สัมพันธ์จีนก่อนยุคคึกฤทธิ์ พระองค์วรรณฯ ‘รับจบ’ ถือโปรเจ็กต์ลับ ทำไทยรอด

สัมพันธ์จีนก่อนยุคคึกฤทธิ์ พระองค์วรรณฯ ‘รับจบ’ ถือโปรเจ็กต์ลับ ทำไทยรอด

สัมพันธ์จีนก่อนยุคคึกฤทธิ์
พระองค์วรรณฯ ‘รับจบ’
ถือโปรเจ็กต์ลับ ทำไทยรอด

ถือเป็นเวทีที่เข้มข้นอย่างยิ่ง สำหรับ โครงการเสวนาวิชาการเนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในหัวข้อ ‘คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน ยุคก่อนและหลังอาณานิคม’ ซึ่งมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์ ร่วมกับภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จัดขึ้น

เมื่อ 26 เมษายนที่ผ่านมา ณ ห้อง 303-304 อาคารมหาจักรีสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนึ่งในวิทยากรที่บอกเล่าเรื่องราวน่าสนใจในวันนั้น คือ วิรัช ศรีพงษ์ นิสิตปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมาในหัวข้อ ‘ก่อนจะถึงคึกฤทธิ์ : พระองค์วรรณฯ กับความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างไม่เป็นทางการ’ 

ท่ามกลางนโยบายเข้าข้างสหรัฐ
พระองค์วรรณฯเกี่ยวสัมพันธ์จีน-ไทย ‘แบบไม่น่าเชื่อ’

ADVERTISMENT

วิรัชเริ่มต้นเล่าถึงบริบทในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งประเทศไทยเริ่มมีการส่งนักเรียนไทยไปศึกษาต่อในต่างประเทศมากขึ้นเพื่อเร่งผลิตบุคลากรเข้ามาสู่การทำงานให้กับหน่วยงานภาครัฐของไทย หนึ่งในนั้นคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือพระองค์วรรณฯ ซึ่งทรงเสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ชั้นมัธยม และต่อมา (ค.ศ.1910) ได้ทรงเข้าศึกษาที่ Balliol College มหาวิทยาลัย Oxford ในระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ โดยทรงได้รับเกียรตินิยม และในปี ค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ Ecole Libre des Sciences Politiques ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวิชาการทูต โดยทรงสอบไล่และได้รับประกาศนียบัตรวิชาการทูต รางวัลที่ 1 และทรงงานด้านการทูตอย่างยาวนานตั้งแต่ ค.ศ.1917-1970

“พระองค์วรรณฯทรงเป็นบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ไทย-จีนแบบไม่น่าเชื่อ ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังดำเนินนโยบายเข้าข้างสหรัฐอเมริกา ซึ่งพระองค์วรรณฯก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงมีบทบาทสำคัญในการเจรจาทางการทูต เมื่อมีปัญหาอะไรพระองค์วรรณฯจะทรงสามารถใช้พระปรีชาทางการทูตแก้ไขได้เสมอ” วิรัชกล่าว

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ ‘พระองค์วรรณฯ’
พระองค์วรรณฯครั้งทรงดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาสหประชาชาติ พ.ศ.2499-2500

ถือโปรเจ็กต์ลับ ‘นอกบันทึก’
ที่ปรึกษา จอมพล ป.
นั่งประธานสมัชชาใหญ่ยูเอ็ 

จากนั้น นำเสนอเส้นทางชีวิตพระองค์วรรณฯ ซึ่งทรงงานหนัก ในบทบาทที่สร้างคุณูปการต่อชาติบ้านเมือง โดยทรงเป็นคนไทยที่ได้เป็นประธานสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติครั้งที่ 11 (ค.ศ.1956-1957) และทรงเป็นประธานการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเลครั้งที่ 1 และ 2 (ค.ศ.1958 และ 1960) พระองค์วรรณฯ ทรงเป็นบุคคลที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ทูลหารือขอคำปรึกษาจากพระองค์เกี่ยวกับประเด็นด้านการต่างประเทศไม่ว่าจะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการส่งพระองค์เป็นตัวแทนของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ร่วมการประชุมมหาเอเชียบูรพาช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลง แม้แต่ช่วงสงครามเย็น ก็มีจุดที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน เนื่องจากในช่วงที่ประเทศไทยกำลังดำเนินนโยบายใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาเต็มตัว แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีนโยบายที่อยากจะติดต่อกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อแก้ไขข้อห่วงกังวลของฝ่ายไทย โดยเฉพาะการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย การเจรจากลุ่มประเทศเอเชีย-แอฟริกา ที่บันดุงในปี ค.ศ.1955 จึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างทีแสดงให้เห็นชั้นเชิงทางการทูตของพระองค์วรรณฯเป็นอย่างดี 

“พระองค์วรรณฯทรงแสดงบทบาทในการไปเจรจาในนามผู้แทนของประเทศโลกเสรีที่บันดุง แต่ในขณะเดียวกันท่านก็ถือโปรเจ็กต์ลับๆ ของรัฐบาลไทยที่ไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก

มีนักวิชาการ (Daniel Fineman) ค้นพบว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยพบและทูลหารือพระองค์วรรณฯก่อนการประชุมที่บันดุง เพื่อที่จะปรึกษากัน และเหมือนกับมอบนโยบายให้พระองค์วรรณฯ ทรงหาโอกาสพบปะกับผู้แทนของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จะเข้าร่วมการประชุมที่บันดุง เพื่อหารือแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นข้อห่วงกังวลของประเทศไทยเกี่ยวกับประเด็นคอมมิวนิสต์ที่แทรกซึมอยู่ในประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นเชื่อกันว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนให้การสนับสนุนอยู่” นิสิตปริญญาเอก รั้วสามย่านอธิบาย

โทรเลขจากสหรัฐ
ขอคน ‘มีความสามารถมากๆ’
หากไทยจะไปบันดุง 

ในทรรศนะของวิรัช เห็นว่า ด้วยชั้นเชิงทางการทูตของพระองค์วรรณฯ ทำให้ทรงสามารถหารือกับผู้แทนของสาธารณรัฐประชาชนจีน (โจว เอินไหล) ได้

“ด้วยบุคลิกของพระองค์เองทำให้มีความประทับใจกันระหว่างสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นท่านโจว เอินไหล และพระองค์วรรณฯด้วย” วิรัชวิเคราะห์ก่อนเล่าต่อไปว่า

2 เหตุการณ์ที่ทำให้พระองค์วรรณฯได้ทรงพบกับโจว เอินไหล โดยพบกันครั้งแรกตอนที่พระองค์วรรณฯทรงเป็นประธานร่วมของการประชุมสันติภาพ ที่นครเจนีวา ช่วงปี ค.ศ.1954 และครั้งที่สองคือการพบกันในการประชุมที่บันดุง ค.ศ.1955

ในช่วงเวลาดังกล่าว ฝ่ายไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายที่เข้าข้างฝ่ายโลกเสรี โดยสนับสนุนการก่อตั้งองค์การระดับภูมิภาคที่จะช่วยป้องกันความมั่นคงของภูมิภาคจากภัยคอมมิวนิสต์ ซึ่งต่อมาก็ได้มีการก่อตั้งองค์การ SEATO (พระองค์วรรณฯทรงเป็นประธานการประชุม SEATO ครั้งแรกที่ประเทศไทย) 

ในห้วงก่อนหน้าที่จะมีการประชุมกลุ่มประเทศเอเชีย-แอฟริกา ที่เมืองบันดุง ก็จะมีความไม่แน่ไม่นอนของสหรัฐอเมริกา และประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ทั้งสองฝ่ายมีการพูดคุยกัน โดยสหรัฐอเมริกาไม่อยากให้การประชุมที่บันดุงเกิดขึ้น เนื่องจากการที่โจว เอินไหล มีการปรับท่าทีเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนพยายามเข้าหาประเทศต่างๆ โดยใช้หลักในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 5 ประการ และพยายามไม่แทรกแซงการเมืองของประเทศอื่น ซึ่งจะเห็นว่าอเมริกาเกรงว่าถ้าการประชุมเกิดขึ้น สาธารณรัฐประชาชนจีนจะเข้าไปประชุมที่บันดุงแล้วจะใช้นโยบายข้างต้นทำให้ประเทศอื่นๆ คล้อยตาม ด้านอเมริกาจึงตัดสินใจว่าให้กลุ่มตัวแทนสหรัฐเข้าไปร่วม

“สิ่งที่น่าสนใจคือ ในการประชุมของ SEATO ครั้งที่ 1 ผู้แทนของนิวซีแลนด์เสนอว่าควรจะส่งผู้แทน SEATO เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งมีทั้งประเทศปากีสถาน ประเทศไทย และประเทศฟิลิปปินส์ เข้าไปในการประชุมเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้โลกเสรี 

ด้านสหรัฐอเมริกามีการส่งโทรเลขมาถึงกรุงเทพฯ โดยบอกว่า หากรัฐบาลไทยประสงค์จะเข้าร่วมการประชุมที่บันดุง ขอให้ส่งคนที่มีความสามารถมากๆ เช่น พระองค์วรรณฯ ร่วมการประชุมดังกล่าว

ทั้งหมดทั้งมวลทำให้เราคิดว่าทุกอย่างจะเดินไปในทางที่ว่า ประเทศไทยจะไปเพื่อที่จะแก้ไขประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อห่วงกังวลของไทย อาทิ ปัญหาการแทรกซึมคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย เนื่องจากทราบว่าประเทศจีนหนุนหลังอยู่ อย่างที่สอง คือ ปัญหาชาวเวียดนามอพยพเข้ามา ซึ่งยังแก้ไขไม่ได้ และอย่างที่สาม เรื่องการเมืองที่มีการปล่อยข่าวว่า ศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งลี้ภัยการเมืองอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนในขณะนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฝึกคนจีนที่มีเชื้อสายไทยทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อที่จะเข้ามาแทรกซึมในประเทศไทย” วิรัชระบุ

พลิกเกม หารือ ‘โจว เอินไหล’
เปิดสัมพันธ์ 2 ชาติ
ไม่ทรงตอบชัด สนทนาอะไร? 

