ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ |
---|
โซเมีย – รวมข้อมูลวรรณกรรมวิชาการโซเมีย, ไท–ไต ใน “นิธิ เอียวศรีวงศ์”, สุจิตต์ วงษ์เทศ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2568) เป็นการรวบรวม “ต้นฉบับเบ็ดเตล็ด”(ตามคำของบรรณาธิการ) ข้อมูลดิบ และบทความวิชาการบางชิ้นของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ งานเขียนแต่ละชิ้นสั้นยาวไม่เท่ากัน ชิ้นที่สั้นที่สุด (เนื่องจากเป็นร่างงานเขียนหรือบันทึกในบางประเด็น) ยาวเพียง 2-3 หน้า แต่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบริเวณที่สูงชันที่นักวิชาการบางคนเรียกว่า “โซเมีย” และคนไท–ไต ซึ่งนิธิคิดว่าจะช่วยให้เราเข้าใจที่มาและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของคนไทยได้กระจ่างยิ่งขึ้น
‘โซเมีย’ คืออะไร? สำคัญอย่างไร?
“โซเมีย” คืออะไร? สำคัญอย่างไร? นิธิให้คำอธิบายสั้นๆ ว่าโซเมียหมายถึงบริเวณพื้นที่สูง “นับจากทิวเขาหิมาลัย … รวมเอาทิเบต, มณฑลเสฉวนและยูนนานในประเทศจีน, นาคะประเทศ, มณีปุระ, คั่นด้วยพื้นที่ราบอันเกิดจากแม่น้ำอิรวดี, พม่าเหนือไล่ลงมาทางใต้ตลอดแนวชายฝั่งอันดามัน ดังนั้นจึงกินเอาภาคตะวันตกของประเทศไทย … ภาคเหนือตอนบนและอีสาน … สปป.ลาวทั้งประเทศ รวมทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา ส่วนเวียดนามนั้น พื้นที่สูงของโซเมียกินดินแดนเกือบทั้งประเทศ ยกเว้นที่ราบปากแม่น้ำแดงทางเหนือ และที่ราบปากแม่น้ำโขงทางตอนใต้” (น.59-60)
โซเมียเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล นอกจากมีสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ พืชพรรณ พันธุ์สัตว์ ที่แตกต่างกันแล้ว ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ก็มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษาพูด ขนบธรรมเนียม ความคิด และความเชื่อทางศาสนา เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิด บางชนิดเป็นของหายากและหลายชนิด เช่น สัตว์ป่าและส่วนต่างๆ ของสัตว์ป่า ฝิ่น กัญชา สมุนไพร แร่เงิน หินมีค่า ก็มีความต้องการสูง ทรัพยากรเหล่านี้จึงเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ทำกำไรได้มาก นอกจากนี้ บางส่วนของ “เส้นทางสายไหม” ได้ตัดผ่านพื้นที่ของโซเมีย สินค้าจำนวนไม่น้อยจึงเป็นทรัพยากรอันมีค่าของดินแดนแห่งนี้ที่ถูกส่งต่อไปยังส่วนอื่นๆ ในโลก
แม้แต่รัฐสุโขทัยก็ตั้งอยู่ชายขอบของโซเมีย
ในความคิดของคนไทย โซเมียอาจดูเป็นที่ห่างไกลจากความเจริญ เป็นที่พำนักของผู้คนนิรนามในเขาป่า ทว่า ในความเป็นจริง ที่นี่เป็นดินแดนสำคัญในทางการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นบริเวณชายแดนที่มาบรรจบกันของหลายประเทศ เช่น อินเดีย ปากีสถาน จีน เวียดนาม พม่า ไทย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศอีกด้วย
ยิ่งกว่านั้น ยังมีความน่าสนใจอีกประการหนึ่ง นิธิเขียนไว้ว่า “ถ้าไม่นับไทยสยามในภาคกลางและคาบสมุทรมลายูแล้ว กลุ่มคนที่ภายหลังเรียกตนเองว่า ไทหรือไต ล้วนอยู่บนโซเมีย ซึ่งก็คือ ผืนที่สูง …” แล้วพาดพิงถึงคนไท/ไตกลุ่มต่างๆ ในเวียดนาม จีนใต้ อีกทั้งยังระบุว่า “แม้แต่รัฐสุโขทัยก็ตั้งอยู่ชายขอบของโซเมีย … รัฐที่ใช้ภาษาไทในที่ราบสูงอีสานล้วนตั้งอยู่บนส่วนหนึ่งของโซเมีย … ดังนั้นจึงเป็นการสมควรที่จะเริ่มเรื่องราวของของไท–ไตด้วยการบรรยายถึงโซเมียก่อน” (น.3-4)
