เมื่อ ‘มหาอำนาจ’ ไม่ละมุน
ถึงเวลาชัดเจนในเรดาร์
Soft Power ที่ไม่ใช่สินค้า แต่คือ ‘อำนาจโน้มนำ’
เรียกได้ว่าพลังของ ‘ยักษ์สะกาย’ คลื่นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่
ไม่สามารถทำลายความตั้งใจของเหล่านักอ่านได้
ตลอด 13 วันของการจัดงาน ‘ย ยักษ์ อ่านใหญ่’ ยอดผู้ร่วมงานทะลุ 1.3 ล้านคน แห่เข้ามาเดินเลือกหา ช้อปปกใหม่ที่ถูกใจใน ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23’ ซึ่งจัดใหญ่สุดในอาเซียน
เซอร์ไพรส์มาก เมื่อได้ทราบว่าชาว Gen Z ครองแชมป์ในรอบนี้ หันไปดูในฝั่งการซื้อขายลิขสิทธิ์ ก็ประสบความสำเร็จในการขยายออกสู่ตลาดนานาชาติ ด้วยยอดสะพัดกว่า 68 ล้านบาท อีกทั้งผลลัพธ์ของการเปิดมุม Author’s Salon ยังช่วยให้นักเขียนอิสระทุกแนว ได้มีพื้นที่โชว์ความสามารถ
“เราพร้อมเดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ ผลักดันหนังสือไทยให้เป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ชูความหลากหลาย มั่นใจว่าภายใน 2 ปีจะพาหนังสือไทยขึ้นแท่น ‘ศูนย์กลางอาเซียน”
สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เชื่อสุดใจว่า ภายใน 2 ปี จะดันหนังสือไทยให้ขึ้นแท่น “ฮับอาเซียน” เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
คือหนึ่งในหมุดหมาย ที่เรากำลังมุ่งสร้างพลังทางความรู้ให้กระจายออกสู่โลกกว้าง
‘อำนาจโน้มนำ’ นิยามตรงสุด
ยกเครดิต ‘พวงทอง’ คิดค้นคำ
หลายคนอาจจะคุ้นกับคำว่า อำนาจอ่อน อำนาจละมุน และอีกสารพัด ที่มีผู้นิยามถึงความหมายของแรงดึงดูดจากพลังทางวัฒนธรรม
แต่หากพูดถึง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ในมุมที่สากลเข้าใจตรงกัน หนึ่งในผลงานที่น่าจับตาและเชื่ออย่างยิ่งว่าจะตอบคำถามของวลีนี้ได้อย่างตรงจุด เห็นจะเป็นเล่มไหนไปไม่ได้
Soft Power อำนาจโน้มนำ: หนทางสู่ความสำเร็จในการเมืองโลก ขึ้นแท่นเล่มฮิต ติดท็อปอันดับขายดีประจำบูธสำนักพิมพ์มติชน (บูธ J02) ที่คนให้ความสนใจล้นหลาม

ผลงาน โจเซฟ เอส. นาย, จูเนียร์ ที่แปลโดย รศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ คารินา โชติรวี มารับบทบรรณาธิการ พร้อมกับคำนิยมโดย ศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการตัวเปิด ผู้ให้ความหมายของคำนี้ใหม่ว่า ‘อำนาจโน้มนำ’ ซึ่งถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง
รศ.ดร.บัณฑิตค่อยๆ พาคลี่หน้ากระดาษ ให้เห็นเนื้อหาอัดแน่น ทั้ง 5 บท
คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในหัว คือจะแปล Soft Power ว่าอย่างไรดี?
