้องต้น” ของมรดกโลก จากศูนย์มรดกโลกยูเนสโก ณ กรุงปารีส ตั้งแต่ พ.ศ.2547 ซึ่งตามข้อตกลงสากล ประเทศไทยต้องทำเอกสารขอเสนอเป็นมรดกโลกส่งไปยังศูนย์มรดกโลกภายใน 10 ปี สุดท้ายส่งทันแบบฉิวเฉียดเบียดเข็มนาฬิกา เมื่อปลายเดือนมกราคม 2558 ก่อนเส้นตายในเดือนกุมภาพันธ์

Advertisement

หลังจากนั้น คณะกรรมการมรดกโลกและผู้เชี่ยวชาญจากสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศหรืออิโคโมส บินมาเยี่ยมสถานที่จริง ก่อนจะทิ้งคำถามให้ทีมงานไทยไปหาคำตอบเพิ่มเติมในหลายประเด็น ต่อมา มีการหารือกันอีก 1 ครั้งแล้วส่งข้อมูลกลับไป กระทั่งสุดท้ายถูกตีกลับดังที่กล่าวมาแล้ว

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ภูพระบาทกลายเป็นมหากาพย์แห่งความอุตสาหะที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ บทเรียนจากภูพระบาทที่จะส่งต่อไปยังการขอมรดกโลกในภายภาคหน้า รวมถึงวิธีแก้ปัญหาที่อาจทำได้ในขณะนี้มีอะไรบ้าง?

 

Advertisement
ภูพระบาทสัมพันธ์กับเวียงจันทน์อย่างแยกไม่ได้ในสมัยที่ยังไม่มี เส้นกั้นพรมแดน ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญคือ พระพุทธบาทบัวบกและพระพุทธบาทบัวบาน เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาสืบเนื่องกับพระธาตุพนม เป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์วัดป่าหลายยุคสมัย
ภูพระบาทสัมพันธ์กับเวียงจันทน์อย่างแยกไม่ได้ในสมัยที่ยังไม่มี เส้นกั้นพรมแดน ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญคือ พระพุทธบาทบัวบกและพระพุทธบาทบัวบาน เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาสืบเนื่องกับพระธาตุพนม เป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์วัดป่าหลายยุคสมัย

 

เร่งประมวลความรู้
ที่ขาดอยู่คือ”ฐานงานวิจัย”


รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
มองว่า สิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเสนอมรดกโลกคือฐานงานวิจัยที่ลึกซึ้ง สิ่งที่ต้องทำคือประมวลสถานภาพของความรู้ สกัดความรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับภูพระบาทมารวมกันเพื่อให้เห็นว่า สถานที่ดังกล่าวมีคุณค่าต่อชุมชนทั้งในอดีตและปัจจุบัน

“สิ่งสำคัญคือเนื้อหา ได้แก่ บริบททางประวัติศาสตร์และเรื่องราวของมนุษย์ที่เชื่อมโยงว่า สรุปแล้วคนกลุ่มไหนใช้พื้นที่บริเวณภูพระบาท เขาสร้างใบเสมาตรงนี้ทำไม สัมพันธ์กับเพื่อนบ้านหรือเปล่า หากให้คำอธิบายในเชิงบูรณาการสาขาวิชาต่างๆ เช่น มานุษยวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ จารึก คติชน หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์บอกเล่าและธรณีวิทยา ก็จะทำให้เกิดพลังในการสร้างเรื่องราวให้เห็นว่าภูพระบาทมีความสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีงานวิจัยที่หนักแน่น อย่างบางแห่งของอินโดนีเซียมีการวิจัยต่อเนื่องเป็น 100 ปี และมีครั้งหนึ่งที่เขาต้องการโปรโมตให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางมรดกโลกในด้านการวิจัย วิธีการที่ทำคือระดมสมองจากคนทั้งโลก เชิญนักวิชาการทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาระดมความคิดว่า จะมีแนวทางอย่างไรเวลาเขียนเอกสาร”

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับปัญหาที่ บวรเวท รุ่งรุจี (อดีต) อธิบดีกรมศิลปากรให้สัมภาษณ์ “มติชน” เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งเมื่อตุลาคม 2557 ว่า ความล่าช้าเกิดจากการที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกให้ความเห็นว่า ต้องศึกษาข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติม

