ผู้เขียน | ชญานินทร์ ภูษาทอง |
---|
เบื้องหน้าปัง เบื้องหลังล้มลุกคลุกคลาน
ล้วงลึก ‘จักรวาลไทบ้าน’
จากถูกเมินสู่ความสำเร็จเกินต้าน
จบลงไปหมาดๆ สำหรับ งาน Knowledge Fest เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม 2025 x เทศกาลดนตรีกรุงเทพฯ เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ เสาร์ที่ 8-อาทิตย์ที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ณ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) เขตพระนคร กรุงเทพฯ จัดโดยเครือมติชนและหน่วยงานพันธมิตร
มากมายด้วยกิจกรรมดีๆ จากเช้าจรดค่ำ หนึ่งในนั้น คือ BookTalk หัวข้อ ‘จักรวาลไทบ้าน: จุดเริ่มต้นไทบ้าน และก้าวต่อไปสู่ระดับโลก’ โดยมี สุรศักดิ์ ป้องศร หรือศักดิ์ ผู้กำกับและนักเขียนบทลูกอีสาน, อัจฉริยะ ศรีทา หรืออาจารย์โต้ง นักแสดงที่รับบท “สัปเหร่อศักดิ์” จากภาพยนตร์เรื่อง “สัปเหร่อ” และ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ หรือโต้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพูดคุยอย่างออกรส ดำเนินรายการโดย ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

⦁ผู้กำกับเล่ามันส์ ตัดต่อบนเครื่องบิน แปลงไฟล์ในร้านเกม ขอสปอนเซอร์ 50 เจ้า ไม่มีใครกล้าเสี่ยง
สุรศักดิ์ ผู้กำกับชาวศรีสะเกษ เริ่มต้นเล่าย้อนยาวๆ ตั้งแต่เรียนมัธยม จนถึงการริเริ่มโปรเจ็กต์ทำหนัง ว่าได้รู้จักกับ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ หรือ ‘เฮียโต้ง’ ตั้งแต่ช่วง ม.4 ช่วงนั้นทำคอนเทนต์หนังสั้นเยอะ ส่งประกวดที่ประเทศญี่ปุ่น จนได้ทุนเรียนคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
“ผมทำภาพยนตร์เรื่องไทบ้าน เดอะซีรีส์ จัดทำฉาก 17-18 ฉาก เลือกฉากมาตัดเป็นตัวอย่าง เพื่อหาสปอนเซอร์ เราก็ส่งคลิปสั้นให้สปอนเซอร์ไปกว่า 50 เจ้า ซึ่งไม่มีใครให้เลย ผมเข้าใจคนที่จะให้ทุนทรัพย์ว่า มันมีเพียงแค่วิดีโอ เขาไม่สามารถเชื่อได้ว่า เราจะทำจนจบกระบวนการ คลิปนั้นก็เป็นตัวอย่างไทบ้าน เดอะซีรีส์ ภาค 1 ที่ตัวละคร ด้งเด้งหาวิธีจีบผู้หญิง มันเป็นบทที่บ้านมากๆ จนไม่รู้เขาจะมั่นใจกับเราหรือไม่” สุรศักดิ์เล่า
จากนั้นลงรายละเอียดถึง ‘กลิ่นอาย’ ของไทบ้าน
“หนังไทบ้านมันเป็นวัยของเรา เราจึงได้กลิ่นอายความเป็นอีสานออกมา ไทบ้านเราสู้กันกับสปอนเซอร์มาอย่างมาก เมื่อเราต้องไปทำหนังในสตูดิโอใหญ่ก็ไม่ได้ เพราะเราไม่มีหน้าหนังให้เขาดู เขาต้องการบริบทตรงนี้ก่อน ไม่อย่างนั้นเขาก็จะไม่เชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะขายได้กับความเป็นอีสาน
ต่อมาเราเลยตัดสินใจบอกน้องในทีมว่า ขอฉากตรงนี้ปล่อยลงเพจที่มีผู้ติดตามกว่า 8 แสนดีไหม เพราะเราไม่มีงบการทำการตลาดเลย แต่ก่อนหน้านี้เพจเราดังมาจากการทำแคปชั่น เราสามารถเลี้ยงกระแสได้ จนเราคิดว่าไม่มีทางไปละ สปอนเซอร์ก็ไม่ได้จึงตัดสินใจปล่อยลงเพจ
