เคลียร์จบ สยบดราม่า ทวงคืนทางเท้า‘ตลาดคลองเตย1’ ‘เพราะเราทุกคนเป็นเจ้าของ’

เคลียร์จบ พร้อมสยบดราม่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับทางเท้า ‘ตลาดคลองเตย 1’
ซึ่ง กรุงเทพมหานคร ส่งทีมคุย จัดทีมลุย รื้อแผงค้ารุกทางเท้าที่ทำน้ำเจิ่งนอง จากนั้นทุบฟุตปาธเก่า จ่อสร้างฟุตปาธใหม่รวดเร็วทันใจชาวกรุง

แม้มีเสียงโอดจากผู้ค้าบางราย แต่ภาพรวมผ่านพ้นไปด้วยดี หลังสำนักงานเขตคลองเตยยกเลิกพื้นที่ทำการค้าบริเวณดังกล่าว เพื่อดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าถนนรัชดาภิเษกต่อเนื่องถนนพระรามที่ 4 จนถึงถนนสุนทรโกษา ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.68 เป็นต้นไป

โดยแจ้งให้พ่อค้าแม่ขายเก็บอุปกรณ์ทำการค้า พร้อมเคลื่อนย้ายทรัพย์สินทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในวันอาทิตย์ที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ก่อนเดินหน้ารีโนเวตโฉมใหม่
ถามว่าย้ายแล้วไปไหน ? คำตอบคือ ขยับโยกเข้าไปค้าขายด้านในตลาดคลองเตย 1 ตลาดคลองเตย 2 และตลาดใกล้เคียงนั่นเอง

ผู้ว่าฯกทม.ย้ำเทศกิจ ค่อยๆ เจรจากับแม่ค้า

ลุยรื้อแผงรุกฟุตปาธปิดฉากร้านค้า‘เทน้ำเจิ่งนอง’ คืนทางให้คนเดิน

ADVERTISMENT

ย้อนไปเมื่อ 17 มีนาคม ช่วงเช้าตรู่

จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่พร้อมภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมดูแลและสังเกตการณ์การรื้อถอนสิ่งกีดขวางบริเวณหน้าตลาดคลองเตย 1และพื้นที่โดยรอบ

ADVERTISMENT

โดยตัดเสาโครงสร้างซุ้มการเวก ทุบแท่นคอนกรีตกระถางต้นไม้ ย้ายป้อมนายท่าปล่อยรถประจำทางสาย 205 รื้อรั้วราวเหล็กริมถนนรัชดาภิเษก ย้ายจุดติดตั้งป้ายชำระภาษีริมถนนพระรามที่ 4 สำรวจพื้นทางเท้าที่ชำรุดเสียหาย และจุดที่ทุบฐานคอนกรีตสิ่งกีดขวางออกไป

นอกจากนี้ ยังสำรวจฝาบ่อพักน้ำที่ชำรุดเสียหาย ซึ่งเขตคลองเตยได้นำแผ่นไม้มาปิดกั้นไว้ชั่วคราว ตรวจสอบท่อระบายน้ำที่อุดตัน รวมถึงคราบไขมันจากร้านค้า โดยกำชับผู้ค้าที่ทำการค้าในตลาดคลองเตย 1 ไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า หรือเกินแนวเส้นที่เขตฯ ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้สำรวจและขีดเส้นสีแดงแบ่งแนวเขตไว้ จัดเก็บสิ่งของที่ตั้งวางตรงจุดติดตั้งประปาหัวแดงออกจากพื้นที่ให้เรียบร้อย

ทั้งนี้ บริเวณหน้าตลาดคลองเตย 1 ตั้งแต่ศาลเจ้ามังกรเขียวถึงถนนพระรามที่ 4 ตัดถนนรัชดาภิเษก มีผู้ค้าทั้งสิ้น 35 ราย จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน เช่น เกาเหลาเลือดหมู ก๋วยจั๊บ
ข้าวหมูแดง ขนมหวาน ผักสด ผลไม้ ซึ่งร้านที่จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ มีการตั้งวางร้านค้ารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า มีการล้างวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร ล้างภาชนะถ้วยชาม แก้วน้ำ และเทน้ำทิ้งลงในท่อระบายน้ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาไขมันอุดตันในท่อระบายน้ำ

บางร้านมีน้ำขังไหลเจิ่งนองออกมาบนพื้นที่ทางเท้า ก่อให้เกิดความสกปรกจากคราบน้ำมันและเศษอาหาร เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และสัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู แมลงสาบ ซึ่งไม่ถูกสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาล อีกทั้งก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์แก่ประชาชนผู้ที่ใช้ทางเท้าในการสัญจร

