ศาสนาผี
‘ที่สุดในโลก’
บางตอนจากหนังสือ ศาสนาผี ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ
ศาสนาผีเป็นศาสนามวลชนเก่าแก่ที่สุด และมีคนนับถือมากที่สุดในโลก จึงแผ่ความเชื่อหล่อหลอมคนส่วนมากก่อนมีศาสนาใหญ่สมัยหลัง
แต่ศาสนาผีไม่เอื้อต่อการรวมศูนย์อำนาจ จึงเป็นเหตุให้ศาสนาพราหมณ์, พุทธจากอินเดีย เมื่อแผ่ถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาและอุษาคเนย์ ได้กลืนศาสนาผีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาพราหมณ์, พุทธ ซึ่งทำให้ชนชั้นนำและคนส่วนมากครั้งนั้นนับถือศาสนาผี, พราหมณ์, พุทธ ที่ผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองการปกครองด้วยการค้ำจุนอำนาจรวมศูนย์ของชนชั้นนำในบ้านเมืองสมัยนั้น แล้วสืบทอดจนสมัยนี้
ประเทศไทยนับถือศาสนาหลักที่ถูกสมมุติเรียกชื่อใหม่ว่า “ศาสนาไทย” อันเป็นมรดกตกทอดการผสมกลมกลืนของศาสนาผี, พราหมณ์, พุทธ นับพันๆ ปีมาแล้ว ซึ่งมีวิถีต่างจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในอินเดีย และศาสนาพุทธในพระไตรปิฎก
โครงกระดูกมนุษย์นับพันปีที่นักโบราณคดีขุดพบในไทยและเพื่อนบ้าน ล้วนเป็นผลจากพิธีกรรมหลังความตายทางศาสนาผี ซึ่งต้องมีนิยามและคำอธิบายตามความเชื่อทางศาสนาผี ที่ต่างกันมากกับความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กับศาสนาพุทธจากอินเดีย
ศาสนาผี มีขายที่ บูธ “J02” สำนักพิมพ์มติชน
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 วันที่ 27 มีนาคม-7 เมษายน 2568
ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น.
ศาสนาผี มาจากไหน?
ศาสนาผี หมายถึง ระบบความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ ว่าบันดาลให้เกิดปรากฏการณ์ดีและร้าย ทั้งในโลกผีกับโลกมนุษย์ หรือเมืองผีกับเมืองมนุษย์ โดยจัดให้โลกผีหรือเมืองผีอยู่ต่างมิติ ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ แยกส่วนได้
[เมื่อเทียบความเชื่อของพราหมณ์กับพุทธจะพบว่าต่างกันมาก เนื่องจากศาสนาผีไม่มีวิญญาณ, ไม่มีเวียนว่ายตายเกิด, ไม่มีโลกหน้า, ไม่มีสวรรค์, ไม่มีนรก, ไม่มีเผาศพ, ไม่มีเทวดา, ไม่มีนางฟ้า, ไม่มียมบาล ฯลฯ]
ความเชื่อผีก่อนหน้านี้ถูกเหยียด และไม่ได้รับการยอมรับเป็นศาสนาจากสังคมทั่วไป แต่ทางวิชาการสากลยกย่องให้ความสำคัญว่าความเชื่อผีเป็นศาสนาหนึ่งในโลกดังนี้
1.ศาสนาผีเป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลก มีอายุหลายพันหลายหมื่นปีมาแล้ว นับไม่ถ้วน
2.ศาสนาผีเป็นศาสนามวลชนเก่าแก่ที่สุด ที่มีคนนับถือมากที่สุดในโลก นับไม่ถ้วน
3.ศาสนาผีไม่เอื้อต่อการรวมศูนย์อำนาจ เป็นเหตุให้ศาสนาที่แผ่เข้ามาจากอินเดีย คือ ศาสนาพราหมณ์-พุทธได้กลืนศาสนาผีเข้าเป็นส่วนหนึ่งเรียก ผี, พราหมณ์, พุทธ เพื่อให้ค้ำจุนอำนาจรวมศูนย์กลางของชนชั้นนำในบ้านเมือง
ผีคืออะไร?
