‘เล่มที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์’ มีอะไรใน ‘พระนั่งเกล้าฯ ไม่โปรดการละคร แต่เป็นยุคทองของวรรณคดี’

ธนโชติ เกียรติณภัทร

‘เล่มที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์’
มีอะไรใน ‘พระนั่งเกล้าฯ ไม่โปรดการละคร
แต่เป็นยุคทองของวรรณคดี’

จบไปแล้วหมาดๆ วานนี้ สำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 ที่บวกเพิ่มให้ 1 วัน สิริรวม 13 วัน ชดเชยห้วงเวลาแผ่นดินไหวที่ส่งผลให้ยุติงานในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา หลังประชาชนคนไทยกรูหนีออกจากชั้น LG ฮอลล์ 5-8 ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ อย่างไม่คิดชีวิต

ก่อนที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมพันธมิตร ตัดสินใจเดินหน้าต่อทันทีในวันรุ่งขึ้น หลังได้รับการยืนยันจากหน่วยงานภาครัฐ ว่าสถานการณ์คืนสู่ปกติ เว้นแต่โศกนาฏกรรมน่าเศร้า ณ ตึก สตง. ที่รอการถอดบทเรียนครั้งสำคัญ

ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วิชาการ
ยังเป็น ‘ซิกเนเจอร์’

ADVERTISMENT

สำหรับบูธ J02 ของสำนักพิมพ์มติชน คึกคักไม่มีพัก ดังที่ มณฑล ประภากรเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์มติชน เผยว่า งานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้ถือว่าได้รับฟีดแบ๊กที่ดี แม้ว่าจะต้องเผชิญเหตุการณ์ด้านภัยพิบัติอยู่บ้าง แต่ว่านักอ่านก็ไม่ได้หายไปอย่างที่กังวลกัน หนังสือที่ผลิตออกมาโดยเฉพาะเล่มไฮไลต์ที่ตั้งใจคัดมา ก็ได้กระแสตอบรับที่ดีเกินคาด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือชุดประวัติจีนกรุงสยาม เล่ม 1-3 หรือ ภารตะ-สยาม มูฯ ไทย ไสยฯ อินเดีย ผลงานสุดท้ายของคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หรืออาจารย์ตุล ก็สมราคาที่ทุกคนรอคอย รวมถึงเล่มศาสนาผี ผลงานล่าสุดของ สุจิตต์ วงษ์เทศก็ขึ้นแท่นขายดีติดท็อป 3 กันหมด

“สำหรับหนังสือขายดีของมติชนยังเป็นแนวประวัติศาสตร์ โบราณคดี ซึ่งผมในฐานะคนที่ทำหนังสือของมติชนมานาน มองว่าหนังสือแนวประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือวิชาการ มันเป็นจุดยืนของมติชน ที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนังสือเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในซิกเนเจอร์ของเรา แต่สิ่งที่เราพยายามนำเสนอตลอด คือ การออกหนังสือที่เป็นแหล่งความรู้ให้กับสังคม เพื่อทำให้เขาได้อะไรจากการอ่าน หรือตาสว่างกับอะไรบางอย่างมากกว่า” ผอ.สำนักพิมพ์เผย

ADVERTISMENT

ไม่เพียงเท่านั้น ยังกระซิบด้วยว่า เล่มที่ค่อนข้างเป็นที่เซอร์ไพรส์สำหรับงานครั้งนี้ คือ ‘พระนั่งเกล้าฯ ไม่โปรดการละคร แต่เป็นยุคทองของวรรณคดี’ ผลงาน ผศ.ธนโชติ เกียรติณภัทร อาจารย์ประจำสาขาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ครั้นเมื่อได้พบเจ้าตัวแบบระยะประชิด ในวันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน ครั้งเดินทางมาแจกลายเซ็นและพบปะผู้อ่าน จึงต้องรุดถามถึงกระแสตอบรับ ตามที่ ผอ.สำนักพิมพ์มติชนเปิดเผยว่า ‘ขายดีกว่าที่คิด’ จนต้องประหลาดใจ

