สอบปากคำ กิตติศักดิ์ คงคา สืบเบื้องหลังผลงานดัง ‘รจเลขกัมมันต์’

สอบปากคำ
กิตติศักดิ์ คงคา
สืบเบื้องหลังผลงานดัง ‘รจเลขกัมมันต์’

เภสัชกร นักลงทุน เจ้าของโรงงานสมุนไพร แอดมินเพจดัง กระทั่ง ‘อินฟลูฯ’

คือ บทบาทหน้าที่ คืออาชีพ คือหมวกหลายใบ ที่ กิตติศักดิ์ คงคา มีอยู่บนหน้าตัก

อย่างไรก็ตาม สำหรับแฟนหนังสือสืบสวนสอบสวน ชื่อนี้ ย่อมเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘นักเขียน’ ชื่อดังในดวงใจ เจ้าของผลงานมากมาย รวมถึง ชุด โอปปาติกะอำพราง, กาสักอังก์ฆาต และรจเลขกัมมันต์ โดย สำนักพิมพ์ “13357 PUBLISHIHG” ที่เปรี้ยงปร้างในวงการน้ำหมึก ขึ้นแท่นท็อปเท็น อันดับหนังสือขายดีประจำบูธมติชน ในส่วนของสำนักพิมพ์พันธมิตร จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 ที่เพิ่งจบไปหมาดๆ

ADVERTISMENT

วาร์ปแจกลายเซ็นและพบปะผู้อ่านถึง 2 ครั้ง ก็ยังคิวแน่นไม่เสื่อมคลาย บัตรคิวกี่ใบต่อกี่ใบก็แทบไม่พอ

บนเส้นทางสายวรรณกรรมที่ กิตติศักดิ์ ฟูมฟักบ่มเพาะฝีไม้ลายมือ สั่งสมประสบการณ์และฐานเอฟซี นับเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้นด้วยความชื่นชอบในการอ่านงานแนวสืบสวนสอบสวน มาสู่ผู้ลงสู่บรรณพิภพในฐานะนักเขียน หวังสร้างวรรณกรรมสืบสวนสอบสวนของไทย ถ่ายทอดบริบทสังคม ชีวิต วิธีคิดที่เข้าถึงได้และชวนให้จดจำ

ADVERTISMENT

และนี่คือคำตอบของคำถามต่อชีวิต บทบาท ผลงาน และก้าวต่อไปของ กิตติศักดิ์ คงคา

⦁ กระแสตอบรับจากงานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุดเป็นอย่างไรบ้าง?

หนังสือฝาแฝดยอดนักสืบมีทั้งหมด 3 เล่ม ได้แก่ รจเลขกัมมันต์, กาสักอังก์ฆาต และโอปปาติกะอำพราง มีกระแสตอบรับที่ดีมากทั้ง 3 เล่ม และอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ติดท็อปเท็น หนังสือขายดีของสำนักพิมพ์เพื่อนพันธมิตรของสำนักพิมพ์มติชนตลอดการจัดงาน

รจเลขกัมมันต์และกาสักอังก์ฆาต เป็น 2 เล่มที่ยอดขายดีมากๆ โดยรจเลขกัมมันต์มียอดขายในวันเปิดตัวสูงที่สุดตั้งแต่ทำหนังสือมา

⦁ ทำอย่างไรให้มีฐานแฟนคลับเยอะขนาดนี้?

ผมคิดว่าบางคนเคยอ่านกาสักอังก์ฆาตมาแล้ว เขาก็ไว้ใจงานเขียนของเรา และเชื่อใจที่จะอ่านสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เราเห็นคนอ่านบางคนมาซื้อรจเลขกัมมันต์ เพราะเคยอ่านกาสักอังก์ฆาตและโอปปาติกะอำพรางมาแล้ว หรือบางคนก็ได้ยินมาก่อน เลยมาซื้อในครั้งนี้ บางคนก็ซื้อทั้ง 3 เล่ม พอเป็นหนังสือชุดเดียวกัน เลยทำให้คนอ่านเชื่อมั่นมากขึ้น

⦁ ชอบงานเขียนชิ้นไหนของตัวเองมากที่สุด?

