ผู้เขียน | อธิษฐาน จันทร์กลม |
---|
‘นิรโทษประชาชน’ ไม่ใช่แก้กฎหมาย
บาร์ขั้นต่ำพิสูจน์ความกล้า
ก่อนประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย
“นับตั้งแต่เปิดศูนย์ทนายฯมา ปีที่แล้วมีผู้ต้องขังสูงที่สุด วนเวียนเข้า-ออกเรือนจำ 68-70 คน
สถานการณ์ที่มีผู้ต้องขังสูงขนาดนั้น ก็ทำให้มีคนตัดสินใจออกนอกประเทศมากขึ้นด้วย”
เห็นได้จากอย่างน้อย 11 คนที่เลือกหนทางเป็น ‘ผู้ลี้ภัย’ เพื่อความปลอดภัยของชีวิต
เป็นตัวเลขที่สะเทือนความรู้สึก พูนสุข พูนสุขเจริญ แห่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จาก ‘ทนายเมย์’ ที่ว่าความให้กับเสรีภาพทางการแสดงออก สู่ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน
“แน่นอนว่าความร้ายแรงไม่ใช่แค่ถูกขังคุก หรือมีคนลี้ภัย แต่ยังเป็นปีที่สูญเสีย ‘บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม’ ไม่ว่าจะถูกดำเนินคดีอะไรก็ไม่ควรมีใครต้องสูญเสียในเรือนจำ”
หนแล้วหนเล่า ที่นักโทษทางการเมืองต้องใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน
เพื่อออกไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เพื่อตอกย้ำถึง ‘สิทธิประกันตัว’ ที่ควรมีตั้งแต่ต้น
‘ขนุน’ สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักศึกษาปริญญาโทหัวกะทิ ที่มีความฝันอยากเป็นนักวิชาการของชาติ เขียนบทความ ‘ย้อนทัศนา: ปรากฏการณ์อดอาหารและความรุนแรงจากรัฐ’ ก่อนจะเริ่มประกาศอดอาหารประท้วงเป็นรายล่าสุด ต่อจาก ‘บุ้ง’
ที่ผ่านไปเกือบหนึ่งปียังไม่มีความกระจ่าง หัวใจหยุดเต้นใน รพ.ราชทัณฑ์ หลังอดอาหารกว่า 100 วันจริงหรือไม่?
ทำเอาญาติพี่น้องและคนรักต้องอกหักอีกรอบ
เมื่อทนายความยื่นประกันผู้ต้องขังทางการเมืองทั้ง 16 คน เนื่องในวันแห่งความรัก แต่ก็ไม่เป็นผล
18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เหมือนภาพรีรัน ด้วยคำสั่ง ยกคำร้อง (ทุกฉบับ)
‘เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี และไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’


เรื่องนี้ไม่แตะโครงสร้าง
ง่ายสุด แต่นักการเมืองไม่สน
ยังมีคนที่ไม่ลืม
21 กุมภาพันธ์วันที่ ‘ขนุน สิรภพ’ เริ่มอดอาหาร
ณ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แน่นขนัดไปด้วยนักเคลื่อนไหว ตัวแทนพรรค นักวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ตลอดจนประชาชนทั่วไป
ร่วมล้อมวงถก ถาม อัพเดตความคืบหน้า Exclusive Talk 1 ปีนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งจัดขึ้นโดย เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน (6 องค์กร) นำโดย ThumbRights
หลังผ่านมากว่าหนึ่งปีที่ได้ยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน แต่ผลลัพธ์กลับยังมีผู้ถูกคุมขัง ทั้งที่ยังไม่มีคำตัดสินอันเป็นที่สิ้นสุด
