‘ศิรินันท์ กิติสุขสถิต’ ท้าพิสูจน์ ‘HAPPINOMETER’ สู้วิกฤต-สร้างสุขคนทำงานได้จริง

เพิ่งเปิดตัว “ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย” (TCHS) หมาดๆ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมกับแนะนำให้รู้จักอย่างเป็นทางการกับ ชุดเครื่องมือวัดความสุขที่เรียกกันว่า “แฮปปิโนมิเตอร์” (HAPPINOMETER) ชุดเครื่องมือวัดความสุขทางสังคมศาสตร์ ที่คณะนักวิจัยสถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีการวัดผลคนทำงานมาแล้วกว่า 400,000 ราย จาก 800 องค์กรทั่วประเทศ

จุดมุ่งหมายเพื่อตรวจจับระดับความสุขของคนทำงานใน 9 มิติ ได้แก่ มิติสุขภาพดี ผ่อนคลายดี น้ำใจดี จิตวิญญาณดี สังคมดี ครอบครัวดี ใฝ่รู้ดี สุขภาพเงินดี และการงานดี ทั้งยังสามารถตรวจจับความผูกพันของคนทำงานที่มีต่อองค์กรได้อีกด้วย ผ่านการตอบคำถามเพียง 68 ข้อ

“เราเชื่อว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนรักองค์กร ทำให้ผู้บริหารและคนทำงานอยู่ด้วยกันอย่างมีความเข้าอกเข้าใจกัน สื่อสารกันได้ และสุดท้ายก็มีความสุข”

รศ.ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต หัวหน้าศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล บอก

Advertisement

แล้วในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ การใช้จ่ายดำเนินชีวิตที่ต้องจำกัดจำเขี่ยมากขึ้นด้วยปัจจัยรอบข้างต่างๆ นานา คนทำงานในประเทศไทยมีความสุขมากน้อยสักแค่ไหน?

– ที่มาของศูนย์วิจัยความสุขของคนทำงานแห่งประเทศไทย?

เดิมเราทำเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพชีวิต ส่งเสริมเรื่องคุณภาพชีวิตคนทั่วไป เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมามีโอกาสได้ทำเรื่องคุณภาพชีวิตของคนทำงานภาคเอกชน : ภาคอุตสาหกรรม กับภาคบริการ เราพบว่าคุณภาพชีวิตของเขาจะโยงเกี่ยวกับความสุข ปีถัดมา (2551) ทาง กพ.ให้เราทำคุณภาพชีวิตคนทำงานภาครัฐ เราก็พบว่าองค์ประกอบของคุณภาพชีวิตระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนมีความต่างกัน

Advertisement

ภาคเอกชนจะดูในเรื่องความก้าวหน้า และเกี่ยวกับรายรับที่ได้กับส่วนที่ต้องใช้จ่าย ขณะที่คนทำงานภาครัฐจะเน้นเรื่องความมีเกียรติ โอกาสในความก้าวหน้า แต่พอเอามารวมกันทั้งสองแบบพบว่ามันไปด้วยกันได้ เราจึงนำมาสร้างเป็นข้อมูลชุดเดียวสำหรับวัดคนทำงาน ได้ออกมาเป็น “แฮปปิโนมิเตอร์” เครื่องมือวัดความสุขคนทำงาน ในปี 2553 เพราะตอนนั้นเราอยากจะรู้ว่าคนทำงานทั่วประเทศมีความสุขทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างไร

– ที่ผ่านมาใช้วัดผลมาแล้วมากน้อยแค่ไหน?

นับเฉพาะที่เรามีข้อมูล ประมาณ 2 แสนกว่าเกือบ 3 แสนคนทำงานทั่วประเทศ ถ้านับรวมข้างนอกน่าจะอยู่ 4 แสนกว่าคน เพราะทางญี่ปุ่นคือบริษัทโดโคโมะ และมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น คณะการกีฬา เอาไปใช้วัดผลด้วย

– จากการใช้แบบสอบถามที่ผ่านมา คนไทยมีความสุขในการทำงานมากน้อยแค่ไหน?

เราตั้งไว้ 4 ส่วน แย่สุด 0-24.99 แย่ 25-49.99 ดี 50-74.99 ดีมาก 75-100 คนทำงานในประเทศไทย (รวมชาติอื่นที่ทำงานในประเทศไทยด้วย)อยู่ที่ “ดี” แต่เกณฑ์ที่ว่า “ดี” อยู่ที่โดยเฉลี่ย 60%

– เมื่อได้ผลแล้วขั้นตอนต่อไป?

