กระบวนการล้างชาติพันธุ์ มอง ‘กาซา’ เห็น ‘ปาย-ชายแดนใต้’ ทางออกสุดท้าย เมื่อคำว่า ‘บ้าน’ กลายเป็นชนวน

No Other Land สารคดีปาเลสไตน์-อิสราเอล ชนะรางวัลสารคดียอดเยี่ยม ปี 2025 ในพิธีประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 97

กระบวนการล้างชาติพันธุ์
มอง ‘กาซา’ เห็น ‘ปาย-ชายแดนใต้’
ทางออกสุดท้าย เมื่อคำว่า ‘บ้าน’ กลายเป็นชนวน

“เราไม่สามารถนิ่งเฉย ขณะที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กำลังเกิดขึ้นในกาซา”

ส่วนหนึ่งของสาระสำคัญในจดหมาย ที่กว่า 350 ชีวิตในวงการบันเทิงพร้อมใจกันลงนาม ส่งสารไปยัง ‘สถาบัน AMPAS’ ผู้แจกรางวัลออสการ์ ต่อการนิ่งกริบไม่แสดงปฏิกิริยาใดๆ กับการที่ ฮัมดัน บัลลาล หนึ่งในผู้กำกับ ‘No Other Land’ สารคดีชนะรางวัลออสการ์ ซึ่งถูกทหารอิสราเอลลักพาตัวไปทำร้าย

ตามมาด้วยข่าวน่าใจหายที่ไม่กี่วันมานี้ ‘ฟาติมา ฮัสโซนา’ ช่างภาพหญิงชาวปาเลสไตน์ ซึ่งกำลังจะเปิดตัวสารคดีในเทศกาลหนังเมืองคานส์ เสียชีวิตในบ้านหลังการโจมตีทางอากาศ และ ‘เธอกำลังจะแต่งงาน’

ทั้งที่ภาพยนตร์ควรเป็นแหล่งบ่มเพาะงานที่สร้างจุดยืน ‘ปกป้องเสียงผู้ถูกกดขี่’ สื่อสารเมสเสจ เพื่อกระตุกจิตสำนึกจากประวัติศาสตร์บาดแผลไม่ให้ก้าวพลาดซ้ำ หากแต่สถาบันออสการ์หาได้ขยับไม่…

ADVERTISMENT

การเพิกเฉยต่อความน่าสยดสยอง นำมาซึ่งความไม่พอใจของสมาชิก จนต้องออกมาขอโทษ

นับแต่การสังหารหมู่อันน่าสลดเมื่อ 7 ตุลาคม 2023 ไม่มีนักข่าวต่างชาติคนใดได้รับอนุญาตให้เข้าไปใน ‘ฉนวนกาซา’ จวบจนวันนี้มี ‘สื่อ’ ดับแล้วกว่าสองร้อย

การโจมตีทางอากาศที่ยังคุกรุ่น การเจรจาหยุดยิงที่บางชาติยังนิ่งเฉย ครั้งนี้ยิ่งเล็งไปที่ ‘จาบาเลีย’ พลเรือนไม่ต่ำกว่า 80 ชีวิตที่สูญเสีย 20 คนในนั้นเป็น ‘เด็ก’ ถือเป็นสัญญาณน่าหวั่นใจ ของความรุนแรงที่ยิ่งเดือดดาลไม่ต่างจากสถานการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้

ต่อสู้ความกลัว ทลายกำแพง ‘ความเกลียด’
บทบาทสื่อในสงครามกวาดล้าง

จากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง หลายภาคส่วนในไทยเริ่มขยับ ทั้งผู้ผลิตสารคดี Documentary Club, หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ที่จัดฉายรอบพิเศษเมื่อเสาร์ผ่านมา

แฟลชแบ๊กกลับไปต้นเมษายน วิทยาลัยนวัตกรรม แห่งรั้วธรรมศาสตร์ ได้เปิดบ้านฉาย ท่ามกลางนักศึกษา ทั้งนิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์ ล้นทะลัก ตั๋วถูกจับจองเต็มที่ทุกนั่งจนถึงขั้นยืนมุงจอ

