ผู้เขียน | ชญานินทร์ ภูษาทอง |
---|
‘กะเพราป่า’ เปลี่ยนชีวิต
วัตถุดิบครัวไทย มาตรฐานโลก
ส่งเกษตรกรตัวเล็ก เสิร์ฟเมนูซอฟต์พาวเวอร์
หลังสู้ฟ้า…หน้าสู้ดิน
คำเปรียบเปรยถึงชีวิตเกษตรกรไทย ที่บทบาทไม่ต่างจากกระดูกสันหลังของชาติ แต่ยังคงต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับราคาพืชผลที่ตกต่ำ
ไหนจะความเสียหายจากศัตรูพืชตัวจิ๋วที่คอยกัดกินหัวใจ ทำให้จำเป็นต้องหันไปพึ่งยาเคมีเพื่อปราบให้อยู่หมัดในขณะที่อุตสาหกรรมด้านการบริโภคของไทย มุ่งหน้ายกระดับสู่การเป็น ‘ครัวโลก’ ยังมีความต้องการพืชผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก จึงนับเป็นเรื่องยากไม่น้อย
เพื่อซัพพอร์ตเกษตรกรรายย่อย ให้ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของผู้ผลิตรายใหญ่ หนึ่งผู้ประกอบการที่เรารู้จักกันดีอย่าง บริษัท ซีพีแรม จำกัด (CPRAM) ผู้นำด้านอุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทาน จึงยื่นมือเข้ามาช่วยชโลมใจเกษตรกรรายย่อย ด้วยการเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเพาะปลูก เพื่อส่งออกสู่ตลาดที่กว้างยิ่งกว่า
เดินหน้าต่อเนื่องสานต่อความสำเร็จใน “โครงการเกษตรกรคู่ชีวิต” ณ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พูดคุยเกษตรกรรายย่อย ‘ผู้เพาะปลูกกะเพรา’ เพื่อส่งเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารซีพีแรม
ที่เน้นให้ความสำคัญตั้งแต่การเลือกสรรวัตถุดิบคุณภาพสูง และที่สำคัญต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
ในยุคที่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ใครจะนึกว่าข้าว ‘กล่องแดง’ เซเว่นอีเลฟเว่น ที่หลายคนคุ้นเคยในยามท้องร้องกลางดึก จะมีส่วนช่วยกระจายรายได้ พลิกชีวิตเกษตรกรไทยอย่างมหาศาล ทั้งยังสอดรับกับเทรนด์ในการกินดื่มที่เน้นความเรียบง่ายและเร่งด่วน

เพื่อนคู่ชีวิต เกษตรกรไทย
สร้างมาตรฐานใหม่ ‘ใบกะเพรา’
หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นผลเด่นชัด ยกให้ บริษัท ซีพีแรม จำกัด (ขอนแก่น)
อาภาภรณ์ พรหมเชยธีระ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เล่าว่า ปัจจุบัน ใช้ใบกะเพราเป็นวัตถุดิบในการผลิตอย่างมาก และมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี
ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงมือผู้บริโภค
ซีพีแรมจึงริเริ่ม ‘โครงการเกษตรกรคู่ชีวิต’ และดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 2 ทศวรรษ โดยมอบ ‘องค์ความรู้ใหม่’ พร้อม ‘สนับสนุนนวัตกรรม’ และเทคโนโลยีในกระบวนการเพาะปลูกที่เหมาะสม สอดคล้องตามมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สร้างความปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม
เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน และตอบโจทย์ความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมอาหารที่ครอบคลุมในทุกมิติ อย่างแท้จริง
“โครงการเกษตรกรคู่ชีวิต ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 โดยได้ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรมากกว่า 200 รายในแต่ละปี ครอบคลุมทั้งการแลกเปลี่ยนและมอบองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูก การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูกที่เหมาะสม และเทคนิคการวางแผน การจัดการแปลงปลูกที่ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนการรับซื้อผลผลิตในราคาที่สูง
