ผู้เขียน | อธิษฐาน จันทร์กลม |
---|
‘ทลาเลง โมโฟเค็ง’ UNHRC
เทสต์ระบบ เช็กสิทธิ‘สุขภาพถ้วนหน้า’
ไทยถึงเวลา‘โฟกัสกลุ่มเปราะบาง’
สวมหูฟังแพทย์ วัดชีพจรระบบสาธารณสุขไทย
“ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางประเทศแรกๆ ที่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ต้องทำให้เป้าหมายการมีบริการด้านสาธารณสุขที่เพียงพอ เป็นที่ยอมรับ เข้าถึงได้ และมีคุณภาพอย่างแท้จริง
ด้วยการยึดหลัก ‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นที่ตั้ง”
ถ้อยแถลงของ ทลาเลง โมโฟเค็ง (Tlaleng Mofokeng) แพทย์หญิงชาวแอฟริกาใต้ ในวันสุดท้ายของการมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิของทุกคนที่จะมีมาตรฐานด้านสุขภาพกายและจิตใจที่ดีที่สุดที่พึงจะบรรลุได้
เพื่อตรวจเช็กมาตรฐาน ประเมินสถานการณ์ด้านการมี ‘สุขภาวะ’ ที่ดีทั้งกายและจิตใจ
เพื่อให้ไทยบรรลุวิสัยทัศน์ด้านสาธารณสุข ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการโหวตให้เป็นสมาชิก ‘คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ’ (UNHRC)
จากการร่วมสังเกตการณ์ พบปะกับหลายฝ่ายที่แวดล้อมในมิติคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯ ภูเก็ต สระแก้ว และปราจีนบุรี ตามคำเชิญของรัฐบาล
ทลาเลง ผู้เชี่ยวชาญอิสระที่คอยให้คำแนะนำแก่คณะมนตรีฯ และสมัชชาใหญ่แห่ง UN มองเห็นหลายจุดซึ่งไทยทำได้ดี มีแววต่อยอดความได้เปรียบ โดยเฉพาะด้านการเป็น ‘ผู้นำนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และความเชี่ยวชาญทางคลินิก’
ด้วยสายตาของแพทย์หญิง ผู้ชำนาญด้านการเข้าถึง สุขภาพถ้วนหน้า จึงมีความสนใจอย่างมากในมุม ‘ความเท่าเทียม’ ไม่ว่าจะทั้งทางเพศ ทางนโยบาย มารดาและเด็ก การดูแลหลังความรุนแรง ไปจนถึงเรื่อง HIV
เหมาะเจาะสอดคล้องกับเรื่องน่ายินดีที่ไทยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อันเป็นตัวการันตีได้ว่า การพัฒนาจะเป็นไปอย่างยั่งยืนโดย ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’
เธอจึงสวมแนวคิดที่คำนึงถึง ‘อำนาจทับซ้อน’ (Intersectional Perspective) มองผ่านกรอบที่ปราศจากแอนตี้และเหยียดเชื้อชาติ วิเคราะห์ความท้าทายโดยประมวลเรื่องราวที่ได้รับฟังอย่างรอบด้าน โฟกัสไปยังกลุ่ม ชายขอบ ผู้ที่ถูกตีตรา ดำเนินคดี และถูกเลือกปฏิบัติ ให้น้ำหนักกับประชากรที่มักถูกมองข้ามในสังคม
เกณฑ์เช่นเดียวกับการเยือนประเทศอื่นๆ ที่เห็นว่าภาพรวมบริการด้านสาธารณสุขของชาติควรต้อง
‘เพียงพอ เป็นที่ยอมรับ เข้าถึงได้ และมีคุณภาพ’ เป็นบาร์ขั้นต่ำ
ทว่า ในปีนี้ 1.8 แสนราย คือสถิติล่าสุดที่สตรีไทยโทรหาสายด่วนท้องไม่พร้อม เพื่อปรึกษาเรื่อง ‘ทำแท้ง’
ที่น่าหวั่นใจไม่แพ้ตัวเลขคนไทยกว่า 10 ล้านชีวิตกำลังเผชิญปัญหา ‘สุขภาพจิต’ คือปัญหา ‘แรงงานนอกระบบและบุคคลไร้สัญชาติ’ เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเพราะขาดเลข 13 หลักที่เป็นดั่งบัตรคีย์การ์ดเข้าห้องวินิจฉัย
มากไปกว่าโรคเรื้อรัง โรคอุบัติใหม่ที่คาดเดาไม่ได้ ยังมีความป่วยไข้จากผลกระทบของสภาพการทำงานและภูมิอากาศที่ปรวนแปร ไม่นับอีกหลายชุมชนที่ระยะทางจากบ้านห่างไกลจากศูนย์อนามัย
ในขณะที่มุมสัดส่วนคนไข้ ไม่บาลานซ์กับกรอบอัตรากำลังบุคลากรทางการแพทย์
แม้ว่าหลายกรณีจะมีกฎหมายร่างขึ้นมาเพื่อรองรับ แต่อีกหลายปัญหาก็ต้องนับว่ายังสะดุดช่องว่างและมายด์เซตในทางปฏิบัติ
