SACIT กลยุทธ์แห่งพุทธศักราชใหม่
‘หัตถศิลป์ที่คิดถึง’
ไม่ใช่แค่อดีต แต่คือวันนี้และอนาคต
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า งานหัตถศิลป์ไทยคือสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ที่สะท้อนถึงความงดงามของภูมิปัญญาและฝีมือเชิงช่างที่สืบทอดกันมายาวนาน
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT (Sustainable Arts and Crafts Institute of Thailand) โดย ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (SACIT) ได้เร่งขับเคลื่อนตามแนวนโยบาย สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม งานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติ เพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่งานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าให้เป็นที่รู้จัก ตลอดจนการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้ของงานศิลปหัตถกรรมหลากหลายแขนง
“หัตถศิลป์ที่คิดถึง” ภายใต้การดำเนินงานของ SACIT ได้ถูกผลักดันให้กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญในปี 2568 มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูและสานต่องานหัตถศิลป์ หรืองานคราฟต์ไทยที่ใกล้สูญหาย ให้กลับมาเป็นที่รู้จักในระดับประเทศและระดับสากล
ชูศาสตร์ไทย เชื่อมโยงนานาชาติ
‘ครูช่างรุ่นใหญ่’ แทคทีม ‘ดีไซเนอร์รุ่นใหม่’
ในการนี้ ผศ.ดร.อนุชาเปิดเผยว่า SACIT มุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้และอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมประเภทต่างๆ อย่างเช่น “เครื่องรัก-เครื่องมุก” ซึ่งเป็นศาสตร์และศิลป์ที่สะท้อนถึงความประณีตและเสน่ห์ของงานหัตถศิลป์ชั้นสูงที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดย SACIT ได้วางแนวทางผลักดันการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อเป็นการสืบสานและดำรงไว้ พร้อมเชื่อมโยงทักษะเชิงช่างในระดับนานาชาติ ด้วยการสนับสนุนครูช่างศิลป์ เพื่อให้องค์ความรู้ด้านศิลปหัตถกรรมไทยไม่สูญหายไปตามกาลเวลา แต่ยังเป็นมรดกทางภูมิปัญญาอันล้ำค่าที่สามารถสืบทอดต่อไปได้อย่างยั่งยืน
“หัตถศิลป์ที่คิดถึง เป็นสะพานเชื่อมวิถีชีวิตและศิลปหัตถกรรมไทยที่เป็นภูมิปัญญาของคนไทยมาแต่โบราณ ในขณะนี้มีช่างฝีมือไทยที่เชี่ยวชาญด้านเครื่องรัก-เครื่องมุก ซึ่งเป็นงานหัตถศิลป์ชั้นสูง ในจำนวนที่ไม่มากนักและปัจจุบันมีผู้สร้างสรรค์เหลืออยู่น้อยราย เช่นเดียวกับเครื่องถมและงานคร่ำโบราณ งานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่า
นับเป็นภูมิปัญญาเชิงช่างที่ยังคงใช้มือในการทำทุกขั้นตอน ดังนั้น SACIT จึงตั้งใจที่จะส่งเสริมและสานต่อให้อยู่คู่กับสังคมไทย รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ได้อย่างกลมกลืน” ผศ.ดร.อนุชากล่าว
จากนั้นยังเสริมว่า มีการทำงานร่วมกับครูศิลป์ ครูช่าง ทายาทช่างศิลป์ นักออกแบบรุ่นใหม่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ ช่วยกันพัฒนาเทคนิคและดีไซน์ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ ผสมผสานกับแนวคิดร่วมสมัยเพื่อให้เกิดความโดดเด่นและสามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยไม่สูญเสียเอกลักษณ์ของศิลปะแบบดั้งเดิม ทั้งยังสนับสนุนและสร้างเครือข่ายระหว่างช่างฝีมือรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ พร้อมเปิดโอกาสให้ได้ไปแสดงผลงานในระดับประเทศและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ
“โครงการหัตถศิลป์ที่คิดถึง ไม่ได้เป็นเพียงโครงการอนุรักษ์งานศิลปะเก่าแก่ แต่เป็นก้าวสำคัญในการสร้างอนาคตของศิลปหัตถกรรมไทยให้ยังคงอยู่และเติบโตไปพร้อมกับโลกยุคใหม่ โดย SACIT ยังคงเดินหน้าสนับสนุนและส่งเสริมงานคราฟต์ไทยต่อไปผ่านโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ เพื่อให้งานหัตถศิลป์หรืองานคราฟต์ไทยไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘อดีตที่คิดถึง’ แต่เป็น ‘ปัจจุบันและอนาคตที่ภาคภูมิใจ’ ของคนไทยต่อไปในอนาคต” ผศ.ดร.อนุชาเผยวิสัยทัศน์
ปรับกระบวนการผลิตเข้ายุคสมัย
ทางออกท้าทาย ต่อลมหายใจ ‘ลงรักประดับมุก’