หากเป็นชุดหนังสือฝาแฝดยอดนักสืบคงเป็นกาสักอังก์ฆาต ถือว่าเป็นหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตผมจริงๆ เป็นหนังสือที่ทำให้คนรู้จักเรามากยิ่งขึ้น เมื่องานเขียนออกมาก็ได้รับการยอมรับ ผลงานชิ้นๆ เก่า นักอ่านก็มาหยิบมากขึ้น ได้รับการยอมรับมากขึ้น จนกลายเป็นว่าหนังสือของเราหลายเล่มกลับขึ้นมาขายดีไปด้วยเลย

⦁ สาเหตุที่ทำให้ชอบเขียนเรื่องสืบสวนสอบสวนคืออะไร?

ผมเป็นคนชอบงานสืบสวนสอบสวนมาโดยตลอดตั้งแต่เด็ก เราโตมากับโคนัน นักสืบ Q ก็ไปตามอ่านนิยายสืบสวนสอบสวนฝั่งญี่ปุ่นด้วย เราก็ค้นพบว่าสิ่งหนึ่งที่เจอมาโดยตลอดคือ งานแปลเราจะจำชื่อไม่ค่อยได้ รู้สึกว่าวัฒนธรรมบางอย่างในเรื่อง มันไม่คุ้นเคย แต่ใจเราอยากอ่านนิยายสืบสวนสอบสวนแบบไทยๆ แต่ที่มีอยู่ในท้องตลาดน้อยมากๆ และผมคิดว่า ผมอ่านไปเยอะมากแล้ว อยากให้มีสืบสวนสอบสวนแบบไทยๆ ก็เลยลองทำขึ้นมาดู ตอนทำกาสักอังก์ฆาต ก็ไม่คิดว่าจะได้รับผลตอบรับดี เพียงคิดว่าทำเพราะอยากอ่านเอง อยากให้มีสักเล่มที่เป็นหนังสือสืบสวนสอบสวนแบบไทยๆ

⦁ กาสักอังก์ฆาต มีอะไรที่เป็นตัวตนของนักเขียนสื่อเข้าไปในเรื่องบ้างหรือไม่?

สิ่งที่เป็นตัวผมมากที่สุดคือ ผมสนใจเรื่องกลคดี นิติวิทยาศาสตร์ เรื่องการนำองค์ประกอบหลายอย่างมารวมกันทำให้มันซับซ้อนได้ ถ้าใครอ่านงานของผม จะสังเกตได้ว่า โครงเรื่องหรือพล็อตเรื่องมันซับซ้อนมากๆ มีอะไรหักมุมไปมาให้เป็นตัวตนของผม ถึงแม้จะไปอ่านงานแนวอื่น ทุกคนก็จะบอกว่า งานเขียนของผมมันมีความสืบสวนสอบสวนปนอยู่เสมอ

พอเป็นเรื่องที่เป็นสืบสวนสอบสวนจริงๆ ก็กลายเป็นว่า เป็นสิ่งที่ชัดเจนที่สุดว่า การนำสิ่งทริกกลคดี หรือการนำปริศนาต่างๆ มาผสมกันให้มันเยอะ ยิ่งอ่านยิ่งติดมือ เพราะมันมีเนื้อหาเข้ามาตลอด

⦁ มีทริกในการเขียนเป็นพิเศษไหม จากฟีดแบ๊กคนอ่านที่บอกตรงกันว่า ไม่ใช่แค่สนุก แต่ภาษาสวย สำนวนดี?