ด้วยเหตุนี้ ดินแดนของประเทศไทยและประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรของคนไทยที่เคยรุ่งเรืองในอดีตจึงเกี่ยวข้องกับโซเมียอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ นิธิให้ความสนใจต่อโซเมียด้วยจุดมุ่งหมายในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับดินแดนแห่งนี้ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างโซเมียกับประวัติศาสตร์ไทยและคนไทย ซึ่งเป็นคนกลุ่มหนึ่งในกลุ่มคนที่ใหญ่กว่าที่เรียกว่า “คนไท–ไต”
นิธิอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า “เมื่อจะพูดถึงเรื่องของพวกไท/ไต จึงพึงเข้าใจว่าไม่ได้พูดถึงกลุ่มคนที่มี ‘เลือดไท/ไต’ แต่พูดถึงคนที่มีสำนึกร่วมกับคนอื่นว่า ตนคือไท/ไต กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือมีอัตลักษณ์ร่วมกัน” (น.68) และอัตลักษณ์ที่ว่านี้ก็ “ไม่ใช่ ‘เชื้อชาติ’ หรือ ‘เผ่าพันธุ์’ ที่ถูกสมมติให้เป็นสิ่งหยุดนิ่งตายตัว” แต่หมายถึง “ชาติพันธุ์” ที่ “เป็นเรื่องของวัฒนธรรมด้านที่เป็นสาระสำคัญ เช่น ภาษา, ความเชื่อทางศาสนา, การนับญาติ, ระบบการเมือง (หรือใครมีอำนาจและสิทธิเหนือใคร เพราะอะไร) ฯลฯ” (น.67)
เรื่องราวของไท/ไต หมายถึงเรื่องราวของใครกันแน่?
หลังจากนั้น นิธิก็ตั้งคำถามว่า “เรื่องราวของไท/ไตหมายถึงเรื่องราวของใครกันแน่?” (น.70) โดยเริ่มให้คำอธิบายว่า “ไท–ไตเป็นแต่กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีวัฒนธรรมบางด้านตรงกัน แต่ที่ตรงกันนี้อาจไม่ใช่มาจากชาติพันธุ์เฉพาะของตนเอง หากเป็นเพราะวัฒนธรรมดังกล่าว เช่น กินหมาก, เรือนเสาสูง, ลายสัก, การทำนาดำ, การใช้ควาย, แต่งงานเข้าเรือนฝ่ายหญิง, บทบาทที่สูงและมากของผู้หญิงในสังคม ฯลฯ เป็นวัฒนธรรมร่วมที่คนหลากหลายชาติพันธุ์บน ‘โซเมีย’ … ต่างมีร่วมกัน วัฒนธรรมเพียงอย่างเดียวที่พวกไท–ไตอาจมีร่วมกันคือภาษา ต่างใช้ภาษาที่อยู่ในตระกูลไท–กะได แต่ไม่จำเป็นว่าจะพูดกันรู้เรื่องทุกกลุ่ม” (น.73)
ในทางวิชาการ คนไท–ไตจึงเป็นคำนิยามที่นักวิชาการใช้เรียกผู้คนหลากหลายกลุ่มที่มีภาษาพูดในตระกูลภาษาไท–กะได และมีอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ร่วมกันบางประการ เช่น ภาษาและการแต่งกาย (น.81-82) อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าคนไท–ไตบางกลุ่มมีสำนึกเกี่ยวกับคนที่พูดภาษาไท–ไตกลุ่มอื่น เช่น นิธิพาดพิงถึงบันทึกของลาลูแบร์ที่ระบุว่าคนอยุธยาในศตวรรษที่ 17 “เรียกตนเองว่า ‘คนไทย’ และยังรู้ด้วยว่า กลุ่มคนไทยนั้นยังมีอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ทางเหนือเรียกว่า
‘ไทยใหญ่’ ส่วนตนเองนั้นเป็น ‘ไทยน้อย’ ” นอกจากนี้ ผู้คนในล้านนาในสมัยอยุธยาก็ “มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคน ‘ไตโหลง’ หรือไทยใหญ่ในรัฐชาน … โดยเฉพาะด้านการค้าและการส่งผ่านวัฒนธรรมความรู้ระหว่างกัน” (น.83 เชิงอรรถ 4)
แรงบันดาลใจเขียนหนังสือ (กึ่ง) วิชาการ
‘ประวัติศาสตร์ล้านนานอกขนบ’
