ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
---|
จีน–ไทย หลายพันปี
“ดีเอ็นเอ” ฮวงโห–แม่ฮ่องสอน
คนไทยมีบรรพชนเป็นชาวสยาม บริเวณโซเมียซึ่งเป็นลูกผสมของคนพื้นเมืองดั้งเดิมหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ในอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว
จีน–ไทย หลายพันปีมาแล้ว หมายถึงในประเทศจีนและในประเทศไทย มีคนหลายชาติพันธุ์เดินทางไปมาหาสู่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันตั้งแต่หลายพันปีมาแล้ว
โซเมีย (Zomia) หมายถึง “ที่สูงแห่งเอเซีย” เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีทิวเขาสลับซับซ้อนกลางทวีปเอเชียค่อนลงทางใต้ (ไม่รวมมณฑลเสฉวนในจีน) จากเวียดนามไปทางตะวันตก (และย้อยลงไปในกัมพูชา) จนถึงด้านตะวันออกของอินเดีย รวมรัฐเล็กรัฐน้อยในเทือกเขาหิมาลัย มีพื้นที่มากกว่า 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร ความสูงประมาณ 300 เมตรขึ้นไปเหนือระดับน้ำทะเล
บริเวณโซเมียมีที่ราบในหุบเขากระจายอยู่ทั่วไป ทั้งขนาดใหญ่และน้อยอันเป็นที่ตั้งของชุมชนเมือง ซึ่งบางแห่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐใหญ่อื่น บางแห่งเป็นอิสระในตัวเอง บางแห่งแม้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐใหญ่ ในทางทฤษฎีแต่ในทางปฏิบัติกลับมีอิสระปกครองและดําเนินความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านด้วยตนเอง
ลักษณะภูมิประเทศของโซเมียเป็นทิวเขาสลับซับซ้อน ทําให้การเดินทางระหว่างหุบเขาเป็นไปได้ยาก
ส่วนเส้นทางน้ำหลายสายซึ่งมีแหล่งกําเนิดบนโซเมีย ได้แก่ พรหมบุตร, อิรวดี, สาละวิน, โขง, เจ้าพระยา, น้ำดํา–น้ำแดง ก็ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมไม่ดีนัก เพราะเขตต้นน้ำมีเกาะแก่งมาก หรือน้ำไหลเชี่ยวจนเกินกว่าจะใช้เดินเรือ
“มิตรภาพไทยจีนสืบทอดมานานนับพันปี” นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวกับ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย
[ชื่นมื่น – น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าเยี่ยมคารวะนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนหารือความร่วมมือด้านต่างๆ บรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่น ณ ห้อง East Hall ชั้น 1 มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ (ภาพและคำบรรยายจาก มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 หน้า 1)]
แผนที่แสดงบริเวณที่สูงแห่งเอเชียหรือโซเมีย และพื้นที่โดยรวมทางใต้ของจีน อันเป็นหลักแหล่งของคนพื้นเมืองที่ “ไม่จีนไม่ฮั่น” โดยมีบรรพชนคนพูดภาษาไทยรวมอยู่ด้วย (ปรับปรุงจากต้นแบบตามคําแนะนําของนิธิ เอียวศรีวงศ์ อยู่ในเอกสารประกอบบรรยายรายการทอดน่องท่องเที่ยว ของมติชนทีวี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม 2563)
สภาพแวดล้อมใกล้ชิดวัฒนธรรมฮั่น
ภาษาและวรรณกรรมไทย (ก่อนมีอักษรไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา) มีรากฐานเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้วจาก “คำบอกเล่า” หรือ “เรื่องเล่า” บริเวณโซเมีย ซึ่งเรียกรวมๆ ว่าทางลุ่มน้ำแยงซี อยู่ตอนใต้ของจีนต่อเนื่องถึงพื้นที่ส่วนมากบนภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์