ผมเป็นคนที่เขียนงานประกวดอยู่แล้ว เลยทำให้ผมชินกับการใช้ภาษาที่มันยากหน่อย ต้องเขียนภาษาเพื่อเรียกคะแนนกับกรรมการ พอมาเป็นกาสักอังก์ฆาตรู้แล้วว่าเราต้องเขียนสืบสวนสอบสวน ก็เลยลดระดับการเขียนลงมาเยอะ ทั้งลดการใช้คำที่มันเยอะเกินไป สำหรับนักอ่าน แต่ก็ยังมีฟีดแบ๊กว่าเยอะอยู่ดี

พอมาเป็น รจเลขกัมมันต์ เราก็เลยเบาลงมาอีก พยายามเขียนให้ได้อารมณ์อยู่ แต่ไม่ต้องใช้วิธีทางวรรณศิลป์เยอะเกินไป ทำให้คนอ่านเขามีความสุขกับการอ่านมากที่สุด และได้อารมณ์ครบถ้วนตามที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งก็มาจากการติดนิสัยจากการเขียนงานประกวด

⦁ มีวาทะน่าสนใจจากหนังสือ ในท่อนที่เขียนว่า ‘ชีวิตสร้างจากความหวังหรือความหวังสร้างจากชีวิต’ ได้แรงบันดาลใจจากไหน?

ผมอาจจะเป็นคนที่ค่อนข้างสนใจเรื่องการมีชีวิตอยู่ ความหวัง หรือเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็อาจเป็นประเด็นที่สอดแทรกเข้ามาอยู่นิยายหลายเรื่องว่า คนเรามีชีวิตอยู่ไปทำไม? แล้วความหวังมันสำคัญกับชีวิตมนุษย์มากแค่ไหน? ตัวตนของเรามันเกี่ยวข้องกับความหวังอย่างไร? ส่วนใหญ่งานเขียนของผมก็จะเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องชีวิตเยอะ

⦁ อีกเล่มที่คนสนใจเยอะมาก คือ ‘จวบจนสิ้นแสงแดงดาว’ ซึ่งมีประเด็นแนวประวัติศาสตร์ ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร?

ผมสนใจเรื่องประวัติศาสตร์อยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างหนักไปจนถึงเปราะบาง ตอนนั้นไปศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กัมพูชา ช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็เลยรู้สึกว่ามีประวัติศาสตร์หลายอย่างที่น่าสนใจ มีความละเอียดอ่อนทางด้านความรู้สึก และรู้สึกว่าตนเองอยากสื่อสารประเด็นนี้ออกมา อ่านแล้วรู้สึกกระทบกระเทือนจิตใจเรา เราเห็นความรู้สึกบางอย่างของเราอยู่ในเรื่องราวเหล่านี้ จึงหยิบเองราวเหล่านี้มาเล่า

หากต้องนำหนังสือทั้งหมดที่เขียนมาเรียงร่วมกันว่าชอบเล่มไหนที่สุดในชีวิตที่เขียนมาก็คือ จวบจนสิ้นแสงแดงดาว

ประเด็นหลักของเรื่องจวบจนสิ้นแสงแดงดาว เป็นการพูดถึงอุดมการณ์ทางการเมืองกับความเชื่อในการมีชีวิตอยู่ มันเป็นการปะทะกันของกลุ่มความคิดที่มันหลากหลาย ความคิดเหล่านั้นมันส่งผลต่อการมีชีวิตอยู่จริงๆ มันไม่ได้เป็นเพียงแค่อุดมการณ์ทางการเมืองที่คนเห็นต่างกัน แต่กลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลต่อ การมีชีวิตอยู่หรือไม่มีชีวิตอยู่ต่อไป มันเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้

เหมือนเป็นการนำภาพหลายอย่างขยายขนาดให้เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดๆ ว่าถ้าเรื่องราวใหญ่โต หรือบานปลายไปได้เรื่อยๆ มันจะพาไปสู่จุดไหนบ้าง ซึ่งจริงๆ มันเป็นภาพแทนของความแตกต่างของในทุกประเทศ แต่กัมพูชาเป็นประเทศที่ให้ภาพที่ชัดเจนมากๆ ที่นำพาไปสู่เรื่องราวที่เลวร้ายได้แค่ไหน

⦁ เล่มใหม่ล่าสุด อย่าง ‘รจเลขกัมมันต์’ สื่อถึงคุกไทยด้วย ศึกษาข้อมูลเบื้องลึกหลังกำแพงเรือนจำอย่างไร?