ทนายเมย์ วิเคราะห์ว่าปมขัดแย้งหลักคือ ‘คดี 112’ ซึ่งมกราคมที่ผ่านมานี้เอง ยูเอ็นมีความเห็นอีกรอบ ว่าไทยต้องยกเลิกหรือแก้ไข ‘มาตรานี้ไม่ควรมีที่ทางในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย’
การนิรโทษกรรม ก็เป็นจุดเล็กๆ ในความขัดแย้งครั้งนี้ที่เถียงกันหนัก แต่แก้ได้
“อยากย้ำว่า ‘นิรโทษกรรม’ เป็นการลบล้างการกระทำของบุคคลในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแก้ไขกฎหมาย ภายใต้เรื่องเล็กๆ ที่นักการเมืองอาจจะไม่สนใจ แต่มันคือโอกาส เรื่องนี้ทำได้ง่ายสุด โดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใด”
“น่าเสียดาย ที่วาระการพิจารณาตัวรายงานของ กมธ.ในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า เราไม่ได้ถกเถียงในเรื่องเดียวกัน อยากให้คุยทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน”
ถ้าเริ่มทำจุดนี้ ก็เท่ากับเปิดโอกาสคุยกัน เพราะเป็นข้อเรียกร้องที่มีมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งถ้าประเมินแล้ว ‘นิรโทษกรรมประชาชน’ เป็นบาร์ขั้นต่ำที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ แต่หากไม่รวม ม.112 ก็อาจยิ่งสร้างรอยร้าว
“เป็นไปได้ว่าจะเข้าสภาได้อีกทีกลางปีนี้ แต่ว่าบรรยากาศผู้ต้องขัง วันนี้ (21 ก.พ.) ขนุน สิรภพ ประกาศอดอาหารวันแรก ธนพรมีอาการป่วย ก็ไม่ได้รับการรักษา จะมีคนที่เดินหน้าเข้าเรือนจำอีกเรื่อยๆ เรายังต้องสู้ต่อ”
อย่างน้อย 1 ปีที่ทนายเมย์ได้เห็น คือแรงซัพพอร์ตของประชาชนไม่ได้หายไปไหน

ศึกษา รอเวลา ปัดตก?
1 ปีผ่านไปไม่เห็นวี่แวว
หวังได้เป็นชนชั้นยกฟ้องบ้าง
สำหรับ ณัฐชนน ไพโรจน์ อดีตสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รอบนี้ชวนผู้ร่วมงานตอบคำถาม วัดความเป็นพลเมืองตื่นรู้
‘ประเทศไทย มีกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้วกี่ฉบับ?’ โดยมีผู้ตอบถูก 9 คน คือ 23 ฉบับ
ไปจนถึงคำถาม อาทิ ‘นิรโทษกรรมในอดีตฉบับใดบ้างที่ไม่นิรโทษกรรมคดี ม.112’ เฉลยคือ นิรโทษกรรมสุดซอย
‘ภาคประชาชนรวบรวมชื่อได้กี่ชื่อ เพื่อเสนอร่างนิรโทษกรรมเข้าสภา?’ คำตอบได้แก่ 36,723 รายชื่อ
‘ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทางการเมืองอยู่ในเรือนจำกี่คน?’ ที่ถูกต้องคือ 44 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
‘จริงหรือไม่ เพื่อไทยกำลังจะเสนอร่างนิรโทษกรรมของตัวเอง’ ซึ่งคำตอบคือ ‘จริง’
“1 ปีเหมือนนาน หลายคนคิดว่าคงมีอะไรอัพเดตเยอะ แต่ความจริงคือ ‘ศึกษา รอเวลา ปัดตก’ ก็อยากจะชวนพวกเราคุยถึงทิศทางในอนาคต”
เป็น 1 ปีที่ริบหรี่ แต่สำหรับ ณัฐชนน ยังมีหวังว่าจะมีการยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ได้อีกครั้ง
