ผู้เขียน | นฤตย์ เสกธีระ |
---|
แท็งก์ความคิด : สุขวันสงกรานต์
สุขสันต์วันสงกรานต์ปี 2568
ปีนี้เทศกาลสงกรานต์อาจจะเริ่มต้นด้วยความเงียบเหงา เพราะประเทศไทยเผชิญหน้ากับภัยหลากหลาย
ภัยทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว
แต่ในที่สุดทุกอย่างเมื่อผ่านพ้นไป เทศกาลสงกรานต์ไทยที่มีจัดกันทั่วประเทศคงสร้างความชุ่มชื่นใจให้แก่ทุกคนได้
ก่อนเทศกาลสงกรานต์จะมาถึง ได้มีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23
งานสัปดาห์หนังสือปีนี้ก็เผชิญหน้ากับภัยทางเศรษฐกิจ และภัยแผ่นดินไหวเหมือนกัน กระทั่งผู้จัดต้องเพิ่มวันช้อปจากเดิมสิ้นสุดวันที่ 7 เมษายน เป็นวันที่ 8 เมษายน
สุดท้ายจากปากคำของ นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ที่สรุปผลของงานออกมา ถือว่าไม่เลว
นายสุวิชเล่าถึงผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ว่า ทำให้งานสัปดาห์หนังสือต้องปิดให้บริการเร็วกว่ากำหนด
ครั้งแรกคาดว่าวันต่อมาคนคงจะหนีหายไปตามความหวาดกลัวภัยธรรมชาติ
แต่สุดท้าย วันที่ 29 มีนาคม หลังจากทุกฝ่ายทำความเข้าใจถึงแผ่นดินไหวครั้งนี้ว่าไม่ส่งผลอันตรายเพิ่มเติม
สุดท้ายก็มีผู้เข้าร่วมงานในวันที่ 29 มีนาคม มากกว่า 1.3 แสนคน
ขณะที่วันธรรมดามีผู้เข้าร่วมงานเฉลี่ย 7-8 หมื่นคนต่อวัน
วันเสาร์-อาทิตย์ ผู้เข้าร่วมงานเฉลี่ยประมาณ 1.3-1.5 แสนคนต่อวัน
ถือว่าสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ในวันที่ 6 เมษายน 2568 ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมงานมีมากกว่า 1.7 แสนคน ถือเป็นสถิติใหม่ในการจัดงานครั้งนี้
นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มนักอ่านที่เข้ามาใช้บริการ พบว่าคนวัย Gen Z คิดเป็นสัดส่วน 43.65% คือเข้ามาซื้อหนังสือมากที่สุด
ตามด้วยคน Gen Y คิดเป็นสัดส่วน 36.1% และ Gen X คิดเป็นสัดส่วน 19.75%
ในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้หญิง 66% ผู้ชาย 27% LGBTQ+ 6% และไม่ระบุเพศอีกประมาณ 1%
อัตราเฉลี่ยของการซื้อหนังสือ พบว่านักอ่านใช้จ่ายเงินซื้อหนังสือเฉลี่ย 600-1,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 30.88% ตามด้วย 1,000-1,500 บาท คิดเป็นสัดส่วน 14.70%
และใช้จ่ายมากกว่า 3,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 12.84%
นายสุวิชยังมองว่าปัจจัยที่ทำให้งานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้ประสบความสำเร็จมีหลายปัจจัย
หนึ่ง คือ การสร้างชุมชนนักอ่านที่เข้มแข็ง ทำให้นักอ่านยังคงมางานจำนวนมาก รวมทั้งยังช่วยประชาสัมพันธ์ ส่งต่อข่าวสารข้อมูลไปยังชุมชน ทำให้เกิดความมั่นใจและเดินทางมาร่วมงานมากขึ้น
หนึ่ง คือ การใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย เชิญชวนอินฟลูเอนเซอร์เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างคอนเทนต์เพื่อประชาสัมพันธ์งาน ทำให้มีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น