ผี คือ ความเชื่อว่าเป็นสิ่งมีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติที่บันดาลให้เกิดผลกระทบถึงคน ทั้งผลดีและผลไม่ดี
หรืออีกด้านหนึ่งผีเป็นสิ่งประดิษฐ์ตามจินตนาการของมนุษย์จากความเชื่อเรื่องขวัญ
ดังนั้น ผี คือ ขวัญของคนตาย หมายถึง ส่วนไม่เป็นตัวตนของคนตาย เพราะเมื่อขวัญออกจากร่างคนมีชีวิตจะทำให้คนนั้นตาย หรือผีคือขวัญของคนตายที่ออกจากร่าง บางทีเรียกผีขวัญ
ผีมาจากไหน?
มาจาก (1.) ความเชื่อของคนในศาสนาผีเรื่องขวัญ (2.) ว่าคนตายกลายเป็นผี ไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน, จับต้องไม่ได้, มองไม่เห็น, เคลื่อนไหวได้, แยกส่วนได้, ไม่มีเสียง ฯลฯ (3.) สิงสู่ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ได้แก่ คน, สัตว์, พืช, สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ ฯลฯ
ผีมาจากขวัญ คนดั้งเดิมในไทยเชื่อว่าผีมาจากขวัญ (คือส่วนไม่เป็นตัวตน) ตามความเชื่อศาสนาผีว่า “คนตาย ขวัญไม่ตาย” ขวัญกลายเป็นผี ทำให้มีโลก 2 มิติ ทับซ้อนกัน คือ โลกของคน กับ โลกของผี หมายถึง (1.) คนตาย เพราะขวัญหายออกจากร่าง (ไม่รู้หายไปไหน?) (2.) ขวัญไม่ตาย กลายเป็นผี ร่อนเร่ไปไหนต่อไหน ไม่คืนร่าง (3.) ถ้าขวัญคืนร่าง เชื่อว่าคนจะฟื้น
จึงมีพิธีกรรมหลังความตาย เพื่อให้ขวัญคืนร่าง แต่คนไม่เคยฟื้น เพราะขวัญไม่เคยคืนร่าง ดังนั้นขวัญอยู่ต่างมิติในโลกผี
ขวัญ คือ ส่วนไม่เป็นตัวตนอยู่ในคนมีชีวิต ต่อมาเมื่อรู้จัก “วิญญาณ” ตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ จึงรับคำว่าวิญญาณมาใช้งาน ครั้นนานไปก็ผสมกันระหว่างวิญญาณ, ขวัญ, ผี แล้วปนกันจนแยกไม่ได้
แต่ในความเป็นจริงใช้แทนกันไม่ได้ เพราะวิญญาณมีดวงเดียว แต่ขวัญมีหลายหลากมากกว่าหนึ่ง นอกจากนั้นวิญญาณมีเวียนว่ายตายเกิด แต่ขวัญไม่เวียนว่ายตายเกิด หมายถึง ไม่ตายและไม่เกิด
ผี (ในพุทธ) มาจากวิญญาณ คนไทยทุกวันนี้เชื่อว่าผีมาจากวิญญาณ (คือส่วนไม่เป็นตัวตน) ตามคำสอนพุทธเรื่อง “เวียนว่ายตายเกิด” หมายถึง ตายแล้วเกิด (ใหม่) ไม่รู้จบ
แต่วิญญาณมีดวงเดียว คนตาย วิญญาณดับ ไปจุติใหม่ทันที-ขึ้นสวรรค์/ลงนรก? ดังนั้น ผีจึงไม่มาจากวิญญาณ เพราะวิญญาณไปจุติแล้ว ไม่มีอะไรเหลือ
ผีหลายพวก
ผีมี 2 พวกใหญ่ๆ คือ ผีดีและผีร้าย
ผีดี มี 2 ประเภท ซึ่งให้คุณและโทษต่อมนุษย์ คือ ผีดินกับผีฟ้า
ผีดิน หมายถึง ผีพื้นเมืองหลายพันปีมาแล้ว พบทั่วไปในชุมชนเก่าแก่แรกเริ่ม ได้แก่ ผีเรือน, ผีบ้าน, ผีเมือง, ผีดง, ผีป่า, ผีบก, ผีน้ำ (พญานาค) ฯลฯ
ผีฟ้า หมายถึง ผู้เป็นใหญ่บนฟ้า บางทีเรียกเจ้าแห่งฟ้า หรือเจ้าฟ้า
ผีฟ้า โดยสรุปมีความเป็นมาดังนี้
1.แหล่งรวมพลังขวัญของผีบรรพชน หรือผีชนชั้นนำที่ตายแล้วของเผ่าพันธุ์ ซึ่งถูกส่งขึ้นฟ้ารวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีขวัญบรรพชนคนก่อนๆ เพื่อปกป้องคุ้มครองคนที่ยังไม่ตายอยู่ในชุมชนพ้นโรคภัยไข้เจ็บและอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร
2.ถูกเรียกอีกชื่อว่าแถน (ราว 2,500 ปีมาแล้ว เมื่อเรือน พ.ศ.1) ซึ่งได้จากภาษาจีนว่าเทียน แปลว่า ฟ้า หมายถึง ผู้เป็นใหญ่บนฟ้า [จากหนังสือ พงศาวดารโยนก ของ พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) เรียบเรียงเมื่อปลายแผ่นดิน ร.5 พ.ศ.2451] หลังจากนั้นเรียกรวมว่า “ผีฟ้าพญาแถน”
แถน คือ ผีฟ้า มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ผู้สร้างทุกอย่างในโลกทั้งดินและฟ้า บรรดาคนในชุมชนบ้านเมืองลุ่มน้ำเจ้าพระยานับพันปีมาแล้วนับถือแถน แต่กลายเสียงกลายรูปเป็นแผน ได้แก่ หลังรับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู รู้จักพรหมเป็นเทวดาผู้สร้างทุกอย่างในจักรวาล มีอำนาจเหมือนแถน จึงเรียกพรหมด้วยคำไท-ไตอันคุ้นเคยว่าแผน แล้วยกเป็นใหญ่ว่า “ขุนแผน” พบในโองการแช่งน้ำตอนพระพรหมตรวจพื้นที่สร้างโลกว่า “ขุนแผน แรกเอาดิน ดูที่” (มีอธิบายละเอียดในหนังสือ โองการแช่งน้ำ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ดวงกมล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2524 หน้า 39-55)
3.ผีฟ้ากับคนติดต่อสื่อสารกันได้โดยผ่าน “ตัวกลาง” คือ ร่างทรง หรือคนทรงซึ่งเป็นหญิง
4.คนในชุมชนถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดจากผีฟ้า ด้วยจารีตประเพณีพิธีกรรมในศาสนาผี ผ่านหมอมด
5.ต้นตอลัทธิเทวราช (ราว พ.ศ.1400) ด้วยการปรับความเชื่อเข้ากับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยเชิญผีขวัญของพระราชาที่สวรรคตขึ้นสวรรค์บนฟ้า เพื่อรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับเทวะ เป็นเทวราชา (ซึ่งไม่มีคตินี้ในอินเดีย) ดังนี้
ผีฟ้าถูกยกเป็นเทวราชา บนฟ้ามีผีขวัญบรรพชนนับไม่ถ้วน รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวเรียกผีฟ้า หรือแถน ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองคนที่มีชีวิตบนโลก เมื่อคนชั้นนำคนใหม่ตายไปก็ส่งผีขวัญรวมเป็นผีฟ้าหรือแถนเพิ่มอีกไม่รู้จบ
ต่อมา หลังรับความเป็นเทวะบนสวรรค์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย บรรดาคนชั้นนำอุษาคเนย์ร่วมกันปรับความเชื่อเรื่องผีฟ้าผีแถน (ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิม) เข้ากับเทวะ โดยเชิญผีขวัญคนชั้นนำขึ้นฟ้าไปรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับเทวะบนสวรรค์ แล้วเรียกใหม่ว่าเทวราชา ในลัทธิเทวราช
เทวราชาอยู่บนสวรรค์ ควบคุมน้ำบนฟ้า มีพลังอำนาจบันดาลน้ำเหล่านั้นตกเป็นฝนหล่นถึงโลก บังเกิดความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร
ผีร้าย ให้โทษอย่างเดียว เช่น ผีฉมบ-จะกละ-กระสือ-กระหัง (กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ 115 ปีก่อนอยุธยา พ.ศ.1778), ผีห่า คือ โรคระบาดทำให้คนตายมาก (เช่น กาฬโรค)
หมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ นำทางผีขวัญหัวหน้าเผ่าพันธุ์ที่ตายแล้วขึ้นฟ้ารวมพลังเป็นผีฟ้าตามความเชื่อทางศาสนาผี
โครงกระดูกหมา (แบบเต็มโครงสมบูรณ์) ในวัฒนธรรมบ้านเชียง ราว 2,500 ปีมาแล้ว ขุดพบ (เมื่อ พ.ศ.2547) ร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ยุคเดียวกัน ที่วัดโพธิ์ศรีใน ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี (ภาพจาก สุรพล นาถะพินธุ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)
(บน) หมานำผีขวัญของคนตายสู่เมืองฟ้า ตามความเชื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว (ลายเส้นของกรมศิลปากรจำลองภาพเขียนสีที่เขาจันทน์งาม อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา)
(ล่าง) หมาทำท่าเหินจากฟ้า มีผีขวัญบรรพชนจูงควาย ภาพเขียนสี ราว 2,500 ปีมาแล้ว บนเขาปลาร้า อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี (ลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากร)
ภาพแสดงพิธีกรรมเข้าทรงผีฟ้าเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร ด้วยร่างทรงรวมหมู่คือภาพเขียนรูปคนสวมหน้ากากหัวสามเหลี่ยมตั้งบนรูปทรงกระบอก พร้อมด้วยรูปช้าง, ปลา, เต่า ฯลฯ เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1
รูปหัวสามเหลี่ยมตั้งบนทรงกระบอกเป็นรูปคนใส่หน้ากากสวมเครื่องเข้าทรงในพิธีกรรม (ดังพบทุกวันนี้ในผีตาโขน) ไม่ใช่ตุ้ม (ซึ่งเป็นเครื่องมือดักปลาในแม่น้ำสมัยปัจจุบัน) ใช้จับปลาจำนวนมากเพื่อขายในตลาดของระบบทุนนิยม แต่สังคม 2,500 ปีที่แล้ว ทุกคนจับปลาหากินเองตามอัตภาพ ไม่มีตลาดซื้อขายปลาอย่างทุกวันนี้
พิธีกรรมเซ่นผี (หรือเลี้ยงผี) ของคนหลายชาติพันธุ์ บริเวณสองฝั่งโขง 2,500 ปีมาแล้ว เพื่อ (1.) ขอให้พ้นจากความแห้งแล้ง เพื่อความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร เป็นพิธีกรรมประจำปี มีหน้าแล้งเดือน 4 เดือน 5 ถึงเดือน 6 และ (2.) ขอให้พ้นจากผีร้าย (คือโรคภัยไข้เจ็บ) เพื่อความอยู่ดีกิน หวาน (คือสบาย) เป็นพิธีจร จัดให้มีตามต้องการที่เกิดเหตุไม่ดี หรือมีผู้เจ็บไข้ได้ป่วย
หมอมด ผู้กำหนดนัดหมายและเป็นเจ้าพิธี มีตอนกลางคืนตั้งแต่ย่ำค่ำจนย่ำรุ่ง นานหลายวันหลายคืนต่อเนื่องกัน อาจเป็นเดือน (มด กลายจากคำเขมรว่ามะม๊วด มักเป็นคนเดียวกับหัวหน้าเผ่าพันธุ์ หรือ Chiefdom) เป็นร่างทรงของผีบรรพชน (ผีฟ้า, ผีแถน)
ฆ่าควาย ปรุงอาหารเซ่นผี และเลี้ยงคนที่ร่วมพิธี ส่วนเลือดควายใช้ป้ายหน้าผากและตามตัวตลอดจนเครื่องมือ หลัง เสร็จพิธีมีกินเลี้ยงและร้องรำทำเพลง พร้อมเป่าแคนและกระทุ้งกระบอกไผ่ รวมทั้งเล่นเครื่องมืออื่นๆ