ล่าสุด ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ จำคุก 2 ปี เห็นว่า ‘ณัฐชนน’ เป็นผู้สนับสนุนให้เผยแพร่หนังสือที่มีความผิดตาม ม.112
“มีแนวโน้มที่จำนวนคนที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำมากขึ้น รวมถึงผม บางคน 40-50 ปีบ้าง เอาจริงๆ เข้าไปแค่ 4-5 ปีออกมายังไม่รู้โลกภายนอก ดังนั้นเป็นสิบปีไม่ต้องพูดถึง อยากชวนทุกคนร่วมกันนั่งคิด ว่ามีทางไหนที่เราจะเอาเพื่อนๆ ออกจากเรือนจำ ให้เขากลับมามีชีวิตที่ปกติ”
สิ้นเสียงณัฐชนน ผู้ร่วมงาน ชู 3 นิ้ว เพื่อแสดงความนึกถึงคนที่ยังอยู่ในเรือนจำ


ยื่นตลอด แต่ไม่เคยได้รับ
เมื่อก่อนอาชีวะ ‘ทุกวันนี้นั่งอ่านรัฐศาสตร์’
“ผมรู้สึกได้เลยว่าประเทศเรากำลังแย่ ตอนที่ผมกำลังโต ก็เลยต้องออกมา แต่มันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน”
หนึ่งปีสำหรับ ธี ถิรนัย เป็นอะไรที่แย่มาก ถูกจับขังแยกแดนกัน
ส่งเสียงความอัดอั้น ในฐานะที่ต้องถูกขัง เป็นอดีตผู้ต้องหาทางการเมืองจากการออกไปร่วมม็อบ
“ผมเป็นการ์ด ถูกดำเนินคดี ด้วยข้อกล่าวหาว่ามีอาวุธระเบิดไว้ในครอบครอง ผมเป็นอาชีวะก็จริง แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง”
“ใช่ครับผมเป็นอาชีวะ แต่ทุกวันนี้ผมมานั่งอ่านหนังสือรัฐศาสตร์แล้ว” ถิรนัยเผย
ด้าน มายด์ ชัยพร ขอบคุณทุกแรงใจทุกตัวอักษร ที่ผ่านมาได้เพราะกำลังใจจากทุกคน
ช่วงแรกที่เข้าไป สภาพจิตใจค่อนข้างแย่ บางคนเข้าไปแล้วถึงขั้นต้องรับยาจิตเวช และทุกครั้งที่ยื่นประกัน ก็มักจะถูกอ้างอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี แต่ส่วนตัวมองว่าบางคดีโทษสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ ยังได้รับการประกันตัว
“ผมยื่นประกันตลอด แต่ไม่เคยได้รับ จนคำสั่งศาลอุทธรณ์ อยู่จนครบที่ศาลกำหนด ฝากทุกคนเป็นกำลังใจให้คนที่อยู่ในเรือนจำด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้คนข้างในยังมีแรงใจสู้ต่อ” ชัยพรกล่าว

10,512 ฉบับ ส่งนักโทษการเมือง
ไทยเดินมาถึงจุด ‘ญาติไม่มีสิทธิเยี่ยม’?
‘ความหวังผ่านจดหมาย’
เป็นเรื่องราวที่อดีตผู้ต้องหาล้วนยืนยันว่าจริง
ณธกร นิธิศจรูญเดช ตัวแทนจากแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย มองว่าการเขียนจดหมายส่งเข้าไป ถือเป็นทรัพย์สินเดียวที่มี ที่ทำให้ผู้ต้องหาการเมืองมีกำลังใจและผ่านมาได้
จนถึงตอนนี้ มีผู้ต้องหาการเมืองได้รับจดหมายที่ประชาชนช่วยกันเขียนส่งถึงข้างใน มากถึง 10,512 ฉบับ แต่ปัจจุบันกลับมีนักโทษการเมืองบางคนที่ญาติไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้
ทำเอาตัวแทนจากแอมเนสตี้ฯ คาใจ ‘ประเทศเราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?’