เล่มนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนายตำรวจที่ต้องปลอมตัวเป็นนักโทษเพื่อสืบคดีฆาตกรรมต่อเนื่องในเรือนจำ เป็นประเด็นคล้ายๆ กับเรื่อง กาสักอังก์ฆาต อยากจะให้องค์ประกอบบางอย่างที่เรารู้สึกว่า เราอยากพูดถึงความเป็นไทย แน่นอนว่าคุกไทยก็ไม่เหมือนคุกที่อื่น วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ข้างในที่เราไปศึกษาก็ไม่เหมือนที่อื่น

ในระหว่างการทำงาน เราทำงานด้านกลคดีเยอะ เพราะเป็นกลคดีที่ซับซ้อน คนคาดหวังเราว่าต้องหนักหน่วงเหมือนกาสักอังก์ฆาต

อีกประเด็นคือ เราไปคุยกับผู้คุม ไปคุยกับอดีตนักโทษ ทนายความ ตำรวจที่เคยเข้าไปข้างใน เรามองหาภาพของคนที่มีชีวิตอยู่ในเรือนจำ เพื่อสะท้อนภาพอะไรหลายๆ อย่างออกมาเพื่อให้คนเห็นในประเด็นเหล่านี้ เป็นการทำงานทั้งเชิงสืบสวนสอบสวนและเชิงความคิด ในการถ่ายทอดภาพของเรือนจำออกมาให้ได้เห็น ที่ใครไม่ค่อยได้เห็นในอีกมุมหนึ่ง

⦁ ผลงานที่ผ่านมามีเอกลักษณ์ชัดเจนมาก ต้องคำนึงถึงเรื่องใดเป็นพิเศษไหมในจุดเริ่มต้น?

ผมให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามก่อนว่า “คนอ่านอยากอ่านอะไร” เพราะสุดท้ายแล้วเราเองก็มีสิ่งที่เราอยากเขียน แต่เราก็ต้องเชื่อว่ามีสิ่งที่คนอยากอ่านด้วย เราพยายามหาจุดตรงกลาง ที่ทำให้คนอ่านงานของเราแล้วเขามีความสุขที่สุด สามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้

ยกตัวอย่าง รจเลขกัมมันต์ เราคอมเมนต์ได้ว่าเป็นการทำเรื่องให้ตอบโจทย์คนอ่านมากขึ้น เล่าเรื่องง่ายมากขึ้น หรือมีการใช้ภาษาให้เหมาะกับคนอ่านมากขึ้น บางประเด็นคนอ่านก็อาจรู้สึกว่าเข้าถึงยาก เราก็ส่งให้เขา แต่บางประเด็นที่เขาชอบอยู่แล้ว เช่นกลคดีที่มันซับซ้อน ชอบการแปลภาษา ชอบการถอดรหัส เราก็ยังคงใส่ให้เหมือนเดิม

สุดท้ายเราก็ตั้งโจทย์ว่าคนอ่านชอบอะไร และไม่ชอบอะไร เราพยายามจะถ่ายทอดงานที่เขาชอบถึงเราไปถึงเขาให้ได้ ซึ่งเป็นอเจนดาหลักของเราเลย เวลาเราทำงานทุกชิ้น อะไรบ้างน่าจะเป็นสิ่งที่น่าจะอ่านสำหรับงานชิ้นนี้จริงๆ

⦁ ซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลผลักดัน ก็มีด้าน ‘หนังสือ’ อยากให้รัฐสนับสนุนอย่างไรบ้าง?

