มหายุทธศาสตร์แห่งอเมริกา ภาคต่อ โดนัลด์ ทรัมป์ กับ ‘ชะตากรรมอาเซียน’

มหายุทธศาสตร์แห่งอเมริกา
ภาคต่อ โดนัลด์ ทรัมป์
กับ ‘ชะตากรรมอาเซียน’

หลายภาคส่วนในมุมโลกใจเต้นไม่เป็นส่ำระดับรายวัน นับแต่สหรัฐอเมริกากลับมามีประธานาธิบดีนามว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อีกครั้ง 

ล่าสุด ทำโลกสะดุ้งอีกครา จากท่าทีอันเกรี้ยวกราดที่แสดงต่อ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา เหตุเกิด ณ ทำเนียบขาว สะท้อนมุมมองของสหรัฐอเมริกาใน ‘ภาคต่อ’ ของการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ได้เป็นอย่างดี 

นำมาสู่คำถามถึงชะตากรรมของอาเซียนนับจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไร? 

ADVERTISMENT

ว่าแล้วมารับฟังมุมมองของ 3 นักวิชาการต่อสถานการณ์ในวันนี้และอนาคตข้างหน้าของภูมิภาค 

อเมริกาต้องมาก่อน
ขีดเส้นใต้ ‘ผลประโยชน์ชาติ’
ประหยัดงบ ‘ต่างแดน’

ADVERTISMENT

เริ่มที่ รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกสมาคมภูมิภาคศึกษา ให้มุมมองว่า นโยบายอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make America Great Again) ของโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ความสำคัญที่การแบ่งขยายพื้นทางอำนาจไปยัง 2 โซนสำคัญ คือ 

1.โซนซีกโลกตะวันตก อันได้แก่พื้นที่ทวีปอเมริกาทั้งหมด ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างกรณีการเปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโกเป็นอ่าวอเมริกา หรือความต้องการซื้อกรีนแลนด์จากประเทศเดนมาร์ก 2.ซีกโลกตะวันออก ที่มุ่งทิศทางไปยังภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ด้านการเดินเรือทางมหาสมุทรที่สำคัญ เพราะครอบคลุมบริเวณมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก 

สำหรับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก สหรัฐอเมริกามุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “แนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี” หรือ FOIP ในการใช้เส้นทางการขนส่งทางเรือที่เป็นอิสระ เปิดกว้าง ไม่มีประเทศใดเข้ามาครอบงำ โดยเฉพาะในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งแน่นอนว่ามีเงาของพญามังกรอย่างประเทศจีนแผ่ปกคลุมอยู่ รวมไปถึงพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ความสำคัญในอีกหลายๆ มิติ สะท้อนผ่านการลดบทบาทของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในหลายๆ พื้นที่ แล้วหันมาทุ่มสรรพกำลังให้กับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

สหรัฐอเมริกา ทั้งในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ยุคแรก หรือแม้กระทั่งสมัยที่สอง ดำเนินรูปแบบยุทธศาสตร์ความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิกที่น่าสนใจอย่างน้อยสามส่วน ได้แก่

1.การวางกำลังทหารไปตามแนวยุทธศาสตร์สายโซ่หมู่เกาะ (Island Chain Strategy) 

2.การถ่วงดุลอำนาจนอกชายฝั่ง (Offshore Balancing) 

3.การสร้างสถาปัตยกรรมความมั่นคงเชิงเครือข่าย (Networked Security Architecture) เช่น กรอบร่วมมือ QUAD ซึ่งการดำเนินยุทธศาสตร์ทั้งสามส่วนนี้ล้วนสอดคล้องกับหลักผลประโยชน์แห่งชาติที่เน้นการประหยัดงบประมาณในต่างแดนลง แต่ก็มีนัยที่ทำให้สหรัฐอเมริกาผงาดขึ้นมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้

“ถ้าเราจะทำความเข้าใจอาเซียนในมุมมองของทรัมป์ เราต้องเข้าใจว่าอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งและมีภูมิรัฐศาสตร์อยู่ตรงกึ่งกลางของของอินโด-แปซิฟิก ดังนั้นเราจึงต้องมาทำความเข้าใจว่าจุดไหนเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่จะทำให้สหรัฐอเมริกาอยากจะเข้ามาเป็นตัวเล่นในพื้นที่ เพื่อสร้างผลประโยชน์สูงสุดตามนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน แล้วจึงวิเคราะห์ว่าอาเซียนอยู่ตรงไหนของพื้นที่เหล่านั้น จึงจะสามารถวิเคราะห์ผลกระทบ ผลได้ผลเสีย พร้อมมองหาวิธีการในการรับมือได้” รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว

ระยะใกล้ วุ่นเคลียร์ปัญหา‘ภาพใหญ่’ ไม่มีเวลาสนใจ ‘อาเซียน’ 

ขณะที่ ศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ทรัมป์ประกาศนโยบายสำคัญอันได้แก่ อเมริกาต้องมาก่อน (America First) และจะนำอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แต่ปัจจุบันกลับมีการดำเนินนโยบายที่รื้อทำลายมิตรภาพที่แน่นแฟ้นกับประเทศอื่นๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะนโยบายการต่างประเทศที่ทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับแนวทางพหุภาคี แต่เห็นด้วยกับแนวทางทวิภาคีมากกว่า จึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าอเมริกาจะกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ได้อย่างไร