เราจะดูว่าตัวไหนต่ำสุด และถามว่าตัวต่ำสุดอยู่ในกลุ่มไหน แผนกไหน แล้วเอากลุ่มนั้นมานั่งคุยกันว่า เกิดอะไรขึ้นกับเขา เขาต้องการอะไร คนทำงานภาครัฐบาลบอกว่าคนทำงานอยากได้อะไรมักไม่ได้อย่างนั้น สิ่งที่รัฐบาลให้บางทีเขาก็ไม่อยากได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้หน่วยงานรัฐบาลหลายๆ หน่วยมีการคุยกัน และใช้หลักสูตรเรา ไปดูว่าในกลุ่มไหนอยากได้อะไร เพราะฉะนั้นงบประมาณที่ได้มาเริ่มลงตรงกลุ่ม เอากิจกรรมมาลง งบประมาณที่ใช้เริ่มจะคุ้มค่า เพราะมันไม่ได้ไปทำทั้งหมด

– คนทำงานที่มีความสุขน้อยในการทำงานมีปัญหาตรงไหน?

อย่างแรกส่วนใหญ่จะเป็น มิติผ่อนคลายดี-ต่ำ และมิติการเงินดี-ต่ำ ผ่อนคลายดีคือ เครียดกับเรื่องทั่วๆไปต่ำ ซึ่งเรามี 5 คำถาม 1.พักผ่อนไม่เพียงพอกับชีวิตที่เขาต้องการ 2.ชีวิตไม่เป็นไปตามที่คาด 3.มีความเครียดกับรอบข้าง ฯลฯ คนโดยมากจะนึกว่าตัวชี้วัดความเครียดต้องมาแรง แต่ไม่ใช่ ตัวที่เราเจอบ่อยคือ ชีวิตไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เป็นตัวที่ต่ำสุดเกือบจะทุกปีของคนทำงาน

– ต้องแก้ไขอย่างไร?

เครื่องมือเราเป็นเกณฑ์ การจะเข้าไปช่วยเหลือของเรา ผู้บริหารต้องยอมให้เราเข้า ยกตัวอย่าง มีหน่วยงานหนึ่งพบว่าวัดไปแล้ว คนของเขามีแฮปปี้มันนี่-ต่ำ เขาจึงเข้าไปดูว่ากลุ่มไหน และพบว่าอยู่ในรายผลิต เขาก็ลงไปนั่งคุย และพบว่ากินเหล้าสูบบุหรี่ จึงตั้งหลักสูตรทิ้งเหล้าทิ้งบุหรี่ มีกิจกรรมให้ความรู้ว่าผลเสียของการกินเหล้าสูบบุหรี่ และมีการวัดผลในแต่ละเดือนว่า เมื่อทิ้งเหล้าทิ้งบุหรี่แล้วเงินเหลือ สุดท้ายกลุ่มนี้ก็จะเป็นตัวอย่างให้กับกลุ่มต่อไป และเมื่อเหล้าบุหรี่ลดลง สติมา แฮปปี้แฟมิลีก็ดีขึ้น โดยเราจะย้ำให้เขาติดตามผล พยายามให้ทำอย่างต่อเนื่อง เช่นจัดให้มีการให้รางวัล มีการทำเป็นโมเดล

– วัตถุประสงค์ของการทำเครื่องมือวัดความสุขคนทำงานคือ?

สุดท้าย…คนวัยทำงานถ้าไม่ดี ประเทศไปไม่ได้ นี่คือหลัก ประเทศไทย 4.0 บอกว่าคนต้องสมาร์ท ต้องเก่ง นวัตกรรมต้องดี แต่จากที่เราเคยทำงานอื่นมา เราพบว่าคนทำงานมีปัญหาเยอะ เบื้องต้นเลยคือคุณภาพชีวิตของเขา งานชิ้นนี้เราเอามิติของคนทำงานทุกมิติมาดู และมาบอกว่ามิติไหนดี มิติไหนต้องคอยดู อย่างมีมิติหนึ่งที่วัดทีไรก็สูงทุกรอบ คือมิติจิตวิญญาณดี แปลว่า เขามีความเป็นคนดีสูงมาก ทั้งความกตัญญู ความซื่อสัตย์ ความมีคุณธรรม แต่ถ้าเราไปวัดตัวอื่นแล้วไม่ดี มันก็ไปไม่ได้ ฉะนั้นคนดีกับคนเก่งต้องไปคู่กับ เครื่องมือนี้สามารถทำให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง

– คือไปกระตุ้นหน่วยงานที่สนใจเรื่องราวเหล่านี้มาบริหารจัดการลูกน้องในบริษัทให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น?

