ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|
บันทึกการปฏิวัติ 2475 ของหลวงศุภชลาศัย
ผู้ทูลเชิญ ร.7 กลับพระนคร หลังปฏิวัติ

ปี 2475 การปฏิวัติของคณะราษฎร ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย ถึงวันนี้เป็นปีที่ 93 ของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ที่มักมีผู้ถามว่า ประชาธิปไตยของไทยไปถึงไหน หรือประชดว่าไม่ไปถึงไหน
ขณะที่อีกด้านหนึ่งของเหตุการณ์ 93 ปีดังกล่าว มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนั้น, สมาชิกคณะราษฎร, บุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ ฯลฯ ออกมาให้เห็นเป็นระยะ
ล่าสุด นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ได้ค้นคว้าและเรียบเรียงบทความชื่อ “‘ตาบุง’ หลวงศุภชลาศัย กับบันทึกระทึกปฏิวัติ 2475” เผยแพร่ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนเมษายน 2568 อาจมีคำถามว่า หลวงศุภชลาศัยท่านนี้สำคัญอย่างไรในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย
คำตอบก็คือ หลวงศุภชลาศัย สมาชิกคณะราษฎรเพียงไม่กี่คนที่อยู่ในเหตุการณ์ “ก่อน-ระหว่าง-หลัง” เปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ได้ยิน ได้เห็น ได้ลงมือเอง

หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) (พ.ศ.2438-2508) สมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือที่ร่วมการปฏิวัติ 2475, ปี 2476 หลวงศุภชลาศัย ร่วมกับ พระยาพหลพลพยุหเสนา และหลวงพิบูลสงคราม ทำการรัฐประหารรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เดือนตุลาคม ปีเดียวกัน เกิดกบฏบวรเดช ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องให้กองทัพมีความขัดแย้งขึ้นภายใน

ปี 2477 หลวงศุภชลาศัย ถูกย้ายไปเป็น “อธิบดีกรมพลศึกษา” โดยเป็นอธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก และดำรงตำแหน่งอยู่ต่อเนื่องยาวนานถึง 8 ปี ช่วงเวลานั้นหลวงศุภชลาศัยลงนามในหนังสือสัญญารื้อตึกวังวินด์เซอร์เพื่อจัดสร้างสนามกีฬาแห่งชาติจนสำเร็จและต่อมาได้รับการขนานนามว่า “สนามศุภชลาศัย”
สำหรับบทบาทของสมาชิกคณะราษฎร หลวงศุภชลาศัยเป็นสมาชิกเพียงไม่กี่คนที่อยู่ใน 3 สถานที่สำคัญในการปฏิบัติการครั้งสำคัญในวันที่ 24 มิถุนายน นั่นคือ
1.ลานพระบรมรูปทรงม้า พระที่นั่งอนันตสมาคม ที่พระยาพหลพลพยุเสนา (พจน์ พหลโยธิน) อ่านประกาศคณะราษฎร 2.วังบางขุนพรหม ที่มีการเข้าควบคุมเชิญกรมพระนครสวรรค์วรพินิต 3.วังไกลกังวล หัวหิน พระราชฐานที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับระหว่างเกิดการเปลี่ยนแปลง ที่สมาชิกคณะราษฎรไปเพื่อทูลเชิญกลับพระนคร
ทั้ง 3 สถานที่ 3 สถานการณ์ที่น้อยคนนักจะได้อยู่ ได้เห็น และได้มีส่วนร่วม ทั้งยังมีการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