ผู้รายงานพิเศษฯ ที่ทำงานในกลไกพิเศษนี้ด้วยใจอาสา ไม่รับเงินเดือน ได้เห็นทั้งแนวปฏิบัติ ภาพกว้างด้านมาตรฐาน ขีดความสามารถในการจ่ายค่าบริการ ไปจนถึงคุณภาพและข้อท้าทายเฉพาะตัว ที่มีทั้งก้าวหน้า ทำได้ดี และไม่มูฟเท่าที่ควร
“เป็นเวลา 9 วัน ที่ได้ข้อมูลและคำบอกเล่ามากมาย ซึ่งจะช่วยดิฉันในการประเมินสถานการณ์ในการมีสุขภาพที่ดีในไทย”
เตรียมลงดีเทลให้เห็นเป็น ‘ตัวเลข’ ในรายงานฉบับเต็ม ก่อนนำเสนอในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) สมัยที่ 59 ในเดือนมิถุนายนปีหน้า ณ นครเจนีวา ต่อไป
บรรทัดต่อจากนี้คือข้อสังเกตเบื้องต้น ที่ต้องจดไปปรับ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
ห่วง‘ระบบคลังสุขภาพ’
แนะปรับบางนโยบาย-หวั่นภาระตกผู้ป่วย
ก่อนอื่นต้องขอบคุณรัฐบาลไทยที่เชิญดิฉันมาเยือนระหว่างวันที่ 18-28 ก.พ. เพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิในการมีสุขภาพที่ดี โดยได้พบทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) องค์การระหว่างประเทศ และตัวแทนภาคประชาสังคมที่มีความหลากหลาย รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ และได้เยี่ยมชมสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน
กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างโดดเด่น นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 และปัจจุบันเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงตั้งแต่ พ.ศ.2554 เป็นต้นมา ซึ่งในปี พ.ศ.2545 นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายได้ปานกลางกลุ่มแรกๆ ที่มีระบบ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ และ ‘หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ ที่แบ่งออกเป็นหน่วยงานต่างๆ มีหน้าที่ในการจัดการและกำกับดูแล บริการทางคลินิก และการบริหาร มีกลไกเงินทุนต่างๆ สำหรับบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้รับเงินสนับสนุนผ่านนายจ้าง ลูกจ้าง ภาษี และค่าบริการแบบจ่ายเอง (Out-of-Pocket)
มี กสม. เป็นหนึ่งใน 5 องค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้ข้อเสนอแนะในการปกป้องสิทธิ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนให้มีกรอบกฎหมายเพื่อที่ข้อเสนอจะถูกนำไปปฏิบัติ
ส่วนของ ภาครัฐและเอกชน ดิฉันกังวลว่าสถานการณ์ปัจจุบันของการเงินในระบบคลังสุขภาพ (Health Financing) มีปัญหาการขาดดุลและมีความท้าทายอย่างต่อเนื่องในการจัดสรรงบเพื่อสนับสนุนระบบสุขภาพ
ในขณะเดียวกัน ‘การแพทย์เฉพาะทางเฉพาะกลุ่ม’ ที่เกิดขึ้นใหม่สร้างความเสี่ยงที่จะทำให้การดูแลสุขภาพกลายเป็นเพียงสินค้า การแปรรูปกิจการทางสุขภาพจากรัฐเป็นเอกชน (Privatization) ที่เกิดมากขึ้น อาจฉุดรั้งความก้าวหน้าของไทย โดยการให้ความสำคัญกับผลกำไรของภาคเอกชนเป็นหลัก ภาระทางการเงินที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาเฉพาะทาง เช่น การใช้ยารักษามะเร็งและโรคที่พบได้น้อย จำเป็นต้องมีการให้บริการสาธารณสุขที่จะรับประกันการเข้าถึง ทันสมัย และเท่าเทียมกันทั้งในภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยต้องรับรองว่าจะสนับสนุนการบำบัดแบบจำเพาะเจาะจง (Targeted Therapies) รวมทั้ง ‘ปรับเปลี่ยนนโยบายที่จำเป็น’ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการแพทย์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตในราคาที่เหมาะสมมากขึ้น ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนสิทธิของผู้ป่วยและให้บริการระบบสุขภาพ จึงต้องมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิทางสุขภาพ
โฟกัสชายขอบ
‘ปฐมภูมิ’รากฐานระบบสุขภาพ ไทยทำได้ดี
สำหรับ แนวปฏิบัติที่ดี ดิฉันประทับใจที่ได้เห็นเครือข่ายอันเข้มแข็งจากความร่วมมือร่วมใจของอาสาสมัครชุมชน ในระดับฐานราก ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความช่วยเหลือเข้าถึง ประทับใจในความร่วมมือในการประสานงานการคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ (NDCs) ให้อยู่ภายใต้การดูแลแบบประคับประคองได้อย่างรวดเร็ว
ยินดีที่ได้เห็นความพยายามร่วมกันในการคัดกรองและส่งตัวผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที ได้รับทราบระหว่างการเยี่ยมชมสถานพยาบาลระดับตำบล ใน จ.ปราจีนบุรี ความมุ่งมั่นตั้งใจของอาสาสมัครในระบบสาธารณสุขเป็นที่ประจักษ์ชัดผ่านผลการทำงานของศูนย์บริการในด้านโรคไม่ติดต่อ การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง การให้บริการทางการแพทย์ในชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนผ่านการใช้เทคโนโลยีและการรณรงค์ให้ข้อมูลข่าวสาร ทำให้สถานพยาบาลแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขระดับ ‘ปฐมภูมิ’ เป็นรากฐานของสาธารณสุขทั้งระบบ
ตัวอย่างที่ดีอีกประการหนึ่งของการให้การดูแลด้านสาธารณสุขข้ามพรมแดน คือ ข้อตกลงระหว่างสถานพยาบาลในการให้บริการผู้ป่วยในประเทศไทย และอีกแห่งในประเทศกัมพูชา เพื่อส่งตัวผู้ป่วยและให้การสนับสนุนในกรณีฉุกเฉิน
ต่อยอดจุดแข็ง
สู่‘ผู้นำท่องเที่ยวเชิงการแพทย์’
ในด้าน นวัตกรรมทางการแพทย์ ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าสู่การเป็นผู้นำของธุรกิจการดูแลสุขภาพ และการท่องเที่ยวทางการแพทย์ที่กำลังเติบโต อีกตัวอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานด้านสุขภาพ คือ การพึ่งพาภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคนของชุมชนท้องถิ่น ในการปกป้องที่ดิน แหล่งน้ำ และทรัพยากรอย่างยั่งยืน
ผลจากการทำงานของสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ในปราจีนบุรี ทำให้เกิดการเข้าถึงอาหารและสมุนไพรอินทรีย์สำหรับชุมชน และการจัดหาวัตถุดิบส่งสถานพยาบาล กลายเป็นผู้ผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงให้กับผู้ป่วย ดังนั้นการรณรงค์ให้มีที่ดินที่ยั่งยืน และดีต่อสุขภาพ และวิธีการทำเกษตรที่ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และการทำลายที่ดินจากอุตสาหกรรม ต้องได้รับการสนับสนุน
ห่วงที่สุด‘สุขภาพจิต’
เด็ก-ผู้ลี้ภัย-ไร้สัญชาติ-ผู้ต้องหา ยังขาดการดูแล
ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่น เป็นประเด็นที่หลายคนได้แสดงความกังวลระหว่างการแลกเปลี่ยน
ดิฉันได้ยินและอ่านงานวิจัยที่ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Trauma Distress Syndrome) และภาวะซึมเศร้า ในค่ายผู้ลี้ภัยในไทย เป็นสิ่งที่น่ากังวลเป็นพิเศษ เพราะมักจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์อพยพตามช่องทางไม่ปกติ หรือการไร้สัญชาติของประชากรในค่ายผู้ลี้ภัย
ดิฉันเชื่อว่าไม่ใช่ประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริง หรือโดยสันนิษฐาน แต่สะท้อนให้เห็นการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ในการตีตรา และทำให้โดดเดี่ยวทางสังคม เป็นสาเหตุหลักของการที่เด็กและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ มักจะแสดงอาการของภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล โดยร้อยละ 20 มีปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง
ควรเดินตามแผน
พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
บุคคลที่มีความพิการ ในส่วนนี้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ในปี พ.ศ.2556 รับรองว่า บุคคลที่มีความพิการจะมีสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ยังคุ้มครองการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในทุกรูปแบบ
ดิฉันได้เห็นโครงการและศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพที่มีความพร้อมในการรองรับข้อจำกัดทางโรค การบาดเจ็บ และความพิการที่แตกต่างกัน โดยสามารถให้ข้อมูล ปรับปรุงคุณภาพชีวิต และส่งเสริมการมีอายุขัยที่ยาวนาน สำหรับกลุ่มประชากรที่มักถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
อย่างไรก็ดี ขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตามแผนเพื่อให้การเข้าถึงสถานพยาบาลและบริการด้านสุขภาพต่างๆ เกิดขึ้นอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกันสำหรับผู้พิการ รวมถึงการดูแลทางการแพทย์ การศึกษา การจ้างงาน เบี้ยความพิการ ล่ามภาษามือ ผู้ช่วยส่วนบุคคล การปรับปรุงที่อยู่อาศัย การเข้าถึงข้อมูล และเทคโนโลยีเพื่อการช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับผู้พิการที่มีความยากจน ทั้งที่อาศัยอยู่ในเมืองและในพื้นที่ห่างไกลด้วย
ยินดีสมรสเท่าเทียม
สปสช.จัดยาฮอร์โมนให้คนข้ามเพศ
ด้าน บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQA+) พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เป็นกฎหมายสำคัญที่แก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศ และแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 54 (พ.ศ.2566-2570) รับรองว่าทุกฝ่ายจะมุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดิฉันยินดีที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ การที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้เปลี่ยนคำว่า ‘ชายและหญิง’ และ ‘สามีและภรรยา’ เป็นคำว่า ‘บุคคล’ และ ‘คู่สมรส’ นับเป็นก้าวที่ดีและน่าชื่นชม เพื่อลดการตีตราในสถานพยาบาล
ทั้งนี้ ยังเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขสาเหตุที่กลุ่ม LGBTIQA+ มองว่า ‘การบริการทางสุขภาพไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างเต็มที่และครอบคลุม’ ซึ่งยังได้รับฟังประสบการณ์ที่หลากหลายในสถานพยาบาลภาครัฐเกี่ยวกับความต้องการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ของกลุ่มหญิงรักหญิง (LBQ Women) และชายข้ามเพศ (Transmasculine) หลายคนที่ดิฉันพูดคุยด้วยยกตัวอย่างด้วยว่า ต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการส่งเสริมสิทธิของพวกเขาในฐานะพลเมือง และนอกเหนือไปกว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อการผ่าตัดแปลงเพศที่กำลังเติบโต
ดิฉันยินดีที่ได้ทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบ 145.63 ล้านบาท (ประมาณ 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลงทุนให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อจัดหายาฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ 200,000 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องจ่ายเอง จึงทำให้ประชาชนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ จึงขอเรียกร้องให้ สปสช.ตระหนักถึงการที่คนข้ามเพศประสบกับความรุนแรงหลายรูปแบบ ดังนั้น ต้องทำให้ระบบประกันสุขภาพรับประกันได้ว่าจะไม่มีการละเมิด หรือกีดกัน ไม่ให้ได้รับการบริการ
