เปิดงานวิจัย
อุตสาหกรรมปศุสัตว์กับ PM2.5
ตัด‘ไฟ’ ปราบ ‘ฝุ่น’ แต่ต้นลมด้วย ‘โปรตีนหลากหลาย’
PM2.5 ยังคงเป็นปัญหาแก้ไม่ตก แม้ผ่านการถก การเถียง การหยิบยกทฤษฎีที่นำไปสู่ยุทธศาสตร์ที่หวังชัยชนะเหนือฝุ่นพิษ ทว่า ในทางปฏิบัตินั้นไม่ง่าย
จากการวิจัยพบว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิด PM2.5 มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตถ่านอัดแท่ง ภาคอุตสาหกรรม และการคมนาคมขนส่ง และในปี 2563 ข้อมูลระบุว่าแหล่งกำเนิด PM2.5 ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือมากกว่า 1 ใน 3 คือการเผาเพื่อการเกษตร โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือภาคเหนือ ซึ่งในปี 2566 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จ.เชียงใหม่ เป็นเมืองที่ติดอันดับมลพิษสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีค่าเฉลี่ยมลพิษสูงที่สุดในช่วงเดือนที่มีการเผา นั่นคือ ธันวาคมถึงเมษายน
ภาคประชาสังคม ได้แก่ Madre Brava ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนการสร้างสมดุลทางด้านการผลิตโปรตีน และ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งขับเคลื่อนเรื่องการแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ จึงร่วมมือกันเรียกร้องให้ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และชุมชน ทำความเข้าใจและแก้ปัญหาฝุ่นแบบองค์รวม โดย Madre Brava เสนอให้มีการเพิ่มความหลากหลายด้านโปรตีน เพื่อลดการผลิตเนื้อสัตว์แบบอุตสาหกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การลดการเผา และช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยในการเอื้ออำนวยสิทธิในอากาศสะอาดต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลด้วย
เผาตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ภัยคุกคามลมหายใจ ภาคเหนือ เจอหนักสุด
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา รองประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ เผยว่า ฝุ่น PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้ในที่โล่ง โดยเฉพาะพื้นที่ป่าเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากป่าในภาคเหนือเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าผลัดใบ และป่าเต็งรัง ซึ่งในฤดูแล้งต้นไม้จะผลัดใบ ทำให้เต็มไปด้วยใบไม้แห้งมหาศาล เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่ก่อให้เกิดไฟป่า บวกกับการบริหารจัดการไฟป่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘การชิงเผา’ รวมทั้งการใช้ไฟเผาพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน การหาของป่า และอีกสาเหตุหนึ่งในช่วง 10 ปีมานี้ คือการเผาตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ปลูกบนพื้นที่สูงและกินพื้นที่กว้างใหญ่
“ในภาคเหนือก็มีอัตราการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูง แล้วก็ จ.เชียงใหม่ ก็สูงใน 3-4 อำเภอ อ.แม่แจ่ม ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นอำเภอที่มีการปลูกข้าวโพดมากที่สุด รองลงมาก็น่าจะเป็นเชียงดาว แต่ก็ปลูกกระจายกันไปจนถึงภาคเหนือตอนล่าง เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร” สุรีรัตน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภูมิประเทศที่ลาดชันทำให้การกำจัดตอซังพืชด้วยแรงงานคนทำได้อย่างยากลำบาก เครื่องจักรทางการเกษตรเข้าถึงได้จำกัด ประกอบกับข้อจำกัดด้านเวลาและงบประมาณ ทำให้การเผาเป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด และเมื่อต้องผลิตข้าวโพดให้ตอบสนองความต้องการของตลาด ที่มีความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า การเผาพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามไปด้วย
นอกจากการเพิ่มอัตราการเผาตอซังพืชอาหารสัตว์แล้ว อุตสาหกรรมปศุสัตว์ยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดสารตั้งต้นของ PM2.5 อื่นๆ รวมถึงแอมโมเนียซึ่งมาจากมูลสัตว์ โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ และปุ๋ยเคมีที่ใช้ในการปลูกพืชอาหารสัตว์