ผศ.ธนโชติ ยิ้มรับ ก่อนวิเคราะห์ว่า คงมาจากเหตุผลหลายอย่าง เพราะนานๆ ครั้งจึงจะมีหนังสือวิเคราะห์วรรณคดีที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ ที่สำคัญคือ อาจเพราะ ‘ชื่อหนังสือ’ ที่ดึงดูด

นอกจากนี้ ยังมีกระแสละครที่เกี่ยวเนื่องกับช่วงเวลาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ บุษบาลุยไฟ, หม่อมเป็ดสวรรค์ มาจนถึง คุณพี่เจ้าขา ดิฉันเป็นห่าน มิใช่หงส์

“เล่มนี้ให้ความรู้วรรณคดีในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งอาจมาพอดีกับความสนใจของคนด้วย” ผศ.ธนโชติกล่าว

เมื่อถามต่อไปว่า บทไหนต้องอ่าน ท่อนไหนห้ามพลาด?

ได้คำตอบว่า อันที่จริงก็ทุกบท แต่ที่ควรอ่านเป็นอันดับแรกคือ คำนำ และบทที่ 1 ซึ่งปูที่มาที่ไป และค่อยๆ โยงไปถึงเรื่องอื่น หนังสือเล่มนี้ ไม่ยากเกินไป แม้ว่าไม่ใช่ผู้มีความรู้พื้นฐานด้านวรรณคดีมาก่อน เพราะเน้นการอธิบายเป็นหลัก ไม่ให้มีความซับซ้อนมากเกินไป แต่ค่อยๆ ปูเนื้อหา

ทั้งนี้ บางเรื่อง เช่น ศึกเวียงจันทน์จากวรรณคดี เป็นประเด็นที่สอนกันในห้องเรียนอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีเอกสารที่กล่าวถึงโดยตรง จึงคิดว่า ในเมื่อเขียนแล้วก็จะให้ใช้ในห้องเรียนด้วย และนักศึกษาก็สามารถติดตามได้ โดยเล่มนี้ ลูกศิษย์ทั้งที่ ม.รามคำแหง และ ม.ศิลปากร ก็ได้อ่าน

ว่าแล้ว มาย้อนอ่านเน้นๆ เฟ้นเนื้อๆ ในถ้อยคำจาก กิจกรรมเสวนา Friendly Talk หัวข้อ “พระนั่งเกล้าฯ ไม่โปรดการละคร แต่เป็นยุคทองของวรรณคดี” ชื่อเดียวกันเป๊ะกับหนังสือเล่มนี้ ที่จัดขึ้นเมื่อ 2 เมษายน

รับรองว่าสุดเข้มข้น ชวนเปิดอ่านเล่มจริง ให้รู้ลึกยิ่งขึ้น

‘ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4’
ที่มาชื่อหนังสือสะดุดตา ดึงดูดใจ

ผศ.ธนโชติเปิดวงทอล์ก ว่าหลายท่านที่มาซื้อหนังสือเล่มนี้ ก็จะมาถามตนว่า ร.3 ไม่ชอบดูละครหรือ แล้วยุคทองของวรรณคดีมันเป็นอย่างไร ซึ่งตามจริงแล้วชื่อนี้มีที่มาจาก ‘ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4’ ที่กรมศิลปากรได้รวบรวมและตีพิมพ์มา

“พูดอย่างง่ายๆ คือ พูดถึงพี่ชายของท่านว่า ในสมัยพระนั่งเกล้าฯ ท่านไม่โปรดการละคร พอเสวยราชย์แล้ว ก็ปรากฏว่าให้ยกเลิกละครของหลวงทั้งหมด แต่ว่าก็ยังมีคนแอบเล่น แต่ว่าท่านก็ดุหน่อยๆ แต่ถามว่าคนอื่นที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ หรือขุนนางที่อยู่ส่วนอื่นๆ สามารถมีคณะละครของตัวเองได้ ดังนั้นในยุคนี้ละครจากวังก็ได้แพร่หลายเจริญในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นตามวังเจ้านาย หรือบ้านขุนนางต่างๆ

