พลังงานด้านบวกของ
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ
ซีอีโอ แห่ง ซีพีเอฟ
‘ผมเป็นคนชอบแก้ปัญหา’
“ผมเป็นคนชอบแก้ปัญหา ต้องวางโซลูชั่นและทำงานเป็นทีม เพราะบริษัทไม่สามารถทำสำเร็จได้เพียงใครคนใดคนหนึ่ง เราต้องรู้จักบริหารจัดการ คนที่เป็นผู้นำต้องอดทนและรู้จักใช้วิธีสร้างพลังงานด้านบวก (Positive Energy) ให้กับผู้คน”
คือมุมมองที่ ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เผยเคล็ดไม่ลับในแบบฉบับของตัวแทนในฐานะผู้นำองค์กรบริษัทอาหารรายใหญ่ของไทย
เน้นย้ำความเป็นนักบริหารที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ จึงไม่น่าแปลกใจกับทุกความสำเร็จที่ผ่านมา และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
โดยเฉพาะ ‘ไก่ไทยจะไปอวกาศ’ ชื่อแคมเปญแสนสุดสะดุดหู ที่ CPF เพิ่งได้รับรางวัลสุดยอดแคมเปญการตลาดแห่งปี CMO’s TOP CHOICE Award จากคะแนนโหวตของคณะผู้บริหารระดับสูงด้านการตลาดของบริษัทชั้นนำกว่า 100 ท่าน
แคมเปญที่ว่านี้เกิดจากไอเดียของเจ้าตัวที่มุ่งมั่นส่งเสริมอุตสาหกรรมไก่ไทยอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยพัฒนา ‘ไก่เบญจา’ ที่ถูกเลี้ยงดูอย่างดีด้วยอาหารไก่ธัญพืชจนประสบความสำเร็จมาแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น ยังคว้ารางวัลระดับ Silver สูงสุดแห่งปี ประเภทการตลาดที่ถ่ายทอดจุดยืนของแบรนด์แก่กลุ่มเป้าหมายผ่านการสร้างประสบการณ์และการสื่อสารต่างๆ (Brand Experience & Communication) สู่ผู้บริโภค จากภาพการแปลงโฉมใจกลางสยามสแควร์ ให้เป็นสถานีอวกาศ จนขึ้นอันดับ 1 Trend X ประเทศไทย และอันดับ 3 ของโลก ส่งผลให้ยอดขายในประเทศเติบโตขึ้น 11% และขยายผลต่อธุรกิจสู่ระดับนานาชาติ
“ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกไก่เป็นอันดับ 3 ของโลก ไก่ไทยมีการดูแลเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน แต่พบว่าตลาดในประเทศติดภาพจำเรื่องไก่ไทยมีการใช้ฮอร์โมนซึ่งเป็นความทรงจำกว่า 30 ปีที่แล้ว เราจึงมาคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในมาตรฐานความปลอดภัยอาหารของคนไทย เราได้ดำเนินการด้วยหลากหลายวิธี และยังเป็นโรงงานที่ซัพพลายวัตถุดิบไก่ให้กับแบรนด์ดีๆ ระดับโลกอย่างเคเอฟซี
แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถปลดล็อกความเชื่อเรื่องนี้ กระทั่งได้หารือกับฝ่ายการตลาดมีไอเดียว่า เราควรจะมี Single Message ว่ามาตรฐานเราดี เราส่งออกไปอวกาศได้จริง โดยไปคุยกับ NASA Lab ไม่ใช่แค่แคมเปญการตลาด
การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย สู่มาตรฐานอวกาศ Space Food Safety Standard เกิดจากความเชื่อมั่นว่าเนื้อไก่ของซีพีเป็นหนึ่งในแบรนด์เนื้อสัตว์ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดแล้วในโลก
และแทนที่เราจะใช้ ไก่ซีพีไปอวกาศ เราก็ใช้คำว่า ไก่ไทยจะไปอวกาศ แทน เพราะตั้งใจที่จะยกระดับอุตสาหกรรมไก่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หากประเทศสำเร็จเราก็จะประสบความสำเร็จไปด้วยกัน”
