“รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล” กลางสมรภูมิแห่งการวิพากษ์ ปม “พระศรีสรรเพชญ์”

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

สร้างความฮือฮาในแวดวงประวัติศาสตร์โบราณคดีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559 เมื่ออาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ แห่งรั้วพ่อขุนราม นามว่า รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เสนอบนเวทีวิชาการ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร ว่าเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่จัดแสดงห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตร คือ เศียรของพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปสำคัญยุคกรุงเก่าที่เชื่อกันสืบมาว่าถูกพม่าเผาหลอมทองไปจนสิ้นสภาพ กลายเป็นประเด็นที่สร้างแรงกระเพื่อมหลายระลอก โดยเฉพาะเมื่อข้อสันนิษฐานดังกล่าว ได้รับการเรียบเรียงและพิมพ์เผยแพร่เป็นผลงานหนังสือ “พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก” วางแผงหมาดๆในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 45 และเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 เมษายนนี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ทว่า ยังไม่ทันถึงวันนั้น อุณหภูมิการถกเถียงในโลกโซเชียลก็ร้อนแรงจนแป้นพิมพ์แทบลุกเป็นไฟ

มีทั้งฝ่ายเห็นด้วย คัดค้าน ไปจนถึงกรรมการบนเวทีวิพากษ์

นักประวัติศาสตร์ผู้นี้เป็นใคร มาจากไหน ?
ทำไมจึงลุกมาเสนอแนวคิดดังกล่าวที่นำพาข้อหา “อยากดัง” มาติดบนหน้าผากของตัวเอง

Advertisement

รุ่งโรจน์ เกิดที่บ้านย่านจักรวรรดิ ในครอบครัวคนจีนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกระจก
เป็นลูกชายคนโตของบ้าน มีน้องสาว และน้องชายอย่างละ 1 คน
บิดาเป็นที่รู้จักในชื่อ “น. นพรัตน์” ผู้พี่-อานนท์ ภิรมย์อนุกูล ซึ่งล่วงลับไปนานหลายปี แต่ยังอยู่ในใจแฟนๆวรรณกรรมจีนไม่รู้ลืม
มารดามีพื้นเพอยู่ที่กาญจนบุรี ซึ่งเขาเรียกติดปากเวลาพูดถึงว่า “คุณนายแม่”

จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในฐานะ “เด็กสายวิทย์”
แล้วเบนเข็มเกือบ 360 องศามายังคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งปริญญาตรี โท และเอก
ร่ำเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี ภาษาบาลี สันสกฤต จนถึงภาษาเขมร

จากนั้น รับหน้าที่อาจารย์ด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม ม.ธุรกิจบัณฑิตย์อยู่หลายปี กระทั่งย้ายไปบรรจุเป็นอาจารย์ประจำที่ ม.รามคำแหง จนถึงปัจจุบัน
ด้วยความจำที่แม่นยำ และสนใจในบันทึกและเอกสารโบราณ จึงถูกแซวเป็นประจำว่า “พงศาวดารเดินได้”
เลือกปีนบันได “หอไตร” ไปอ่านอักษรขอมในคัมภีร์ใบลาน แทนวรรณกรรมจีนอย่างพ่อและอา
ชีวิตช่างมีสีสัน และเรื่องราวน่าประหลาดใจ
และต่อไปนี้คือบทสนทนาแบบเบาๆ ที่อาจทำให้รู้จักเขามากขึ้น

Advertisement

ชีวิตวัยเด็กเป็นอย่างไร รู้ไหมว่าพ่อกับอาเป็นคนดัง

ก็เหมือนเด็กทั่วไป แต่ครอบครัวเคร่งครัดในธรรมเนียมประเพณีจีนมากกกกก (ลากเสียง) เพราะตระกูลเดินทางมาจากจีนแผ่นดินใหญ่เลย ทำอะไรต้องตามขนบ ตั้งไหว้ ทำพิธีอะไรเป๊ะมาก แม่กับย่าจะเป็นคนจัด คนดูแลทั้งหมด พ่อมีหน้าที่จุดธูปอย่างเดียว ภาพที่จำได้คือ พ่อกับอา ทำงานแทบจะตลอดเวลา อยู่กับกองกระดาษา เอกสาร และหนังสือ ไม่รู้หรอกว่าเขาดัง จนกระทั่งไปโรงเรียนแล้วครูทำท่าตกใจพอรู้ว่าพ่อเป็นใคร เราตกใจกว่า คืองง ว่าครูทำตาโตทำไม พอโตขึ้นมาอีกหน่อย ก็ช่วยตรวจแก้คำผิดของต้นฉบับแปลก่อนส่ง เลยได้อ่านวรรณกรรมจีนเยอะ แต่ไม่ได้ชอบเป็นพิเศษ ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกัน พ่อเคยพาไปฝากฝังให้เรียนภาษาจีนกับอาจารย์ถาวร สิกขโกศล อาจารย์ท่านก็คงอยากจะจูงมือมาคืนพ่อ (หัวเราะ) ผมชอบทางอื่นมากกว่า