โดยเน้นความสำคัญที่เกษตรกรผู้ปลูกกะเพรา ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตข้าวผัดกะเพรา หนึ่งในเมนูยอดฮิตอันดับหนึ่งของซีพีแรม ซึ่งวางจำหน่ายในเซเว่นอีเลฟเว่นมาอย่างยาวนาน”
อาภาภรณ์สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา แม้จะเพียงชนิดเดียว แต่ก็นับว่าเป็นเมนูซอฟต์พาวเวอร์ ที่หาทานง่าย ถูกปากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เทรนให้หมด ตั้งแต่นับหนึ่ง
ซิกเนเจอร์ต้องมา คิวซีไม่มีหลุดตา
ในการช่วยเหลือเกษตรกรไทย เพื่อให้ผลผลิตได้มาตรฐาน อันจะนำมาสู่รายได้ที่มั่นคงนั้น
ผู้บริหารฯเริ่มต้นจากการให้ความรู้ ฝึกอบรมเพื่อให้ได้มาตรฐาน GAP ซึ่งต้องเริ่มจากการเตรียมดิน ให้ปุ๋ยอย่างไรจึงจะเหมาะสม ไปจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิต
โดยมี ‘ซีพีแรม’ เป็นผู้คอย QC ตรวจสอบคุณภาพเองทั้งหมด จึงมั่นใจได้ว่าผลิตผลของเกษตรกรที่เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร จะได้มาตรฐานตาม GAP การันตีว่าทั้งสะอาด ปลอดภัย คงรสชาติที่ดี
จึงไม่แปลกใจที่กะเพราทุกใบ เมื่อผ่านการปรุงแล้วส่งกลิ่นหอม และให้รสชาติเป็นเอกลักษณ์
สำหรับมาตรฐานกะเพรา GAP ที่ทางซีพีแรมเป็นตัวชี้วัด อาภาภรณ์บอกเลยว่าจะต้องมีความหอม มีรสชาติเผ็ด
“เราใช้เทคโนโลยีในการบันทึกข้อมูลและติดตามผลแบบเรียลไทม์ จะทำให้มีผลผลิตที่ดีควบคุมคุณภาพได้ ส่งถึงโรงงานสดใหม่ทุกวัน จะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้
ที่มั่นคงมากขึ้น พร้อมทั้งยังมีความรู้ความสามารถติดตัวในการจัดการเพาะปลูกของตนเอง ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่ากะเพราของซีพีแรม สะอาด ปลอดภัย ปลอดสารพิษ ซึ่งเกษตรกรของซีพีแรมผ่าน GAP 100% ทุกคน”
ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มีเกษตรกรกว่า 25 ครัวเรือน เข้าร่วมโครงการ รองรับการผลิตใบกะเพราได้ถึง 130 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรกว่า 3.33 ล้านบาทต่อปี
ผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการเกษตรกรคู่ชีวิต จึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ส่งเสริมอาชีพที่มั่นคง พร้อมสร้างความปลอดภัย มั่นคงและยั่งยืนทางอาหาร ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
“เราสนับสนุนเกษตรกรให้ปลูกกะเพราขยายไปตามภูมิภาคของโรงงานซีพีแรม ด้วยซีพีแรมเป็นอุตสาหกรรมอาหาร เราต้องการตอบสนองลูกค้าที่ต้องการกะเพรา ซึ่งเราส่งเสริมเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี
แต่ทางซีพีแรมไม่ได้มีเพียงใบกะเพราอย่างเดียว เรายังต้องส่งเสริมผักชนิดอื่นร่วมด้วย ใครที่ต้องการเข้ามาเป็นครอบครัวเกษตรกรซีพีแรม เพียงแค่มีความตั้งใจ มีความมุมานะในการเพาะปลูก อีกทั้งกะเพราเป็นพืชผักที่โตง่าย เลี้ยงง่าย โดยมีผลผลิตต่อเนื่องตลอดทั้งปี เกษตรกรก็มีรายได้ที่สม่ำเสมอ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เผยถึงความตั้งใจ

อดีตหนุ่มโรงงาน ได้กลับบ้าน
หันปลูก ‘กะเพราป่า’ ยกระดับครอบครัว
หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ประหยัด อุสาย เกษตรกรต้นแบบของโครงการเกษตรกรคู่ชีวิต ในจังหวัดขอนแก่น บอกตามตรงว่าแรกเริ่มเดิมทีทำงานโรงงานมาก่อน
เมื่อได้กลับมาอยู่บ้าน จึงคิดหาทางต่อยอดอาชีพ ก็เห็นว่าในหมู่บ้านมีเกษตรกรที่รวมกลุ่มเพาะปลูกพืชผักสวนครัวอยู่แล้ว
“ผมก็เริ่มมาปลูกผักค้าขายกันเองในชุมชน ทำอาหารตามสั่งบ้าง ส่งขายที่ตลาดสดเทศบาลเมืองบ้านไผ่บ้าง และก็มีพ่อค้าแม่ค้าที่ดีลกันไว้มารับซื้อบ้าง ในตอนนั้นปลูกผักหลายชนิดมาก ทั้งกะเพรา ใบแมงลักหอม ผักชี และตระกูลพืชผักสลัด บางคนในชุมชนก็กลายไปเป็นพ่อค้าแม่ค้าบ้าง”
เกษตรกรต้นแบบผู้นี้ เล่าย้อนไปในปี พ.ศ.2558-2560 มีโอกาสได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน หลังจากนั้น 2 ปี ก็มีหน่วยงานที่ตามหาเกษตรกรผู้ปลูกกะเพรา จึงได้เริ่มรู้จักกับซีพีแรม นับแต่นั้นมา
ซึ่งส่วนตัวมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 9 ไร่ จึงแบ่งเพื่อมาปลูกกะเพราเพียง 3 ไร่ แต่เมื่อปลูกไปปลูกมาก็พบว่าความต้องการของกะเพรามากขึ้น จึงลดเหลือเพียงปลูกกะเพราชนิดเดียว ขยายไปปลูกเพิ่มเติมในที่มรดกอีก 12 ไร่ จากเดิมพื้นที่ตรงนี้มีการปลูกข้าวเหนียว กข.5 ข้าวหอมมะลิ
จากวันนั้นจนวันนี้ เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้ว ที่กะเพราจากแปลงปลูกเล็กๆ ได้ขยับขยาย ส่งไปขายผ่านผู้ประกอบการที่มีทั้งความเชี่ยวชาญและตลาดที่มีศักยภาพอย่างกว้างขวาง
“ราคากะเพรากับราคาข้าวต่างกัน กะเพราทำราคาได้ดีกว่า แถมกะเพรายังสามารถปลูกได้ทั้งปี มีข้อได้เปรียบหลายอย่าง ทั้งด้านการลงทุน ถ้าปลูกข้าวเราต้องจ้างเขาทำนา ต้องไถนา กว่า 3 รอบถึงจะได้หว่านข้าว มีทั้งปุ๋ย ทั้งค่ารถเกี่ยว แต่กะเพราปลูกคนเดียวได้เลย แค่มีคนมาช่วยเก็บ ช่วยตัดแต่งเท่านั้น” ประหยัดเปรียบเทียบให้เห็นภาพ
ก่อนจะแชร์ด้วยว่า เดิมทีกะเพราที่ปลูก เป็นสายพันธุ์พื้นบ้าน พอซีพีแรมเข้ามา ก็เอาเมล็ดพันธุ์กะเพราที่มีรสชาติเฉพาะตัวมาให้เราลองปลูก ใช้เวลา 30 วันเป็นต้นกล้า และมาลงแปลงอีก 30 วัน ก็จะได้ผลผลิตพร้อมเก็บเกี่ยว โดยสายพันธุ์กะเพราของซีพีแรมคือ ‘กะเพราป่า’ ที่ถูกคัดสรรและวิจัยมาแล้วว่า มีกลิ่นหอม และมีรสเผ็ด มีรสชาติเป็นของซีพีแรมเอง
“เทคนิคในการปลูกกะเพรา เราได้รับการฝึกอบรมมาจากซีพีแรม ตอนแรกเราไม่รู้เลยต้องปลูกอย่างไร เราจะรู้วิธีการป้องกันวัชพืช วิธีการตัดแต่งต้นกะเพรา เทคนิคการเพาะเมล็ด เทคนิคการปลูก ลำต้นต้องมีความห่าง-ความถี่เท่าไหร่ 30-40 เซนติเมตร เทคนิคด้านระบบน้ำหยดเป็นอย่างไร วิธีที่ทำให้กะเพราเราปลอดแมลงได้ต้องทำแบบไหน แต่จริงๆ เป็นเรื่องธรรมชาติ เราหลีกหนีไม่ได้กับเรื่องแมลง” ประหยัดเผย
ก้าวพ้นจุดขาดทุน
ครอบครัวใหม่ ชีวิตใหม่ที่ไม่คาดฝัน
อุปสรรคปัญหาของการปลูกกะเพรา ก็มีเช่นกัน
ประหยัดเล่าว่า สมัยก่อนเคย ‘ขาดทุน’ จุดนั้นเคยมีความรู้สึกว่า สิ้นหวังมาก สภาพอากาศไม่เต็มใจ ฤดูหนาวผลผลิตเติบโตช้า บ้างก็มีปัญหา แต่เมื่อสิ่งนี้คืออาชีพ พื้นฐานของตัวเองคือ ‘เกษตรกร’ ถึงจะเลิกทำกะเพราไป ก็ต้องทำพืชผักชนิดอื่นเหมือนเดิม เป็นเหตุผลให้ตัดสินใจลุยต่อ
หลังจากเข้ามาเป็นครอบครัวซีพีแรม ชีวิตก็เปลี่ยนไป มีความมั่นคงมากขึ้น