ประสิทธิ์เล่าที่มาของแนวคิดเฉียบคมกลางวงดินเนอร์สบายๆ ในช่วงค่ำวันหนึ่ง ณ ร้านอาหารชื่อดังใจกลางกรุง พร้อมเปิดเผยทั้งความคิด และความในใจ อย่างตรงไปตรงมา
พร้อมย้อนเล่าเส้นทางชีวิตที่ลิขิตด้วยตนเอง จากนักเรียนบัญชีสู่ซีอีโอ ไม่ง่าย แต่ไม่เกินความสามารถ
หนุ่มพาณิชย์ยุคพิมพ์ดีด
สู่นักเรียนนอกอนาคตไกล
จุดเริ่มต้นจากความรู้และหลักคิดของประสิทธิ์ หล่อหลอมบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์มาจากสถาบันการศึกษาเก่าแก่ของไทยอย่าง ‘พณิชยการพระนคร’ ซึ่งเจ้าตัวเพิ่งขึ้นเวทีรับโล่และใบประกาศเกียรติคุณบุคคลดีเด่นและผู้ทำคุณประโยชน์ ในฐานะ ‘ศิษย์เก่าดีเด่น สาขาธุรกิจภาคเอกชน’ เมื่อ 18 มกราคมที่ผ่านมา ในโอกาสครบรอบวันสถาปนาสถาบันที่ในวันนี้เติบใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
“สมัยนั้นเรียนที่นางเลิ้ง เรียนสาขาบัญชี จบแล้วจึงไปอังกฤษกับหลาน แล้วก็ได้ไปเรียนต่อที่ Master of Business Administration ที่ Cleveland State University สหรัฐอเมริกา อานิสงส์จากความชำนาญในสมัยที่เรียนพิมพ์ดีด ทำให้ตอนเรียนปริญญาโทเป็นคนที่พิมพ์รายงานแบบรวดเร็วมาก ผมว่าเนื้อหาการเรียนของเมืองนอกกับเมืองไทยไม่ได้ต่างกัน แต่ต่างกันตรงที่ประสบการณ์ชีวิต และเพื่อน ที่มีส่วนสำคัญมาก” ซีอีโอซีพีเอฟเล่า
‘เพราะเราชอบสปีด’
ซีอีโอก็เป็น สปอนเซอร์ (ชมรมแบดฯ) ก็ใช่
สำหรับก้าวแรกในการทำงานกับซีพีเอฟ เริ่มต้นเมื่อเป็นผู้ช่วยของ อดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร ซีพีเอฟ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้บริหาร
ประสิทธิ์ จะต้องทำงานกับธุรกิจในเครือซีพีเอฟที่กระจายไปทั่วโลก ฐานผลิตที่สหรัฐจะเริ่มตอน 3 ทุ่ม กว่าจะประชุมเสร็จก็ราวเที่ยงคืน จึงต้องเตรียมพร้อม บริหารจัดการเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ และให้ความสำคัญในการออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการเล่นกีฬา ‘แบดมินตัน’ ซึ่งชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก เช่นเดียวกับ ‘ปิงปอง’
“ผมเป็นเด็กวัดสุทธิฯ (โรงเรียนวัดสุทธิวราราม) สนามบอลมันเล็ก เลยตีปิงปองแทน อาจจะเป็นเพราะเราชอบสปีด ตีปิงปองเร็วดี ต่อเนื่องมาถึงการตีแบดมินตัน”
ดังนั้น ทุกวันนี้ นอกจากนั่งเก้าอี้ซีอีโอ ยังรับบทผู้สนับสนุน (Sponsor) ชมรมแบดมินตัน ซึ่งเป็น 1 ใน 19 ชมรมที่บริษัทซีพีเอฟสนับสนุนให้พนักงานจัดตั้งขึ้นเพื่อทำกิจกรรมนันทนาการร่วมกันนอกเวลางาน
กูรู ‘โพรไบโอติก’
จำนวนจุลินทรีย์ไม่สำคัญเท่า ‘สายพันธุ์’
ส่วนการดูแลสุขภาพ ประสิทธิ์รับประทาน ‘โพรไบโอติก’ เป็นประจำทุกเช้า โดยผ่านการศึกษาเรื่องโพรไบโอติกอย่างจริงจังมาแล้ว เนื่องด้วยเคยเป็นผู้บริหาร ซีพีเมจิ มาก่อน
“โพรไบโอติก จากจุลินทรีย์ปัจจุบันมีหลากหลายสายพันธุ์ และในอาหารบางชนิดก็มีส่วนผสมของโพรไบโอติกตามธรรมชาติอยู่แล้ว อย่างในกิมจิ เพียงแต่เราจะไม่รู้ว่ามีปริมาณเท่าไร ดังนั้น การที่เรากินโพรไบโอติกแบบชงแยก ก็ทำให้จะรู้ปริมาณที่ร่างกายได้รับอย่างชัดเจน
ข้อสังเกตในการเลือกผลิตภัณฑ์นี้ คือ จำนวนจุลินทรีย์ไม่สำคัญเท่ากับสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่ใช้ ดังนั้น จึงต้องเลือกดูผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของจุลินทรีย์สายพันธุ์ดีๆ