“อาจารย์พวงทองบอกว่า ทำไมคนชอบแปลคำว่า Soft Power ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าจะแปลเป็นไทย เสนอว่าให้ใช้ อำนาจโน้มนำ ผมจึงยืมคำนี้มาใช้ ยังไม่ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์เลย (หัวเราะ) จริงๆ อาจารย์เสนอคำนี้ตั้งแต่ปี 2561 แล้ว
ผมคิดอยู่นาน มันยาก ถ้าแปลตามรูปศัพท์จะได้คำว่า อำนาจละมุน หรืออำนาจอ่อน ผมเองก็ใช้คำว่าอำนาจอย่างอ่อน แต่พออาจารย์พวงทองบอกว่าความหมายโดยนัย คำที่น่าจะเหมาะสมที่สุดคือ อำนาจโน้มนำ ผมก็ซื้อ มันตรงใจพอดี เลยส่งข้อความไปขอ เป็นที่มาที่ให้อาจารย์ช่วยเขียนคำนิยมด้วย” รศ.ดร.บัณฑิตเผยถึงที่มา
เมื่อได้ชื่อเรียบร้อย ผ่านจุดที่ยากที่สุด ก็นั่งโต๊ะลุยทันที
บอกตรงๆ ว่า ‘สนุก’ เพราะการแปลหนังสือที่มีอายุ 21 ปี ถือเป็นความท้าทาย อย่างคำบางคำ คนรุ่นใหม่จะเข้าใจหรือไม่ เช่น โมเด็ม ซึ่งเจนเบต้ายังไม่เกิด จึงเติมเชิงอรรถให้เก็ตง่ายขึ้น
ขอบคุณทรัมป์ ช่วยขาย
อเมริกา กำลังทำลายพาวเวอร์นี้?
“แต่ละบทที่แปล จะเป็นลำดับความคิดของอาจารย์ โจเซฟ เอส. นาย, จูเนียร์ ซึ่งสอนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ช่วยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในการวางแผน ในการคอมเมนต์ถึงนโยบายที่ควรจะเป็นของสหรัฐอเมริกา
โดยบอกว่าอำนาจที่สำคัญกว่าอำนาจการทหาร และการให้เงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ คือ Soft Power”
รศ.ดร.บัณฑิตชี้ให้เห็นดีเทลวงในสุดๆ ซึ่งอาจารย์โจเซฟขยายความว่า Soft Power คืออะไร อยู่ที่ไหน จะใช้อย่างไร และไปดูประเทศอื่นว่าเขามี Soft Power ไหม เมื่อใช้แล้วได้ประโยชน์อย่างไร
โดยสรุปและทิ้งท้ายว่า Soft Power ‘ต้องสร้างขึ้นเรื่อยๆ’ ทิ้งไม่ได้
“ที่น่าสนใจคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ กำลังช่วยผมขายหนังสือ (หัวเราะ) เพราะสิ่งที่ทรัมป์ทำ ตรงข้ามกับสิ่งที่อาจารย์โจเซฟพูดทั้งหมดเลย”
“ตอนนี้อเมริกาตัดทุนความช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ และในเรื่องของกระบวนการทางการเมืองระหว่างประเทศก็แข็งกร้าวมาก
กลายเป็นว่า อเมริกากำลังทำลายสิ่งที่เป็นฐานทรัพยากรของอำนาจโน้มนำ”
นักรัฐศาสตร์วิเคราะห์จากเนื้อหาในเล่ม ที่ต้องบอกว่าเข้มข้นไม่แพ้สถานการณ์สงครามภาษีในปัจจุบัน
เมื่อการทูตของมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ไม่เลือกเดินในเวย์ ‘ละมุนละม่อม’ อีกต่อไป!
ห่วงรัฐบาลไทยไม่ชัดเจน
หวั่น ‘ภาษีทรัมป์’ กระทบหนัก
สารภาพว่าสะดุดตากับเล่มนี้ ทั้งยังเคยมีประสบการณ์ตรง ด้วยเคยเรียนกับผู้เขียน

สำหรับ อ.ดร.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บุตรชายของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
“เราเป็นลูกศิษย์ของคนเขียน Joseph S. Nye Jr. เรียนโดยตรง และเป็นผู้ช่วยสอน (TA) ตอน ป.โท ที่ฮาวาร์ด ดีใจที่ในที่สุดก็มีคนแปลเล่มนี้ขึ้นมา ตอนแรกเราก็ใช้คำอื่นมาตลอด ‘อำนาจนุ่มนวล’ ‘อำนาจละมุน’ เห็นด้วยที่อาจารย์บัณฑิตเลือกใช้คำนี้
‘อำนาจโน้มนำ’ อาจารย์พวงทอง เป็นคนแรกที่ใช้คำนี้ ซึ่งเมกเซนส์ที่สุดแล้ว เป็นเล่มใหม่ที่อยากจะให้ทุกคนติดตาม” ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ ป้ายยาเล่มใหม่ที่ควรค่าแก่การตามอ่าน
ในฐานะผู้สนใจในเรื่องความเป็นไปของนานาชาติ ถามตรงๆ ว่าในเวลานี้ เรื่องไหนน่าจับตาเป็นพิเศษ?