ผมเชื่อว่าทุกวัฒนธรรมมันมีพลังตัวเองในการเปลี่ยนแปลงบุคคล ถ้าเรามองมุมมองของ ซอฟต์พาวเวอร์ จริงๆ แล้วเราอาจจะไม่ต้องการอะไรไปมากกว่า การส่งวัฒนธรรมเหล่านี้ถึงมือคนอ่าน หรือมือคนที่เข้าถึงวัฒนธรรมนั้นๆ

ความสำคัญที่สุดคือ เราต้องถ่ายทอดวัฒนธรรมเหล่านี้ไปถึงมือคนอ่าน เขาก็อาจจะรู้สึกอะไรก็ได้กับสิ่งๆ นี้ได้

ยกตัวอย่าง วรรณกรรมไทย หรืองานนักเขียนไทย สามารถมีพื้นที่ครอบครองของจิตใจคนอ่านได้มากขึ้น คนอ่านก็จะสนใจวัฒนธรรมไทยมากขึ้น สุดท้ายแล้วเงินก็หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ก็กลับมาให้คนที่ทำงานในประเทศไทยมากขึ้น ก่อนที่เงินหลายส่วนจะไหลออกไปสู่ต่างประเทศ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คืออำนาจทางเศรษฐกิจที่ตอนที่เราทำงาน เราก็ไม่ได้มาปักธงว่ามีอะไรบ้าง แต่ผมเชื่อว่า “เมื่องานมีอิทธิพลมากเพียงพอ งานจะถ่ายทอดออกไปได้ไกล”

⦁ นอกจากเป็นนักเขียนแล้ว ยังเป็นเจ้าของเพจ ‘ลงทุนศาสตร์’ ด้วย ส่วนตัวชื่นชอบการลงทุน?

มันเริ่มต้นจากที่ผมเป็นเภสัชกร พอมาเป็นนักลงทุน ไม่มีเพื่อน ไม่รู้จะคุยกับใคร ก็เริ่มอ่านไปเรื่อย เราก็อยากจะเล่าเรื่องการลงทุนที่เราทำ ที่เราอยากศึกษามา พอเราเปิดเพจมานั่งคุยกับคน เพจเราก็เลยขยายใหญ่ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่เราโฟกัส ศึกษาเนื้อหาการลงทุนมากยิ่งขึ้น

เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งนี้จะกลายเป็นประโยชน์ของคนที่ติดตามเรา เป็นการทำงานแบบกลุ่มเพื่อน คนรู้จัก และจะสามารถพัฒนาของเราต่อไปได้เรื่อยๆ

เราศึกษาเรื่องการลงทุน เราก็อยากลงทุน ตอนนี้ก็ยังลงทุนอยู่ ซึ่งก็ทำเพจมากว่า 10 ปีแล้ว จนตอนนี้ก็ไม่ได้แอ๊กทีฟมากนัก แต่ก็ยังมีหนังสือออกมาอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ไม่หนักแน่นเท่าเก่าแล้ว

⦁ อย่างนี้ สามารถเรียกว่ามีอีกอาชีพเป็น ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ด้วยได้ไหม?

ก็เรียกว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้ เพราะมีงานที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์แล้วได้เงินจริงๆ ได้มาจากการทำเพจ

⦁ ชีวิตดูมีหลายด้าน หลากช่องทาง ทุกวันนี้จริงๆ แล้วรายได้หลักมาจากไหน?

งานเขียนเป็นงานอดิเรก รายได้หลักมาจากงานประจำ ซึ่งมีรายได้หลักมาจากโรงงานยาสมุนไพรคงคา และทำด้านการลงทุนก็เป็นรายได้หลัก เพราะรายได้เยอะ ถ้าเทียบกับรายได้ทั้งปี

ดังนั้น ผมอาจไม่เหมือนนักเขียนคนอื่นที่มีความกดดัน ต้องทำยอดหนังสือได้เท่าที่หวัง ผมมีความโชคดีตรงที่มีงานอื่นๆ เข้ามามีรายได้เพิ่มด้วยที่สามารถเลี้ยงดูตนเองได้

⦁ ช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ ถ้ามีเงิน 10,000 บาท ควรลงทุนอะไร?