ทางตอนใต้ของจีนเป็นที่ราบในหุบเขาสูง เป็นถิ่นของคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” อยู่ปะปนกัน แต่ถูกจีนเรียกอย่างรวมๆ โดยไม่จำแนกว่า “เยว่” ซึ่งมีรวมอยู่ด้วยก็คือคนในตระกูลภาษาไท–ไต
“ดีเอ็นเอ” ฮวงโห–แม่ฮ่องสอน หมายถึงพบดีเอ็นเอ ราว 1,700 ปีมาแล้วของคนในจีน บริเวณลุ่มน้ำฮวงโหและลุ่มน้ำแยงซี อยู่ปนกับคนพื้นเมืองในไทยที่แม่ฮ่องสอน ทั้งนี้จากการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ของกลุ่มตัวอย่างจากโลงผีแมน (อ. ปางมะผ้า จ. แม่ฮ่องสอน) โดยนักพันธุศาสตร์ (มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก) ร่วมกับนักโบราณคดี (มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ) มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อต้นปีที่แล้ว พ.ศ. 2567
หม้อสามขา
ตอนเหนือขึ้นไปของโซเมียเป็นดินแดนจีน (ลุ่มน้ำฮวงโห) ซึ่งเท่ากับโซเมียอยู่ใกล้ชิดติดกับจีน ดังนั้นเยว่บางกลุ่มถูกผนวกเป็นจีน แต่หลายกลุ่มแม้อยู่เป็นเอกเทศ ก็ยอมรับวัฒนธรรมจีน พบหลักฐานเก่าสุดคือหม้อสามขาที่คนหลายชาติพันธุ์รับจากจีนแล้วแพร่กระจายลงทางทิศใต้ไปตามเส้นทางคมนาคม ถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาและคาบสมุทรมลายู มีลำดับความเป็นมาโดยสรุปดังนี้
1. ในจีน หม้อสามขา คือ ภาชนะดินเผามีสามขา อายุมากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ขุดพบในหลุมศพบริเวณลุ่มน้ำฮวงโห ถูกจัดเป็นวัฒนธรรมลุงชาน หรือวัฒนธรรมหลงซาน (Longshan culture)
2. ในไทย หม้อสามขาอายุราว 3,000 ปีมาแล้ว ขุดพบในหลุมศพบริเวณที่ราบเชิงเขาทางตะวันตกตั้งแต่ภาคเหนือของไทยทอดยาวผ่านภาคกลางลงไปภาคใต้บริเวณคาบสมุทรมลายู (จากหนังสือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ของ ชิน อยู่ดี กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510 หน้า 42-47) หม้อสามขาเหล่านี้ไม่ได้นำลงมาจากลุ่มน้ำฮวงโหในจีน แต่ทำขึ้นในท้องถิ่นสำหรับฝังในหลุมศพเท่านั้น จึงไม่ได้ทำขึ้นใช้ในชีวิตประจำวัน
คนจากบริเวณโซเมียเชื่อมโยงวัฒนธรรมหม้อสามขาจากลุ่มน้ำฮวงโห (ทั้งรูปแบบและพิธีกรรมความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับหม้อสามขา) ลงทางทิศใต้จนถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม้ไม่พบหลักฐานโดยตรง แต่พยานหลักฐานแวดล้อมยืนยันว่ามีการโยกย้ายอพยพของคนหลายชาติพันธุ์จากโซเมียลงทางทิศใต้เข้าสู่ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสาละวิน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา
หม้อสามขาเป็นเครื่องเซ่นผีเพื่อแสดงฐานะทางสังคมของคนตายผู้เป็นชนชั้นนำระดับหัวหน้าเผ่าพันธุ์ที่ฝังในหลุม ดังนั้นเมื่อหัวหน้าเผ่าพันธุ์ตายก็เอาหม้อสามขาฝังรวมในหลุมฝังศพเพื่อใช้งานในโลกต่างมิติตามความเชื่อเรื่องขวัญทางศาสนาผี
หม้อสามขา คือภาชนะดินเผามีสามขา อายุราว 3,000 ปีมาแล้ว เป็นเครื่องเซ่นผีที่แสดงฐานะทางสังคมระดับชนชั้นนำของหัวหน้าเผ่าพันธุ์ที่ตายแล้วฝังไว้ มีต้นแบบอยู่ลุ่มน้ำฮวงโหในจีน ต่อมาแพร่หลายถึงดินแดนไทยโดยกลุ่มชาติพันธุ์ในโซเมีย [ภาพหม้อสามขาพบที่บ้านเก่า ต. บ้านเก่า อ. เมืองฯ จ. กาญจนบุรี จากการขุดค้นโดยคณะสำรวจเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ ไทย–เดนมาร์ก พ.ศ. 2503-2505 จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จ. กาญจนบุรี (ภาพจากพิพิธภัณฑ์บ้านเก่า)]