‘เราทุกคนเป็นเจ้าของทางเท้า’ พ่อค้าโวย ผู้ว่าฯ แจง

รุ่งขึ้น 18 มีนาคม หลังรื้อย้าย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่รอช้า ลงพื้นที่หลังมีเสียงจากผู้ค้าสะท้อนความไม่พอใจ ที่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่ในตลาด

ชัชชาติยืนยันว่า ต้องขอความร่วมมือจัดระเบียบใหม่ ซึ่งจะทำให้ทางเท้าเดินสะดวกและเรียบร้อยขึ้น โดยส่วนหนึ่งย้ายเข้าไปอยู่ในตลาด

“เพราะตลาดมีที่เหลือ ไม่ใช่ไม่ว่าง แต่อาจจะขยับไปต้องเสียค่าเช่าหน่อยหนึ่ง แต่ถือว่าได้คืนทางเท้าให้กับประชาชน เพราะถนนเส้นนี้คนเดินเยอะ ลงจากป้ายรถเมล์แล้วเดินข้ามไป” ผู้ว่าฯกทม.แจง

ทั้งนี้ ระหว่างเดินลงจากสะพานลอยไปยังระดับถนน มีประชาชนชายสอบถามด้วยว่า

“แล้วอย่างนี้ที่เขาค้าขายจะไปที่ไหน ?”

จึงเกิดบทสนทนาน่าสนใจ ดังนี้

ชัชชาติ : ก็เข้าไปข้างในตลาดไง

ประชาชนชาย : โห ค่าที่ตลาดมันแพง

ชัชชาติ : ที่นี่เป็นที่สาธารณะ ตอนนี้ไลฟ์สดอยู่พอดีจะได้อธิบายให้ฟัง ตรงนี้เป็นที่ของประชาชนเขาไง

ประชาชนชาย : แล้วอย่างค่าที่ค้าขายแพงขนาดนี้ เราอยู่กันไม่ไหว เราไม่ใช่คนรวย โดนทุกที่มันไม่ไหว

ระหว่างนี้มีประชาชนหญิงรายหนึ่ง เดินมาขอเต็นท์ พร้อมเผยว่าร้านของเขาค้าขายมานานแล้ว ลำบากมากเวลาฝนมา โดยผู้ว่าฯรับปากว่าจะช่วยดูเรื่องร่มสำหรับหลบฝน ซึ่งประชาชนหญิงยังกล่าวถึงค่าเช่าด้วยว่าราคาสูง

“แพงมากท่าน เมตรนึง 4 แสนกว่า/ปี”

ชัชชาติได้ยินดังนั้น จึงพยายามทำความเข้าใจว่าเป็นที่ประชาชนใช้เดิน ค่อยๆ ขยับ ค่อยๆ ให้เวลาไป ก่อนสอบถามว่าขายอะไร โดยผู้ค้าชายรายนี้เผยว่า ไม่เคยจ่ายค่าเช่า จ่ายค่าปรับกับเทศกิจ ใช้ชีวิตแบบนี้กันมาตลอด

จักกพันธุ์ ผิวงาม ลงพื้นที่สังเกตการณ์การรื้อถอน เมื่อ 17 มี.ค.

“ไม่ว่าใครก็ต้องช่วยเหลือทั้งหมด บางทีชีวิตก็ต้องมีเปลี่ยนแปลง ในตลาดเขาพอมีที่ให้เช่าอยู่ ก็ต้องทำแหละเพราะว่าไม่งั้นมันเดินยาก ก็ต้องมีทั้งคนที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วย” ชัชชาติกล่าว

นอกจากนี้ ยังเล่าว่า เมื่อไปถามคนเดินเท้า ก็ได้คำตอบว่า ดีขึ้น หลังรื้อย้าย

“เมื่อกี้ถามคนเดินถนน เขาก็บอกว่าดีขึ้น เพราะแถวนี้คนเดินเยอะ ก็ไม่เป็นไร มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่อย่างที่บอก ผมเองไม่ใช่เจ้าของ พวกเราทุกคนเป็นเจ้าของทางเท้า เราเป็นผู้ดูแล ดังนั้น ต้องช่วยกัน คนจนก็เข้าใจว่ามีบ้าง แต่ก็มีคนที่เขาขายอยู่ข้างในจ่ายค่าเช่า เราให้เวลาล่วงหน้ามา 2 เดือนในการคุยกับเขา” ชัชชาติเผย ก่อนเอ่ยด้วยว่า