บันทึกการสัมภาษณ์หลวงศุภชลาศัย มีทั้งหมด 3 เวอร์ชั่น คือ 1.บันทึกโดยผู้ใช้นามปากกาว่า “แหลมสน” เมื่อ พ.ศ.2492 2.บันทึกที่ศิลปวัฒนธรรมนำมาเผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2544 ที่สันนิษฐานว่าจัดทำช่วงต้นปี พ.ศ.2490 3.บันทึกที่ค้นพบจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หัวเอกสารระบุรหัส ศธ.0701.34/16 เนื้อความประมวลชุดคำสัมภาษณ์ของหลวงศุภชลาศัยช่วงกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2498
ในบันทึกทั้ง 3 เวอร์ชั่น มีเพียง “บันทึกฉบับหอจดหมายเหตุ” ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ที่หลวงศุภชลาศัยเข้าร่วมการควบคุมตัวกรมพระนครสวรรค์ฯ ที่วังบางขุนพรหม ว่า
“ท่านผู้ให้สัมภาษณ์ก็ได้รับคำสั่งให้ร่วมไปกับขบวนทหารที่จะออกไปเชิญเสด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิตผู้ที่ร่วมไปกับท่านเท่าที่จำได้มี พ.ท.พระประศาสตร์ฯ ร.อ.หลวงนิเทศฯ ร.อ.จิบ ศิริไพบูลย์ ร.อ.หลวงสวัสดิ์ สวัสดิ์รณรงค์ ท่านผู้ให้สัมภาษณ์นั่งตอนท้ายรถรบ ข้างนอก มี ร.อ.หลวงนิเทศฯ…
เมื่อเข้าเขตวังบางขุนพรหมแล้ว ได้แยกออกเป็นสองสาย สายแรกเลี้ยวซ้ายอ้อมวงเวียนสู่ตำหนัก อีกสายหนึ่งเลี้ยวขวาอ้อมวงเวียนเดียวกันสู่พระตำหนักเหมือนกัน พอขบวนทั้งสองไปบรรจบกันที่เรือนต้นไม้หน้าตำหนัก ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ดังมาจากทางไหนก็ไม่ทราบ…
พ.ท.พระประศาสตร์ฯ ได้สั่งให้ขยายแถวเป็นรูปเกือกม้าล้อมด้านหน้าตำหนักอย่างรวดเร็ว ทันใดนั้น ปืนกลประจำรถเกราะก็ยิงออกไปประมาณ 30 นัด ส่วนมากถูกผนังด้านหน้า เบื้องซ้ายของตำหนักพรุนไปหมด…ต่อมาประมาณสัก 5 นาทีเห็นจะได้ ปรากฏว่ากรมพระนครสวรรค์ฯ ได้เสด็จลงมาข้างล่างด้วยฉลองพระองค์ลำลองสีขาวแบบอยู่ในตำหนัก ทรงทำพระกิริยาอย่างสงบ
เมื่อทอดพระเนตรเห็น พ.ท.พระประศาสตร์ฯ พระองค์ตรัสออกมาอย่างเรียบๆ ว่า ‘เอ๊ะ อ้ายวันเอากับเขาด้วยหรือนี่?’ พระประศาสตร์ฯ ได้ทำความเคารพด้วยการวันทยหัตถ์ ไม่ตอบว่าอย่างไร แต่อาการที่วันทยหัตถ์ต่อหน้าพระองค์เช่นนี้ เต็มไปด้วยความเคารพ และมีอาการสั่นทั้งตัว ท่านผู้ให้สัมภาษณ์ก็ชักจะสั่นๆ ไปด้วยเหมือนกัน จึงหลบไปทางท้ายรถเสีย…”
หลวงศุภชลาศัยยังเป็นสมาชิกคณะราษฎรคนแรกหลังปฏิวัติที่ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่วังไกลกังวล ด้วยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำเรือรบหลวงสุโขทัยออกจากพระนคร เพื่อนำสาส์นของคณะราษฎรไปทูลเกล้าฯ ถวายพร้อมทูลเชิญพระองค์เสด็จฯ กลับพระนครเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน


บันทึกฉบับหอจดหมายเหตุ แจกแจงรายละเอียดประกอบแผนผังบนพระที่นั่งเปี่ยมสุข วังไกลกังวลว่า
รัชกาลที่ 7 ประทับคอยอยู่ในท้องพระโรง หันพระพักตร์ออกมาทางด้านศาลาเริง พระองค์ประทับอยู่หัวโต๊ะ ด้านขวาของพระองค์ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร, พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (หม่อมราชวงศ์สิทธิ์ สุทัศน์) ตามลำดับ ด้านซ้าย คือ พระยาพิไชยสงคราม (แก๊ป สรโยธิน), พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (เตี้ยม บุนนาค) ส่วนที่นั่งหัวโต๊ะตรงกันข้ามกับรัชกาลที่ 7 เป็นเก้าอี้ว่าง เตรียมไว้สำหรับหลวงศุภชลาศัย
เหตุการณ์ในตอนบันทึกทั้ง 3 เวอร์ชั่น บันทึกไว้ดังนี้
บันทึกฉบับแหลมสนบันทึกว่า “ข้าพเจ้าได้ปฏิเสธคำเชื้อเชิญอันนี้ เพราะดูเป็นการบังอาจเอื้อมที่จะหยิ่งผยองเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเจ้าชีวิตของคนไทยด้วยกันนั่งบนเก้าอี้ ข้าพเจ้าคงยืนระวังตรงต่อไป”
บันทึกฉบับศิลปวัฒนธรรมว่า “ข้าฯ ไม่นั่งคงยืนอยู่อย่างนั้น ไม่กล้าจะนั่งร่วม และประหม่าจนพูดแทบไม่ออก”
และฉบับหอจดหมายเหตุบรรยายอย่างลงลึกถึงความรู้สึกว่า แรกที่ท่านผู้ให้สัมภาษณ์ย่างเท้าเข้าสู่ท้องพระโรง ท่านได้บอกถึงความรู้สึกในส่วนลึกของหัวใจว่า
“พอมองเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น รู้สึกว่าขาเริ่มสั่น และประหม่าเป็นอันมาก พอท่านเดินเข้าไปใกล้ พระองค์จึงรับสั่งวา ‘นั่งลงซี ตาบุง’ อาการที่สั่นอยู่แล้วจึงเริ่มสั่นหนักขึ้นไปอีก กราบบังคมทูลด้วยเสียงอันสั่นเครือว่า ‘นั่งไม่ได้พ่ะย่ะค่ะ’
เมื่อท่านผู้ให้สัมภาษณ์ไม่นั่ง พระองค์จึงทรงหยิบหนังสือที่มีมาจากผู้รักษาพระนครที่ท่านผู้ให้สัมภาษณ์ถือมาส่งให้ท่านผู้ให้สัมภาษณ์รับสั่งว่า ‘อ่านไป’ ท่านผู้ให้สัมภาษณ์จึงรับหนังสือจากพระหัตถ์ของพระองค์ท่านมา เตรียมจะอ่านเหมือนกัน
แต่รู้สึกว่าตาลาย มองเห็นตัวหนังสือพร่าไปหมด กับทั้งมือและขาสั่นเทิ้มไปหมด ในที่สุดก็อ่านไม่ได้ ท่าทางของท่านผู้ให้สัมภาษณ์คงจะเป็นท่าน่าขบขันสำหรับพระองค์ ถึงกับพระองค์ทรงยิ้มออกมาแล้วรับสั่งว่า ‘เอาละ ไม่ต้องอ่านละตาบุง’”
ประสบการณ์ของหลวงศุภชลาศัยเอง และบันทึกการสัมภาษณ์หลวงศุลชลาศัยทั้ง 3 เวอร์ชั่น ที่กล่าวไปข้างต้นนี้เป็นเนื้อหาเพียงบางส่วนเท่านั้น ส่วนที่เหลือขอท่านผู้อ่านได้โปรดติดตามจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนเมษายนนี้ ที่ร้อนแรงไม่แพ้อากาศ
วิภา จิรภาไพศาล
[email protected]