หนึ่งในศิลปหัตถกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจาก SACIT คือ ‘งานลงรักประดับมุก’ ซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูงที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและรุ่งเรืองจนถึงยุครัตนโกสินทร์ โดยใช้เทคนิคลงรักปิดทองและฝังเปลือกหอยมุกลงบนพื้นผิววัสดุ เพื่อสร้างลวดลายที่ประณีตและวิจิตรสำหรับใช้ในราชสำนัก และยังมีการประดับตกแต่งบานประตูหน้าต่างโบสถ์วิหาร รวมถึงภาชนะเครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์
ครูจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ หนึ่งในครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี 2564 ในสาขางานลงรักประดับมุก ผู้เชี่ยวชาญด้านงานลงรักประดับมุกไทยโบราณ ที่ยังคงสืบทอดงานประณีตศิลป์แขนงนี้
“ผมเติบโตมากับงานศิลปะไทย และเห็นคุณค่าของศิลปะที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ งานลงรักประดับมุกเป็นงานที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวและสะท้อนถึงจิตวิญญาณของช่างไทย ประเทศไทยของเรามีความร่ำรวยมรดกทางด้านงานหัตถศิลป์ องค์ความรู้ภูมิปัญญาในศาสตร์แขนงต่างๆ มีมากมาย เพียงแต่คนรุ่นใหม่ต้องหยิบมาต่อยอด พัฒนารูปแบบการดีไซน์ ออกแบบให้เหมาะกับรสนิยมของคนในยุคปัจจุบัน
ผมเชื่อว่าหากเราสามารถปรับกระบวนการผลิตให้เข้ากับยุคสมัย สร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าของงานศิลปะแขนงนี้ให้กับคนรุ่นใหม่ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ไม่เพียงแต่งานลงรักประดับมุกเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงงานศิลปหัตถกรรมไทยแขนงอื่นๆ ที่จะเติบโตต่อไปในระดับนานาชาติได้อย่างแน่นอน”
ครูจักรกริศษ์เล่าถึงกระบวนการผลิตงานลงรักประดับมุกว่า เป็นงานที่ละเอียดอ่อนมีความซับซ้อน ต้องใช้ความชำนาญและความละเอียดสูง ตั้งแต่การเตรียมพื้นผิว การตัดแต่งเปลือกหอยฉลุลวดลายเป็นชิ้นเล็กๆ มาประกอบเป็นโครงสร้างของลวดลายขนาดใหญ่ที่สวยงาม อย่างเช่น ลายกนกนารี ลายก้านขด ลายกนกเปลว ลายกระจัง ลายกาบ เป็นต้น ซึ่งในทุกขั้นตอนต้องใช้ฝีมือและความอดทนอย่างสูง ทำให้มีช่างฝีมือที่สามารถทำงานนี้ได้น้อยลง ปัจจุบัน ครูจักรกริศษ์ยังคงทำงานหัตถศิลป์ การลงรักประดับมุก ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ สืบทอดงานช่างศิลป์แขนงนี้อย่างสม่ำเสมอ เช่น เจียด ลุ้ง พาน โต๊ะหมู่บูชา เป็นต้น
‘เครื่องถมงานคร่ำ’
โลกเปลี่ยน ประณีตศิลป์ก็ต้องปรับตัว
ภายใต้กลยุทธ์การขับเคลื่อนต่อยอด หัตถศิลป์ที่คิดถึง งานเครื่องถมและงานคร่ำ เป็นอีกประเภทที่ได้รับการส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง
ครูอุทัย เจียรศิริ ครูศิลป์แผ่นดิน พ.ศ.2562 ประเภทเครื่องโลหะ (เครื่องถมและงานคร่ำโบราณ) ผู้สืบสานหัตถศิลป์ชั้นสูง ด้วยการออกแบบชิ้นงานให้มีความโดดเด่น ร่วมสมัย อาทิ เครื่องประดับ กระเป๋าถือ ของใช้สตรี ของใช้สำหรับชีวิตประจำวัน ซึ่งการออกแบบให้มีความร่วมสมัยนั้นสามารถตอบโจทย์ ส่งผลให้งานเครื่องถมและงานคร่ำสามารถกลับมาได้รับความนิยม ช่วยให้งานศิลปหัตถกรรมไทยที่เป็นมรดกของชาติกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับ เครื่องถม เป็นเครื่องใช้ที่สลักลวดลายเป็นร่องลึกบนภาชนะด้วยเงินหรือทอง ตัดกับยาถม เป็นโลหะผสมที่มีสีดำผสมกับน้ำประสานทอง หลอมละลายแทรกลงไปในช่องว่างระหว่างลายเพื่อให้เห็นลายเด่นสวยงาม โดยเครื่องถมมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ถมเงิน (หรือถมดำ) ถมทอง และถมตะทอง
“ผมมองว่าโลกยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก งานศิลป์ของไทยก็ต้องปรับเปลี่ยนตาม ผมเป็นคนแรกที่ลองผิด ลองถูกอยู่นาน จนสามารถผลิตงานคร่ำเป็นเครื่องประดับที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้ แต่ราคาค่อนข้างสูง เพราะกรรมวิธีในการผลิตยาก ตกแต่งลวดลายโลหะด้วยการรีดเส้นทองและเส้นเงินให้มีขนาดเท่ากับเส้นผม ฝังเป็นลวดลายในเหล็ก ต้องใช้ความละเอียดอ่อนและวิจิตรสูง ซึ่งผมเองก็ได้มีการไปถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องงานเครื่องถมและงานคร่ำให้กับนักศึกษาตามวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้งานแขนงนี้แพร่หลายออกไปมากขึ้น” ครูอุทัยทิ้งท้าย
ติดตามข้อมูลข่าวสารของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ได้ที่เว็บไซต์ https://sacit.or.th/th หรืออัพเดตกิจกรรมงานคราฟต์ต่างๆ ได้ทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/sacitofficial และ TikTok SACIT Official https://www.tiktok.com/@sacit_official