ถูกต้องค่ะ

– สภาพเศรษฐกิจที่รุมเร้าแบบนี้จะช่วยให้คนทำงานมีความสุขได้อย่างไร?

จากประสบการณ์ คนทำงานถ้าสื่อสารกันได้ดีทั้งเพื่อนร่วมงาน ทั้งกับเจ้านาย และรู้สึกว่าที่ทำงานเป็นที่พึ่งของเขา รู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของที่ทำงาน นั่นคือชีวิตของเขา ต่อให้เกิดวิกฤตอะไรก็ตาม องค์กรนี้อยู่ได้

– ปัจจุบันมีการเลย์ออฟพนักงาน รวมทั้งบางแห่งคาดหวังกับพนักงานมากจนกลายเป็นความกดดัน?

เราพบว่าถ้าคนทำงานทุกคนในองค์กรมาพูดคุยกัน ความกดดันจะลดลง เพราะสุดท้ายเขาจะบอกว่าเจ้านายกดดันลูกน้องมากๆ งานมันไม่ออกหรอก

เราเคยไปสนับสนุนองค์กรหนึ่งที่ซวนเซกำลังจะถูกปิด ในวันนั้นผู้บริหารมาเข้าหลักสูตรกับเรา โดยให้โจทย์กับเราว่าทำอย่างไรให้คนทำงานมีแรงบันดาลใจพร้อมเพรียงฟันฝ่าอุปสรรคไปด้วยกัน เราบอกว่าผู้บริหารต้องมาด้วยนะ เขามาค่ะ มาอยู่กับเรา 2 วัน เอาผู้บริหารของเขาในทุกสาขาทั่วประเทศระดับครีมๆ มา ตอนนี้เขาไปได้ดี แต่ไม่ได้ใช้เครื่องมือของเราเท่านั้น แต่ใช้หลักสูตรของเราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนของเขามีแรงบันดาลใจ มีแรงที่จะสู้ ตอนนี้เขาผ่านพ้นวิกฤตนั้นไปแล้ว

เราพบว่าถ้ามีวิกฤต หลักสูตรนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยได้ในเรื่องการรวมใจคน และชี้ให้เห็นคน เห็นถึงอาการต่างๆ นานาของคนของเขา ชี้ให้เห็นว่างบประมาณที่จะมาลงควรจะลงยังไงจึงจะคุ้มค่า

– ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้สักแค่ไหน?

ต้องพูดว่าผู้บริหารปัจจุบันเป็นยังเจนเนอเรชั่นเป็นส่วนใหญ่ และให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก ยกตัวอย่าง โตโยต้า ที่เน้นเรื่องกตัญญู พอคนรุ่นใหม่เข้ามาก็ซึมซับ แต่นำมาประยุกต์ โดยเอาหลักสมดุลชีวิตเข้ามาใช้

ยังเจนเนอเรชั่น ไม่ต้องพูดกับเขามาก เขาเข้าใจ การบริหารของผู้บริหารรุ่นใหม่จะดูความสุขของคนเป็นหลัก ความผูกพัน ไม่ได้ใช้ตัวเงินอย่างเดียว แต่ใช้ประสบการณ์ วัฒนธรรมองค์กรที่คนรุ่นก่อนสร้างมา-มาใส่

ประเทศเรามีฐานของความกตัญญู ฐานของความสงบสุขเยอะ ถ้าเอาจุดนี้มาวางแล้วผู้บริหารกับคนทำงานสื่อสารกันดีๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม รู้ว่าเขาอยากได้อะไร ทำไป สุดท้ายประเทศได้นะคะ

– สามารถบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ต้องการให้ ‘เจ้าหน้าที่มีความสุข’?

เราทำเป็นอิสระ เราทำจากข้างล่างขึ้นข้างบน เราไม่ได้ตั้งเป้าไว้ก่อน แต่กระทรวงสาธารณสุขเอาเราไปเข้าในยุทธศาสตร์ เอาไปเป็นกลไก เป็นเครื่องมือพัฒนาคนของเขา ตอนนี้มีหลายกระทรวงที่ใช้เครื่องมือของเรา ซึ่งถ้าได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องจากผู้บริหารทุกระดับ ซึ่งถ้ารัฐบาลสนใจ เรายินดีไปช่วยทันที

– ทิศทางต่อจากนี้?