“No Other Land ใครจองแผ่นดินนี้” ผลงานผ่านเลนส์สายตาของคนในทั้งสองชาติ

ยูวาล อับราฮัม นักข่าว, ราเชล เซอร์ ผู้กำกับชาวอิสราเอล

บาเซิล อาดรา นักข่าวและนักเคลื่อนไหว, ฮัมดัน บัลลาล ช่างภาพและผู้กำกับชาวปาเลสไตน์

ซุ่มเก็บฟุตเทจใน ‘เขตทหารมาซาเฟอร์ยัตตา’ ขณะรถของกองทัพอิสราเอลไล่โค่นสิ่งก่อสร้าง กวาดต้อนผู้คนออกจากบ้านเพื่อเปลี่ยนเป็นฐานทัพฝึกซ้อม

ตลอด 1 ชั่วโมง 32 นาที บันทึกวินาทีที่ ‘บ้าน’ ถูกทำลายไปต่อหน้าพร้อมๆ กับเสรีภาพ

ได้เห็นป้ายรถสีเหลือง-เขียว ที่กลายเป็นสัญลักษณ์จำแนกคน 2 ชาติ

เห็นอำนาจทำลายล้าง เห็นกระทั่งการ ‘ตัดท่อน้ำ’ สกัดการลำเลียงทรัพยากรอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานต่อการมีชีวิต

ได้เห็นการลุกขึ้นต่อสู้แบบอหิงสา ม็อบ 3 วันต่อสัปดาห์

“มันเป็นการต่อสู้ของทั้งคนในหมู่บ้าน เพื่อรักษาบ้าน รักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

แม้กระทั่งบทบาทนักข่าวที่ต่อสู้กับภายในจิตใจตัวเอง”

(จากซ้าย) อ.ดร.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ, ฐปณีย์ เอียดศรีไชย และ นพรุจ สงวนจังวงศ์ ผู้ดำเนินรายการ ในเวทีสนทนาเรื่อง “บ้าน สงคราม ความขัดแย้ง” เมื่อ 4 เม.ย. ที่ห้อง 404 วิทยาลัยนวัตกรรม มธ. ท่าพระจันทร์

หลังจบฉากสุดท้าย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้ง The Reporters นั่งสนทนา “บ้าน สงคราม ความขัดแย้ง” ถอดความหมายของดินแดนและสิทธิมนุษยชน ในโลกยุคที่ซับซ้อนที่สุดยุคหนึ่ง มองหนังเรื่องนี้สะท้อนถึงตัวเองโดยตรง ในแง่บทบาทนักข่าว

ส่วนตัวเคยไปอิสราเอล 2 ครั้งเพราะอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งผลกระทบกับแรงงานไทย แม้จะเข้าไม่ถึงฉนวนกาซา แต่ไปจนถึงจุดเกิดเหตุ เทศกาลดนตรีในเรอิม ที่ผู้เสียชีวิตมากที่สุด

“วันที่ไปเป็นวันที่เริ่มเปิดฉากรบ เห็นคราบเลือด ร่องรอยต่างๆ เราไปแบบดุ่มๆ ไม่มีอะไรป้องกัน ขับรถเก่าๆ ไปกับสามี-ภรรยาที่เป็นแรงงานไทยที่นั่น เป็นภาพจำที่เราไม่อยากเห็น เห็นรถถัง สงครามที่ทำลายผู้คน”

และแม้จะเข้าไปไม่ถึง ‘เวสต์แบงก์’ แต่เพียงแค่ผ่านกำแพง ยังสัมผัสได้ถึงความแบ่งแยก

“ตอนนั้นเกิดเหตุการณ์มันปิดอยู่ ทางไปหมู่บ้านปาเลสไตน์ ไม่ได้อยู่ในฉนวนกาซา แต่มีทหารคอยตั้งด่าน”

สำหรับฐปณีย์ พยายามเรียนรู้และมองย้อนมาที่ ‘ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้’ หรือแม้แต่กรณี ‘เมียนมา’ การพยายามเข้าไปศึกษาชาติพันธุ์ รัฐฉาน กะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งเป็นการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ ของคนที่อยากได้ดินแดนกลับมา มันเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานมากและไม่ใช่แค่ที่เดียว

