ฉากสำคัญพระเจ้าตาก ประวัติศาสตร์ที่ต้องเล่า

ฉากสำคัญพระเจ้าตาก
ประวัติศาสตร์ที่ต้องเล่า

ครั้งกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ.2310 บ้าน วัด วังเสียหายยับเยิน พระเจ้าตากใช้เวลาเกือบตลอดรัชกาล 15 ปี เพื่อเยียวยา ฟื้นฟู และเรียกร้องความศรัทธากลับคืนให้เหมือน “เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี” แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฟื้นฟูบ้านเมืองหลังภาวะ “การแพ้สงคราม” ให้กลับมาดีเหมือนเก่า เนื่องจากขณะนั้น ระบบราชการพังพินาศ การควบคุมไพร่กำลังคนใช้การไม่ได้ เศรษฐกิจล่มสลาย เมืองร้างผู้คน ข้าวยากหมากแพง ปรากฏ “คนโซ” นับหมื่นแสนกำลังจะอดตาย

นอกจากปัญหาความอดอยากแล้ว ยังมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อจีนไม่ยอมรับพระเจ้าตาก เนื่องจากไม่ได้เป็น “เชื้อพระวงศ์” ทั้งยังแนะนำให้อัญเชิญเจ้านายกรุงศรีอยุธยาที่ลี้ภัยไปกรุงกัมพูชามาเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน

ส่วนปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ เกิดสุญญากาศทางการเมือง หลังกรุงแตกระยะหนึ่ง ตั้งตัวขึ้นเป็นอิสระหลายกลุ่มคือ กลุ่มสุกี้พระนายกอง กลุ่มพระยาพิษณุโลก กลุ่มเจ้าพระฝาง กลุ่มเจ้านครศรีธรรมราช และกลุ่มกรมหมื่นเทพพิพิธ ภายหลังจึงถูกปราบปรามรวมอำนาจเข้าไว้ที่กรุงธนบุรีแห่งเดียว

ที่สำคัญคือ กลุ่มอำมาตย์เก่า แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีการเคลื่อนไหวอย่างเงียบๆ เป็นคลื่นใต้น้ำ สั่งสมอำนาจบารมีรอจังหวะที่จะเคลื่อนไหว แม้พระเจ้าตากจะสามารถจัดการกับปัญหาบางอย่างด้วย “กำลัง” ได้อย่างดี สามารถชนะศึกทุกด้าน และสามารถฟื้นกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาทีละน้อย ทำให้สมณะชีพราหมณ์ ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขขึ้นบ้าง

ADVERTISMENT

ปรามินทร์ เครือทอง ชวนมองฉากสำคัญพระเจ้าตาก ตั้งแต่ช่วงปีแรกๆ ของแผ่นดินธนบุรีซึ่งเป็นเวลาแห่งการ “ก่อกู้กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา” บ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย เหล่าบรรดาผู้นำท้องถิ่นและนายชุมนุมยังคงรบแย่งชิงอาหารกันตามหัวเมือง ข้าวปลาอาหารขาดแคลน

พระเจ้าตากเร่งฟื้นคืนเยียวยาอาณาประชาราษฎร์ สถาปนากรุงธนบุรี

ไม่นานบรรดาผู้นำท้องถิ่นที่เคยปล้นชิงตามหัวเมืองใหญ่น้อยต่างชวนกันเข้ามาถวายตัวรับราชการ ส่วนบรรดาราษฎรที่ลี้ภัยสงครามไปซุ่มซ่อนอยู่ตามป่าเขาก็กลับมาสู่ภูมิลำเนาเดิม เป็นสัญญาณว่าความสงบสุขได้เกิดขึ้นในแผ่นดินกรุงธนบุรีแล้ว

ไม่เพียงด้านการบ้าน การเมือง แต่ยังรวมถึง ด้านพระพุทธศาสนา ซึ่งโปรดให้สร้างพระวิหารเสนาสนะกุฏิ

