ขาเทียมพระราชทาน มอบรอยยิ้ม-ความสุข-สร้างชีวิตใหม่

ที่วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร (องค์พระปฐมเจดีย์) จ.นครปฐม คลาคล่ำไปด้วยเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ช่างหลอม ช่างหล่อร่วม 30 ชีวิต ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่รับลงทะเบียน โดยญาติๆ ต่างทยอยพาพี่น้องประชาชนผู้พิการที่ประสงค์ขอรับขาเทียมพระราชทาน มาวัดสัดส่วน ดูลักษณะ รอบขาที่พิการว่าเป็นแบบไหน โค้งเว้าอย่างไร เพื่อประเมินว่าต้องใส่ขาเทียมในรูปแบบใดจึงจะเหมาะสม ทำให้สามารถช่วยเหลือตัวเองเดินได้อย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด

ในแต่ละปีทางมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วางแผนออกหน่วยใหญ่ทั้งในและต่างประเทศอย่างน้อย 5-6 ครั้ง และออกหน่วยย่อยอีก 3-4 ครั้ง เพื่อจัดทำขาเทียมให้แก่ผู้พิการขาขาด ทุกเชื้อชาติ ศาสนาโดยไม่คิดมูลค่า ครั้งนี้เป็นการออกหน่วยครั้งที่ 4

รศ.นพ.วัชระ รุจิเวชพงศธร กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิขาเทียมฯเล่าต่อว่า ช่างที่ทำหน้าที่วัดรอบขาเพื่อจัดทำเบ้าหลอมเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นช่างที่ต้องผ่านหลักสูตรฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 5 เดือนของมูลนิธิขาเทียมฯ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอาชีพให้แก่ผู้พิการ เพราะการจัดทำเบ้าหลอมจำเป็นต้องมีความพิถีพิถันเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะช่างเองก็ใส่ขาเทียมเหมือนกัน จะทำให้รู้ว่าจุดไหนสำคัญ ไม่ควรมองข้าม เรียกว่าเป็นผู้ที่เข้าถึงผู้พิการได้เป็นอย่างดี

“ช่างทุกคนที่เข้ามาทำงานให้มูลนิธิขาเทียมฯล้วนมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้พิการ ทุกคนเต็มใจช่วยงานและยิ้มอย่างมีความสุขทุกครั้งที่เห็นรอยยิ้มของผู้ที่ได้รับขาเทียมพระราชทาน เห็นสีหน้า แววตาอันสดใส มีความหวังของเด็กน้อยหลายๆ คนที่พิการแต่กำเนิด เมื่อสวมใส่ขาเทียมและหัดเดินได้แล้ว มันเหมือนได้ชีวิตใหม่ ผมทำงานตรงนี้มาร่วม 7 ปี มีความสุขทุกครั้งที่เห็นภาพเช่นนี้ เพราะเด็กเขาต้องการขาเพื่อนำไปสร้างการพัฒนาการด้านสมอง รวมถึงการเติบโตด้านร่างกาย เพราะหากปล่อยไปโครงสร้างของร่างกายอาจจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น หลังคด” รศ.นพ.วัชระกล่าว

Advertisement

2

ที่ผ่านมามูลนิธิขาเทียมฯได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมหลายหน่วยงานนับตั้งแต่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ซึ่งได้บริจาคเม็ดพลาสติกประเภท Polypropylene (PP) โดยส่งต่อให้กับบริษัท อีสเทิร์น โพลีแพค จำกัด (EPP) ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก บริษัทย่อยของบริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG นำไปผลิตเป็นแผ่นพลาสติก ก่อนส่งต่อไปให้กับมูลนิธิขาเทียมฯนำไปหลอมและขึ้นรูปเบ้าขาเทียมจากพลาสติก นับเป็นความร่วมมือสำคัญของผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำและกลางน้ำที่มีเป้าหมายเดียวกันในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือด้านงานวิจัยโดยทางมูลนิธิขาเทียมฯต้องการพลาสติกที่มีความโปร่งใส น้ำหนักเบาขึ้น และเหมาะกับการขึ้นรูปด้วยความร้อน เพื่อผลิตขาเทียมที่มีคุณภาพสูงขึ้นกว่าเดิม เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้พิการ ด้วยเหตุนี้กลุ่มบริษัท EPG โดย EPP ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิขาเทียมฯค้นคว้าวิจัยและทดสอบ กับมูลนิธิขาเทียมฯและผู้ผลิตเม็ดพลาสติก โดย EPP ได้ใช้ศูนย์วิจัยของตนเองทดสอบโดยนำเม็ดพลาสติกหลากหลายประเภทมาผลิตเป็นแผ่นพลาสติก และนำไปทดสอบกับเครื่องมือของทางมูลนิธิขาเทียมฯเพื่อขึ้นรูปเป็นขาเทียมซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่วมพัฒนา

Advertisement

สำหรับประชาชนที่สนใจร่วมรับขาเทียมพระราชทาน ขณะนี้ ทางมูลนิธิขาเทียมฯได้ตั้งโรงงานขาเทียมพระราชทานประจำอยู่ตามโรงพยาบาลหลักทั่วประเทศแล้ว 74 แห่ง และในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นเป็น 80 กว่าแห่ง โดยงานออกหน่วยครั้งต่อไปจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พฤษภาคม 2560 ณ จ.อุบลราชธานี

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สำนักงานเชียงใหม่ 199 หมู่ 4 ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 50180 โทร 0-5311-2271-3

1

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image