ผมอยากสันนิษฐานว่าความสัมพันธ์อันใกล้ชิดในอดีตระหว่างคนไท–ไตต่างกลุ่มภาษา เช่น ระหว่างคนล้านนากับคนไทยใหญ่ในรัฐชาน อาจเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่กระตุ้นให้นิธิเริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับคนไท–ไตอย่างจริงจัง และมีความคิดที่จะ “เขียนหนังสือวิชาการหรือกึ่งวิชาการขึ้นเล่มหนึ่ง เนื้อหาประมาณ ‘ประวัติศาสตร์ล้านนานอกขนบ’ ดังที่ สุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผู้เป็นภรรยาได้เปิดเผยใน ‘คำทรงจำ’ ” (น.7) ยิ่งกว่านั้น ยังอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทยที่มีขอบเขตความรู้กว้างเกินกว่าอาณาเขตประเทศไทย และไม่เน้นเพียง “คนไทย” กลุ่มเดียวเท่านั้น หากครอบคลุมผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งที่พูดภาษาไท–ไตและภาษาอื่น ดังจะเห็นได้จากเนื้อหาที่นิธิเขียนอภิปรายไว้ค่อนข้างยาวใน “ข้อเสนอสังเขปประวัติศาสตร์แห่งชาติ” (น.94-145) และ “ประวัติศาสตร์ไทยโดยสังเขป” (น.198-230) ที่นอกจากกล่าวถึงเรื่องความหลากหลายของผู้คนแล้ว ยังพาดพิงถึงเรื่องเศรษฐกิจและการค้า การขยายตัวทางการค้าและ “วัฒนธรรมที่หลั่งไหลตามกระแสการค้าจากแดนไกล” (น.208) ซึ่งไม่มากก็น้อยได้ส่งผลให้บริเวณนี้หลากหลายด้วยวัฒนธรรมอื่นจากดินแดนอันห่างไกล หลอมรวมเข้าจนกลายเป็นวิถีชีวิตร่วมกันของผู้คนทั้งหลาย
มีการประมาณกันว่าผู้คนที่พูดภาษาตระกูลไท–ไตทั้งหมดราว 93 ล้านคน แต่ผมเดาว่าอาจมีมากกว่าหนึ่งร้อยล้านคนก็ได้หากเรานับรวมคนที่พูดมากกว่าหนึ่งภาษา ซึ่งเป็นเรื่องปรกติในดินแดนแถบนี้ เช่น สมมติว่าพ่อพูดภาษาไทดำ แม่พูดภาษาเวียด ลูกๆ พูดได้ทั้งสองภาษา เราจะจัดว่าลูกๆ พูดภาษาอะไร? ไทดำหรือเวียด? จะจัดให้เป็นคนเวียดหรือคนไท–ไต? หรือตัวอย่างใกล้ตัว พ่อพูดภาษาไทยกลาง แม่พูดภาษาเขมร ลูกๆ พูดได้ทั้งสองภาษา เราจะจัดว่าลูกๆ พูดภาษาอะไร? ไทยกลางหรือเขมร? และจัดเป็นคนกลุ่มใด? ดังที่นิธิได้อธิบายไว้แล้วว่าคนไท–ไตเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์แต่มีบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน เช่น ภาษา ในความเห็นของผม คนไท–ไตจึงมิได้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากมีภาษาพูดต่างกันแล้ว (แต่ใช้ภาษาไท–ไตร่วมกันได้) ยังมีประสบการณ์และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันด้วย ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อทางศาสนาก็ต่างกัน
‘lingual franca’ ภาษากลางของกลุ่มชาติพันธุ์ สื่อสาร สังสรรค์
คุยการค้า ‘แม้แต่เกี้ยวพาราสี’
ความน่าสนใจประการหนึ่งของภาษาไท–ไตคือเป็น “lingual franca” หรือภาษากลางที่ชนชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ใช้สื่อสารติดต่อกันในชีวิตประจำวัน เจรจาต่อรองกันในการค้าขาย ในวงสนทนาของคนต่างชาติพันธุ์เพื่อสังสรรค์ สร้างมิตรไมตรี หรือแม้แต่การเกี้ยวพาราสี ที่อาจนำไปสู่การแต่งงานสร้างครอบครัวร่วมกันระหว่างคู่สมรสต่างชาติพันธุ์ (อันเป็นเรื่องปกติในดินแดนนี้) ตัวอย่างที่ชัดเจนคือภาษาไตในรัฐชาน หรือ “คำเมือง” ในภาคเหนือของประเทศไทยก็อาจเรียกได้ว่าเป็น “lingual franca” ได้เช่นกัน เพราะคนบนที่สูงหลายกลุ่มพูดคำเมืองได้ ใช้ติดต่อสื่อสารกับคนกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งคนเมืองได้