รายงานจาก Madre Brava ระบุว่า การเผาตอซังพืชเกิดขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกข้าว อ้อย และข้าวโพด โดยมีความเชื่อมโยงกับภาคปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นสัดส่วนที่สำคัญ ข้าวโพดที่ผลิตได้ทั้งหมด 4.8 ล้านตันในประเทศไทยในปี 2020 เกือบทั้งหมดถูกนำไปใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ โดยมีเพียง 84,000 ตัน (ร้อยละ 0.17 ของการผลิตทั้งหมด) ที่ปลูกเพื่อการบริโภคของมนุษย์
การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดคิดเป็นร้อยละ 35 ของจุดความร้อนทั้งหมดจากการเผาตอซังพืชในลุ่มน้ำโขงระหว่างปี 2015-2019 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวโพดทั้งหมด นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศจากการเผาตอซังพืชเป็นต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุด เมื่อตรวจสอบผลกระทบของวงจรการปลูกข้าวโพด มีการประมาณการว่า การผลิตข้าวโพด 1 ตัน ก่อให้เกิด PM2.5 ประมาณ 11.5 กิโลกรัม ซึ่งหมายความว่าในปี 2023 การผลิตข้าวโพดในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านก่อให้เกิด PM2.5 ถึง 76,100 ตัน
ตายก่อนวัยอันควร เทียบยอดดับ
‘อุบัติเหตุจักรยานยนต์’ ปี’64
สำหรับรายงานการวิจัยฉบับใหม่ของ Madre Brava ที่มีชื่อว่า ‘อุตสาหกรรมปศุสัตว์กับ PM2.5: ตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการผลิตโปรตีนที่หลากหลาย’ ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ต่อมลพิษทางอากาศในประเทศไทย และความเชื่อมโยงระหว่างการเผาเพื่อการเกษตรและการผลิตอาหารสัตว์ พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีนในประเทศไทย ปรับเปลี่ยนการผลิตโปรตีนจากเนื้อสัตว์และอาหารทะเลเป็นโปรตีนจากพืชในสัดส่วนร้อยละ 50 ภายในปี 2050 พร้อมทั้งคาดการณ์การลดลงของระดับมลพิษทางอากาศและอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า การเผาเพื่อการเกษตรอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยมากกว่า 34,000 รายต่อปี และหากอุตสาหกรรมนี้เติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ จำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกี่ยวข้องกับการเผาตอซังข้าวโพดเพียงอย่างเดียวอาจสูงถึง 361,000 ราย ในช่วงระหว่างปี 2020-2050
วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการ Madre Brava กล่าวว่า จำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกี่ยวข้องกับการเผาตอซังข้าวโพด 361,000 รายนั้น คิดเป็นประมาณ 12,000 รายต่อปี เทียบได้กับอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจักรยานยนต์ในประเทศไทย ในปี 2021 นั่นเท่ากับว่า ถ้าการผลิตเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จะดูเหมือนว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจักรยานยนต์ทุกปี เป็นจำนวน 30 ปี
สำหรับข้อเสนอแนะจากงานวิจัยชิ้นล่าสุด คือ ประเทศไทยควรจะต้องเริ่มพยายามสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีน ให้มีโปรตีนจากพืชอย่างยั่งยืนมาทดแทนโปรตีนจากสัตว์ให้ได้ 50% ภายในปี 2050 โดยโปรตีนที่ควรจะถูกทดแทนควรเป็นโปรตีนจากระบบอุตสาหกรรมแบบเข้มข้น ซึ่งหากทำได้สำเร็จ การผลิตเนื้อสัตว์และอาหารทะเลในปี 2050 จะลดลง 28% เมื่อเทียบกับอัตราการผลิตในปี 2020 ซึ่งจะทำให้ความต้องการข้าวโพดเพื่อผลิตอาหารสัตว์ลดลง อาจจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ที่เกี่ยวข้องกับการเผาตอซังข้าวโพดได้มากกว่า 100,000 ราย
ประเทศไทยยังอาจได้ประโยชน์อื่นจากการสร้างความหลากหลายด้านโปรตีนอีก โดยในรายงานฉบับก่อนหน้า เรื่อง ‘ครัวแห่งอนาคต: ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมหากประเทศไทยสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีน’ ระบุว่า การลดการผลิตเนื้อสัตว์และอาหารทะเลลงร้อยละ 50 ภายในปี 2050 และแทนที่ด้วยโปรตีนจากพืชจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ 1.3 ล้านล้านบาท สร้างงานได้ 1.15 ล้านตำแหน่ง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ 35.5 ล้านตันต่อปี และคืนพื้นที่การเกษตรได้ 21,700 ตารางกิโลเมตร

