ปฏิบัติการห้วยขาแข้ง สยามไวเนอรี่ นำทีม ทุ่มงบ แก้ขัดแย้งสัตว์ป่า-ชุมชน
เป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับความขัดแย้งระหว่างสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และแหล่งชุมชนชาวบ้านที่อยู่ริมขอบเขตป่าสงวน หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การขยายตัวของชุมชน และปัจจัยอื่นๆ ยิ่งทวีปัญหาความขัดแย้งให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น
ล่าสุดก็เพิ่งเกิดเหตุที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อช้างป่า หนัก 6 ตัน ต้องตายจากการถูกกระแสไฟฟ้าขนาด 220 โวลต์ ที่ชาวบ้านล้อมรั้วพื้นที่ตัวเองป้องกันสัตว์ป่าเข้ามารุกราน กลายเป็นคดีความที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน

และความสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยจริงๆ!!
ดังนั้นการแก้ปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างสัตว์ป่ากับชุมชน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ
ทำยังไงให้สัตว์ป่าไม่ออกไปนอกเขตป่า ไม่ให้กระทบต่อพืชไร่ชาวบ้าน แลกกับความรู้สึกที่ดีร่วมกัน เพื่อจะได้ช่วยกันรักษาป่า และสัตว์ป่าให้ได้อย่างยั่งยืน
แผนการสร้างแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า จึงเกิดขึ้น และแน่นอนการดำเนินการทุกอย่างจำเป็นต้องมีทุนทรัพย์สนับสนุน ลำพังงบประมาณจากหน่วยงานของรัฐ ที่ต้องเสียไปกับงบประจำต่างๆ ย่อมไม่เพียงพอ และล่าช้าในการเบิกจ่าย
ทำให้เอกชนอย่างกลุ่ม สยาม ไวเนอรี่ โดยคุณเฉลิม อยู่วิทยา เข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยสนับสนุนงบประมาณ 6 ล้านบาท เพื่อทำโครงการ เพิ่มศักยภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของ สยาม ไวเนอรี่ ที่เข้ามาสนับสนุน ยังมีอีกหลายโครงการที่ได้ริเริ่มไปก่อนหน้านี้ อาทิ การอนุรักษ์กระทิง ที่ผืนป่ากุยบุรี ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 ผ่านมา 16 ปี ด้วยการทุ่มเททั้งกำลังทรัพย์และกำลังแรง ส่งผลให้จำนวนสัตว์ป่า ทั้งช้างป่า วัวแดง กระทิง มีจำนวนเพิ่มขึ้นชัดเจน
และยังส่งผลดีกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ขณะที่ชาวบ้านรอบๆพื้นที่อนุรักษ์ ก็เกิดการสร้างอาชีพในชุมชน เกิดการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เพื่อความรู้สึกที่ดี ช่วยให้คนในชุมชนไม่เห็นว่าสัตว์ป่าเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต หนำซ้ำยังช่วยสร้างอาชีพและรายได้ สร้างความยั่งยืนได้ในอนาคต
ต่อยอดจากที่กุยบุรี คราวนี้ สยาม ไวเนอรี่ เข้ามาสนับสนุนโครงการที่ห้วยขาแข้ง ดินแดนมรดกโลก ปากทางของผืนป่าตะวันตกที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศ
ซึ่งนอกจากจะเป็นกิจกรรมซีเอสอาร์ของบริษัทแล้ว ยังเป็นเจตนารมณ์สำคัญของคุณเฉลิม ที่ชื่นชอบด้านการอนุรักษ์ สมัยหนุ่มๆก็เข้าป่าชื่นชมธรรมชาติ และสัตว์ป่าต่างๆ พอเข้ามาทำธุรกิจ ด้วยแบรนด์สำคัญ อย่างกระทิงแดง ก็ได้ใช้ชื่อของกระทิง และวังแดง เอามาเป็นโลโก้ทางการค้า เพราะแฝงไว้ด้วยพลังและความรู้สึก ทำให้สามารถตีตลาดโลกได้ในชื่อ เรดบลู