เราพยายามทำให้มันเป็นงานวิจัยเชิงธุรกิจ ทำแผนให้มีการต่อ ยอดภาคี พยายามสร้างต้นแบบ ซึ่งตอนนี้มีหลายหน่วยงานมาทำทีโออาร์กับเรา กระทรวงอุตสาหกรรมให้เราสร้างเกณฑ์และสร้างต้นแบบ

สิ่งที่เราอยากให้เกิด 1.คนที่ใช้โมบายแอพพ์ สามารถพัฒนาตนเองได้เลย 2.เราอยากให้คนที่ทำงานในองค์กรกับผู้บริหารสื่อสารกันได้ และทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี สุดท้าย เราอยากให้มีโมเดลต้นแบบ และองค์กรไหนก็ตามที่เอาหลักสูตรนี้ไปใช้และปรับเข้ากับองค์กรของเขา ซึ่งมีหลายองค์กรวัดแล้วพบว่า อัตราการลาออกลดลง และอัตราการมาสายลดลง

เราเชื่อว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนรักองค์กร ทำให้ผู้บริหารและคนทำงานอยู่ด้วยกันอย่างมีความเข้าอกเข้าใจกัน สื่อสารกันได้ และสุดท้ายก็มีความสุข

ตอนนี้อีกบทบาทที่เราพยายามทำเพิ่มคือ เราพยายามเป็นศูนย์กลางให้ผู้บริหารรุ่นใหม่กับนักวิชาการมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เราพบว่าผู้บริหารภาคเอกชน ถ้ามาทำงานร่วมกับภาควิชาการ ต่อไปนี้งานวิชาการไม่ได้อยู่แต่บนหิ้ง แต่มันใช้ได้จริงๆ และพยายามเอาข้อมูลของประเทศที่มีอยู่แล้วมาเชื่อมโยงกันแล้วจะเห็นข้อเท็จจริงบางอย่าง ไม่ใช่แค่พูดว่า เศรษฐกิจดี๊ดี แต่มันอาจจะต้องมีตัวยืนยันว่าความสุขของคนในประเทศกับรายได้เฉลี่ยต่อหัว กับอัตราการว่างงานเอามาดูกันได้

– ตอนนี้สรุปได้หรือยัง เรื่องภาวะเศรษฐกิจที่โยงกับความสุขของคนทำงาน?

ยังค่ะ ตอนนี้ข้อมูลที่เรามียังไม่ได้เป็นตัวแทนของประเทศ แต่มันมีข้อมูลทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก แต่หลักสถิติเรายังไม่กล้าพูด เรามีข้อมูลอีกชุดที่ทำอยู่ เป็นการสุ่มตัวอย่างทั่วประเทศที่เราทำเป็นตัวอย่าง น่าสนใจมาก เพราะจะทำให้เห็นว่าประเทศจะพัฒนาต้องอาศัยอะไรบ้าง แล้วความสุขของคนเป็นส่วนหนึ่งจริงๆ ข้อมูลชุดนี้จะเสร็จเดือนเมษายน ซึ่งข้อมูลชุดนี้สามารถใช้ประโชน์ได้อีกมาก

– ทำยังไงจึงจะมีความสุขกับการทำงาน?

ความสุขอยู่ที่ตัวเรา เราคือคนสร้างสุข คือหลักข้อที่ 1.แล้วใช้เศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นตัวช่วยจับ แต่ไม่ใช่สุดโต่ง 2.ต้องดูว่า need ให้เป็นลำดับขั้นตอนของมัน 3.มองคนรอบตัวเราเป็นเพื่อนและสื่อกันออกไป รวมถึงเจ้านายด้วย 4.ความคาดหวัง อย่าคาดหวังอะไรที่มันเกินไป

ถ้าไปได้ตามนี้ แล้วพยายามเผยแพร่สิ่งที่เราเป็นอยู่คือ ไปรอบๆ แล้วขยายไปเรื่อยๆ และที่มันดีคือ คนที่มีพื้นฐานอย่างนี้เขาจะสร้างงานที่มีคุณค่า แล้วมันจะเกิดการเทียบเคียง ทำให้งานดีๆ ต่อยอดออกไปเรื่อยๆ มันเป็นไปได้

ซึ่งตั้งแต่ทำงานเกือบ 5 ปี เราเห็นถึงแนวโน้มนี้ เราได้กำลังใจ เรามีภาคีเพิ่มขึ้น แล้วความคิดที่เราใส่เข้าไป ได้รับการตอบรับจากผู้บริหาร

– กับโครงการแฮปปี้ยูนิเวอร์ซิตี้?