ส่งเสริม‘อนามัยทางเพศ’
ก้าวหน้า แต่ยังต้องไปต่อ
สิทธิด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ ไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก ในการส่งเสริมสิทธิด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ โดยดำเนินการตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ซึ่งไทยได้รับการยกย่องจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ว่าเป็น “หนึ่งในประเทศที่มีบทบาทสำคัญและเป็นผู้นำในการบรรลุเป้าหมายด้านประชากรและการพัฒนาในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา”
อย่างไรก็ดี ไทยไม่ควรพอใจกับความสำเร็จที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่นี้จนประมาท แต่ยังต้องใส่ใจด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ หรือถูกลงโทษทางอาญาเพียงเพราะตั้งครรภ์ ดิฉันยังมีความห่วงกังวลจากข้อมูลที่ได้รับฟังคำบอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ
ปฏิรูปกฎหมาย เป็นก้าวสำคัญ
ชงเลิก ม.301 ลบช่องว่าง‘ทำแท้งผิดอาญา’
ในส่วนของ การยุติการตั้งครรภ์ โดยการปฏิรูปกฎหมายการยุติการตั้งครรภ์ฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 7 ก.พ.2564 ทำให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย การพัฒนาเพื่อปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติและระบบการให้บริการนั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดี และสามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยทันที
ทั้งนี้ เมื่อ ก.พ.2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาด้วยเสียงส่วนใหญ่ ว่ามาตรา 302 ซึ่งระบุให้ ผู้ที่ยุติการตั้งครรภ์มีความผิดทางอาญานั้น ขัดต่อมาตรา 28 ที่รับรองสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ดิฉันสนับสนุนให้เร่งดำเนินการยกเลิกการเอาผิดทางอาญา โดย ‘ยกเลิกมาตรา 301’ แม้ว่ามาตรา 305 อนุญาตให้การยุติการตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้ใน 5 กรณี แต่ส่วนตัวยังมีความกังวลถึงช่องว่างในการเข้าถึงสิทธินี้ได้อย่างทันท่วงที
แนะเอาจริงธุรกิจละเมิด‘ปล่อยมลพิษ’
หวั่นแบกรับภาระในภายหลัง
ในมิติ สิ่งแวดล้อม ดิฉันได้รับฟังข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากการนำทรัพยากรธรรมชาติออกจากแหล่งกำเนิด ที่นำไปสู่มลพิษทางดิน น้ำ อากาศ และเสียง รวมถึงสารพิษที่เกิดขึ้นจากโลหะหนัก โรคปอด และหัวใจ โรคเรื้อรัง สุขภาพจิต และโรคมะเร็ง โดยรัฐบาลมีหน้าที่ในการบังคับใช้แถลงการณ์ความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และต้องให้ความสำคัญกับพันธกรณีภายใต้สิทธิทางสุขภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่สามเข้ามาแทรกแซงการใช้สิทธินี้
ระบบสาธารณสุขของไทยอาจต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมหาศาล และอาจนำไปสู่การสูญเสียคุณภาพชีวิต รวมถึงการเสียชีวิต เนื่องจากการขาดมาตรการป้องกันที่เพียงพอในการปฏิบัติและการละเมิดต่างๆ จากภาคธุรกิจ
คุ้มครองผู้ลี้ภัย-พลัดถิ่น
แนะจัดระบบ คำนึงเพื่อนมนุษย์
สำหรับ ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน และบุคคลไร้สัญชาติ จากการวิจัยโดยแพทยสภา ในบทที่ 4 เกี่ยวกับระบบนโยบายด้านสุขภาพ จะเห็นว่า มีประชากรที่สถานะไม่ชัดเจนเกือบ 3 ล้านคน ซึ่งการไม่มีบัตรประชาชนนำมาสู่การถูกตีตราซ้ำๆ