ซึ่งในส่วนซีพีเอฟเอง ก็ได้มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก บิฟิโอ โปรไบโอติก พลัส ขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งช้อปปี้ ลาซาด้า นอกจากนั้นยังได้วิจัยและพัฒนาในการนำโพรไบโอติกมาใช้เป็นส่วนผสมในสูตรอาหารสัตว์ เพื่อทำให้สัตว์ที่เราเลี้ยงมีสุขภาพแข็งแรงด้วย”
‘วิปัสสนา’ ฮีลใจ เวิร์ก ไลฟ์ บาลานซ์
ไม่ใช่ดูแลด้านธุรกิจเพียงเท่านั้น แม่ทัพซีพีเอฟยังต้องดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานทั่วโลกเฉียด 2 แสนคน ประสิทธิ์ต้องฟิตทั้งกาย ส่วนใจก็ต้องนิ่ง เมื่อเกิดความเครียดหรือปัญหาที่เข้ามากระทบ วิธีที่เลือกฮีลใจคือการปฏิบัติธรรม เพราะเคยได้เรียนรู้หลักการฝึกที่ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ย.พ.ส.) ทำให้รู้หลักและสามารถลดความเครียดได้จริง
“ตอนนี้พอเสร็จงาน เราตัดได้ เราเคยไปเริ่มฝึกปฏิบัติธรรม ปีหนึ่งปลายๆ คอร์สแรก 5 วัน เข้มมากต้องปิดวาจา ช่วง 3 วันแรก ยังฟุ้งซ่าน จนวันที่ 5 ก็ออกจิตใจดีมาก ช่วยผ่อนคลายให้ความเครียดหายไป 30% เลยทีเดียว และเมื่อรู้หลักปฏิบัติแล้วก็สามารถนำกลับฝึกปฏิบัติได้เองทุกครั้งที่มีปัญหา”
ในด้านชีวิตส่วนตัว ประสิทธิ์ มีบุตรสาว 3 ใบเถา วัยใกล้เคียงกัน กำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดยบุตรสาวคนโต เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ม.Berkeley สหรัฐอเมริกา คนรอง เป็นเฟรชชี่ปี 1 ของ University of British Columbia, Sauder School of Business คนสุดท้อง ยังเป็นเฟรชชี่เช่นกัน โดยศึกษาอยู่ที่ Barnard College, Columbia University
จาก ‘พี่ใหญ่’ ขยับไป Global Sourcing
ผนึก ‘อูโอริกิ’ รุกตลาดอาหารญี่ปุ่น
ปิดท้ายที่ประเด็นการขับเคลื่อนธุรกิจซีพีเอฟที่มียอดขาย 6 แสนล้านบาท ซึ่งต้องพลิกแพลงและแก้ปัญหาตลอดเวลา ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนซีพีเอฟเป็นพี่ใหญ่ในการผลิตและส่งออกอาหาร แต่ปัจจุบัน ซีพีเอฟได้ปรับขยายสู่การเป็น Global Sourcing ในการนำเข้าวัตถุดิบมาจำหน่าย โดยล่าสุดร่วมลงทุนกับอูโอริกิ (Uoriki) บริษัทผู้ซื้อปลาในตลาดญี่ปุ่นชั้นนำ เพื่อให้ได้รับวัตถุดิบและราคาที่ดีที่สุด
“ตอนนี้อาจจะได้ว่าราคาถูกกว่าปกติและคุณภาพสูงระดับ 5 ดาว ราคาอยู่ในระดับ 3 ดาว เราอยากให้วัฒนธรรมการทานอยู่ในราคาที่ดีกว่านี้
เราเริ่มจากนำเข้ามาช้อป ขายในแม็คโครก่อน และปัจจุบันเราคุยกับเซเว่น อีเลฟเว่น จัดจำหน่ายในเซเว่นเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ตอนนี้ทำมา 14 เดือน ได้เริ่มทยอยเปิดไป 20 สาขา เช่น สาขาตึกซีพี สีลม, สาทร เป็นต้น” ประสิทธิ์เผย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ ‘พลังงานด้านบวก’ ที่สะท้อนผ่านถ้อยคำ วิสัยทัศน์ ผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ในฐานะซีอีโอผู้พร้อมนำพาซีพีเอฟมุ่งหน้าสู่อนาคต ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้าอย่างมั่นคงไปพร้อมๆ กัน