รู้ตัวเมื่อไหร่ว่าหลงใหลด้านประวัติศาสตร์

ไม่ทราบเหมือนกันครับ รู้แต่ว่าพอสอบเข้าคณะโบราณคดีแล้วได้เรียนกับท่านอาจารย์ มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ก็รู้สึกสนุกกับการอ่านหนังสือ และค้นคว้า ท่านเป็นครูที่ผมนับถือมาก ยังนึกถึงท่านมาจนวันนี้

กับ “ท่านอาจารย์” ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล อดีตคณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ที่ปราสาทตาพรหม กัมพูชา

ภาพความทุ่มเททำงานของพ่อ ส่งผลให้เป็นคนมุ่งมั่นค้นคว้าอย่างลึกซึ้งหรือไม่โดยเฉพาะในด้านเอกสาร

ก็น่าจะเกี่ยวนะครับ พ่อผมชอบให้ลูกๆเรียนหนังสือด้วยแหละ ท่านเห็นความสำคัญของการศึกษา คอยดูแลเรื่องการเรียน ลายมือ เรื่องนอนตื่นสายอะไรพวกนี้ ลืมเล่าไปเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่ตอนเด็กไม่คิดอะไร แต่โตมารู้สึกว่ามันตลกดีก็คือ เวลาถ่ายรูปครอบครัว ที่บ้านจะให้ใส่ชุดนักเรียน เขาชอบมาก (หัวเราะ)

เคยแก้ต่างให้สุนทรภู่เรื่องกวีขี้เมามาหลายปี จน’ชาวเน็ต’ รู้จักในประเด็นนี้มากกว่าอย่างอื่น

ใช่ครับ น่าจะเป็นเรื่องแรกๆที่ทำให้คนทั่วไปที่ไมได้อยู่ในแวดวงโบราณคดีรู้จักผมจากข่าวที่ไปแก้ตัวให้สุนทรภู่ (หัวเราะ) จริงๆคือ ในประวัติศาสตร์ไม่มีหลักฐานยืนยันเลย การที่แต่งกลอนว่า ไม่เมาเหล้าแต่เรายังเมารัก หรือ ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง ไม่สามารถเอามาฟันธงได้ว่าท่านขี้เมา ถ้าเมาจริงคงสร้างผลงานในปริมาณมหาศาลแบบนี้ไม่ได้แน่นอน

ในงานเขียน ไม่ว่าจะเป็นบทความทางวิชาการ หรือแม้แต่ในหนังสือเรื่องเศียรพระศรีสรรเพชญ์ มีการใช้คำเปรียบเทียบเยอะ ภาษาก็เป็นเอกลักษณ์ ไปเอาสำนวนพวกนี้มาจากไหน