หนึ่ง คือ มีการจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมให้กับสมาชิกก่อนถึงวันงาน เพื่อให้ทุกคนสามารถปรับตัวและเตรียมความพร้อมในการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การสร้างบรรยากาศที่น่าสนใจ
หนึ่ง คือ การสร้างบรรยากาศการเดินงานหนังสือในรูปแบบใหม่ ทำให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถใช้เวลาอยู่กับกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ยังมีการตอบสนองต่อสถานการณ์ แม้จะมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้น แต่ผู้เข้าร่วมงานกลับมาเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น
แสดงว่า ผู้อ่านมีความเชื่อมั่นในงานและมีความเหนียวแน่นในชุมชน มีความเข้าใจในสถานการณ์ที่ท้าทาย
สุดท้ายยอดขายภายในงานปีนี้ แม้จะเผชิญหน้ากับอุปสรรค ก็ยังยืนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
เรื่องนี้น่าจะจริง เพราะสำนักพิมพ์มติชนที่ไปร่วมงานสัปดาห์หนังสือ และร่วมเผชิญเหตุกับทุกบูธทุกสำนักพิมพ์ก็ได้ทั้งผลกระทบ แต่สุดท้ายก็สามารถผ่านพ้นวิกฤตมาได้
หนังสือที่สำนักพิมพ์มติชนนำเสนอ ได้รับการตอบสนองจากผู้เข้าร่วมงานอย่างคึกคัก โดย 10 อันดับแรกที่เป็นหนังสือขายดี ได้แก่
อันดับที่ 1 : หนังสือชุด ประวัติจีนกรุงสยาม เล่ม 1-3 (ปกอ่อน)
ผู้เขียน : เจฟฟรี ซุน และพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร แปลโดย : พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, กิตติพัฒน์ มณีใหญ่, สมชาย จิว และนิรันดร นาคสุริยันต์
อันดับที่ 2 : ภารตะ-สยาม มูฯ ไทย ไสยฯ อินเดีย
ผู้เขียน : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
บรรณาธิการโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
อันดับที่ 3 : ภารตะ-สยาม ผี พราหมณ์ พุทธ
ผู้เขียน : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
อันดับที่ 4 : ศาสนาผี
ผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ
อันดับที่ 5 : ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง
โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
อันดับที่ 6 : ประชาธิปไตยไทยที่ถดถอย: สมรภูมิการเมืองไทยสู่ความขัดแย้งใหม่ที่ยังไม่จบ
ผู้เขียน : ประจักษ์ ก้องกีรติ
แปลโดย : ฐนพงศ์ ลือขจรชัย
บรรณาธิการโดย : กษิดิศ อนันทนาธร
อันดับที่ 7 : Soft Power อำนาจโน้มนำ: หนทางสู่ความสำเร็จในการเมืองโลก
ผู้เขียน : Joseph S. Nye Jr.
แปลโดย บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บรรณาธิการโดย คารินา โชติรวี
อันดับที่ 8 : เปลี่ยนอีสานให้เป็น “ไทย”: อุดมการณ์รัฐชาติกับสำนึกการเมืองของคนที่ราบสูง
ผู้เขียน : ประวิทย์ สายสงวนวงศ์
อันดับที่ 9 : Likable Japan เมืองที่ใช่ ยังไงก็ชอบ
ผู้เขียน : โดย ปริพนธ์ นำพบสันติ
อันดับที่ 10 : Accidentally Wes Anderson: Adventures
โดย Wally & Amanda Koval
แปลโดย ปิยบุตร หล่อไกรเลิศ
หลายเล่มน่าจะอยู่ในมือของหลายคน
หลายคนคงจะใช้เวลาในเทศกาลสงกรานต์นี้ ไปกับเนื้อหาของหนังสือในแต่ละเล่มไปอย่างมีความสุขตลอดช่วงเวลาหยุดยาว
นฤตย์ เสกธีระ