ส่องมรดกโลกรุ่นพี่
บ้านเชียง อยุธยา สุโขทัย ทำไมผ่านฉลุย

มาย้อนดูประวัติศาสตร์ของการเสนอมรดกโลกของไทยในอดีต ไม่ว่าจะเป็นบ้านเชียง อยุธยา และสุโขทัย ที่คว้ามรดกโลกมาได้อย่างสง่างาม แล้วเหตุใดภูพระบาทจึงมีระดับความยากสูงเหลือเกิน

“บ้านเชียง เรามีงานวิจัยที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งชี้ว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่แสดงถึงการใช้โลหกรรมที่เก่าแก่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนอยุธยามีผลงานมากมาย ไม่ใช่เฉพาะของคนไทย แต่มีของนักวิจัยต่างประเทศที่พูดถึงความสำคัญของอยุธยาในบริบทที่เกี่ยวข้องกับโลก แสดงถึงโลกาภิวัตน์ เป็นอาณาจักรที่มีการติดต่อกับผู้คน ด้านสุโขทัยเองก็สัมพันธ์กับพม่าและประเทศเพื่อนบ้าน มีสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาซึ่งเชื่อมโยงกับโลกได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญมากคือเรื่องของการดึงคุณค่าและการเขียนเพื่อชี้ให้เห็นคุณค่านั้นๆ อย่างเด่นชัด รวมถึงการเชื่อมโยงกับบริบทโลกและเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” อาจารย์กล่าว

บ้านเชียง มีงานวิจัยที่ทำร่วมกันระหว่างนักโบราณคดีไทยและต่างชาติ เด่นเรื่องโลหกรรม
บ้านเชียง มีงานวิจัยที่ทำร่วมกันระหว่างนักโบราณคดีไทยและต่างชาติ เด่นเรื่องโลหกรรม

ใคร”สตรอง”กว่าก็คว้ามรดกโลก

สำหรับการใช้เวลานานกว่า 10 ปี ซ้ำยังถูกยูเนสโกขอให้เพิ่มเติมข้อมูลอีกนั้น รศ.ดร.รัศมีมองว่า อาจเป็น “การประเมินวิธีการประเมินของยูเนสโกผิด” อย่างไรก็ตาม ต้องมีการวิเคราะห์อีกครั้งว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร เชื่อว่าคนในกรมศิลป์มีประสบการณ์ในการทำงานกับมรดกโลกหลายคน น่าจะเข้าใจเทรนด์ว่าต้องทำอย่างไร

“อาจไม่ใช่ความผิดพลาด การเตรียมข้อมูลคงทำเต็มที่ แต่ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงมาก เรามีคู่แข่งเยอะ สมมุติเขมรทำวิจัยมา 20 ปี แน่นอนเขาต้องสตรองกว่าเราอยู่แล้ว” อาจารย์บอก พร้อมทิ้งท้ายว่า ถ้ามองสิ่งเหล่านี้เป็นของประเทศและการที่ประเทศกำลังเสนอให้เป็นของสาธารณะคือของโลก การระดมความคิดเห็นที่หลากหลายก็ยิ่งช่วยให้ได้ข้อมูลที่ดีที่สุด

รัศมี ชูทรงเดช-วณิชย์-ศรีศักร วัลลิโภดม-ดวงใจ หล่อธน
รัศมี ชูทรงเดช-ศรีศักร วัลลิโภดม-ดวงใจ หล่อธนวณิชย์

เน้นรูปแบบ”ไม่รู้ความหมาย”
วังวนที่หลุดไม่ได้ของกรมศิลป์?

มาถึงรุ่นใหญ่อย่าง ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักรวัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์เจ้าของรางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชียเมืองฟุกุโอกะ จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งวิเคราะห์ปัญหาแล้วให้คำตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “กรมศิลป์ไม่รู้ความหมายของภูพระบาท”

“ที่อื่นเวลาจะส่งมรดกโลกเขามีการค้นคว้าไม่ใช่บอกว่าเก่าแก่ มีภาพสลักศิลปะโน่นนี่ เลอะเทอะ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความหมาย ที่สู้เขาไม่ได้เพราะอย่างนี้ เวลาคนดู เขาไม่อยากดูรูปแบบ เขาอยากรู้ความหมาย ทำไมเป็นอย่างนี้ ในสภาพแวดล้อมอย่างนี้จึงเกิดสิ่งนี้ขึ้นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในภูมิภาค ดูพัฒนาการ ความเชื่อ กรมศิลป์ควรมีนักวิชาการที่รู้ลึก รับฟังความเห็นคนอื่น ทำการค้นคว้ามากกว่านี้”

แม้จะให้ความเห็นแบบจัดหนัก แต่ศรีศักรมองว่า ถึงไม่ได้มรดกโลกจากยูเนสโกภูพระบาทก็เป็นมรดกโลกอยู่แล้วในตัวของมันเอง

ไม่เอาได้ไหม มรดกโลก?