ลงทุนความรู้ ความรู้เป็นสิ่งแรกที่ควรลงทุน หากถามว่าการมีเงินเท่านี้ควรลงทุนอะไรดี? จะไม่มีคำถามเหล่านี้ ถ้าเราเข้าใจการลงทุนจริงๆ เมื่อใดก็ตามที่เราตอบไม่ได้ แสดงว่าเรายังไม่มีความรู้ด้านการลงทุนเลย

⦁ มองอย่างไรกรณีสหรัฐขึ้นภาษีตอบโต้ไทย 36% แม้ล่าสุดจะชะลอไปก่อน?

จากประสบการณ์ของผมแล้ว สหรัฐ เขาไม่ได้ตั้งใจจะขึ้นกำแพงภาษีจริงๆ เพราะว่าถ้าโดยทั่วไป ถ้าเขาขึ้นกำแพงภาษี สินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศของเขาก็จะแพงขึ้นด้วย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็ได้รับผลกระทบ

ทรัมป์เองก็จะถูกมองว่าเป็นคนที่ทำให้ของราคาแพงขึ้น ดังนั้น ตัวเขาเองได้รับคะแนนน้อยลง โดยทรัมป์ทำแบบนี้มาตั้งแต่ยุคทรัมป์ 1 แล้ว และสุดท้ายก็จะเรียกประเทศที่ได้รับผลกระทบมาเจรจาว่า เขาสามารถได้ประโยชน์อะไรจากดีลเหล่านี้ได้บ้าง ซึ่งเราก็สังเกตว่า ประเทศไหนเข้าไปคุยกับเขา เขาก็เลื่อนเวลาให้ 90 วัน

ทรัมป์อาจจะไม่ได้ขึ้นกำแพงภาษีจริงๆ เพราะตัวเขาเองจะได้รับผลกระทบเยอะที่สุด เขาทำเพื่อเป็นการต่อรองให้เขาขาดดุลการค้าน้อยลง และส่งออกสินค้าไปต่างประเทศมากขึ้น ต้องมีการแลกภาษีกัน

ดังนั้น สำหรับผม มันเป็นเพียงกลยุทธ์การต่อรองเฉยๆ เดียวสักพักก็จะกลับมาเป็นปกติ หากถ้าเขาได้ดีลที่เขาโอเค เพราะรอบที่แล้วตลาดหุ้นก็ตกแบบนี้ มันก็เกิดซ้ำเหมือนเดิม ถ้าใครอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร ให้กลับไปดูช่วงยุคทรัมป์ 1

⦁ ถ้าให้เปรียบชีวิตเป็นตัวละครในหนังสือของตนเอง จะเลือกเป็นใคร หรือคิดว่าเราเหมือนใครในตัวละครที่เขียนขึ้นมาเอง?

นักสืบซินแคลร์ ในเรื่อง กาสักอังก์ฆาต ตัวเขาเองเป็นทั้งแพทย์ นักสืบ อาจารย์ ซึ่งทำอะไรหลากหลายอย่างในอาชีพของตนเอง ผมคิดว่ามันก็ตรงกับตัวผมที่ทำอะไรไปเรื่อย อยากทำอะไรก็ทำ ก็อาจจะเหมือนกับนักสืบซินแคลร์ที่ทำงานตามแพชชั่นเป็นหลัก มากกว่าการสนใจประเด็นอื่นๆ

⦁ มองเห็นตัวเองในอนาคตเป็นอย่างไร คิดว่าจะไปจุดไหนต่อ?

ทุกวันนี้ผมรู้สึกว่ามีคนชื่นชอบงานเขียนของผม มีผลงาน มีคนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง มีการรอผลงานใหม่ๆ ของผม และทั้งหมดทั้งมวลเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่นักเขียนคนหนึ่งจะได้รับ และผมคงไม่สามารถเห็นตัวเองไปที่ไหนแล้ว เพราะคิดว่าทุกวันนี้คือจุดสูงสุดของการเป็นนักเขียนคนหนึ่งแล้ว ที่จะได้มีนักอ่านที่รักและติดตามงานเขียนของเรา

⦁ ในยุคที่แพลตฟอร์มอื่นๆ เข้ามามีความสำคัญแทนที่ ‘กระดาษ’ หรือ ‘หนังสือเล่ม’ มีอะไรอยากสื่อสาร ชักชวน โดยเฉพาะเจเนอเรชั่นใหม่?