คงติดปากมาจากหลายๆแหล่ง ทั้งวรรณกรรมจีน จารึก เอกสารโบราณของไทย ไม่รู้สิ ไม่ทันสังเกต หรือจะเป็นเพลงสุนทราภรณ์ ? รู้สึกจะมีคำจำพวก ‘เสี้ยนตำใจ’ ในบทแรกๆเลย (หัวเราะ)
คือ รู้สึกว่าคำพวกนี้พอใช้แล้วมันเห็นภาพดี อย่างบริบทที่กล่าวถึงในหนังสือคือประเด็นที่เชื่อกันต่อๆมาว่า อังวะเผาลอกทองพระศรีสรรเพชญ์ไป อันนี้ตำใจจี๊ดๆมาตลอด เพราะสงสัยว่าจริงหรือ ? อันนี้รวมถึงประเด็นพม่าเผากรุงจนวอดวายด้วย แต่ก่อนอื่น ขอย้ำนะครับ ว่าผมเชื่อว่ามีการเผาเกิดขึ้น แต่เป็นการเผาบางจุดในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อทำให้เสียขวัญเท่านั้น ไม่คิดว่าจะเผาจนบ้านเมืองเหี้ยนเตียนไปหมด ไม่เชื่อว่าเผาลอกทองพระศรีสรรเพชญ์ด้วย เพราะหลักฐานมันไม่สอดคล้อง เช่น บันทึกฝรั่งในช่วงเวลาร่วมสมัยกัน ระบุว่ามีไฟไหม้ก่อนพม่าเข้ามาถึงในกรุงเสียอีก ส่วนพระศรีสรรเพชญ์ ถ้าเผาเพื่อหลอมทองจริง ต้องใช้อุณหภูมิพันกว่าองศานะครับ ผนังวิหารต้องเหมือนเตาเผาภาชนะแล้ว คือ มีแร่ซิลิกาไหลเยิ้มออกมาติดกัน แต่ก็ไมได้เป็นอย่างนั้น นี่แหละเสี้ยนตำใจ ต้องศึกษาเพื่อบ่งออกอย่างไม่กลัวความเจ็บปวด ไม่เช่นนั้นจะเป็นหนอง แล้วแห้ง สุดท้ายทิ้งแผลเป็นไว้ให้ดูต่างหน้า เป็นไง สำนวน (หัวเราะ)

พอตัดสินใจบ่งเสี้ยน ได้ผลเป็นอย่างไร คำวิจารณ์ที่ย้อนกลับมาเป็นมีดที่คมกว่าเสี้ยนหรือไม่

พอเห็นพระเศียรใหญ่ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน แล้วบ่งเสี้ยนด้วยการค้นคว้าเอกสารต่างๆประกอบกับศึกษาเปรียบเทียบด้านรูปแบบศิลปะ ขนาด ทะเบียนโบราณวัตถุที่บอกว่าพบในวิหารหลวงวัดพระศรีสรรพชญ์ และอีกหลายๆสาขา แม้แต่วิทยาศาสตร์ เช่น เรื่องอุณหภูมิการเผาไฟ ทำให้เชื่อว่า เศียรนี้คือเศียรพระศรีสรรเพชญ์ วันที่นำเสนอในพช.พระนคร มีอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพท่านก็ให้กำลังใจ และมองว่าเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ ก็ต้องขอบคุณทั้งอาจารย์สันติ เล็กสุขุม อาจารย์ศักดิ์ชัย สายสิงห์ คุณประทีป เพ็งตะโก ซึ่งตอนนั้นเป็นผอ.สำนักศิลปากรอยุธยา ก็มาชี้แนะ ให้ความเห็น โดยตั้งข้อสงสัยหลายอย่าง เช่น เหตุใดเมื่อรัชกาลที่ 1 อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญมาปฏิสังขรณ์ในพระนคร จึงไม่ทรงอัญเชิญเศียรพระศรีสรรเพชญ์จากอยุธยามาด้วย ทั้งที่เป็นพระพุทธรูปสำคัญ ตรงนี้ผมเชื่อว่าตอนนั้น ไม่ทรงพบเศียรดังกล่าว เพราะอาจจมดิน หรือถูกฝังดิน เพื่อข่มขวัญ

หรือหากไม่ใช่เช่นนั้น ก็ไม่มีหลักฐานที่ระบุว่ารัชกาลที่ 1 ซึ่งเชื่อว่าทรงจดจำพระพักตร์ของพระศรีสรรเพชญ์ได้นั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังกรุงเก่าด้วยพระองค์เอง จึงเป็นไปได้ว่า อาจส่งข้าหลวงไป ส่วนการที่ไม่ซ่อมบูรณะพระศรีสรรเพชญ์ เพราะชำรุดเกินกว่าจะซ่อมได้นั้น ถามว่า พระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่ชำรุดมาก เช่น พระกรหายไป ก็ยังมีหลักฐานว่าได้รับการปฏิสังขรณ์ แสดงว่า การไม่ซ่อมพระศรีสรรเพชญ์ ต้องมีเหตุผลสำคัญ ซึ่งเชื่อว่า เป็นเพราะการไม่พบพระเศียร
สำหรับคำวิจารณ์ ก็โดนตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของแวดวงวิชาการที่ต้องถกเถียงเพื่อความก้าวหน้าของวิชาความรู้

 

…ถ้ามนุษย์ไม่กล้าคิดต่างจากคนรุ่นเก่า มัวแต่กลัวถูกด่า ถูกวิจารณ์ ป่านนี้เราคงยังนั่งกะเทาะหินเพื่อจุดไฟ ออกหาของป่า ล่าสัตว์

แทนที่จะค้นพบระบบสุริยจักรวาลแห่งใหม่อย่างในทุกวันนี้..