ทั้งยังปวารณาพระองค์ จะทรงอุปถัมภ์พระศาสนาจนถึงที่สุด

ทั้งหมดทั้งมวล ส่งผลให้ “ภาพลักษณ์” ของพระเจ้าตากในช่วงต้นรัชกาลทรงมีทั้งอำนาจ บารมี และศรัทธา ทำให้บ้านเมืองที่ย่อยยับไปแล้ว กลับฟื้นคืนมาอย่างเข้มแข็งอีกครั้ง

ย้อนไปในช่วงเวลาหลัง ‘กรุงแตก’ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีทุกฉบับกล่าวไว้สอดคล้องกับหลักฐานตำนานท้องถิ่นว่า พระเจ้าตากเมื่อคราวหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาก่อนกรุงแตกนั้น ได้มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออก โดยพระราชพงศาวดารไม่ได้กล่าวถึงเหตุผลในการตัดสินใจครั้งนั้นว่าเป็นมาอย่างไร แต่มีการวิเคราะห์กันภายหลังว่า เหตุที่ทรงเลือกมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออก เพราะพื้นที่แถบนั้นมีพม่าวางกำลังอยู่ไม่มาก เนื่องจากเป็นดินแดนที่มีชาว “แต้จิ๋ว” ตั้งถิ่นฐานอยู่ และเป็นเส้นทางที่สามารถ “หนี” ออกทางทะเลได้หากเกิดภาวะคับขัน

อย่างไรก็ดี การเลือกเดินทัพสู่ทิศตะวันออกนั้นไม่ได้สัมพันธ์อยู่แต่เพียงปัจจัยทางยุทธศาสตร์ หากแต่ยังเกี่ยวเนื่องกับ “เจตนา” ในการออกจากกรุงศรีอยุธยาขณะที่กรุงยังไม่แตก ว่าเป็นการ “หนี” เอาตัวรอด หรือเป็น “หนี” เพื่อตั้งหลักรวบรวมผู้คนมา “กู้กรุง”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งข้อสังเกตต่อเหตุผลเบื้องต้นของพระเจ้าตากว่าเป็นการ “หนี” เอาตัวรอดก่อน หลังจากนั้นก็ “เลยตามเลย” จัดตั้งขบวนการกู้ชาติภายหลัง ตามการบันทึกไว้ว่า “ขณะเมื่อพระยาตากยกไปจากกรุงศรีอยุธยานั้น ความมุ่งหมายเห็นจะมีเพียงที่จะหนีให้พ้นภัยจากข้าศึก ไปคิดหาภูมิลำเนาตั้งรักษาตัวเท่านั้น ยังหาได้คิดจะตั้งตัวเป็นใหญ่ในเมืองไทยไม่”

แนวคิดดังกล่าวสอดรับกับพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตรงที่ว่า พระเจ้าตากทรงประกาศตัวเป็น “เจ้า” เมื่อหนีไปถึงเมืองระยองแล้ว แต่ยังไม่ลงรอยกับพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เสียทีเดียว เพราะได้แสดง “เจตนา” ของพระเจ้าตากที่จะทรง “กู้กรุง” ตั้งแต่คืนแรกที่หนี คือทรงประกาศจะ “แก้กรุง” หลังจากทรงเห็นเพลิงลุกไหม้ในกรุงศรีอยุธยาโดยการระดมยิงของกองทัพพม่า เมื่อเดินทัพมาถึงบ้านสัมบัณฑิต ไม่ไกลจากเขตกรุงศรีอยุธยาเท่าใดนัก

ทั้งฉากสำคัญ ทั้งข้อสันนิษฐาน ทั้งการวิพากษ์หลักฐาน ถกเถียงสร้างสรรค์ พร้อมให้เปิดอ่านแล้วทุกบรรทัด ทุกหน้า ทุกคำ

สั่งซื้อและติดตามทุกช่องทางของสำนักพิมพ์มติชนที่

Line : @matichonbook

Youtube : Matichon Book

Tiktok : @matichonbook

Twitter : matichonbooks

Instagram : matichonbook

https://www.matichonbook.com

โทร 0-2589-0020 ต่อ 3350-3360