ดังนั้น ถ้าถามว่าไม่โปรดการละคร ‘ใช่ ถูกต้อง’ แต่ละครหลวงยังมีอยู่ที่เป็นเหมือนกับจารีตของราชสำนัก ยังคงมีอยู่ ไม่ใช่ว่าเลิกแบบแคนเซิลไปหมดเลย ไม่ใช่ แล้วตอนเวลามีงานฉลองพระอารามต่างๆ ก็ยังมีมหรสพสมโภชอยู่ อันนี้ขอชี้แจงตรงนี้เลย” ผศ.ธนโชติชี้

จากนั้น กล่าวต่อไปว่า พอมีคำว่า ‘ไม่โปรดการละคร’ มันก็อาจจะไปเชื่อมกับวรรณคดีบางเรื่อง

รัชกาลที่ 3 ไม่เคย ‘รังแก’
สุนทรภู่ สร้างงานเยอะสุดก็แผ่นดินนี้

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามถึงประเด็น ‘ยุคทองของวรรณคดี’ ผศ.ธนโชติอรรถาธิบายว่า พอเราพูดถึงยุครัตนโกสินทร์ หากพูดไล่เรียงตามแต่รัชกาลเลย คือ รัชกาลที่ 1 คนก็มองว่า เป็นยุคทองเหมือนกัน แต่เป็นยุคทองของการฟื้นฟูวรรณกรรมสำหรับบ้านเมือง ซึ่งมีงานที่เราน่าจะรู้จักกันดี เช่น รามเกียรติ์ สามก๊ก หรือไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ซึ่งเป็นการฟื้นฟูให้มีขึ้นสำหรับบ้านเมือง

“พอมารัชกาลที่ 2 เราเห็นภาพลักษณ์ของท่านเป็นศิลปิน กวี แต่ว่าในเนื้องานของท่าน ส่วนใหญ่จะเป็นบทละคร เช่น อิเหนา บทละครนอกเรื่องสังข์ทอง หรือไกรทอง ซึ่งรัชกาลที่ 3 ท่านก็แต่งเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย แต่งไว้ด้วยเหมือนกัน คือ ไม่ใช่ว่าท่านไม่ได้มีฝีมือ ท่านมี แล้วก็แต่งไว้แล้ว

พอมาถึงยุครัชกาลที่ 3 หลายคนอ่านประวัติสุนทรภู่ เราก็จะสงสารสุนทรภู่ว่า ทำไมถึงตกยากขนาดนั้นนะ เป็นยุคตกต่ำในชีวิต เอาง่ายๆ คำในหนังสือใช้คำว่า รังแกเลย มันเลยทำให้เราคิดว่า ในยุคนี้จะไม่มีวรรณคดีหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ ถ้าเราไปดูงานของสุนทรภู่เยอะที่สุดในรัชกาลที่ 3 นะ ซึ่งท่านเป็นกวีในยุครัชกาลที่ 2 เราไม่เถียง แต่เป็นกวียุครัชกาลที่ 3 ด้วย แล้วเราได้อ่านนิราศต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 3 เยอะมาก เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ นิราศพระประธม และอื่นๆ เยอะแยะมาก และพระอภัยมณีแต่งในช่วงนี้เยอะที่สุด” ผศ.ธนโชติร่ายยาวอย่างเข้าใจง่าย

เปิดหลักฐาน
‘ยุคทองวรรณคดี ประเภทวิชาการ’

สำหรับอีกแง่มุมสำคัญ ที่เจ้าตัวเอ่ยภายหลังว่า น่าจะมีส่วนให้ผลงานนี้เป็นที่สนใจ นั่นคือ การวิเคราะห์วรรณคดีที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์

ผศ.ธนโชติเผยในวงเสวนาวันนั้นว่า แน่นอนว่าในวรรณคดีมีประวัติศาสตร์ ถ้าเราไปดูในเรื่องพระอภัยมณี จะเห็นว่ามีประวัติศาสตร์สมัย ร.3 แทรกอยู่เยอะเลย ยกตัวอย่างเช่น ฉากที่รัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคต ก็อยู่ในฉากที่พ่อของพระอภัยมณีสวรรคตเหมือนกัน วันที่ตรงกันเป๊ะ หรือถ้าไปดูเหตุการณ์น้ำท่วมในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็จะมีแทรกอยู่ในนั้นเหมือนกัน รวมถึงการล่าอาณานิคมต่างๆ ก็แทรกอยู่ในนั้นเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่า เป็นจุดพีคของสุนทรภู่เลยในสมัยรัชกาลที่ 3