เมื่อเราไปปล่อยลงเพจแล้ว กระแสมันมาจริง แต่เราก็ยังไม่กล้าไปขอเฮียโต้ง เพราะกลัวว่าเขาจะไม่เชื่อว่าเราจะทำหนังจนจบ จนสุดท้ายเราก็แบกหน้าไปหาเฮียโต้ง ด้วยกันกับทีมถึง 4 คน เพื่อขอทุนทรัพย์ในการทำหนังต่อ” สุรศักดิ์ย้อนอดีตระยะใกล้ ก่อนขยับสู่ดีเทลแนวสู้ชีวิต อันนำมาซึ่งความสำเร็จด้วยกำไร 47 ล้านในภาคแรก
ผู้กำกับลูกอีสานเล่าว่า วันฉายรอบสื่อวันแรก หนังยังตัดต่อไม่เสร็จ ไฟล์หายไปบ้าง มีปัญหาบ้าง มีเสียงคัตสเลทบ้าง ตอนนั้นเป็นความรู้สึกที่ใจหายมาก เพราะอีก 5 วัน ต้องฉายแล้ว
“ผมเหนื่อยมาก จุดพีคสุดคือ การที่คิดว่าตัวเองถอดใจ แต่เมื่อเรารู้ว่าเราพลาดอะไรแล้ว เราก็ต้องไปแก้ตรงนั้น เราตัดต่อบนเครื่องบินก็ทำมาแล้ว ต้องไฟล์ DCP (Digital Cinema Package-ไฟล์ภาพยนตร์ในรูปแบบดิจิทัลสำหรับฉายในโรงภาพยนตร์) เราก็ไปจ้างเจ้าที่เป็นมือสมัครเล่น แล้วใช้ไม่ได้ จนเราต้องไปแปลงไฟล์เองในร้านเกม เราเอาคอมพ์กว่า 40 เครื่องไปตั้งที่ร้านเกม ผมไม่ได้นอนกว่า 5 คืนติด เราต้องทำงานแข่งกับเวลามากๆ แล้วเราต้องทำให้เสร็จก่อนวันฉาย 1 วัน” สุรศักดิ์เล่า

⦁เสี่ยโต้ง เปิดเบื้องลึก ควักเฉียด 3 ล้านให้ทุนสร้าง ฉายวันแรก ‘ไม่กล้าดู’ รู้ว่าเสี่ยง แต่ขอลอง
จากนั้นถึงคิว สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ หรือเสี่ยโต้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนทุนสร้างภาพยนตร์ ไทบ้าน 1 ซึ่งเล่าเบื้องลึกเบื้องหลังว่า เริ่มรู้จักกลุ่มผู้กำกับและทีมงานตั้งแต่ยังเป็น ‘เด็กแสบ’ แห่งศรีสะเกษ ชื่อกลุ่ม ‘กล้าลำดวน’ ซึ่งมาจากชื่อต้นไม้ประจำจังหวัด ตอนนั้นตนเป็นประธานหอการค้า ผู้ว่าฯบอกว่า เอาเด็กพวกนี้มาทำกิจกรรมดีกว่า เพื่อดึงคนมาเดินถนนคนเดิน เราก็เอากิจกรรมไปลงให้ จึงได้เริ่มรู้จักกัน
“เขาทำหนังในโซเชียลมาเมื่อ 8 ปีก่อน แต่มียอดวิวการรับชมเป็นล้านวิว เราเห็นว่าเขาสู้ เพจก็ชอบโพสต์คำพูดคมๆ มีคนมากดไลค์หลายพันคนแม้ไม่มีเงิน จนเราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สามารถลงทุนกับเขาได้
ตอนนั้นเด็กเข้ามา 4 คน เราคิดว่าเขาจะมาหลอกขายของไหม เลยให้เขาไปทำหนังชีวประวัติพ่อผม ถ้าทำออกมาดีก็จะชอบ แล้วเขาไปขอสปอนเซอร์ถึง 50 ราย ไม่มีใครกล้าให้ ผมคิดในใจแล้วผมจะกล้าให้ไหม
ตอนนั้นเขาเอาฉากหนังมาให้ดูก่อน ผมชอบการเล่นมุขที่เป็นบ้านๆ ถามว่า แค่ประโยคที่ว่า มีแฟนละยัง ไม่มี เพราะผัวไม่ให้มี หนังแบบนี้ทำได้ด้วยเหรอ แต่ผมก็อยากลอง” เสี่ยโต้งเปิดใจ แล้วเล่าต่อไปว่า ช่วงนั้นอยากเปิดไลน์ธุรกิจใหม่ เลยขอหุ้นส่วนบริษัทขอทำหนังได้ไหม หุ้นส่วนไม่มีใครมั่นใจเลย เขาแนะนำให้ไปลองทำสัก 1-2 ตอน สุดท้ายก็ไม่ได้ น้องๆ ก็ต้องไปหาสปอนเซอร์เข้ามา แต่ข้อจำกัดเยอะ
“เขาจึงให้ช่วย โดยน้องๆ เสนองบมาจาก 4 ล้าน ผมบอกขอ 2 ล้านทำไหวไหม? ผมก็ให้เขากลับไปคิดก่อน แต่ผมก็คิดนะ ผมพลาดอะไรหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่ก็อยากลองทำหนังจริงๆ สุดท้ายก็ให้ทุนไป 2 ล้านบาท