วิรัชชี้ว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ พระดำรัสของพระองค์วรรณฯที่ทรงแถลงต่อที่ประชุมมีชั้นเชิงทางการทูตเป็นอย่างมาก เพราะทรงอธิบายต่อที่ประชุมว่า ท้ายที่สุดแล้ว การเข้าสู่ SEATO ของประเทศไทย เป็นการป้องกันตัวเองจากภัยความมั่นคง และสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยึดถือในความชอบธรรม โดยพระองค์ทรงอ้างอิงกับหลักการขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับการป้องกันตัวเอง 

“แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการพลิกเกมของพระองค์วรรณฯ ในการไปพบกับ โจว เอินไหล สิ่งที่พบคือมีการพบปะกัน และกลายเป็นว่ามีการพูดคุยกันถึงเรื่องต่างๆ ที่เป็นข้อห่วงกังวลของฝ่ายไทยไปจนถึงเรื่องของการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-สาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงนั้นด้วย ซึ่งช่วงนั้นมีการจับตามองของสหรัฐ โดยมีการส่งผู้แทนไปถามพระองค์วรรณฯว่ามีการคุยอะไรกับโจว เอินไหล ด้านพระองค์วรรณฯก็ไม่ได้ทรงตอบอย่างชัดเจนว่าพูดอะไร

สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระดับบุคคลที่ใกล้ชิดระหว่างพระองค์วรรณฯ และโจว เอินไหล ก็คือ โจว เอินไหล รู้สึกประทับใจพระองค์วรรณฯมาก โดยมีการนำของฝากจากจีนถวายพระองค์วรรณฯ พร้อมบอกว่ามอบให้ภรรยาของพระองค์วรรณฯ ซึ่งพระองค์วรรณฯเองก็ได้นำของฝากจากไทยเพื่อแลกเปลี่ยนกัน

(จากซ้าย) รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์, พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร และ วิรัช ศรีพงษ์ ในเสวนา ‘คึกฤทธิ์
ปราโมช กับ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน ยุคก่อนและหลังอาณานิคม’ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

20 ปีในวงล้อการเมือง
‘บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น’ ของแท้

วิรัชยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐในประเทศไทยว่า ความที่พระองค์วรรณฯ ณ ขณะนั้นอยู่ในวงล้อทางการเมืองและการทูตมาเกือบ 20 ปี ไม่คิดว่าการไหวตัวของพระองค์วรรณฯที่ทรงสามารถไหวไปตามลม และความเปลี่ยนแปลงของบริบททางการเมืองในประเทศไทยได้คล่องแคล่วขนาดนี้จะหลงเสน่ห์โจว เอินไหล เพียงแค่การพบกันไม่กี่นาที

“โดยส่วนตัวผมคิดว่าเป็นไปได้สูง เนื่องจากทั้งสองคนมีทักษะทางการเมืองและทางการทูตที่สูงมาก เพราะฉะนั้นจะเป็นในลักษณะการพูดคุยทางการทูตหน้าฉากจะเป็นแบบหนึ่ง ในส่วนความสัมพันธ์ระดับบุคคลก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ก็เป็นการช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ไทยกับจีนในเวลาต่อมา 

สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความประทับใจที่ท่านโจว เอินไหล มีต่อพระองค์วรรณฯ คือ ในช่วงปลายปี ค.ศ.1955 ฝ่ายไทยได้ส่งคณะซึ่งนำโดยนายอารี ภิรมย์ ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้นและ ดร.กรุณา กุศลาสัย เดินทางไปจีนอย่างไม่เป็นทางการ โดยคณะดังกล่าวได้พบกับท่านโจว เอินไหล ซึ่งท่านเองได้ฝากข้อความถวายเสด็จในกรมฯ หรือพระองค์วรรณฯ ว่า เสด็จในกรมฯทรงเป็นทั้งนักการทูตและรัฐบุรุษที่ทรงพระปรีชาสามารถมาก” วิรัชกล่าว

ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา วิรัชมองว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน เนื่องจากในห้วงปี ค.ศ.1955 เป็นช่วงที่พระองค์วรรณฯจะต้องเตรียมตัวสมัครประธานสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งฝ่ายไทยก็ได้รับความสนับสนุนของสหรัฐ 

“จะสังเกตเห็นว่าไผ่ลู่ลมตัวจริงก็คือพระองค์วรรณฯเอง ท่านก็จะแสดงให้เห็นว่าบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น และสามารถประสานความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทย ประสานความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-ไทยได้ด้วย” วิรัชกล่าวทิ้งท้าย

หากใช้ภาษาอย่างเรียบง่าย กล่าวได้ว่า พระองค์วรรณฯทรง ‘รับจบ’ ทุกเรื่อง แก้ได้ทุกปัญหา ด้วยพระปรีชาสามารถที่สร้างคุณูปการต่อประเทศชาติที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การทูตไทย 

นภัสสร มงคลรัฐ