ได้คำตอบว่าเป็นประเด็น ‘Great Power Relations’ ไทยจะอยู่อย่างไรในความขัดแย้งระดับโลก ที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างอเมริกา-จีน
“จริงๆ แล้วเรื่องประวัติศาสตร์ก็สำคัญ คือตั้งแต่ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้นมา เรามีพัฒนาการจากที่เคยใกล้ชิดอเมริกา แต่พอมาในยุคสงครามเวียดนาม ก็เปลี่ยนท่าที จากที่เคยแอนตี้คอมมิวนิสต์มากๆ ในยุคจอมพล ป. (สงครามเย็น) จนมาถึงยุคปลาย 60-70 สงครามเวียดนามจบลง อเมริกาเริ่มถอนความสนใจออกไปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราก็มีการโน้มเอียงไปทำความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียและจีนมากขึ้น เพื่อให้อยู่รอด
ตอนนี้กลับมาอีกรอบนึงแล้ว อเมริกากำลังหันหน้าเข้าหาตัวเอง ในสถานการณ์แบบนี้ แล้วเราควรจะต้องปรับตัวอย่างไร?” อ.ดร.ฟูอาดี้สะท้อนความห่วงใย
บอกตรงๆ ว่าการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศนโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ไม่ต่างจากการ ‘ประกาศสงครามกับทั่วโลก’ แล้ว และไทยก็น่าจะกระทบเยอะ
เพราะแม้ว่าเราจะเป็นพันธมิตรกับอเมริกา ก็ยังถูกขึ้นภาษีมากถึง 36% ซึ่งมากกว่าอีกหลายประเทศ
ดังนั้นในเรื่องจุดยืน อ.ดร.ฟูอาดี้คิดเห็นว่า ‘ความชัดเจนของรัฐบาล’ การให้ความมั่นใจกับประชาชนสำคัญอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาจะเห็นว่าทั้งนายกฯมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ ก็ออกมาพูดแล้ว แต่เรายังค่อนข้างเงียบ ไม่ได้สื่อสารกับประชาชนมากพอ
“ไม่ได้มี core message หรือแถลงการณ์ออกมา จริงๆ แล้วประชาชนอยากเห็นนายกฯออกมาพูดอะไรที่เห็นภาพ สร้างความมั่นใจได้ว่า จะทำอะไรบ้าง 1 2 3 4 แต่ตอนนี้ไม่เห็นชัดเท่าไหร่ ก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วง”
แน่นอนว่าแอ๊กชั่นต้องมี ตอนนี้ต้องเอาใจประชาชนด้วยแล้ว เพราะคนรู้สึกว่า Lost รู้สึกมีความไม่แน่นอนสูง ไม่ใช่แค่เหตุการณ์นี้ ตั้งแต่เรื่องอุยกูร์ แผ่นดินไหว 3-4 อย่างติดๆ กัน
เฉพาะกรณี ‘ภาษีทรัมป์’ ในมุมประชาชนทั่วไป ธุรกิจอะไรที่ส่งออกไปอเมริกาเป็นหลัก จะได้รับผลกระทบชัวร์ๆ
“เราส่งออกไปอาจ 14-17% (แล้วแต่สถิติ) ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อาจจะมีบางประเทศอย่างกัมพูชา คือกว่า 40% เลยที่ส่งออก”
“เรากระทบเยอะพวกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพราะอเมริกามีบริษัทเหล่านี้อยู่ในไทย ผลิตเพื่อส่งออกไปเมืองนอกเยอะ อันนี้อาจจะกระทบกับการจ้างงานและอะไรอีกหลายอย่าง” อ.ดร.ฟูอาดี้ชี้จุดที่น่ากังวล
ซึ่งจากพาวเวอร์ที่แข็งข้อ ทำให้เราเริ่มเห็นหลายชาติ เริ่มเพิ่มงบด้านความมั่นคง ตามพลังอำนาจอันแข็งกร้าวที่เพิ่มขึ้น
ประเทศเราไม่ได้เล็ก
ถึงเวลาออกมาอยู่ในเรดาร์-ไม่รอลู่ลม
ถามถึงไอเดีย ที่ถ้ารัฐบาลไทยปรับ น่าจะช่วยให้จุดยืนโอเคและรักษาพันธมิตรได้อย่างรอบด้าน มองว่าการทูตแบบ ‘ไผ่ลู่ลม’ ยังใช้ได้อยู่หรือไม่?