“พอมาดูในราชสำนัก ร.3 ท่านไม่ได้ทรงพระราชนิพนธ์แนวเดียวกันกับพ่อของท่าน พวกบทละครใน ละครนอก ไม่มี แต่ถามว่าเจ้านายอื่นๆ ที่มีคณะละครของตัวเอง มีการทรงพระนิพนธ์เรื่องเหล่านี้อยู่ข้างนอก แล้วถามว่ายุคนี้เน้นอะไร ผมบอกในหนังสือเล่มนี้ว่าเป็น ยุคทองของวรรณคดี ประเภทวิชาการ ซึ่งเด็กๆ ที่เคยฟัง หรือเวลาที่ผมไปพูดในเวทีไหนก็ตาม ผมจะพูดเลยว่า ยุคนี้ คือ ยุคทองของวรรณกรรม ประเภทวิชาการ

วิชาการในที่นี้ อาจจะไม่ได้หมายถึงตำราเตรียมสอบเหมือนทุกวันนี้ แต่ในที่นี้หมายถึงตำราของบ้านเมือง เช่น ตำราทางวรรณคดี ตำราฉันท์มาตราพฤติ สุภาษิตต่างๆ ซึ่งยุคนี้มีการเอาสุภาษิตมาชำระใหม่ แต่งใหม่ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เขียนไว้ในคำนำหนังสือเล่มหนึ่งว่า แต่งสู้ครั้งสมัยอยุธยาได้เลย เช่น โคลงโลกนิติ แต่งใหม่เลย หรือสุภาษิตพระร่วง ซึ่งเป็นการเอาของเก่ามาชำระใหม่

รวมถึงกฤษณาสอนน้องคําฉันท์ ที่แต่เดิมมีพระภิกษุ หรือขุนนางสมัยกรุงธนบุรีแต่งเอาไว้ แต่ยุคนี้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็เอามาแต่งใหม่ ถึงบอกว่าสู้ครั้งอยุธยาได้ ตามที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้อธิบายไว้ ผมจึงขอใช้คำกลางๆ เสนอว่ายุค ร.3 เป็นอีกยุคหนึ่งที่วรรณคดีมีสีสัน เพียงแต่ว่าย้ายประเภทไปอยู่ที่วิชาการ ดูได้ที่จารึกวัดโพธิ์ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีมาก” ผศ.ธนโชติระบุ

‘ขอบอกเลย ให้ไปดูที่วัดโพธิ์’
รามเกียรติ์ เวอร์ชั่นโคลง
เวียนขวารอบพระอุโบสถ

เมื่อผู้ดำเนินรายการซักไซ้เพิ่มอีกว่า ภาพสลักรามเกียรติ์ที่วัดโพธิ์ในสมัย ร.3 มีความโดดเด่นอย่างไร?

ผศ.ธนโชติให้คำตอบว่า เนื่องจากภาพที่เราจำว่า ยุคสมัย ร.3 ไม่ค่อยมีวรรณคดี แต่จริงๆ ตนขอบอกเลยว่าให้ไปดูที่วัดโพธิ์

“เราอาจจะรู้สึกเอ๊ะว่า ร.1 ท่านมีบทละครรามเกียรติ์เต็มเรื่องเลย ส่วน ร.2 ก็เอาของ ร.1 มาทำเป็นละครใน แต่รู้สึกว่า ร.3 ไม่มีรามเกียรติ์เป็นของท่าน จะต้องถามไปเลยถึง ร.4 ถึงมีรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง ใช่ไหม
หลายคนก็จะถามว่า ร.3 มีด้วยเหรอ อย่างที่บอกว่า รามเกียรติยศ คือ เกียรติยศของพระราม ถ้าแปลให้ใกล้ก็คือ พระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน ทุกรัชกาลในกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จะต้องมีพระราชนิพนธ์ หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับรามเกียรติ์ ซึ่ง ร.3 มีรามเกียรติ์ของท่านนะ แต่เป็นรามเกียรติ์เวอร์ชั่นโคลงอยู่ที่วัดโพธิ์ ซึ่งที่พระอุโบสถวัดโพธิ์จะมีพนักศิลา แล้วก็จำหลักภาพรามเกียรติ์ เริ่มตั้งแต่ตอนพระรามตามกวาง ไปสุดที่ตอนศึกสหัสเดชะ ราว 152 ภาพ ให้เดินดูแบบเวียนขวาเลยรอบพระอุโบสถ