‘ความหลากหลายด้านโปรตีน’ คือทางแก้
เปิดข้อเสนอแนะ รัฐต้องแอ๊กชั่นเอกชนต้องร่วมมือ
จากจุดยืนเรื่องการสร้างความหลากหลายด้านโปรตีน ผู้อำนวยการ Madre Brava เผยต่อไปว่า แนวทางในการลดการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์สามารถเริ่มต้นได้จากชีวิตประจำวันของทุกคน โดยการเลือกลดการรับประทานเนื้อสัตว์ในบางมื้อ หรือเพิ่มโปรตีนจากพืชในจานอาหาร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ก็ยังง่ายกว่า ดังนั้น Madre Brava จึงมองว่าภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ต้องมีบทบาทในการเพิ่มทางเลือกให้บุคคลทั่วไปได้เห็นว่าการเลือกบริโภคโปรตีนจากพืชนั้นสะดวกสบายไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่ผลิตอาหารก็จะต้องเริ่มพัฒนาโปรตีนทางเลือกให้มีรสชาติอร่อยกว่านี้ ราคาเข้าถึงได้มากกว่านี้ แล้วก็มีขายอย่างแพร่หลายมากกว่านี้
ส่วนภาครัฐที่เกี่ยวข้องอาจจะลงทุนพิจารณาให้เงินสนับสนุนโครงการวิจัย เพื่อพัฒนาพืชในไทยให้เป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนพืช สนับสนุนการส่งออก หรืออาจใช้มาตรการทางภาษี เพื่อทำให้โปรตีนทางเลือกจากพืชมีราคาเข้าถึงได้ พอสู้กับเนื้อสัตว์ในตลาดได้
“การสร้างความหลากหลายทางด้านโปรตีนต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการช่วยเหลือด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้านเทคโนโลยี การเงิน หรือถ้าให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวสำหรับเลี้ยงสัตว์อยากจะเปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่นที่ยั่งยืนมากกว่านี้ในการบริโภคของมนุษย์ ก็ควรจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” วิชญะภัทร์กล่าว
สำหรับข้อเสนอแนะจากการวิจัยของ Madre Brava มีดังต่อไปนี้
1.ข้อเสนอแนะสำหรับผู้กำหนดนโยบาย
คือ ส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืนมากขึ้น พิจารณามาตรการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงอาหารจากพืช เช่น มาตรการจูงใจทางการเงินเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับประชาชนไทย นอกจากนี้ รัฐยังควร เป็นแบบอย่างด้วยการจัดเมนูอาหารจากพืช โดยเสิร์ฟเมนูอาหารเน้นพืชในงานและการประชุมที่จัดโดยภาครัฐ รวมถึงพิจารณาเพิ่มทางเลือกอาหารจากพืชในโรงอาหารของหน่วยงานรัฐ โรงเรียน และโรงพยาบาล มาตรการเหล่านี้สามารถช่วยสร้างแรงจูงใจและเพิ่มอุปสงค์ต่อผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช
อีกทั้งต้อง สนับสนุนเกษตรกรไทยในการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตร พัฒนาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชเพื่อใช้เป็นแหล่งโปรตีนจากพืชผ่านการให้ความรู้ สนับสนุนทางการเงิน และโครงการพัฒนาขีดความสามารถ
2.ข้อเสนอแนะสำหรับภาคธุรกิจ
คือ ผู้ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ควรกำหนดเป้าหมายเพื่อเพิ่มยอดขายและสัดส่วนของโปรตีนที่ยั่งยืน ลดราคาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชให้สามารถแข่งขันกับโปรตีนจากสัตว์ เพื่อขจัดอุปสรรคด้านราคาและช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืนมากขึ้น จัดวางผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชให้เด่นชัดขึ้น พร้อมด้วยข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับการปรุงอาหาร คุณค่าทางโภชนาการ และประโยชน์ต่อสุขภาพของผลิตภัณฑ์เหล่านี้
ส่วนเครือโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจบริการอาหาร ควรเพิ่มทางเลือกเมนูที่เป็นอาหารจากพืช และแสดงตัวเลือกเหล่านี้ในเมนูทั่วไป ควรกำหนดราคาอาหารจากพืชให้เทียบเท่ากับเมนูปกติ ไม่ใช่ในระดับราคาที่สูงกว่า