ส่วนตัวแล้ว อ.ดร.ฟูอาดี้มองว่าต้องมี ‘หลักการของตัวเองให้ชัด’ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด สะท้อนผ่าน narrative ของคำที่ว่า ‘เราเป็นประเทศเล็ก’ ถูกย้ำอยู่ตลอดตั้งแต่ยุค ร.6, ยุคจอมพล ป. เรื่อยมา
“ทุกคนพูดหมดว่า ‘เราเป็นประเทศเล็ก’ ทั้งๆ ที่ถ้าไปดูประเทศที่เล็กกว่าเราอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ก็ยังเล็กกว่าเราในทางเศรษฐกิจ แต่เขายังสามารถปฏิบัติตามหลักการของตัวเองได้ และชัดเจนว่าอะไรที่เขาเสียประโยชน์ เขาสามารถลุกขึ้นพูดได้ว่าไม่เห็นด้วย”
“เราเป็นเหมือนกับประเทศที่มีความเป็นไทยสูง หมายถึงว่านอบน้อม พยายามหลบอยู่เหนือเรดาร์ ภาษาทางวิชาการอาจจะเรียกว่า Strategic Culture วัฒนธรรมยุทธศาสตร์ ประเทศเราคิดแบบนี้ เป็นแบบนี้ เวลาเจอปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ก็จะหลบๆ เงียบๆ ไม่พูดเยอะ มันเหมือนกับเป็นวัฒนธรรม (Culture) ของเราไปแล้ว ซึ่งเราว่าในโลกสมัยปัจจุบัน การดำเนิน Strategic Culture จะยังถูกต้องหรือไม่” เป็นสิ่งที่นักวิชาการท่านนี้ วาดหวังให้มีการทบทวน
เพราะหากวัดกันตามสถิติ ดูตัวเลข เราใหญ่อันดับ 2 ของอาเซียนในเชิง Economy มีประชากร 70 กว่าล้านคน อีกทั้งเยาวชนอายุ 40 ลงมา มีความก้าวหน้า อยากเห็นประเทศมีบทบาทกว่านี้ในเวทีโลก
เราทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่ เป็นจุดที่น่าตั้งคำถาม
เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ การมองตัวเองว่าเป็นประเทศที่ต้อง ‘รอรับลมอย่างเดียว’ อาจไม่ทันการณ์
เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าลองสังเกตดู ‘ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม’ (นายกฯมาเลย์) ก็รวบรวมผู้นำต่างๆ ในอาเซียน แล้วทำไมเราถึงไม่อยู่ในนั้น เขาเรียกคุย 5 ประเทศ แต่ไม่มีไทยอยู่ในนั้น
น่าคิดว่าเหตุผลคืออะไร?