มีรายงานว่าในศตวรรษที่ 19 ในรัฐชานมีชนชาติพันธุ์กลุ่มที่แสดงตนว่าเป็นคนไทยใหญ่ ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ–การค้า เช่น คนพาโอ ซึ่งพูดภาษาในตระกูลภาษากะเหรี่ยง (นักวิชาการบางคนจัดว่าอยู่ในตระกูลภาษาจีน–ทิเบต) และเป็นที่รู้จักในนาม “ตองซู่” อันเป็นภาษาพม่า หมายถึง “คนดอย” ว่ากันว่าผู้ชายตองซู่แต่งกายแบบชายไทยใหญ่และมีอาชีพค้าขาย เป็นพ่อค้าวัวต่างไม่ต่างจากพ่อค้าวัวต่างชาวไทยใหญ่ทั่วไป แต่คนพาโอเหล่านี้ก็มิได้ละทิ้งวัฒนธรรมเดิมของตนและยังคงพูดภาษาเดิมของตน นอกเหนือจากภาษาไทยใหญ่ที่ใช้เป็นปรกติในการค้าขาย
จาก ‘รัฐเจ้าฟ้า’ สู่ ‘รัฐมหานคร’
นอกจากนี้ คนไท–ไตยังมีความเด่นอีกประการหนึ่งคือการมี “เมือง” อันเป็นที่พำนักอาศัยของผู้ปกครองที่เรียกว่า “เจ้าเมือง” (หรือ “เจ้าฟ้า” ในรัฐชาน) เมืองจึงเป็นศูนย์กลางของการบริหารปกครองโดยปริยาย อีกทั้งเมืองส่วนใหญ่มักตั้งอยู่บนเส้นทางการค้า จึงเป็นจุดรวมสินค้าที่มาจากที่ต่างๆ และพ่อค้า–ลูกค้าที่เป็นชนต่างชาติพันธุ์มากมายที่เดินทางมาจากที่ต่างๆ เพื่อค้าขายสินค้าสารพัดชนิด
ในทางการเมือง เมืองของคนไท–ไตก่อให้เกิดสิ่งที่นิธิเรียกว่า “รัฐเจ้าฟ้า” ที่มีลักษณะสำคัญคือ “ ‘เจ้าฟ้า’ มีอำนาจอยู่เฉพาะใน ‘เมือง’ ซึ่งคือที่ราบหุบเขาหนึ่งเท่านั้น แต่อาจสร้าง ‘เครือข่าย’ ความสัมพันธ์ข้ามจาก ‘เมือง’ หนึ่งไปยัง ‘เมือง’ อื่น โดยอาศัยความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ” (น.166-167) อย่างไรก็ตาม นิธิเสนอว่ารัฐเจ้าฟ้าอาจพัฒนาและขยายอำนาจทางการเมืองของตนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น กลายเป็น “รัฐมหานคร” เฉกเช่นล้านนาได้ ดังปรากฏใน “จากรัฐเจ้าฟ้าสู่รัฐมหานคร” (น.163-192) ที่นิธิพยายามสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของการขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองของรัฐคนไทย เช่น สุโขทัยและอยุธยา โดยอภิปรายถึงรัฐเจ้าฟ้าและรัฐมหานครของคนไท–ไตที่มีข้อจำกัดในการขยายอำนาจ ไม่อาจกลายเป็นรัฐราชอาณาจักรอย่างสุโขทัยและอยุธยาได้
ความคิดและความรู้อันน่าทึ่ง
ไม่เพียงคุณูปการทางวิชาการ คนทั่วไปก็ควรอ่าน
ยังมีประเด็นสำคัญและรายละเอียดที่น่าสนใจใน “รวมข้อมูลวรรณกรรมวิชาการ โซเมีย, ไท–ไต ใน ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ ” ที่ผมไม่สามารถกล่าวถึงได้หมดในที่นี้ แต่อยากย้ำว่าหนังสือเล่มนี้เผยถึงความคิดและความรู้อันน่าทึ่งของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ในเรื่องคนไท–ไตและอาณาบริเวณของผู้คนเหล่านี้ ซึ่งอยู่นอกอาณาจักรไทยแต่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนไทยอย่างยาวนาน ที่จะช่วยให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับตัวเองและผู้คนกลุ่มอื่นๆ ทั้งที่อยู่รอบๆ และห่างไกลออกไป
หนังสือเล่มนี้จึงไม่เพียงมีคุณูปการทางวิชาการเท่านั้น สำหรับคนทั่วไปผู้สนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของคนไท–ไตก็ควรอ่าน
ศ.กิตติคุณ ดร.นิติ ภวัครพันธุ์