แท็งก์ความคิด : ฟื้นที่อ่านหนังสือ

แท็งก์ความคิด : ฟื้นที่อ่านหนังสือ

ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม ถึงวันที่ 7 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

ใครสนใจหาความรู้และความบันเทิงจากหนังสือ สามารถไปเที่ยวงานได้เลย

ภายในงานมีสำนักพิมพ์ต่างๆ มาออกบูธจำนวนมาก หนึ่งในจำนวนนี้ย่อมมีสำนักพิมพ์มติชนรวมอยู่ด้วย

ADVERTISMENT

ประจำการอยู่บูธ J02

มติชนยังเดินหน้าส่งเสริมการอ่านต่อเนื่อง และเมื่อสัปดาห์ก่อนได้ยินข่าวน่ายินดีเรื่องการส่งเสริมการอ่าน

ADVERTISMENT

นั่นคือ ข่าวที่กระทรวงศึกษาธิการได้สำรวจการรู้หนังสือของประชากรไทยปี 2568

พบว่า อัตราการรู้หนังสือของไทยสูงขึ้นกว่าเดิมที่เคยสำรวจ

นั่นคือ เดิมผลการสำรวจระบุว่าคนไทยรู้หนังสือ 94 เปอร์เซ็นต์

แต่ปี 2568 พบว่าคนไทยรู้หนังสือ 98 เปอร์เซ็นต์

การสำรวจดังกล่าวดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการ มีครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเก็บข้อมูลทั่วประเทศ

สุ่มตัวอย่างจาก 7,429 ตำบล กระจายตามสัดส่วนครัวเรือน ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมกว่า 225,963 ครัวเรือน คิดเป็นประชากรทั้งสิ้น 533,024 คน

ผลที่ออกมายืนยันในมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้ได้พบว่าคนไทยส่วนหนึ่งมีภาวะลืมหนังสือ

กลุ่มที่เผชิญหน้ากับภาวะเช่นนี้ คือ กลุ่มผู้สูงวัย และกลุ่มผู้ไม่มีงานทำ

ภาวะการลืมหนังสือเกิดจากการอ่านน้อยลง ทำให้ทักษะการอ่านถดถอย

ที่พึงระวังคือ กลุ่มผู้มีภาวะลืมหนังสือเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ถือเป็นภัยเงียบที่ทำให้คุณภาพการอ่านของคนไทยลดน้อยลง

เมื่อกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้ทราบ จึงแสวงหาหนทางแก้ไข

ผลการสำรวจครั้งนี้ได้แสวงหาหนทางแก้ไข พบว่าปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการรู้หนังสือมากขึ้น คือ แรงขับจากความต้องการมีงานทำ โดยเฉพาะเขตอุตสาหกรรม

ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพในการรู้หนังสือของผู้เรียน คือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างสถานศึกษาขนาดเล็กและขนาดใหญ่

ปัจจัยดังกล่าวมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว

นอกจากนี้ ยังพบว่าสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการรู้หนังสือ และป้องกันภาวะการลืมหนังสือ คือ การกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มกันตามความสนใจ และกลุ่มอายุ

ฟังแล้วก็พอมีความหวัง เพราะแม้จะพบปัญหาเรื่องภาวะลืมหนังสือ แต่ก็พบทางแก้ไขได้เช่นกัน

และเมื่อพบหนทางการแก้ไข การผลักดันให้การแก้ไขเกิดเป็นรูปธรรมจึงจำเป็น

กระทรวงศึกษาธิการเองก็กำลังดำเนินการเรื่องนี้

ข้อเสนอในเชิงนโยบาย ได้แก่ 1.การเพิ่มอัตราการรู้หนังสือกลุ่มผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ความมั่นคงในชีวิต และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี

2.การส่งเสริมการรู้หนังสือที่เพิ่มมากขึ้นต้องสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมการอ่านตามความสนใจและต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

3.การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ มาช่วยกระตุ้นให้เกิดการอ่าน ช่วยทำให้มีโอกาสพัฒนาการอ่านได้ดี

และ 4.การส่งเสริมให้ประชากรที่ว่างงานมีงานทำ ทำให้ประชากรที่ว่างงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดภาวะการลืมหนังสือมีการพัฒนาตนเอง และพัฒนาทักษะการอ่านได้ดี

เมื่อแนวทางในการแก้ไขมีแล้ว ก็เหลือแต่จะทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรม

หนทางหนึ่งที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ นำเสนอ คือการฟื้นที่อ่านหนังสือที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 54,000 แห่ง ให้กลับมามีชีวิต

เดิมทีที่อ่านหนังสือเหล่านี้กระทรวงศึกษาฯเป็นผู้ดูแล ภายหลังมีการส่งต่อโครงการนี้ให้ท้องถิ่นดู

จากวันนั้นถึงวันนี้ปรากฏว่าการส่งเสริมการอ่าน เรื่องการอ่านหนังสือ ไม่มีการขับเคลื่อนต่อเนื่อง

ถ้ามีความต่อเนื่องประเด็นภาวะลืมหนังสือคงไม่กลายเป็นปัญหาขึ้นมา

ดังนั้น เพื่อให้การแก้ปัญหาภาวะลืมหนังสือเกิดขึ้น การใช้งบประมาณเพื่อฟื้นที่อ่านหนังสือทั่วประเทศให้กลับมามีชีวิตย่อมสำคัญ

แม้เบื้องต้นจะทำเพื่อผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ไร้งานทำ

แต่ที่อ่านหนังสือในชุมชนหมู่บ้านสามารถเป็นได้มากกว่านั้น

ที่อ่านหนังสือในชุมชนหมู่บ้านเป็นที่ที่สามารถมาติดตามข่าวสาร สามารถมาเพิ่มเติมความรู้ สามารถเข้ามาหาเพื่อน และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน

ความจริงข้อเสนอให้ฟื้นที่อ่านหนังสือในหมู่บ้านเกิดขึ้นมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

มติชนก็เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันรัฐบาลสนับสนุนการอ่านในชุมชน

และผลักดันให้มีการส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือ

วันนี้แม้ความฝันอยากเห็นคนในหมู่บ้านมีหนังสืออ่านไม่แตกต่างจากคนในเมืองจะเริ่มริบหรี่

แต่เมื่อกรมส่งเสริมการเรียนรู้จุดประกายความหวังขึ้นมาใหม่ก็ยังคงขอฝันต่อ

และปรารถนาอยากให้ฝันนี้กลายเป็นจริง

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image