ไม่ได้หมายความว่าต้องมีคำตอบให้กับทรัมป์ในตอนนี้ แต่อย่างน้อยควรมีให้กับประชาชน
อย่าง ‘การยึดจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชน’ เป็นความสากลที่เราเลือกยึดได้ซึ่งคนรุ่นใหม่ให้คุณค่ากับสิ่งนี้ เรื่องประชาธิปไตย และค่านิยมต่างๆ
พร้อมหยิบยกกรณีส่งกลับชาวอุยกูร์ ทำให้เราเสียคะแนนตรงนี้ไปพอสมควร
“เช่นที่จับต้องได้ ถ้าเราไม่ Burn the Bridges ทำลายสะพานที่จะทอดไปได้กับอเมริกา อย่าง ‘มาร์โค รูบิโอ’ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ก็จะตำหนิเรา แบนวีซ่า อย่างน้อยเราว่าคนที่ตัดสินใจ ซึ่งเขา Keep it vague คือเขาไม่ได้บอกว่าเป็นใคร แต่เราเข้าใจว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของเรา รมว.กลาโหม, เลขาธิการ สมช. โดนแซงชั่นวีซ่าแน่ๆ ก็แสดงว่าถ้าคนเหล่านี้จะไปเจรจาเรื่องการซื้ออาวุธเพิ่ม หรือเรื่องนโยบายการต่างประเทศ ก็จะไม่สามารถไปได้”
แล้วเราก็เสียพันธมิตร ‘รูบิโอ’ ไปด้วย เพราะจริงๆ แล้ว รูบิโอเขาให้คุณค่ากับประเทศไทยมาก ก่อนที่เขาจะเข้ามารับตำแหน่ง แต่พอเราทำแบบนี้ในเรื่องอุยกูร์ ก็แทนที่เราจะยกหูไปคุยกับเขาได้อีกคนหนึ่ง ทีนี้ก็ยากขึ้น”
นักรัฐศาสตร์ชี้ผลลัพธ์ ที่อเมริกาอาจจะยิ่งคิดหนัก ในการทบทวนท่าทีระหว่างไทย
“จริงๆ แล้ว เรื่องสิทธิมนุษยชน มันยิ่งใหญ่กว่า การที่ว่าเราจะไปอยู่ข้างอเมริกา หรือจีน หรือว่าทำตามใคร มันเป็นเรื่องที่ควรจะทำ เป็นเบสิกที่ควรจะเคารพอยู่แล้ว” อ.ดร.ฟูอาดี้ย้ำชัดถึงสิ่งที่เราสามารถแอ๊กชั่นได้ทันที
ยึดสิทธิมนุษยชน
บทบาทสากลที่ควรค่า-นานาชาติเห็นด้วย

หันมาซาวเสียง ฆนัท นาคถนอมทรัพย์ อนุกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร
ผู้ที่ตั้งใจมาซื้อเล่มนี้ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองของคำว่า Soft Power ไว้อย่างน่าสนใจ
โดยตั้งข้อสังเกตว่า แทบไม่มีชาติไหนที่ใช้คำนี้อย่างโจ่งแจ้งเหมือนกับบ้านเรา ซึ่งยังทำให้ความหมายเปลี่ยนไป
“Soft Power ตั้งต้นแล้วเป็นแนวคิดทางรัฐศาสตร์ ในการใช้อำนาจโน้มนำให้คนอื่นมาเชื่อเรา แต่กลายเป็นว่าไทยใช้ในแง่ ‘สินค้าทางวัฒนธรรม’ อาหารไทยคือซอฟต์พาวเวอร์ แต่มันเป็นแค่หนึ่งในเครื่องมือ
ถ้าไปอ่านในเล่มจะเห็นว่า มันมีเครื่องมืออยู่ 2-3 อย่าง ที่จะทำให้เกิดอำนาจโน้มนำ ให้นานาชาติมาเห็นด้วยกับเรา”
แล้วอะไรมีพลังกว่าสินค้าทางวัฒนธรรม?
อนุกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม คอมเมนต์ตรงกันกับผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ
บอกเลยว่าคือ ‘การให้คุณค่าในบทบาทการเมืองโลก’ อย่างเช่น เมียนมาตอนนี้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราแสดงตัวเลยว่าอยากให้หยุด
“เป็นชาติตั้งต้นที่ขอให้ชาติอื่นๆ ในอาเซียนร่วมกันแถลงการณ์ บทบาทที่เราเห็นแก่คุณค่าสากล ซึ่งก็คือสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก จะทำให้ชาติต่างๆ มองเห็นว่าเราให้คุณค่ากับสิ่งสากล ไม่ใช่ทำในสิ่งตรงข้าม ซึ่งชาติที่เล่นบทบาทนี้ชัด เช่น สิงคโปร์
เวลาเกิดอะไรขึ้น ขอความเห็น หรือมติต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่ชาติอื่นๆ ใน UN จะยกมือให้คุณ เพราะคุณยึดถือในคุณค่าสากลที่ทุกคนเห็นด้วย”
ทีมข่าวเฉพาะกิจ