ยากขนาดนี้ บางคนอาจมีอารมณ์อยากเชิ่ดใส่ยูเนสโก ไม่ง้อชิงมงกุฎมรดกโลกให้รู้แล้วรู้รอดไป

ผศ.ดร.ดวงใจ หล่อธนวณิชย์ อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานวิจัยเกี่ยวกับมรดกโลกของประเทศญี่ปุ่น เจ้าของผลงาน “บทบาทญี่ปุ่นกับการจัดการมรดกโลกในประเทศลุ่มน้ำโขง” แสดงความเห็นว่า มรดกโลกในช่วงหลังถูกโยงกับการท่องเที่ยว เป็นเรื่องของผลประโยชน์ ในหลายประเทศพยายามทำมรดกท้องถิ่นเป็นแบรนด์มรดกโลก เพราะเชื่อว่านำมาซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ท้องถิ่น ซึ่งใครๆ ก็อยากได้ แต่คนไทยไม่ค่อยสนใจซึ่งน่าเสียดาย ส่วนที่มองว่ามรดกโลกทำลายแหล่งโบราณคดีนั้น แท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ

“คนไทยไม่ค่อยสนใจมรดกโลก เพราะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมท้องถิ่น นี่คือจุดอ่อน และถึงจะมีมรดกโลก แต่คนไทย ก็ไม่ค่อยสนใจ ต่างประเทศพยายามผลักดันอยากได้ใจจะขาด ส่วนนักวิชาการจะเหมารวมว่า พอเป็นมรดกโลก นักธุรกิจจะเข้าไปสร้างโรงแรม หรืออีกแบบหนึ่งคือ ไล่คนออกนอกพื้นที่ไปเลย ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องการจัดการ ไม่ใช่ว่าเป็นมรดกโลกแล้วต้องเละ ประเทศอื่นมรดกโลกมากกว่าเรายังบริหารจัดการได้โดยไม่เละ ประเด็นอยู่ที่ว่าท้องถิ่นเข้มแข็งไหม อย่างกรณีการจัดการมรดกโลกอยุธยาเมื่อหลายปีก่อนมีการเตือนจากยูเนสโกว่า ถ้าไม่สามารถจัดการได้จะถูกถอดถอนจากมรดกโลก ซึ่งการจัดการแบบนี้ใช้ไม่ได้”

อยุธยา ได้มรดกโลกเพราะการจัดการน้ำ ทำเลที่ตั้ง ทั้งยังเป็นแม่แบบของกรุงรัตนโกสินทร์
อยุธยา ได้มรดกโลกเพราะการจัดการน้ำ ทำเลที่ตั้ง ทั้งยังเป็นแม่แบบของกรุงรัตนโกสินทร์

นำเสนอไม่ดีหรือไม่มีศักยภาพ?

สำหรับกรณีภูพระบาท ผศ.ดร.ดวงใจบอกว่า ในช่วงหลัง ไทยไม่ได้มรดกโลกเลย จึงไม่แน่ใจว่ากระบวนการนำเสนออ่อนหรือศักยภาพไม่มีจริงๆ นอกจากนี้หัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ งานวิชาการ