“ก็คงมีคนอยากอยู่ฟรีบ้างเป็นธรรมดา เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเสียสตางค์ ฝั่งที่เรียบร้อยแล้วก็มีปัญหาเรื่องที่จอดนิดหน่อย แต่ดีขึ้น พี่ตำรวจช่วยดูแล”

ไม่ใช่ใจไม้ไส้ระกำ แต่ต้องทำเพื่อคนส่วนใหญ่‘ผมไม่กังวลเรื่องคะแนนเสียง’

สำหรับปัญหาเรื่อง ‘ค่าเช่า’ ในตลาดที่ผู้ค้าบางเจ้าสารภาพว่าเน้นจ่ายในสไตล์ ‘ค่าปรับ’ แก่เทศกิจตลอดมา กลายเป็นว่า ปรับถูกกว่าเช่า จนคุ้นชินกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว

ชัชชาติระบุว่า ในตลาดมีคนขายน่าจะเป็นหมื่นแผง คนที่เสียค่าเช่าได้ก็พอมี ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป

“บ้านเมืองก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราจะบอกว่าอยู่มา 30 ปี ขออยู่ต่อ มันก็ยากเหมือนกัน ตรงไหนเป็นจุดที่ผ่อนผันได้ เราก็ผ่อนผันให้ แต่ตรงนี้มันเดินไม่ได้จริงๆ ข้างในมีตลาดอยู่ ก็อยากจะให้เข้าไปข้างในตลาดให้เรียบร้อย ช่วยกันนะ”

ส่วนเรื่องคะแนน ผู้ว่าฯยืนยัน ปราศจากความกังวล เน้นทำเพื่อประชาชนคนส่วนใหญ่

“ไม่เป็นไร ผมก็ไม่ได้กังวลเรื่องคะแนนเสียงหรอก เพราะเราต้องทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อคนส่วนใหญ่ ส่วนคนเดือดร้อน เดี๋ยวก็ต้องให้ฝ่ายพัฒน์ฯ เข้ามาดูแล ไม่ใช่ว่าเราใจไม้ไส้ระกำนะ แต่มันก็ต้องพยายาม ตรงไหนที่เดือดร้อนก็ให้มาลงรายละเอียดอีกทีว่าจะไปอยู่ที่ไหนกัน แต่ที่ผ่านมาก็พยายามหาที่อยู่ข้างในตลาดให้ เพราะยังมีที่ว่างอยู่ คนอื่นก็ขายข้างในกันด้วย

เรื่องทางเท้า ต้องรอจ้างผู้รับเหมาประมาณ 1-2 เดือน
แต่ช่วงนี้ขอทำความสะอาดก่อน อีกฝั่งทำทางเท้าแล้วเรียบร้อย” ชัชชาติกล่าว ก่อนหันไปบอกเทศกิจว่า ค่อยๆ ดู แต่อย่าไปทะเลาะกับแม่ค้า ถ้าเป็นที่ข้างในขายได้เราไม่ได้ว่าอะไร แต่ถ้าเป็นที่ที่ประชาชนเดิน ก็ขอให้ช่วยกันคืนทางเท้า

ทุบแล้ว! ลุยเปลี่ยนทางเท้าเก่ารอเลย ‘ภูมิทัศน์ใหม่’ ยาวไปถึงรัชดา

ไม่ถึง 24 ชั่วโมงต่อมา เมื่อ 19-20 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักการโยธา กทม. ได้เข้าดำเนินการทุบทางเท้าเก่า และซ่อมแซมพื้นทางเท้าในจุดที่ชำรุดเสียหายชั่วคราว จากนั้นสำนักการระบายน้ำ จะสำรวจบ่อพักน้ำและแนวท่อระบายน้ำ เพื่อพิจารณาจัดทำแผนปรับปรุงเปลี่ยนท่อระบายน้ำใหม่ เชื่อมต่อบ่อพักน้ำเดิม
กับท่อระบายน้ำใหม่ โดยจะเริ่มดำเนินการขุดวางท่อระบายน้ำ
ในเดือนเมษายน 2568 เพื่อให้การทำงานแล้วเสร็จก่อนการปรับปรุงทางเท้า

โดยในเดือนมิถุนายน 2568 จะดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าถนนรัชดาภิเษก ต่อเนื่องถนนพระรามที่ 4 จนถึงถนนสุนทรโกษา ระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

ประชาชนสามารถใช้ทางเท้าในการเดินทางสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัยต่อไป

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image