 

มีผู้ยกราชกิจจานุเบกษามาแสดงว่า ระบุสถานที่พบพระเศียรว่า ‘วัดพระศรีสรรเพชญ์’ โดยไม่มีคำว่า ‘วิหาร’ เลย

จะมีคำว่าวิหารหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะขนาดพระเศียรสูงเกือบ 2 เมตรอย่างนี้ เต็มพระวรกายจะสูงขนาดไหน และจากหลักฐานต่างๆเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปยืนด้วย ถามว่าจะมีอาคารใดในวัดรองรับได้นอกจากวิหารหลวง อาคารอื่นๆ ประดิษฐานไม่ได้ครับ ติดหลังคากันพอดี ดูเผินๆแค่ขนาดเสาก็รู้แล้ว ข้อมูลบางอย่างเถรตรงอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องใช้ความคิดด้านการวิเคราะห์ประกอบด้วย ดูความเป็นเหตุเป็นผล ถ้าไม่มีวิจารณญาณตรงนี้ จะลำบาก เป็นนักโบราณคดีไม่ได้ครับ

นอกจากนี้ ผมค่อนข้างแปลกใจที่มีคนถามหาภาพถ่ายเก่าอย่างจริงจังมาก เพราะเทคโนโลยีภาพถ่าย เข้ามาในไทยสมัยรัชกาลที่ 4 และส่วนใหญ่ถ่ายกันในกรุงเทพฯ ตัวกล้องเทอะทะมาก กว่าจะแบกมาถ่ายที่อยุธยา ไม่ใช่ง่ายๆ เลย ยุคนั้นนิยมถ่ายแต่ภาพคน หรือสถานที่สำคัญจริงๆ การถ่ายภาพซากปรักหักพัง เพิ่งจะมาถ่ายกันในยุคหลัง

ล่าสุดอาจารย์พิชญา สุ่มจินดา คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ ออกมาเสนอรูปแบบพระพักตร์พระศรีสรรเพชญ์บ้าง แต่ออกมาไม่เหมือนกับพระเศียรใหญ่พช.พระนครเลย

ผมมองอย่างนี้นะ คือ พระศรีสรรเพชญ์ถูกสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งมีพระพักตร์หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเหมือนหรือคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปที่อาจารย์พิชญานำมาใช้ศึกษาเปรียบเทียบด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ อย่างเช่น พระพุทธสำริดที่พบอยู่ในองค์พระมงคลบพิตร ที่เชื่อว่าสร้างในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ก็มีลักษณะพระพักตร์ที่คล้ายกับเศียรที่ผมเสนอว่าเป็นเศียรพระศรีสรรเพชญ์ นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูปทรงเครื่องยุคร่วมสมัยกัน ก็มีพระพักตร์คล้ายกับพระเศียรที่ผมเสนอว่าเป็นพระศรีสรรเพชญ์ อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณที่สนใจประเด็นนี้และมาร่วมนำเสนอ ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน (ยิ้ม)

ถ้ามีคนเดินมาบอกว่าข้อเสนอเรื่องนี้เป็นแค่การ ‘มโน’ จะโกรธไหม

(หัวเราะร่วน) แหม ! ประวัติศาสตร์นะครับ ก็ต้องใช้หลักฐาน บวกกับจินตนาการ ซึ่งเรียกว่าการตีความ ถ้ามีแต่จินตนาการอย่างเดียว ถึงจะเรียกว่า มโน ผมค้นคว้าและเขียนออกมาเกือบ 200 หน้า การมโนปริมาณเท่านี้ น่าจะเหนื่อยกว่าไปค้นเอกสารจากหอสมุดเยอะเลย

