‘ใครช้า ก็ยิ่งเจ็บ’ เมื่อทรัมป์เปิดเกม (ภาษี) เศรษฐศาสตร์ ในวิกฤตมีโอกาส ‘ถึงเวลาปรับโครงสร้างการผลิต’

‘ใครช้า ก็ยิ่งเจ็บ’ เมื่อทรัมป์เปิดเกม (ภาษี) เศรษฐศาสตร์ ในวิกฤตมีโอกาส ‘ถึงเวลาปรับโครงสร้างการผลิต’

เจอเต็มๆ จัดจุกๆ
ภาษียุค โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำโลกสะเทือนเขย่าอาเซียนให้หวั่นไหวอย่างแรง
ไทยแลนด์โดนไป 36% บวกๆๆๆ

รัฐบาลไทยยืนยันเร่ง ‘เจรจา’ ชูแนวคิดเพิ่มนำเข้า ลดภาษี ระดมทุกหน่วยงาน ตั้งทีมต่อรอง ทูตพาณิชย์ปรับแผนการตลาด 58 แห่งทั่วโลก ขณะที่การบินไทยเช่าเครื่องจากสหรัฐเพิ่ม หวังเพิ่มแต้มต่อก่อนเจรจา โดยคาดว่าแผนเจรจาจะแล้วเสร็จสิ้นในเดือนเมษายนนี้ 

รัฐบาลยังตั้งคณะเจรจาถกทีมงานทรัมป์ ปรับโครงสร้างภาษีนำเข้า นายกฯอิ๊งค์กำชับอย่าให้กระทบจีดีพี ทั้งยังบอกด้วยว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลแต่งตั้ง พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เกาะติดสถานการณ์หลังทรัมป์ชนะเลือกตั้งแล้ว ตั้งแต่ 6 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีการหารือกับภาคเอกชน รวมทั้งตัวแทนของสหรัฐถึงข้อเสนออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการตลอดมา 

จ่อดีลสหรัฐ ย้ำไทยไม่ใช่แค่ผู้ส่งออก ‘แต่คือพันธมิตรและหุ้นส่วน’

ADVERTISMENT

กระทั่ง 6 เมษายน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เผยแพร่แถลงการณ์ ใจความสำคัญว่า มาตรการภาษีทรัมป์ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และสินค้าเกษตร โดยในสัปดาห์หน้านี้ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินทางไปหารือกับหลายภาคส่วนในสหรัฐ ทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ที่มีส่วนได้เสีย จากการเปลี่ยนแปลงการค้าที่สำคัญของรัฐบาลสหรัฐในครั้งนี้  

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุด้วยว่า สิ่งที่จะสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐก็คือประเทศไทยไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกเท่านั้น แต่เราคือพันธมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สหรัฐเชื่อถือได้ในระยะยาว โดยรัฐบาลได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ เช่น การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐในด้านพลังงาน อากาศยาน และสินค้าเกษตร โดยประเทศไทยมีแผนที่จะสร้างความร่วมมือกับภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนได้เสียสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐ ซึ่งมีรายละเอียดในนโยบายอีกมาก โดยขอให้มั่นใจว่าข้อเสนอเหล่านี้ล้วนแต่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศไทยเหนือสิ่งอื่นใด นอกจากนี้ ประเทศไทยจะมีการเจรจาเรื่องการส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐ และลดเงื่อนไขการนำเข้าที่เป็นอุปสรรค รวมไปถึงการปราบปราม การสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐ

ADVERTISMENT

‘ดิฉันขอให้คำมั่นว่า ทุกท่านไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาเร่งด่วนในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้ง SME และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ โดยการเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ อีกทั้งยังจะเป็นการกระจายความเสี่ยงของภาคธุรกิจไทย ที่เรามุ่งมั่นที่จะเจรจาการค้า ในการเปิดตลาดใหม่ๆ ในตะวันออกกลาง ยุโรป และ อินเดีย โดยจะเร่งเจรจาการค้า FTA ให้เร็วยิ่งขึ้น’ 

คือส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ที่ลงท้ายด้วยว่า อังคารที่ 8 เมษายน หลังจากประชุมสรุปกับคณะกรรมการและทุกหน่วยงานอีกครั้งหนึ่ง จะมีกาาสรุปแนวทางเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นสำคัญ 

ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

‘ช้าสุดเสียเปรียบสุดไม่มีประเทศไหนยอมตกขบวน

ย้อนกลับไปตั้งแต่ 3 เมษายน เมื่อรัฐบาลทรัมป์ประกาศชัด นักวิชาการคนแรกๆ ที่ออกมากระตุกเตือน ว่านี่คือสถานการณ์ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลไทยต้องยกหูเจรจาทรัมป์ภายในคืนนั้น คือ ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ย้ำว่า นี่คือเกมทางเศรษฐศาสตร์ ‘ใครช้ายิ่งเจ็บ’ สิ่งที่น่าหวั่นใจคือผลพวงที่อาจทำสินค้าจีนทะลัก ผู้ประกอบการไทยอ่วม สิ่งที่ไทยควรทำคือ เร่งบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นเพื่อกีดกันการค้า พร้อมกับต้องปรับโครงสร้างการผลิตครั้งใหญ่

“เศรษฐกิจไทยและโลกจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการประกาศขึ้นภาษีทางการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทว่าที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาก็ได้ส่งสัญญาณมาโดยตลอดว่าประเทศต่างๆ สามารถเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรองเพื่อหาทางออกร่วมกันได้ 

ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำในเวลานี้คือ การเข้าสู่การเจรจาให้เร็วที่สุด และต้องนำเสนอข้อแลกเปลี่ยนที่มีน้ำหนักเพียงพอที่ทรัมป์จะพูดคุยด้วย ที่สำคัญก็คือระยะเวลาในการประสานงานเพื่อเจรจาจะมีผลอย่างมากต่อการยอมรับและเปิดใจ เพราะทรัมป์เป็นคนคิดเร็วตัดสินใจเร็ว ฉะนั้น ความล่าช้าอาจทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่สะท้อนถึงความไม่จริงใจ และจะทำให้ไทยตกเป็นเบี้ยล่างในการเจรจาทันที” ผศ.ดร.เกียรติอนันต์เผย

จากนั้นวิเคราะห์ต่อไปว่า ทุกประเทศรู้ว่าตอนนี้ถ้าประเทศไหนช้าสุดจะเสียเปรียบที่สุด จึงไม่มีใครยอมตกขบวน การช้าไปแค่นาทีเดียวก็จะกระทบหนัก การเร่งดำเนินการเรื่องนี้ภายใน 24 ชั่วโมงก็ยังถือว่าช้าที่สุด จะรอทำหนังสือเชิญประชุมกันไม่ได้แล้ว 

“อเมริกาไม่ได้คาดหวังอยู่แล้วว่าทุกประเทศจะมาครบ แค่มาสัก 60% ของทั้งหมด เขาก็ไม่จำเป็นต้องแคร์อีก 40% ที่เหลือแล้ว นี่คือเกมทางเศรษฐศาสตร์ ที่ใครมาเร็วย่อมได้เปรียบ และยิ่งช้ายิ่งเจ็บ ยิ่งเสียเปรียบ” อาจารย์เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ย้ำแล้วย้ำอีก

ต้องเคลียร์ชัดความเป็นกลาง
ความท้าทายชุดเจรจา ไม่ใช่แค่สัญญา
ต้องมีแอ๊กชั่นแพลน

จากนั้นเข้าสู่ประเด็นข้อเสนอของไทยที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการของสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ผศ.ดร.เกียรติอนันต์มองว่า การผสมผสานระหว่างความต้องการด้านเศรษฐกิจที่ประสงค์ให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา โดยมีแผนการปฏิบัติงาน (Action Plan) อย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่คำพูด หรือคำสัญญาปากเปล่า เพื่อนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในประเทศ เพราะการมี Action Plan ที่ชัดเจนในการนำเสนอ คือวิธีคิดที่ทรัมป์ใช้ในการทำงานมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ไทยต้องดำเนินการบนความเข้าใจในภูมิศาสตร์ทางการเมืองและบนความคาดหวังของสหรัฐอเมริกา นั่นคือการชี้แจงว่าจะไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศจีนมากจนเกินไป เพราะการที่มีทุนจีนสีเทาเข้ามาในไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา อาจทำให้สหรัฐอเมริการู้สึกว่า ไทยกำลังกลายเป็นฐานของจีนหรือไม่ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่คณะทำงานเจรจาของไทยต้องแสดงและยึดมั่นความเป็นกลางทางการเมืองระหว่างประเทศไว้ให้ได้ 

“ผมเชื่อมั่นว่าคนเก่งๆ ที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดีของหน่วยงานรัฐมีอยู่มาก ผมเคยสัมผัสมา ฉะนั้น จึงอยู่ที่ผู้บริหารว่าจะเปิดโอกาสให้เขาแสดงศักยภาพหรือไม่ เมื่อเปิดโอกาสแล้วก็ต้องให้เวลา ให้ทรัพยากรที่เขาจำเป็นต้องใช้ไปทุกอย่าง และตอนนี้สถานการณ์มันก็ฉุกเฉินมากเกินกว่าที่ใครจะเอาหน้า และมากเกินกว่าจะมามองผลประโยชน์ของพรรคการเมือง มันคือผลประโยชน์ของประเทศชาติ เวลานี้คนเก่งต้องระดมกันมาทั้งหมด” อาจารย์เศรษฐศาสตร์ระบุ