ผมเชื่อว่า การทำหนัง ขาดทุนตั้งแต่วันที่ลงทุน เมื่อหนังฉายเมื่อไหร่ มีคนมาดูเท่าไหร่ก็ไปลดขาดทุนเอา เราไม่สามารถคาดการณ์คนมาดูได้ วันนี้ผมคิดว่าผมเสียแค่นี้ผมจะตายไหม? แต่ถ้าผมรับความเสี่ยงไหว ผมก็รอดแล้ว อยากจะบอกว่า ระหว่างถ่าย เขาก็แอบมาเบิกเพิ่มตลอด (หัวเราะ) เบ็ดเสร็จเกือบ 3 ล้านบาทเลย ผมบอกว่าขาดทุนไม่เป็นไร แต่ถ้าคุณเหยาะแหยะ ต้องคืนทุกบาททุกสตางค์ เชื่อไหมว่าฉายหนังวันแรก ไม่กล้าดูเลย
เราจะไม่ไปหวังอะไรกับงานเด็ก กลัวจะทำให้มุมมองผมไปยุ่งกับงานเด็ก ให้เขาได้ทำไป
วันแรกออกจากโรงหนังมา 22.00 น. เงียบสนิทไม่มีฟีดแบ๊กใดๆ ในเฟซบุ๊กเลย ผมถามสภาวัฒนธรรมดูแล้วเป็นอย่างไรบ้าง เขาบอกเสียงเบาไป ฟังไม่รู้เรื่อง ภาพก็ไม่ชัด แล้วก็พูดคำหยาบ แต่ก็เป็นคำพูดของคนอายุ 60 ปี
แต่เมื่อผ่านไป ภาคแรกได้กำไร 47 ล้าน ผมไม่เอากำไรเลย ผมเอาแต่ทุนคืน ให้พวกเขาไปสร้างอนาคต ตอนนี้น้องๆ เขาก็ไปไกลกันเลย เพราะเสน่ห์ของไทบ้านคือ มักจะมาพร้อมกันเพลงประกอบ ที่ฮิตติดกระแสมาก” สิริพงศ์เล่ายาว

⦁ก่อนจะเป็น ‘สัปเหร่อศักดิ์’ อาจารย์มหา’ลัยดังอีสาน แวะดูโปรดักชั่น ส่ง น.ศ.ฝึกงาน สุดท้ายได้บทนำ!
ปิดท้ายที่ อัจฉริยะ ศรีทา หรือ ‘อาจารย์โต้ง’ นักแสดงผู้รับบท ‘สัปเหร่อศักดิ์’ จากภาพยนตร์ดัง ‘สัปเหร่อ’ หนึ่งในจักรวาลไทบ้าน
อาจารย์โต้ง อัจฉริยะ เล่าว่า ตนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ทำงานเรื่องการผลิตสื่อ ช่วงแรกๆ อยู่ในฐานะผู้ชมภาพยนตร์เรื่อง ‘ไทบ้าน’ ตอนนั้นรู้สึกว่า หนังเขาทำกันแบบนี้ได้ด้วยหรือ
“มันเป็นวิธีการใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่ ผมส่งนักศึกษาเข้าไปฝึกงานกับกลุ่มนี้ เป็นช่องทางที่ได้เปรียบของมหาวิทยาลัยที่มีน้องๆ กลุ่มนี้ มีโปรดักชั่นอยู่ในมหาวิทยาลัยด้วย
พอผมไปนิเทศเด็กฝึกงานเซิ้งโปรดักชั่นจึงได้ไปสัมผัสมากขึ้นว่าเขาทำกันแบบไหน จนมีไทบ้านภาคต่อมาหลากหลายภาค ตอนนั้นเขาทำเรื่องสัปเหร่อกัน แล้วกำลังหาตัวละครที่จะมาเล่นเป็นสัปเหร่ออยู่
ตอนนั้นผมไปสอน ผมสามารถบรีฟนักแสดงได้ แต่ตัวเองไม่เคยทำการแสดง เพราะไม่มีความมั่นใจ ผมบอกว่า ผมไม่มีหนวดแบบในรูป แต่เขาก็บอกรอได้
หลังจากนั้นก็ไปช่วยน้องๆ ถ่ายหนังเรื่องสัปเหร่อ ใจหนึ่งผมก็อยากไปดูโปรดักชั่นด้วยว่า ในยุคดิจิทัลเขาทำกันอย่างไร จนได้ไปเข้าร่วมการแสดงในตัวละครสัปเหร่อศักดิ์” อัจฉริยะเล่า
จากนั้นเปิดมุมมองความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า สัปเหร่อเติบโตได้เพราะคนรัก ตนเห็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นหลังจากโควิด-19 เห็นพ่อแม่พี่น้อง ปู่ย่า ตายาย มาสัมผัสวิถีชีวิตของคนจริงๆ ผ่านตัวละคร
“ผมว่าสิ่งนี้ทำให้หนังมันแมสจริงๆ” อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้กลายเป็นนักแสดงเต็มตัว วิเคราะห์
นับเป็นวงเสวนาสุดมันส์ที่สะท้อนเส้นทางล้มลุกคลุกคลานจากทีม ‘(ไท) บ้านๆ’ สู่ความสำเร็จเกินต้านในวันนี้