ผู้เขียน | ทีมข่าวเฉพาะกิจ |
---|
‘ผี’ ในสงกรานต์
สุ่ม ข้อง ครก สาก หน้ากาก ร่างทรง
สงกรานต์ คือประเพณีอันสืบเนื่องจาก ศาสนาผี พราหมณ์ พุทธ โดยเป็นหนึ่งใน ‘วัฒนธรรมร่วม’ แห่งอุษาคเนย์
อุษาคเนย์ รวมทั้งไทย หลังฤดูเก็บเกี่ยวเข้าสู่หน้าแล้ง ไม่มีฝน ไม่ทํานา อากาศร้อน ครั้นถึงเดือน 5 (จันทรคติ) ตรงกับเมษายน (สุริยคติ) ราษฎรทําพิธีเลี้ยงผีประจําปี และมีการละเล่นต่างๆ เนื่องในศาสนาผีหลายพันปีมาแล้ว
พราหมณ์-ฮินดูในอินเดีย เกี่ยวกับขึ้นศักราชใหม่ (ไม่ใช่ปีนักษัตร) เมื่อดวงอาทิตย์โคจรจากราศีมีนย้ายเข้าราศีเมษ เรียก “มหาสงกรานต์” ในเดือนเมษายน (สุริยคติ)
ชนชั้นนําอุษาคเนย์สมัยการค้าโลกเริ่มแรก รับ “มหาสงกรานต์” จากอินเดีย ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1000 จากนั้นประสมประสานประเพณีพื้นเมือง (ในศาสนาผี) แล้วเรียก “สงกรานต์”
ดังนั้นทุกวันนี้จึงมีเทศกาลสงกรานต์ แล้วต่างเรียก “ปีใหม่” ของตนเหมือนกันหมดในหลายประเทศ ได้แก่ พม่า (มอญ), ลาว, กัมพูชา, สิบสองปันนาในจีน และไทย
ชนชั้นนําในไทยรับสงกรานต์จากอินเดีย ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1000 (วัฒนธรรมทวารวดี) แล้วส่งต่อชนชั้นนําสมัยอยุธยา ราว 700 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1800
ราษฎรสมัยอยุธยาไม่มีสงกรานต์ เพราะไม่รู้จัก (เนื่องจากสงกรานต์เป็นพิธีหลวงจําเพาะในราชสํานัก)
แต่เดือน 5 หน้าแล้ง (ตรงกับเมษายน) ราษฎรมีพิธีเลี้ยงผีประจําปีเป็นปกติหลายพันปีมาแล้ว (ก่อนราชสํานักรับวัฒนธรรมอินเดีย) คือ ‘ผีบรรพชน’ และ ‘เครื่องมือทํามาหากิน’ เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหารให้ชุมชน มีการละเล่นต่างๆ ที่สําคัญคือเล่น ‘เข้าทรงลงผี’ ได้แก่ เข้าทรงผีฟ้า, เข้าทรงแม่ศรี (คือผีแม่โพสพ) แต่ไม่มีสาดนํ้า

ผีบรรพชน ผีฟ้า ผีเครื่องมือทํามาหากิน
หนังสือ ‘ศาสนาผี’ ผลงาน สุจิตต์ วงษ์เทศ ออกใหม่ วางแผงหมาดๆ อธิบายว่า ผีบรรพชน คือ ผีพ่อผีแม่, ผีปู่ย่า, ผีตายาย, ผีฟ้า
ผีเครื่องมือทํามาหากิน หมายถึง เครื่องมือทํามาหากินทุกอย่างมีผีสิง ได้แก่ ผีครก, ผีสาก (ตําข้าว), ผีนางด้ง (กระด้งฝัดข้าว), ผีลอบผีไซ (ดักปลา) ฯลฯ
การเข้าทรงผีฟ้า เป็นกิจกรรมสำคัญของพิธีเลี้ยงผีฟ้าประจำปีในหน้าแล้งเดือน 5 (ทางจันทรคติ) เริ่มด้วยร่างทรงขับลำคลอแคนเชิญผีฟ้าลงทรง จากนั้นร่างทรงบอกคำทำนายของผีฟ้าเรื่องฟ้าฝนของฤดูการผลิตที่จะเริ่มในเดือน 6 (ทางจันทรคติ) ว่าจะมีฝนตกมากน้อยขนาดไหน? ข้าวปลาอาหารจะเสียหายหรือได้ผลอย่างไร? เพื่อคนในชุมชนซึ่งเป็นชาวไร่ชาวนาจะได้เตรียมตัวรับสถานการณ์ ซึ่งมีความสำคัญมากๆ ต่อความอยู่รอดของคนในชุมชน