ผมคิดว่ายังมีหนังสืออีกมากที่ให้ประสบการณ์บางอย่างที่ได้จากการอ่าน ที่ไม่เหมือนประสบการณ์อื่นหรือที่ได้จากการเสพคอนเทนต์อื่นๆ หนังสือสามารถพาเราไปทำอะไรบางอย่างที่ภาพยนตร์ เพลง คลิปวิดีโอ อาจจะให้ไม่ได้

แต่ผมเชื่อว่าสื่อทุกสื่อมีพลังอำนาจในแบบของตัวเอง

ฉะนั้นเราไม่ได้บอกว่าอ่านหนังสือดีกว่าแบบอื่น แต่ว่าการเสพสื่อแต่ละอย่างให้ความแตกต่างซึ่งกันและกันหมด

ดังนั้น ถ้าใครที่อ่านหนังสือไม่บ่อยก็อาจกลับมาลองอ่านหนังสือ หรือหยิบหนังสือบางเล่ม ขึ้นมาอ่านดู อาจพบวิธีการมองโลกแบบใหม่ๆ หรือค้นพบความสุขแบบใหม่ๆ ที่ได้จากการเสพสื่อนั้นๆ ก็ได้

ผมเชื่อว่าทุกคนทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองมีความสุข อาจจะไม่ได้บอกว่าหนังสือคือความสุข แต่ถ้าเรามาลองอ่านหนังสือ อาจจะพบความสุขที่เราตามหาอยู่ก็เป็นได้

⦁ มีอาชีพหลายอย่างที่ต้องทำ สามารถปรับจูนกันได้อย่างไร?

ผมเอานักเขียนไปใช้ในฝ่ายลงทุน ผมเองก็เขียนหนังสือการลงทุนออกมาขาย ส่วนหนึ่งก็คือการเผยแพร่ความรู้ และผมก็เอาความรู้ด้านการเงินการลงทุนมาทำหนังสือด้วย ผมก็ต้องประยุกต์ความรู้ด้านการบริหารธุรกิจเข้ามาใช้ เข้าใจเรื่องการตลาด การลงทุน การบริหารบัญชี ซึ่งเป็นพื้นฐานของการลงทุน

ผมว่าสุดท้ายแล้วพื้นฐานเรื่องการเงินการลงทุนสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับอะไรได้หลายอย่าง เพราะมันคือพื้นฐานของการทำธุรกิจ

⦁ คอมพลีตหรือยังกับผลงานของเราที่ไปอยู่ในมือของนักอ่านได้ในทุกวันนี้?

ผมรู้สึกว่าผมได้รับเกียรติจากนักอ่าน หนังสือเล่มหนึ่งอ่านเร็วแค่ไหนก็ยังคงใช้เวลาเป็นชั่วโมง การที่คนคนหนึ่งจะจ่ายเวลาชีวิตมาหลายชั่วโมง เพื่อเสพผลงานของเรา เราเป็นเกียรตินั้นมาก ทุกครั้งที่ผมเห็นเขาอ่านงานของเรา จ่ายเงินซื้อหนังสือเราผมก็รู้สึกว่า เขาให้เกียรติเรามากๆ

การได้เป็นนักเขียนที่มีนักอ่าน นั่นเป็นเกียรติยศสูงสุดของผมแล้ว และมากกว่าทุกเรื่องในงานที่ได้ทำ ผมไม่เห็นตัวเองจะสามารถไปที่ไหนได้อีก เพราะว่านักอ่านของผมอยู่ที่นี่

ชญานินทร์ ภูษาทอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image