วัฒนธรรมจีนสำคัญๆ มีอีกหลายอย่างที่กลุ่มไท–ไตรับมาสมัยแรกๆ โดยเฉพาะระบบปฏิทินแม่ปีลูกปีและระบบสิบสองนักษัตร เป็นต้น (สรุปจากหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา ของ เจีย แยนจอง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2548 หน้า 34-35) ซึ่งเกี่ยวข้องกับฤดูกาลกำหนดวิถีกสิกรรมทำนาทำไร่แบบพึ่งพาธรรมชาติ (เรียก “นาทางฟ้า” คือพึ่งพาน้ำฝน) แล้วยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาษาและวรรณกรรมไทย เพราะสมัยเริ่มแรกมีอิทธิพลมากทางภาษาและวรรณกรรมในชีวิตประจำวันของคนล้านนา ครั้นปัจจุบันแม้จะลดความสำคัญลงไป แต่ยังอยู่ในประเพณีและในความทรงจำของคนจำนวนไม่น้อย นอกจากนั้นสิ่งที่กลุ่มไท–ไตรับจากจีนยังมีความเชื่อที่เรียกด้วยภาษาฮั่น เช่น แถน, ขวัญ เป็นต้น
แม่ปีลูกปี ในล้านนาได้ต้นแบบจากปฏิทิน “กานจือ” ของจีน ราว 3,000 ปีมาแล้ว
แม่ปี หมายถึง ศก มี 10 ศก ได้แก่ กาบ, ดับ, ลวาย, เมิง, เปิด, กัด, กด, ลวง, เต่า, ก่า
ลูกปี หมายถึง นักษัตร มี 12 นักษัตร ได้แก่ ใจ้, เป้า, ยี่, เม้า, สี, ใส้, สง้า, เม็ด, สัน, เล้า, เส็ด, ไก๊ [ปีนักษัตรทางภาคกลางเรียกชื่อด้วยคำจากหลายภาษา เช่น ชวด (ภาษาจีน), ขาล (ภาษาเขมร), จอ (ภาษากุย) เป็นต้น]
สัตว์รอบวงในได้แก่สัตว์ประจำทิศทั้ง 4 คือ มังกร, หงส์, เสือ และเต่า ถัดออกมาคือสิบสองนักษัตร และวงนอกเป็นสัตว์ 28 ตัวบนคันฉ่องโลหะยุคราชวงศ์ถัง ค.ศ. 618-905 (พ.ศ. 1161-1448) (จากหนังสือ สิบสองนักษัตร ของ ส. พลายน้อย สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ. 2547 หน้า 2)
สิบสองนักษัตร ไท–ไตรับจากจีน นามปีมหาจักรในล้านนาตรงกับภาษาจีนโบราณ เช่น ล้านนา เรียก ปีกาบใจ้ ตรงกับจีนว่า กับจี้ (ภาคกลางเรียก ปีชวดเอกศก) ล้านนา เรียก ปีกัดเม้า ตรงกับจีนว่า กี่เม้า (ภาคกลางเรียก ปีเถาะฉศก) เป็นต้น
จีนเปลี่ยนปีนักษัตรตอนปีใหม่จีน (ตรุษจีน) ส่วนไทยเปลี่ยนปีนักษัตรตอนปีใหม่ไทย คือ เดือนอ้าย หรือเดือนที่ 1 หลังลอยกระทง ตรงกับปฏิทินสากลราวพฤศจิกายน–ธันวาคม (แต่ถูกชนชั้นนำอำนาจรวมศูนย์ครอบงำว่าเปลี่ยนตอนสงกรานต์ ซึ่งไม่ใช่ เพราะสงกรานต์เป็นพิธีขึ้นปีใหม่ในศาสนาพราหมณ์–ฮินดู ที่ไทยรับจากอินเดีย ส่วนสิบสองนักษัตรไม่มีในอินเดีย เนื่องจากสิบสองนักษัตรเป็นสิ่งเนื่องในศาสนาผีที่ไทยรับจากจีน)
แถน ได้จากภาษาฮั่นว่าเทียน, เตียน ซึ่งแปลว่าฟ้า หมายถึงผู้เป็นใหญ่บนฟ้า
ขวัญ ได้จากภาษาฮั่นว่าเฮวิ๋น, หวั๋น หมายถึงพลังอำนาจเหนือธรรมชาติที่ีมีในคน, สัตว์, พืช, สิ่งของ, อาคารสถานที่ ฯลฯ
พิธีกรรมหลังความตาย
ฝังศพครั้งแรกและฝังศพครั้งที่ 2 เป็นพิธีกรรมหลังความตายเดียวกันที่ต้องจัดการซากศพ 2 ครั้ง ตามความเชื่อขวัญทางศาสนาผีหลายพันปีมาแล้วตั้งแต่ลุ่มน้ำฮวงโหและแยงซีในจีน จนถึงคาบสมุทรและหมู่เกาะอุษาคเนย์
พิธีกรรมหลังความตายอย่างเดียวกันกับในจีนพบทั่วไปในดินแดนไทย ราว 2,500 ปีมาแล้ว
เป็นหลักฐานสำคัญแสดงความสัมพันธ์ไทย–จีน หลายพันปีมาแล้ว
ชนชั้นนำกลุ่มชาติพันธุ์ในดินแดนไทยรับวัฒนธรรมฮั่นผ่าน “คนกลาง” แล้วฝังรวมในหลุมศพราว 2,500 ปีมาแล้ว ต่อมาขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้สำริดจำนวนหนึ่ง [ภาพเครื่องมือเครื่องใช้สำริด พบที่ม่อนวัดเกษมจิตตาราม บริเวณคลองโพ ต. ท่าเสา อ. เมืองฯ จ. อุตรดิตถ์ (ภาพถ่ายก่อน พ.ศ. 2557)]