3 รูปแบบเชือดไก่ให้ลิงดู
ดาบเดียว กระทบทั้งโลก

ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ถอดรหัสแนวคิดทรัมป์ว่า 

มาตรการการขึ้นภาษีครั้งใหญ่นี้มีความเป็นไปได้ที่ทรัมป์ต้องการเชือดไก่ให้ลิงดูใน 3 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่

1.แม้ว่าบางประเทศจะยื่นข้อเสนอที่น่าสนใจและเปิดโต๊ะเจรจาด้วยความรวดเร็ว แต่ก็ยังจำเป็นต้องเชือดให้เห็น

2.การลับมีดรอไว้ก่อน แต่จะเชือดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อเสนอว่ามีความน่าสนใจเพียงใด 

3.ทำเสมือนว่าจะเชือด แต่แท้จริงแล้วคือยังไงก็กลับไปดูแล เพราะเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมาโดยตลอด ซึ่งไทยต้องพยายามเข้าไปอยู่ในรูปแบบที่สองให้ได้

“การขึ้นภาษีการค้าเช่นนี้ย่อมสร้างผลกระทบกับทุกประเทศ ดังนั้น การที่ไทยจะพยายามหาตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ คงเป็นไปไม่ได้ มากไปกว่านั้นคือประเทศยักษ์ใหญ่หลายแห่งก็โดนกำแพงภาษี ที่น่ากลัวคือจีนซึ่งมีคลังสินค้าอยู่มาก ก็จะนำสินค้าเหล่านั้นมาขายในประเทศไทยด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยจะตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ดังนั้น รัฐบาลไทยจะต้องเร่งสร้างมาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อป้องกันการไหลบ่าของสินค้าเข้ามา เราต้องสร้างกำแพงให้เข้มแข็งขึ้น คือกฎหมาย-ระเบียบต่างๆ ที่เรามีอยู่แล้วต้องบังคับใช้ให้เข้มงวด ไม่ปล่อยให้ง่ายเหมือนเมื่อก่อน” ผศ.ดร.เกียรติอนันต์กล่าว

พลิกวิกฤต เป็นโอกาส
แนะไทยปรับโครงสร้างผลิตขนานใหญ่

ปิดท้ายด้วยอีกข้อเสนอน่าสนใจ ซึ่งนักวิชาการท่านเดียวกันนี้แนะว่า ตอนนี้รัฐบาลอย่าเพิ่งไปคิดเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจ ให้คิดแก้ปัญหาเรื่องนี้ก่อน เพื่อไม่ให้สถานการณ์มันแย่ไปกว่านี้ ที่สำคัญคือ ควรพลิกวิกฤตในครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาส ด้วยการปรับโครงสร้างการผลิตขนานใหญ่โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง จะส่งผลให้ขายสินค้าราคาถูกได้มากขึ้น 

“มาตรการที่เกิดขึ้นชั่วข้ามคืนของสหรัฐอเมริกานำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวของไทยได้ ซึ่งถึงเวลาที่เราจะได้ทำสิ่งที่มีการพูดคุยมานาน แน่นอนการเจรจาช่วยซื้อเวลา แต่ระยะยาวมีแต่วิธีนี้เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปอาจไม่ได้รู้ว่าได้รับผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้ในทันที เว้นแต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจการส่งออก แต่ในท้ายที่สุดในวันหนึ่งก็จะกระทบ เพราะเมื่อยอดการส่งออกตกจะกระทบไปเป็นลูกโซ่ ทั้งการเลิกจ้าง มีคนตกงาน กำลังซื้อในประเทศลดลง อาจใช้เวลาสักหน่อยกว่าที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบจริงๆ แต่จะมาอย่างแน่นอน และหากภาครัฐปล่อยให้สถานการณ์เดินไปถึงจุดนั้นก็จะแก้ไขได้ยากลำบากแล้ว” ผศ.ดร.เกียรติอนันต์กล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า  

การแจกเงินในเวลานี้ก็ไม่ช่วย ซ้ำร้ายถ้ายิ่งแจกเงินในเวลานี้ มันจะยิ่งทำให้เราเหลือเงินในการสร้างกำแพงน้อยมาก 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image