เป็นโครงการเดิมที่ทำคู่ขนานกันมา แฮปปี้ยูนิเวอร์ซิตี้ทำตั้งแต่ปี 2557-2559 จบไปแล้ว และต่อมาอีก 3 ปี โครงการนี้สำคัญมากตรงที่ว่าทำกับคนในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีตั้งแต่คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ เพราะคณาจารย์ต้องสร้างนักศึกษาออกไป เราจึงมองว่าเขาต้องมีความสุข ทำงานที่มีคุณค่า แล้วจะสร้างคนคุณภาพ

ปีแรกเราได้ 8 ภาคี พอสิ้น 3 ปี เราได้ 18 ภาคี ซึ่งคำว่า “ภาคี” หมายความว่าอธิการต้องมาลงนามในเอ็มโอยู แล้ววัดความสุข และมีรายงานว่าได้อะไร ในการต่อโครงการรอบที่ 2 (2560-2563) ปีแรกเราคาดว่าจะได้ 20 ภาคี ตอนนี้เราได้ 34 ภาคีแล้ว ตอนนี้ทุกมหาวิทยาลัยร่วมมือกันขับเคลื่อนโดยใช้แฮปปี้ยูนิเวอร์ซิตี้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งหมายความว่า ผู้บริหารจะต้องไม่นึกถึงงานวิชาการอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงความสุขด้วย

ฉะนั้นโครงการนี้เราจะพยายามทำให้คนทำงานในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายวิชาการมีความสุข มีความผูกพันกับองค์กร เราคาดหวังว่าถ้าผู้ผลิตมีตรงนี้ดี เขาจะผลิตคนที่มีคุณภาพไปด้วย


68 คำถาม ตรวจจับความสุขคนทำงาน

รศ.ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต เล่าว่า กว่าจะมาเป็น “แฮปปิโนมิเตอร์” แบบทุกวันนี้ การจัดทำแบบสอบถามมีการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง มีการทดสอบหาค่าโดยผู้เชี่ยวชาญ หลายหน จนกระทั่งสรุปลงตัวที่ 68 คำถาม

“เราพยายามประยุกต์เอาความทันสมัยเข้ามา ประยุกต์เอาเทคโนโลยีมาผสมผสาน และทำให้เครื่องมือนี้ไม่เป็นนามธรรม คือวัดออกมาแล้วได้คะแนนต่างๆ นานา โดยใน 9 มิติ ได้แก่ สุขภาพดี ผ่อนคลายดี น้ำใจดี จิตวิญญาณดี ครอบครัวดี สังคมดี ใฝ่รู้ดี สุขภาพเงินดี และการงานดี ได้มาจากบริบทของคนทำงานในประเทศไทย

จุดเด่นคือ ตัวชี้วัดใน แฮปปิโนมิเตอร์ ได้จากการวิจัยในเชิงคุณภาพคือ มีการลงไปพูดกับเขาในบริบทของเขา ความสุขของเขาคืออะไร คุณภาพชีวิตของเขาคืออะไร แล้วเอามา สกัดเป็นตัวชี้วัด ฉะนั้นเครื่องมือนี้จะได้ตัวชี้วัดที่เป็นการผสมผสานระหว่างทฤษฎีแนวคิดบวกกับตัวชี้วัดที่เป็นบริบทของคนทำงานในสังคมในประเทศไทย ซึ่งสำคัญมาก และมีความน่าเชื่อถือสูงมาก”

เพื่อให้เครื่องมือนี้เป็นประโยชน์แก่คนทั่วไป ปัจจุบัน แฮปปิโนมิเตอร์มีช่องทางเพื่อใช้งานที่หลากหลาย ทั้งผ่านการกรอกแบบสอบถาม ซึ่งมีให้เลือกถึง 10 ภาษา หรือผ่านทางเว็บไซต์ www.happinometer.com รวมทั้งสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น (happinometer) ฟรี เพื่อใช้วัดผลด้วยตนเองได้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image