‘หน้ากาก’ ตัวแทนอำนาจ ‘เหนือธรรมชาติ’
หลังจากนั้นผีฟ้าทำพิธีบำบัดคนเจ็บไข้ได้ป่วย
หน้ากาก สวมพรางหน้าจริงของร่างทรงเมื่อเข้าทรงสมัยดั้งเดิมเริ่มแรก เพราะหน้ากากเป็นตัวแทนของอำนาจเหนือธรรมชาติตามต้องการของชุมชน พบหลักฐานหลายแห่ง ราว 2,500 ปีมาแล้ว เป็นภาพเขียนบนเพิงผา เช่น ผาแต้ม (จ.อุบลราชธานี), เขาสามร้อยยอด (จ.ประจวบคีรีขันธ์)
หลังจากนั้นหน้ากากเข้าทรงยังถูกใช้สืบเนื่องความเชื่อตราบจนทุกวันนี้ในการละเล่นและการแสดงโขน ผ้าปิดตา (เช่นเดียวกับหน้ากาก) ใช้ปิดตาร่างทรง เมื่อเข้าทรงแม่ศรี (คือแม่ข้าวหรือแม่โพสพ) รวมทั้งเข้าทรงผีเครื่องมือทำมาหากิน เช่น ผีครก, ผีสาก, ฝีข้อง, ผีนางด้ง, ผีลิงลม ฯลฯ เป็นการละเล่นในพิธีเลี้ยงผีประจำปีในหน้าแล้งเดือน 5 (ทางจันทรคติ)
ส่วนชื่อเข้าทรง “แม่ศรี” มีขึ้นหลังรับวัฒนธรรมอินเดียประสมประสานความเชื่อพื้นเมืองเข้าด้วยกันเป็น ผี, พราหมณ์, พุทธ



เลี้ยงผี ‘หน้าแล้ง เดือน 5’ ศาสนาหลายพันปีมาแล้ว
การเลี้ยงผีฟ้าหน้าแล้งเดือน 5 เป็นพิธีกรรมทางศาสนาผีหลายพันปีมาแล้ว ก่อนมีการติดต่อรับวัฒนธรรมอินเดีย แต่เดือน 5 (ทางจันทรคติ) ตรงกับเดือนเมษายน (ทางสุริยคติ) และตรงกับมหาสงกรานด์ (ขึ้นราศีเมษ) ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในวัฒนธรรมอินเดียที่อุษาคเนย์รับเข้ามาสมัยหลังแล้ว แผ่ถึงชุมชนไทยเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง นับแต่นั้นพิธีเลี้ยงผีฟ้าหน้าแล้งเดือน 5 ก็ถูกผนวกแล้วถูกเหมารวมเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของสงกรานต์ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักฐานข้างต้น เพราะความจริงแล้วเป็นพิธีกรรมต่างกันทางความเชื่อ และมีที่มาไม่เกี่ยวกัน
เพียงแต่ทำกิจกรรมในช่วงเวลาเดียวกันเท่านั้น
“ดอกไม้ห้อยหู สีชมพูห้อยบ่า
น้ำอบชุบผ้า ห่มเวลาเย็นเอย”
คำร้องแม่ศรี