นอกจากนี้ รายงานฉบับเดียวกันยังแนะนำให้ผู้ผลิตเนื้อสัตว์และอาหารทะเลบูรณาการกลยุทธ์การสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีนเข้าไปในแผนการลดการปล่อยมลพิษและแผนความยั่งยืนในระยะยาว ควรมีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกมีระดับการแปรรูปต่ำลง ดีต่อสุขภาพมากขึ้น มีคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น และมีราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทั้งสำหรับตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก

‘บริหารจัดการไฟ’ อีกหนึ่งทางสู้ฝุ่นพิษ
ยัน ‘ห้ามเผาเด็ดขาด’ ไม่เคยแก้ได้
กลับมาที่สุรีรัตน์ จากสภาลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่ต้องมีการวางแผนอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องมีการสนับสนุนทั้งในด้านองค์ความรู้ทางวิชาการ สิทธิในการทำกิน การมีส่วนร่วมของประชาชน และงบประมาณ ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การสร้างสมดุลทางด้านโปรตีน
“ปัญหาหนึ่งที่มันซ้อนเข้าไปอีกก็คือ การปลูกข้าวโพดในเขตพื้นที่ป่า หรือพื้นที่เกษตรในเขตป่า ซึ่งตอนหลังมามันเป็นพื้นที่อุทยานฯ เป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ ประชาชนก็ไม่มีสิทธิเหนือที่ดิน ก็ทำกินกันไปอย่างนั้น ถ้าไม่มีเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือการที่จะมีสิทธิครอบครอง แล้วก็ปรับพื้นผิว เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต มันก็ทำไม่ได้ในพื้นที่อุทยานฯ หรือในพื้นที่ป่าไม้ จะเอาไฟฟ้าเข้าไป เอาถนนเข้าไป เอาน้ำเข้าไปก็ไม่ได้ เพราะติดกฎหมายอุทยาน เพราะฉะนั้น เวลาเราจะแก้ปัญหาเรื่องข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะเปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่นก็ต้องมีการจัดการ อย่างน้อยให้เขารู้สึกมั่นใจที่จะใช้ที่ดินนั้น รวมทั้งเราก็ต้องมีแต้มต่อ ต้องมีเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ยให้ ต้องยกหนี้ให้ มันต้องทำแบบไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หลายหน่วยงานต้องเข้ามาช่วยกัน” สุรีรัตน์ย้ำ
จากนั้นกล่าวถึง ‘การบริหารจัดการไฟ’ ซึ่งเจ้าตัวมองว่าเป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
“เราต้องมาตั้งเป้าร่วมกันว่าไม่ได้มุ่งไปสู่ Zero Burning คือห้ามเผาเด็ดขาด เพราะการห้ามเผาเด็ดขาดไม่เคยแก้ปัญหาได้ ย้อนหลังไปสิบปี ประกาศห้ามเผาทุกปี มันก็ไม่ได้ดีขึ้น ไฟลักลอบแอบจุดเยอะขึ้น เพราะฉะนั้น ต้องบริหารจัดการไฟ
เราจะต้องเอาไฟทั้งหมดที่เกิดขึ้นในป่า ในพื้นที่เกษตร มาคุยกันบนโต๊ะ ให้มันเป็นความสว่าง ไม่มีใต้โต๊ะ ไม่มีเบื้องหลัง เพื่อลดไฟที่ลักลอบแอบจุดให้ได้มากที่สุด จะได้บริหารจัดการเฉพาะไฟที่จำเป็น เพื่อใช้ในการจัดการเชื้อเพลิง เพื่อลดความรุนแรงของไฟ ลดค่าฝุ่นลง ลดระยะเวลาที่เกิดไฟให้ได้มากที่สุด แล้วก็ดูกระแสลมด้วย ดูความกดอากาศ ดูบรรยากาศ ในการที่จะบริหารจัดการเชื้อเพลิง กลไกหลักในการประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ คืออำนาจในระดับจังหวัด โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะเป็นผู้พิจารณาถึงจุดเสี่ยง วิธีการบริหารจัดการไฟ และวิธีป้องกันไฟ
ข้อเรียกร้องของเราก็คือให้อำนาจกับท้องถิ่น ในการที่จะมีส่วนร่วมจัดการให้มันเกิดไฟน้อยที่สุด เอาทุกอย่างมาคุยกัน แล้วเราก็ดูว่าไฟลักลอบแอบจุดมันจะต้องลดลง แล้วเราก็ทำงานกับคนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจ ทำอย่างไรให้เขามีส่วนร่วมแล้วก็ลดการใช้ไฟที่ไม่จำเป็น ซึ่งมันก็จะลดลงเรื่อยๆ ได้ มาทำประชาคมที่เราจะบริหารพื้นที่นี้ร่วมกัน ใช้ร่วมกัน เจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบ้าน อปท. มาควบคุมกัน ใช้ไฟร่วมกันให้มันควบคุมได้ อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องมาทำด้วยกัน” สุรีรัตน์ทิ้งท้าย
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของข้อมูล ข้อเสนอแนะ และทางออกจากมุมมองของภาคประชาสังคมที่ชวนให้รัฐรับฟัง โดยมุ่งหวังการแก้ไขเพื่อคืนสิทธิแห่งอากาศสะอาดให้ประชาชนคนไทยหายใจได้เต็มปอด