ศ.ดร.นภดลกล่าวว่า สหรัฐอเมริกามีฐานอำนาจที่สำคัญซึ่งเป็นอำนาจที่ประเทศอื่นๆ ไม่มี คืออำนาจทางด้านความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศต่างๆ อย่างลึกซึ้ง อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศแคนาดา รวมทั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) ฯลฯ และยังมีซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแรง เช่น การให้งบประมาณช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน แต่การรื้อทำลายมิตรภาพที่แน่นแฟ้นด้วยนโยบายการต่างประเทศ เช่น การประกาศถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) การขู่ว่าจะนำอเมริกาถอนตัวออกจากข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฯลฯ หรือการตัดงบประมาณสนับสนุนความช่วยเหลือต่างๆ ถือเป็นการทำลายฐานอำนาจพิเศษของตัวเอง

“วิธีการที่อเมริกากำลังดำเนินการอยู่ ด้วยเชื่อมั่นว่าสามารถจัดการสิ่งต่างๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพันธมิตร ทั้งการปรับมหายุทธศาสตร์ (Grand Strategy) หรือการเดินยุทธศาสตร์ทางการทหารในพื้นที่ทางทะเลต่างๆ เช่นเดียวกับเมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว” ศ.ดร.นภดลกล่าว

ศ.ดร.นภดลมองว่า ในระยะเวลาอันใกล้นี้ อเมริกายังจะวุ่นวายอยู่กับการจัดการปัญหาในภาพใหญ่ ซึ่งผลกระทบโดยตรงต่อสหรัฐอเมริกาจนไม่มีเวลาเพ่งความสนใจมาที่อาเซียน และเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มที่สหรัฐอเมริกาไม่สนใจการเจรจาต่อรองกับกลุ่มประเทศแบบพหุภาคี ทำให้อาเซียนต้องปรับแก้กลวิธีด้วยการสร้างฉันทามติร่วมกันภายในอาเซียนก่อน จากนั้นแต่ละประเทศก็จะเดินหน้าเข้าสู่การเจรจาแบบทวิภาคีกับอเมริกา โดยมีทิศทางข้อเสนอเป็นแบบเดียวกัน ซึ่งอาเซียนก็จะต้องมองหาจุดแข็งว่าจะนำสิ่งใดไปแลกเปลี่ยนกับอเมริกา ซึ่งส่วนตัวมองว่าจุดยุทธศาสตร์การเดินเรือทางทะเลที่สำคัญๆ เช่น ช่องแคบมะละกา หรือทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนเข้ามามีบทบาทสำคัญ ซึ่งอาเซียนอาจใช้เงื่อนไขดังกล่าวไปแลกเปลี่ยน เพื่อให้อเมริกาเข้ามาถ่วงดุลอำนาจจากจีน

“แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นได้ยากมาก เพราะนับตั้งแต่ปี 1967 ที่มีการก่อตั้งอาเซียน พบว่าทุกวันนี้ถือเป็นยุคที่อาเซียนอ่อนแอที่สุด กล่าวคือไม่มีความเป็นเอกภาพ ไม่มีฉันทามติร่วมกันในการแก้ไขปัญหาสำคัญๆ เช่น เรื่องปัญหาแม่น้ำโขง เรื่องสถานการณ์ในเมียนมา เรื่องทะเลจีนใต้ ฯลฯ เพราะต่างฝ่ายต่างมองผลประโยชน์เฉพาะหน้าส่วนตน แต่ต้องไปร่วมกันเจรจาต่อรองกับอเมริกา ซึ่งมีแนวทางต่อต้านพหุภาคีอีกด้วย สิ่งเหล่านี้คือข้อท้าทาย” ศ.ดร.นภดลกล่าว

เมิน ‘พหุภาคี’
ทำอาเซียนบทบาทถอย
แนะรับบทโซ่ข้อกลาง ‘สหรัฐ-จีน’ 

ปิดท้ายที่ ดร.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อธิบายว่า รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังทำสิ่งที่เรียกว่า มหายุทธศาสตร์ (Grand Strategy) ซึ่งเป็นการวางแผนระยะยาวที่มีเงื่อนไขเวลาเกินกว่า 10 ปี อันเป็นผลมาจากบริบทของสถาปัตยกรรมการแข่งขันทางอำนาจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จนก่อให้เกิดอำนาจรูปแบบใหม่ขึ้นมาท้าทายสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินการนโยบายทั้งต่างประเทศและภายในประเทศด้วยวิธีการใหม่ๆ เพื่อยังคงสร้างผลประโยชน์แห่งชาติในด้านความมั่นคง มั่งคั่ง และเสรีภาพ ให้เกิดขึ้นแก่อเมริกา

“อาเซียนจะมีบทบาทน้อยลง ทั้งจากการที่อเมริกาไม่ได้ให้ความสำคัญกับพหุภาคีและจากประวัติศาสตร์ของทรัมป์ตั้งแต่เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกที่ไม่เคยเข้ามาร่วมประชุมในเวทีอาเซียนเลย” ดร.ปองขวัญกล่าว ก่อนชี้เป้าว่า 

ความสำคัญของอาเซียนที่พอจะมีอยู่บ้างคือการเป็นตัวเชื่อมตรงกลางให้อเมริกากับจีนมาพูดคุยกัน นี่คือบทบาทที่เราจะทำได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าทรัมป์เป็นนักเจรจา นักแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ 

หากอาเซียนสามารถยื่นข้อเสนอได้ ก็สามารถที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับอเมริกาไว้ได้เช่นกัน

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image