จากการพูดคุยกับหลายภาคส่วนต่างสะท้อนความเห็นว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกลดทอนจากการ ไร้แนวทางกฎหมาย ในการจัดระเบียบการย้ายถิ่นฐาน และการรับรองสถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งหลายคนต้องทนทุกข์กับการถูกลงโทษจองจำในค่าย หรือสถานที่กักขังตลอดชีวิต แทนที่จะมุ่งตอบสนองความต้องการพื้นฐาน หรือการพัฒนาให้ดีขึ้น นำมาสู่การเก็บซ่อนอาการเจ็บป่วย สร้างความเสียหายให้แก่การลงทุนสาธารณะ ที่ไทยกำลังดำเนินการไปอย่างน่าเสียดาย ด้วยการลงโทษเพียงคนกลุ่มหนึ่งของสังคม ทั้งยังต้องเผชิญกับผลลัพธ์ทางสาธารณสุข และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการดูแลโรคและอาการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงกว่าเดิม
กังวลขีดจำกัด
ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ
ด้าน ความช่วยเหลือจากต่างประเทศและระหว่างประเทศ ดิฉันได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเสียหายที่รุนแรงต่อการบริการทางสุขภาพสำหรับ ‘ผู้ลี้ภัย’ หลังจากการระงับความช่วยเหลือระหว่างประเทศจากประเทศผู้บริจาคหลักประเทศหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการบริการสุขภาพสำหรับผู้ลี้ภัย ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน และชุมชนที่อาศัยอยู่ตามชายแดน ซึ่งโรงพยาบาลในประเทศไทยได้เข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่าง รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของโรงพยาบาลในการรับภาระการดูแลผู้ลี้ภัยในระยะยาวโดยไม่มีกำลังทรัพยากรเพิ่มเติม และการสนับสนุนจากนานาชาติ
ดิฉันมีความกังวลอย่างมากว่าบริการด้านสุขภาพจิต การส่งต่อผู้ป่วย การสร้างขีดความสามารถให้กับผู้ให้บริการด้านสุขภาพ และโครงการวางแผนครอบครัว จะถูกยุติลงทันที
เรือนจำยังแออัด
ขาดการดูแล
สถานที่กักขังและเรือนจำ ที่ซึ่งทั้งคนไทยและคนต่างชาติถูกลิดรอนเสรีภาพ เป็นสถานที่ที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่ามีความแออัดเกินไป และขาดการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตที่เพียงพอ สภาพเหล่านี้มีความรุนแรงอย่างยิ่งสำหรับ ‘ผู้หญิง’ ที่ถูกกักขัง ซึ่งได้รับการดูแลทางการแพทย์ที่มีคุณภาพต่ำกว่า และเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยอย่างจำกัด หากนึกถึงความท้าทายทางภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์และเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ การใช้แนวทางที่ยึด ‘หลักสิทธิมนุษยชน’ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
หากถามถึงกรณีผู้ต้องหาทางการเมืองในเรือนจำหลายคนเข้าถึงการรักษาอย่างล่าช้า ควรมีการดำเนินการอย่างไรหรือไม่นั้น? เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งกรณีที่อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเช่นกัน อย่างไรก็ดี ดิฉันเห็นว่าต้องยึด ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’ (Mandela Rules) ในการดูแลผู้ต้องขังอย่างเท่าเทียม
ปัญหา‘ยาเสพติด’
ต้องบูรณาการชุมชน
แนวทางการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด และการยกเลิกการเอาผิดทางอาญา ดิฉันได้รับฟังความเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงแนวทางการดำเนินการในระบบสุขภาพ สำหรับผู้ใช้ยา ด้วยการสนับสนุนให้ใช้แนวทางการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ปรึกษาหารือและร่วมมือกับภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีชุดบริการที่ลดอันตรายจากการใช้ยาที่ครอบคลุมและนำโดยชุมชน รวมถึงมีการระบุอย่างเป็นทางการให้การแจกจ่ายเข็มและกระบอกฉีดยา รวมอยู่ในชุดบริการ
ทั้งนี้ การแก้ปัญหายาเสพติดในระยะยาว ต้องหาพื้นที่ในการพูดคุยว่าในมุมกำกับดูแลควรจะเป็นอย่างไร โดยสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
ภาพรวมไทยต้องโฟกัส‘กลุ่มเปราะบาง’
ฟังเสียง-ร่วมมือ-วางโครงสร้างคลังสุขภาพ
โดยสรุปแล้ว การมีบริการสุขด้านสาธารณสุขที่มีเพียงพอ เป็นที่ยอมรับได้ เข้าถึงได้ และมีคุณภาพได้มาตรฐานนั้น เป็นเป้าหมายของทั่วโลก และเป็นสิ่งที่บรรลุได้ยากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง
ด้วยเหตุนี้ หากไทยต้องการบรรลุวิสัยทัศน์และขยายภาคการบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ของประเทศ ด้วยการใช้ความได้เปรียบด้านการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ และความเชี่ยวชาญทางคลินิกให้เป็นประโยชน์ การนำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้งของค่านิยมมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สิทธิในการมีสุขภาพที่ดีเป็นสิทธิที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหา และเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุซึ่งสิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิในการได้รับการศึกษา สิทธิเกี่ยวกับกีฬา สิทธิทางวัฒนธรรม และสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
ดิฉันขอเรียกร้องให้ประเทศไทย เริ่ม วางโครงสร้างเงินทุนภายในประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนปัจจัยกำหนดสุขภาพ ระบบสุขภาพ และบริการทางคลินิก สำหรับกลุ่มประชากรชายขอบที่สุด ได้แก่ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น ชุมชนชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนา คนพิการ ผู้ถูกจำกัดอิสรภาพ พนักงานบริการทางเพศ ผู้ใช้ยา รวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศ
โดยภาคประชาสังคมของไทยมีบทบาทอย่างแข็งขันในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศ จึงขอสนับสนุนให้รัฐบาล กำหนดแนวทางที่มีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบ เพื่อ ‘สร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคม’ โดยจัดให้มีการพูดคุยและปรึกษาหารือ ให้กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย แนวปฏิบัติ หรือการละเมิดสิทธิ รวมถึงการให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนผ่านการศึกษาทั้งในและนอกระบบ ซึ่งต้องเน้นการขยายผลและทำให้เข้าถึงคนมากขึ้น เพื่อที่ประชากรที่ถูกกีดกันเชิงโครงสร้างสามารถมีส่วนร่วมได้
นอกจากนี้ ประชาคมระหว่างประเทศและหน่วยงานสหประชาชาติ ควรช่วยเหลือในการกำหนดโครงการและแบ่งปันข้อมูล เพื่อการเปรียบเทียบตามมาตรฐานสากลและเพื่อการร่วมมือระหว่างประเทศ
ระหว่างการเยือนประเทศไทยครั้งนี้ ผู้แทนรัฐบาลไทยยังเปิดกว้างที่จะรับข้อเสนอแนะและพูดคุยแลกเปลี่ยน และดิฉันยังคงมุ่งมั่นและยินดีที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาล เพื่อให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคหลังการมาเยือนครั้งนี้สิ้นสุดลง
อธิษฐาน จันทร์กลม