
“ขอมแปรพักตร์” เป็นวลีที่ได้ยินได้ เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง โดยมีความหมายออกไปในทางลบ หมายถึงการเอาใจออกห่าง หรือคิดไม่ซื่อ ส่วนจะเกิดขึ้นเมื่อใด หรือมีส่วนเกี่ยวข้องอันใดกับไทยนั้น และทำไมต้องเป็นขอม เรื่องนี้นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” มีคำตอบ
คำตอบที่ว่าอยู่ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมีนาคม 2568 ในบทความที่ชื่อว่า “ขอมแปรพักตร์ : ไม่มีจริง เหตุจากราชสำนักอยุธยาแทรกความ” โดยการค้นคว้าและเรียบเรียงของ รศ.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ขอมแปรพักตร์ เป็นวลีที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารช่วงรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 โดยที่ผ่านมานักวิชาการไทยมักตีความว่า คือเหตุการณ์ที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาเอาใจออกห่างกรุงศรีอยุธยา ทำให้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงส่งกองทัพเข้าตีเมืองพระนครหลวง ปรากฏครั้งแรกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ซึ่งเป็นพระราชพงศาวดารที่ชำระสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง

โดยที่ไม่กล่าวถึงเหตุการณ์กรุงศรีอยุธยายกทัพโจมตีเมืองพระนครหลวง (ภาพจากภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)
ขณะที่หาคำตอบ ผู้เขียน (รศ.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล) ก็ตั้งข้อสงสัยไปพร้อมกัน เช่น
ทำไมพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐฯ (ชำระปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)ที่นักประวัติศาสตร์เชื่อถือว่าถูกต้องสูงมาก กลับไม่มีเรื่องขอมแปรพักตร์ แล้วพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ที่ชำระทีหลัง นำเนื้อหาเรื่องนี้มาจากที่ใด
หรือการที่ 2 นักวิชาการชื่อดังอย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ จิตร ภูมิศักดิ์ ต่างเชื่อว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงส่งกองทัพเข้าไปในกรุงกัมพูชาเป็นจริง โดยอ้างอิงพงศาวดารเขมรฉบับนักองค์เอง รศ.รุ่งโรจน์ยังตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า
“ในคราวชำระพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ผู้ชำระยังคงได้เห็นเอกสารที่ใช้เรียบเรียงพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐฯ หากแต่เกิดความสับสนว่า พระเจ้าฝ่ายหน้าที่เสด็จไปตีเมืองขอม คือพระเจ้าฝ่ายหน้าของกรุงศรีอยุธยา แทนที่จะเป็นพระเจ้าฝ่ายหน้าของกรุงกัมพูชา อุปราชฝ่ายหน้าครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีพระนามสมเด็จพระราเมศวร แต่ความรับรู้ของราชสำนักสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงตอนปลายทราบแต่เพียงว่า สมเด็จพระราเมศวรที่ดำรงเป็นฝ่ายหน้า จึงได้ยกเหตุการณ์ปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาสร้างเป็นเรื่องราวในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1

ที่ยังคงใช้สืบเนื่องจนกระทั่งพญาอยาดย้ายราชธานีไปจตุรมุข (พนมเปญ) (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการพิสูจน์ว่า กรุงศรีอยุธยายกทัพไปตีเมืองเขมรครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ไม่มีอยู่จริง”
เรื่อง “ขอมแปรพักตร์” นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชาธิบายที่แตกต่างออกไป ด้วยวลีขอมแปรพักตร์ของพระองค์กลับเป็นเรื่องของ “พื้นที่” โดยแผ่นดินเขมรนั้นมี 4 ภาค คือ ขอมแปรพักตร์, เขมรป่าดง, เขมรใหญ่ และเขมรญวนหรือเขมรจาม
สำหรับ “ขอมแปรพักตร์” ทรงให้ความหมายโดยสรุปคือ พื้นที่ตั้งแต่ฝั่งแม่น้ำบางปะกงไปจนถึงฝั่งข้างตะวันตกของทะเลสาบ ชื่อบ้านนามเมืองในย่านนี้มีทั้งชื่อที่เป็นภาษาไทยและภาษาเขมร ประกอบด้วยผู้คนที่เป็นไทยและเขมร พื้นที่นี้ส่วนเดิมมีเมืองหลวงเขมรที่นครหลวง เมื่อใดไทยมีกำลังมากก็ครอบครองหมดบ้างไม่หมดบ้าง เมื่อใดเขมรมีอำนาจก็เข้าครอบงำถึงฉะเชิงเทรา แต่ต่อมาพื้นที่ขอมแปรพักตร์ได้ตกเป็นของไทยทั้งหมด

ตอนท้ายพระราชนิพนธ์ดังกล่าวระบุว่า “บัดนี้ผู้ครองแผ่นดินฝ่ายไทยกับกงสุลฝรั่งเศส ปรึกษากันตกลงทำใบยอมกันแล้ว ว่าให้เมืองเขมรซึ่งเป็นส่วนที่ 3 ที่ 4 ออกชื่อมานั้นอยู่ในทำนุบำรุงฝรั่งเศส ไทยจะไม่ล่วงว่าล่วงกล่าวอะไรแก่เจ้านายและผู้ครองเมืองเขมรเลย จะคงรักษาแต่ส่วนที่ 1 ที่ 2 ซึ่งชิดและเป็นของไทยมานานแล้ว“
อาจจะเป็นไปได้ว่าทรงพระราชนิพนธ์ในช่วงต้น พ.ศ.2411 เพราะในช่วงระยะเวลาดังกล่าวราชสำนักมีการปักปันเขตแดนในเขมรกับอาณานิคมฝรั่งเศส พระราชนิพนธ์นี้จึงเป็นเอกสารยืนยันสิทธิอำนาจของราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์ และทำให้ “ขอม” คือกลุ่มคนละกลุ่มกับ “เขมร” โดยทั้งนี้ขอมคือ ไทยปนเขมร และมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพระนครหลวง
บทสรุปเรื่อง “ขอมแปรพักตร์” คืออะไร ระหว่าง เหตุการณ์ที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาเอาใจออกห่างกรุงศรีอยุธยากับพื้นที่ตั้งแต่ฝั่งแม่น้ำบางปะกงไปจนถึงฝั่งข้างตะวันตกของทะเลสาบ ขอได้โปรดติดตามเนื้อหาทั้งหมดในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมีนาคมนี้
วิภา จิรภาไพศาล