“งานมรดกโลกเหมือนงานวิชาการเลย ถ้าไม่มีงานวิจัยโดดเด่นก็ยาก ความต่อเนื่องของการศึกษาวิจัยในพื้นที่ต้องมี อย่างญี่ปุ่นเวลาจะเสนอมรดกโลก มีงานศึกษาเยอะมาก ล่าสุด เกียวโตมีการเตรียมการที่จะเสนอไร่ชาเป็นมรดกโลก เขาให้นักวิชาการไปศึกษาเลยว่ามีไร่ชาที่ไหนบ้าง เช่น จีน เกาหลี แล้วค่อยประมวลว่ามีศักยภาพพอไหม กรณีภูพระบาทก็เช่นกัน เราต้องประเมินก่อนที่จะเสนอไปว่ามีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ เช่น มีภูพระบาทที่ไหนในโลกไหม ถ้าทรัพยากรของเรามีศักยภาพพอที่จะเป็นมรดกโลก ยืนยันว่าต้องหนุน แต่ถ้าศักยภาพไม่พอ ไม่ควรเสนอ หรือถ้าศักยภาพพอ แต่อ่อนที่การนำเสนอ ก็ต้องปรับวิธีการ ถึงจะสามารถดึงศักยภาพขึ้นมาได้”

รื้อฟื้นคุณค่า คอนเน็กชั่น(สากล)ดี มีลุ้น

ถามว่า หากเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งได้มรดกโลกแทบทุกปี บางปีได้ถึง 2 รายการ จุดแข็งของเขาอยู่ตรงไหน อาจารย์ตอบว่องไวและหนักแน่นว่า “การนำเสนอ” ซึ่งบางแห่งไม่ได้มีศักยภาพด้วยตัวของมันเองมากนัก แต่มีการสร้างเรื่องราวและศึกษาวิจัยอย่างหนัก ไม่เพียงเท่านั้น ยังอาศัยกระบวนการ “คุยนอกรอบ” กับผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกโลก โดยเฉพาะประเทศสมาชิกที่มีมรดกวัฒนธรรมและธรรมชาติคล้ายกันกับที่ญี่ปุ่นจะเสนอ เพื่อหารือและฟังความเห็นรวมถึงข้อเสนอแนะ

“จุดแข็งของญี่ปุ่นอยู่ที่การนำเสนอและมีการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง เช่น วัฒนธรรมท้องถิ่นเมื่อพันกว่าปีก่อนที่ไม่มีใครรู้จัก เป็นวัฒนธรรมที่ตายแล้วแต่ถูกรื้อฟื้นคุณค่าในอดีตขึ้นมา นำเสนอต่อยูเนสโกใน Criteria ใหม่ที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน โดยมีการคุยกันนอกรอบหลายครั้งกับผู้เชี่ยวชาญมรดกโลก นี่ไม่เรียกล็อบบี้ แต่เรียกว่าเรียนรู้ร่วมกัน คุยกันก่อน ไม่ให้มีการตีกันกลางอากาศ คอนเน็กชั่นสำคัญมากในเรื่องการเสนอมรดกโลก” ผศ.ดร.ดวงใจกล่าว

นี่คือส่วนหนึ่งของความเห็นจากนักวิชาการที่น่ารับฟัง เพราะยังมีอีกหลายแห่งที่ต่อคิวจ่อเสนอขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยเฉพาะเส้นทางอารยธรรมขอมอย่างปราสาทหินพิมาย พนมรุ้ง เมืองต่ำ ที่ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยภูพระบาทหรือไม่

1 ทศวรรษ ภูพระบาท
ที่ยังไม่ผ่านมรดกโลก

2547 ไทยเสนอภูพระบาทเข้าสู่บัญชีรายชื่อชั่วคราว (Tentative List)

มกราคม 2558 ไทยส่งเอกสารไปยังศูนย์มรดกโลก

กันยายน 2558 กรรมการมรดกโลก สำรวจภูพระบาท, ผู้เชี่ยวชาญสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (อิโคโมส) ลงพื้นที่ตรวจสอบอุทยานฯ

ตุลาคม 2558 อิโคโมส ขอข้อมูลเพิ่ม 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ความต่อเนื่อง 2.การวิเคราะห์เปรียบเทียบ 3.มรดกที่จับต้องไม่ได้ 4.การปกป้องและการจัดการ 5.การพัฒนา

พฤศจิกายน 2558 ไทยส่งเอกสารเพิ่มข้อมูลตามที่ขอ

ธันวาคม 2558 หารือ ตอบข้อซักถามเพิ่มเติม

กุมภาพันธ์ 2559 รมว.กระทรวงวัฒนธรรมแถลงกรณียูเนสโกส่งเรื่องคืน ให้เพิ่มเติมข้อมูลอีกแล้วส่งกลับไปพิจารณาใหม่ภายในกุมภาพันธ์ 2560 เพื่อเตรียมนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในเดือนมิถุนายน 2560

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image