หลายคนอาจจะถามว่า ทำไมวัดโพธิ์ไม่เขียนภาพรามเกียรติ์แบบวัดพระแก้ว ที่เขียนเอาไว้ที่ระเบียง มันเขียนไม่ได้เพราะว่า พระพุทธรูปนั่งเต็มระเบียงกันอยู่แล้ว ดังนั้นพอยุคที่ ร.3 ท่านมาทำวัด ก็เลยเอาไปล้อมที่รอบพระอุโบสถ แล้วที่สำคัญภาพใช้ครูหนังใหญ่ทำ ดังนั้นภาพที่อยู่ในนั้นเลยมีลักษณะเหมือนหนังใหญ่พระนครไหว มีภาพเทียบให้ดูหมดแล้วในหนังสือ

ทีนี้ ใต้ภาพเหล่านั้นจะมีจารึกเขียนโคลงต่างๆ กำกับภาพไว้อยู่ แม้ก็เลือนหายไปตามกาลเวลา แต่บางภาพก็ยังพอเห็น ถ้าเอาไฟส่องดู แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะหายหมดไป เพราะเขามีต้นฉบับสมุดไทย ไว้ที่หอสมุดแห่งชาติบอกโคลงไว้หมด แล้วตอนหลังกรมศิลปากรและวัดพระเชตุพนฯ ได้พิมพ์ออกมาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องราวรามเกียรติ์สมัย ร.3 ที่ทำไว้ที่วัดโพธิ์ เหมือนกับเอาพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน ถวายเป็นพระพุทธบูชาคล้ายกับ ร.1 เขียนภาพที่วัดพระแก้ว ถวายพระแก้วมรกตเอาไว้ซึ่งเป็นหลักเดียวกัน” ผศ.ธนโชติอธิบายอย่างละเอียดลออ ก่อนขอสรุปรวบตึงในเวอร์ชั่นไม่เกิน 8 บรรทัด เก็ตง่าย ชวนให้มาช้อปมาอ่าน ความว่า

“ผมขอสรุปอีกครั้งว่า รัชกาลที่ 1 มีรามเกียรติ์เป็นบทละครฉบับเต็ม รัชกาลที่ 2 มีบทละครของท่านที่เอามาทำให้เหมาะกับละคร รัชกาลที่ 3 มีรามเกียรติ์ที่วัดโพธิ์เป็นเวอร์ชั่นโคลง รัชกาลที่ 4 มีรามเกียรติ์ตอนพระรามเดินดง รัชกาลที่ 5 มีเหมือนกันก็คือ คำบรรยายภาพจิตรกรรมฝาผนังรามเกียรติ์ที่วัดพระแก้ว และรัชกาลที่ 6 ก็มี เรียกได้ว่า ยุคตั้งแต่ต้นกรุงฯ จนเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีหมด”

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวในเล่ม ‘พระนั่งเกล้าฯ ไม่โปรดการละคร แต่เป็นยุคทองของวรรณคดี’ ที่ต้องไปอ่านต่อ คิดต่อ ไม่ต้องรอใครสปอยล์

ภูษิต ภูมีคำ
พรรณราย เรือนอินทร์

สนใจสั่งซื้อ และติดตามสำนักพิมพ์มติชน

www.matichonbook.com

– Line : @matichonbook

– Youtube : @MatichonBooks

– Tiktok : @matichonbook

– Twitter : @matichonbooks

– Instagram : matichonbook

โทร 0-2589-0020 ต่อ 3350-3360

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image