ถ้าข้อเสนอนี้ผิดขึ้นมา กลัวเสียหน้าหรือไม่

ไม่กลัว เพราะตอนนี้ผมเสนอเท่าที่มีหลักฐาน ประวัติศาสตร์โบราณคดี เป็นวิชาที่ไม่จบสิ้น หากในอนาคตมีการค้นพบข้อมูลเพิ่มเติมมาหักล้าง ก็ไม่เห็นจะเสียหน้าตรงไหน เผลอๆ อาจเป็นตัวผมเองที่หักล้างแนวคิดนี้ก็ได้ ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ อาจจะถูกมองว่าผิดในช่วงหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เจออะไรเพิ่ม อาจพลิกกลับมาเป็นถูก ในทางกลับกัน บางข้อสันนิษฐาน เคยได้รับการยอมรับว่าถูกต้อง ต่อมากลับผิดอย่างสิ้นเชิงก็ได้ เมื่อเจอข้อมูลหักล้าง

งานเปิดตัวหนังสือ 9 เมษายน เตรียมตัวรับศึกอย่างไร

หมายถึงคนมาค้านเหรอครับ (หัวเราะ) ผมไม่มีอาวุธนะ มีแต่ข้อมูลที่พร้อมจะนำเสนอ สมรภูมินี้ก็ขอให้เป็นสนามรบทางวิชาการ ไม่มีใครแพ้ ชนะหมดทุกคน หอบความรู้กลับไปพัฒนาป้อมค่ายของตัวเองให้แข็งแกร่ง เพราะในวันนั้นนอกจากผม ก็มีอาจารย์หลายท่านให้เกียรติมาร่วมด้วย ทั้งอาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ ที่ท่านเมตตามาปาฐกถานำ , อาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ และอาจารย์ลลิตา หาญวงษ์ รวมถึงอาจารย์เต๊ะ อัครพงษ์ ค่ำคูณ มาเป็นพิธีกร มุขท่านเยอะ ฮาแน่ ความรู้แน่นด้วย โฆษณางานซะเลย (ยิ้ม)

วัยรุ่นมีไอดอล นักประวัติศาสตร์มีไหม

มีหลายท่าน เพราะใช้ตำราประวัติศาสตร์หลายเล่มในการศึกษา ตอนเรียนประวัติศาสตร์เขมร ก็ไม่พ้น ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ชาวฝรั่งเศส ถ้าเป้นประวัติศาสตรืไทย คงไม่แคล้ว อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ซึ่งรับราชการที่กรมศิลปากร เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นคนที่คิดแบบตีลังกากลับหัวกลับหางหมุนเกลียว ถอยหน้าถอยหลัง (หัวเราะ) ในความหมายของผม หมายถึงท่านมองประวัติศาสตร์อย่างมีมิติ มีความแหลมคม ก้าวหน้ามากๆ ทั้งที่ตอนนี้อายุมากกว่า 70 ปีแล้ว มีการตีความระหว่างบรรทัด ไม่ได้ตีความตามตัวอักษรเท่านั้น อีกท่านหนึ่งคือ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ทุกคนคงรู้จัก ท่านทำผมอึ้งไปเลยด้านการวิเคราะห์เชื่อมโยงสถานการณ์ต่างๆในประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมไม่ใช่แค่ในอดีต แต่รวมถึงปัจจุบันด้วย

มีผู้ตั้งคำถามว่า แค่อยากดังหรือเปล่า เลยนำเสนอประเด็นใหญ่ และร้อนแรง

คำพูดพวกนี้ ผมไม่ได้ใส่ใจเลย นักวิชาการ นักปราชญ์ รุ่นเก่าๆ หลายท่านล้วนแต่เคยโดนข้อหาแบบนี้เมื่อนำเสนอข้อสันนิษฐานใหม่ๆ ถ้าเป็นผม หากมีเด็กรุ่นหลังเสนอทฤษฎีอะไรก็ตาม แม้ไม่เห็นด้วย ก็จะไม่กล่าวหาเขาด้วยคำพูดเหล่านี้ ไม่เช่นนั้น แวดวงวิชาการจะไม่พัฒนา คนกลัวถูกหาว่าอยากดัง กลัวถูกด่า ถูกวิจารณ์ ถ้ามนุษย์ไม่กล้าคิดนอกกรอบ คิดต่างจากคนรุ่นเก่า หรือแหวกความเชื่อเดิมๆ ป่านนี้เราคงยังนั่งกะเทาะหินเพื่อจุดไฟ ออกหาของป่าล่าสัตว์ แทนที่จะค้นพบระบบสุริยะจักรวาลแห่งใหม่อย่างในทุกวันนี้.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image