เร็วๆ นี้ ทางแอมเนสตี้ฯ จึงมีแผนทำเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อขยายขอบเขตความรับรู้ให้กว้างขึ้นอีก
“เราจะหาทางส่งเสียงสะท้อนถึงเพื่อนในเรือนจำให้ได้ ‘เวหา’ เขียนจดหมาย คาดหวังว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเป็นตัวที่ทำให้เขาได้กลับบ้าน ‘ก้อง อุกฤษฏ์’ ไม่มีสิทธิได้สอบ ทั้งที่กำลังจะใกล้จบการศึกษา อิสรภาพของเขาขึ้นอยู่กับร่าง พ.ร.บ.นี้” ณธกรย้ำ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจองจำนักโทษทางความคิด

ก่อกบฏยังมีสิทธิลบความผิด
ชี้ ‘สมัยหน้า’ ยื่นใหม่ทัน
ในฟากของผู้แทนราษฎร
รอบนี้มีเพียง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หรือ ส.ส.เท้ง หัวหน้าพรรคประชาชน ซูมปัญหา ‘ฝ่ายค้านและคดีการเมือง’
ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ไม่อยากใช้เวทีนี้เป็นเวทีต่อสู้ของฝ่ายค้าน-รัฐบาล แต่ขอเป็นตัวแทนฝั่งการเมืองที่มาเป็นกำลังใจ ซึ่งหาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ล่าช้าออกไป จะมีวิธีอื่นในการช่วยเหลือเยียวยาอื่นๆ ที่สามารถผลักดันต่อได้หรือไม่
แล้วอะไรเป็นตัวแปรบ้าง?
“มีคำถามที่อยากชวนคิด ทำไมประชาชนที่ออกไปเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ถูกดำเนินคดี แต่การเยียวยากลับไม่มีสิทธิ หลายคนไม่ได้รับโทษ นับตั้งแต่ปี 2549 ที่มีการปฏิวัติ มีการนิรโทษกรรมไปแล้ว 4 ครั้ง นิรโทษฯ ให้กับการก่อกบฏ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน”
ณัฐพงษ์เล่าอินไซต์ ว่าทางสภาได้แต่รับร่างรายงาน แต่ข้อสังเกตยังไม่ได้รับ ซึ่งหลายข้อ สามารถส่งให้บางหน่วยงานดำเนินการไปได้ก่อน แต่ ส.ส.ส่วนใหญ่ของบางพรรค ไม่ได้โหวตรับ
พร้อมหยิบยกข้อมูลที่ชี้ว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากคดีการเมือง เป็นหลักหมื่น-แสน ซึ่งทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร ก็มักจะมีการเขียนนิรโทษกรรมให้ตัวเองเสมอ
แล้วใครได้ประโยชน์จากการนิรโทษกรรม?