“สมัยก่อนเราปลูกผัก แต่เราไม่รู้เลยว่าลูกค้าจะสั่งอีกไหม เป็นสถานการณ์แบบวันต่อวัน ราคาพืชผลไหนราคาดีในช่วงนั้น เราก็ปลูกพืชนั้น ช่วงแรกๆ ที่เรามาเป็นครอบครัวซีพีแรม เพื่อนบ้านบอก ‘อย่าไปทำเลย เราทำไม่ได้หรอก ข้อกำหนดมาตรฐานของซีพีแรมเขาสูง อย่าไปทำเลย ทำแบบบ้านเรานี่ล่ะ’ ก็คิดว่า ถ้าเราไม่คิดที่จะปรับเปลี่ยน เราก็เหมือนเดิม”
สมัยก่อนส่งขายกะเพราให้แม่ค้าเป็นกำๆ กำละ 5 บาทเอง เลวร้ายสุดคือ 3 บาทต่อกำ ก็เลยเป็นแนวคิดให้ตัวเองก้าวผ่านจุดนั้นมา เมื่อโอกาสเข้ามาแล้ว ซีพีแรมเขาก็เข้ามาซื้อกะเพรากับเราโดยตรง มีแบบแผนที่ชัดเจน และรับซื้อเราในราคา 125-140 บาทต่อกิโลกรัมด้วย”
ประหยัดบอกตามตรงว่า ภูมิใจมาก ที่วันนี้ได้เห็นภาพกะเพราที่ปลูกมากับสองมือของตัวเอง ได้ไปอยู่ในกล่องแดงเซเว่นอีเลฟเว่น ได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตอาหาร
“จากที่เรานั่งกำมัดขายต่อวัน ก็ไม่รู้ทิศทางจะไปทางไหน เราไม่คาดฝันเลยว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เป็นความภาคภูมิใจที่เราเป็นส่วนหนึ่ง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นนายทุน หรือเกษตรกรรายใหญ่ เราเป็นเพียงแค่เกษตรกรรายเล็กๆ โนเนม ก็สามารถเข้าอยู่กับครอบครัวซีพีแรมได้เหมือนกัน”
“ขอขอบคุณที่จัดทำโครงการเกษตรกรคู่ชีวิต ที่เข้ามาช่วยส่งเสริมการปลูกกะเพราของเรา โดยให้ความรู้เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูง ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรต่อไปได้อย่างมั่นคง” ตัวแทนเกษตรกรรายย่อย จ.ขอนแก่น ซาบซึ้งใจอย่างยิ่ง

แกะสูตรลับ ข้าวกะเพรากล่องแดง
เมนูฮิตอิ่มคุ้ม คุมคุณภาพ
สำหรับความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ ‘ข้าวผัดกะเพรา’ ของซีพีแรม มาจากการคัดสรรวัตถุดิบอย่างพิถีพิถัน เริ่มต้นตั้งแต่การเลือกใช้พันธุ์กะเพราป่า ที่ได้ทุ่มพัฒนาสายพันธุ์ให้มีกลิ่นหอมพร้อมรสชาติเผ็ดแซ่บถึงใจ ทั้งยังเติบโตไว และให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ
ไปพร้อมๆ กับการควบคุมคุณภาพของส่วนผสมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ข้าวหอมมะลิ 100% ที่หุงด้วยกรรมวิธีดั้งเดิม ทั้งยังประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน นับตั้งแต่การล้างใบกะเพรา การผัดด้วยกระทะอัตโนมัติในอุณหภูมิสูง 200 ํC ตลอดจนตรวจวิเคราะห์กลิ่นกะเพราและกลิ่นหอมของกระทะด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อให้มีคุณภาพตรงตามเกณฑ์มาตรฐานและปราศจากการปนเปื้อน ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการอาหารสดใหม่ สะอาด รสชาติอร่อยถูกใจ และให้คุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเมนูกะเพราขายดี 3 อันดับ ได้แก่ 1 ข้าวกะเพราไก่คั่ว (อิ่มคุ้ม), อันดับ 2 ข้าวกะเพราไก่ ไข่ดาว และอันดับ 3 ข้าวกะเพราหมู
คือหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นผลลัพธ์จากการเป็นเพื่อนคู่คิด ที่มุ่งสนับสนุนเกษตรกรในชุมชนท้องถิ่นรอบโรงงานซีพีแรม ให้ได้มาตรฐานไปพร้อมๆ กัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมของประเทศว่าปลอดภัยต่อผู้บริโภค ตลอดจนสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรผู้ปลูก สู่ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ ตามปณิธาน Food 3S ในปลายทาง