ทั้งนี้โครงการที่สยามไวเนอรี่ สนับสนุน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งครั้งนี้ ประกอบด้วย 8 ส่วนหลัก แต่ที่สำคัญ คือเรื่องการสร้างพื้นที่อาหาร และน้ำ ให้สัตว์ป่าภายในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ขุดบ่อน้ำ ทำทุ่งหญ้า เป้าหมายที่ 420 ไร่ใน 3 ปี และเลือกใช้พืชพื้นท้องถิ่น อย่าง หญ้าหางหมาจิ้งจอก และหญ้าแฝกห้วยขาแข้ง ให้เป็นแหล่งอาหารของสัตว์เท้ากีบทุกประเภท รวมทั้งโป่งเทียมต่างๆ เพิ่มสารอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็น

เมื่อมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ ย่อมดึงดูดให้สัตว์เหล่านั้นออกมาหากินตามธรรมชาติ ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่ออกไปนอกแนวเขต และรุกล้ำพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่การเกษตร รวมทั้งดึงดูดสัตว์นักล่า จำพวกเสือโคร่ง ให้มีแหล่งอาหารตามธรรมชาติอีกด้วย
และแน่นอนว่าการจะพิสูจน์ว่าโครงการดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ จำเป็นต้องติดตั้งกล้องถ่ายภาพ (Camera Trap) บันทึกภาพสัตว์ป่าที่ออกมาหากินตามแหล่งอาหารที่สร้างเอาไว้ นำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และจัดทำแผนที่เหมาะสมในอนาคตต่อไป

นอกจากนี้ยังมีงบสนับสนุนเรื่องการลาดตระเวน การทำความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์ในชุมชน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งสำคัญทั้งสิ้น
นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เปิดเผยว่า ต้องขอขอบคุณ กลุ่มบริษัท สยาม ไวเนอรี่ ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 6 ล้านบาท เชื่อว่าโครงการฯนี้ จะช่วยลดความขัดแย้ง การเผชิญหน้าระหว่าง ชาวบ้านและสัตว์ป่าได้อย่างดี
เขตรักษาพันธุ์ส้ตว์ป่าห้วยขาแข้งมีพื้นที่ทั้งหมด 1.8 ล้านไร่ ทิศเหนือติดกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางรวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดตาก และจังหวัดกาญจนบุรี และทิศใต้ติดกับอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี ทั้ง 3 ด้านติดพื้นที่ป่าอนุรักษ์

แต่พื้นที่ด้านทิศตะวันออก ที่อยู่ติดกับชุมชน 3 อำเภอ คือ อำเภอบ้านไร่, อำเภอลานสัก และอำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี รวมแล้วประมาณ 200 กิโลเมตร
“เราก็ไม่อยากให้สัตว์ป่าของเราออกไปรบกวนชาวบ้าน แต่ทิศตะวันออกแห่งนี้มีบางจุดเป็นพื้นที่ราบ ที่สำคัญเป็นถิ่นอาศัยของวัวแดง เราไม่สามารถอุ้มช้าง กระทิง วัวแดง กลับเข้าห้วยขาแข้งได้ ไม่สามารถสร้างกำแพงล้อมป่าห้วยขาแข้งได้ ต้องคำนึงถึงการอาศัยอยู่ร่วมกันก่อน จึงเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นทางออก และหากทำได้ก็จะทำให้ความขัดแย้งลดลง และสามารถพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืนได้”

ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ ใส่ใจกับสภาพแวดล้อม ต้นไม้ สัตว์ป่า และชุมชน ที่พร้อมสนับสนุนงบประมาณ แก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาตลอด และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนไม่มีใครรับประกันได้ถึงผลสำเร็จของโครงการ ว่าจะถึงขั้นไหน แต่ด้วยตัวชี้วัดต่างๆ ย่อมแสดงให้เห็นถึงทิศทางที่ดีกว่าเดิม
แม้จะยังไม่ถึงขั้นน่าพึงพอใจ แต่การเริ่มนับ 1 ย่อมดีกกว่าอยู่เฉยๆ และน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้องค์กรต่างๆ หันมาคืนกำไรให้สังคม ช่วยเหลือเกื้อกูลให้สังคมไทยสามารถเติบโต เสริมสร้างคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน เป็นประเทศที่น่าอยู่ให้กับลูกหลานเราต่อไป