“พันธมิตร 200 คน, เสื้อแดงและ นปช.1,150 คน, กปปส. 221 คน เราจะพบว่าตัวเลขรวมพอๆ กับที่ คนรุ่นใหม่ออกมาชุมนุมแล้วถูกดำเนินคดี คือ 1,683 คน”
โดยในภาพกว้างในปัจจุบันมี ‘4 ร่าง 5 แนวทาง’ ของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน
“ถามว่าน่าจะเข้าสภาเมื่อไหร่ ถ้าดูจากวาระประชุมปัจจุบันแล้ว มีเรื่องด่วน วาระ ครม.แทรกเข้ามา ถ้าทันสมัยประชุมนี้ก็ถือว่าเร็วมาก หรืออีกทีก็อาจจะเดือนกรกฎาคม
“ถ้าประเมิน ผมคิดว่า สมัยประชุมหน้า อาจจะยังพอทัน ในการยื่นพิจารณาในสภา”

ติดที่ ส.ส.กลัวคดี
ท้าพรรคกล้าหาญโหวต นิรโทษประชาชน
ณัฐพงษ์ยังชวนคุยถึงคำถามสำคัญ ‘ใครเป็นผู้กำหนดอนาคต นิรโทษกรรม’ ที่ผ่านมาหลายคนมองว่าตัวแปรที่สำคัญคือ พรรคร่วมรัฐบาล
“ถ้าภูมิใจไทยไม่เอา เพื่อไทยก็ไปต่อไม่ได้ เรื่องนี้เราได้ความแน่ชัดจากการประชุมวันที่ 2 สิ่งที่เกิดขึ้น ‘เกมในสภา’ คือ ภูมิใจไทยวอล์กเอาต์ และให้ ส.ว.ที่เชื่อว่ายึดโยงกับบางพรรค โหวตไม่ผ่าน พูดง่ายๆ เพื่อรอดูว่าเพื่อไทยจะเดินเกมต่ออย่างไร”
ณัฐพงษ์เล่าด้วยว่า มีความกังวลใจจากเพื่อนสมาชิกพรรคเพื่อไทย แม้แต่การอภิปรายก็ยังกังวล ไม่กล้าพูดจนกว่าจะมีการตีความแน่ชัด
“สภาวะที่เกิดในสภา คือ ส.ส.กลัวที่ตัวเองจะโดนคดี ไม่กล้าแม้แต่จะอภิปราย พอเป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ความจริงในฝั่งพรรคประชาชน เราโหวตรับทุกร่างในวาระที่ 1 ได้อยู่แล้ว แล้วไปถกเถียงในวาระต่อไป แต่คำถามคือเขาจะโหวตกันหรือเปล่า”
ผมว่าสภาวะการเมืองภาพใหญ่ มันติดอยู่ที่ ‘นักการเมืองส่วนใหญ่ กลัวการใช้อำนาจของตัวเองจะทำให้มีคดีตามมา’ ดูจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะอภิปรายก็ยังไม่กล้า ข้อสังเกตรายงาน ไม่กล้าโหวตรับ”
แล้วใครเป็นผู้กำหนด เรื่อง นิรโทษกรรม ส่วนตัวมองว่าทุกร่างที่เสนอเข้าไปในสภา หากไม่แตะ ม.112 ก็มีโอกาสที่จะดันต่อ
“หากมีอาจจะยากหน่อย แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายคนที่จะเปลี่ยนภาพบริบทการเมืองได้ คือทำอย่างไร ให้คนที่นั่งในสภา มีความยึดโยงกับประชาชนให้มากที่สุด” ณัฐพงษ์มองภาพจิ๊กซอว์ระยะยาว
เมื่อมีผู้ถามว่าพอจะมีกลไกไหนบ้าง ที่จะสามารถให้นักโทษการเมืองเข้าไปให้ข้อมูลกับทางสภาได้?
ส.ส.เท้ง รับว่าเป็นข้อเสนอที่ดี และอยากให้ช่วยกันผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของพรรคประชาชน จนผ่านวาระ 1 ไปให้ได้
ยกมือแชร์ความรู้สึกในช่วงท้าย สำหรับ สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย
อยากให้พรรคกลับสู่ความกล้าหาญ อยากเห็นภาพนี้อีกครั้ง
“ผมอยากเห็นภาพ ส.ส.ถือป้าย รูปภาพนักโทษการเมืองอีก ถึงตอนนั้นถ้าผมต้องอยู่ในคุก ก็จะนอนตายตาหลับ ผมได้เห็นภาพนั้น 2-3 ครั้ง มีพลังมาก ตอนเปิดอภิปรายเรื่องใหญ่ เพื่อพูดถึงการอดอาหารของตะวันและแบม ส่งผลต่อการให้ประกันตัว”
อยากให้นิรโทษกรรมเป็นผลงานที่จารึก ‘แพ้ไม่เป็นไร’ แต่อยากให้ไปแบบนี้
อธิษฐาน จันทร์กลม