“เราพยายามไปทุกที่เพื่อถ่ายทอดให้คนไทยเห็นและเข้าใจ ตอนที่ทำเรื่องโรฮีนจาโดนกระแสเกลียดชัง IO เลยรู้สึกว่า ‘ไม่ได้ ต้องทำมากกว่านี้’ พาตัวเองไปที่รัฐยะไข่ เมืองหมองดอร์ เพื่อเรียนรู้ชีวิตว่าหมู่บ้านที่ถูกปิดกั้นสิทธิ ไม่มีอะไรเลยแล้วถูกค้ามนุษย์ เขารู้สึกอย่างไร ต้องไปถ่ายทอดความจริง

และมันกลายเป็นหลักฐานที่นำมาสู่การดำเนินคดีกับอาชญากรรมข้ามชาติ”

บอกตรงๆ ว่าอุปสรรคขวากหนาม เจอตลอด

“ต้องระมัดระวัง กลายเป็นว่าคนไทยเป็นเงื่อนไขของเหตุการณ์ด้วย มีคนงานไปทำงานอยู่ แล้วบทบาทของไทยต่อเรื่องนี้จะเป็นท่าทีแบบไหน มันมีหลายมิติ หน้าที่เราคือเสนอให้ครบทุกด้านที่สุดตามข้อเท็จจริง”

แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือ ‘ภาวะความหวาดกลัว’ ที่พร้อมถูกชักจูงได้ตลอด หวังว่าหนังเรื่องนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจที่อาจไปทลายกำแพงความเกลียดชังและความหวาดกลัวที่มีต่อกันได้บ้าง

“บางครั้งขอแค่ความเข้าใจ ว่าทำไมเขาอยากอยู่ที่นี่ เพราะเขาเกิดที่นี่ ต้องการรักษาอัตลักษณ์ของเขา”

(จากซ้าย) บาเซิล อาดรา, ราเชล เซอร์, ฮัมดัน บัลลาล และ ยูวาล อับราฮัม ทั้ง 4 คนขึ้นรับรางวัลบนเวทีออสการ์ครั้งที่ 97 พร้อมเรียกร้องให้ยุติการกวาดล้างชาติพันธุ์

จุดร่วมที่ส่อเค้าใน ‘สามจังหวัด’
กระบวนการลบตัวตน กลืน ‘ความเป็นคน’

เห็นจุดไหนที่เทียบเคียง ทั้งเรื่องชาวปาเลสไตน์ โรฮีนจา อุยกูร์?

นักข่าวสายลุยตอบได้ทันควัน ‘มันเป็นเรื่องสิทธิความเป็นมนุษย์’ ต่างก็สู้เพื่อดินแดนที่อยู่มาก่อน แต่การทำให้ไม่มีตัวตนบนโลกนี้ มันคือจุดร่วมเดียวกัน

“กลืนชาติ กลืนความเป็นมนุษย์ ถูกทำให้หายไป เป็นความเจ็บปวดเดียวกัน ทำให้เรารู้ว่าคนเหล่านั้น ‘สู้แค่เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ ให้ไม่ถูกทำลาย ในเมียนมาก็เหมือนกัน ถ้าเราได้เรียนรู้ชะตากรรมของเพื่อนชาติพันธุ์ที่เผชิญอยู่ จะทำให้เราหันกลับมามอง และไม่ยอมรับเรื่องแบบนี้”

จุดร่วมเดียวที่รู้สึกได้ ‘ไทยตอนนี้ ก็เกิดปัญหาแบบนี้ในสามจังหวัด’

“กระทั่งคำว่า ‘ปาตานี’ ก็ยังพูดไม่ได้ การแต่งกายชุดมลายู ผิดกฎหมาย วันนึงจะเกิดปัญหาแบบปาเลสไตน์หรือเปล่า หรือแบบโรฮีนจา อุยกูร์ ถ้าเราไม่ช่วยกันสร้างความเข้าใจ” ฐปณีย์เทียบเคียงกับปัญหาในบ้านเรา

มิติที่มองว่า ต้องการแบ่งแยกดินแดน มีเส้นบางๆ ที่ยังสร้างความไม่เข้าใจ และอาจลุกลามเป็นความขัดแย้งในมิติอื่นๆ

มอง ‘เวสต์แบงก์’ เห็นไทย
อาณานิคมแบบผู้ตั้งถิ่นฐาน เมื่อ ‘บ้าน’ กลายเป็นชนวน

ในสายตาของ อ.ดร.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ชื่นชมคนทำหนังเรื่องนี้ที่กล้าเสี่ยง

มองเห็นหลายเลเยอร์ที่ทับซ้อน แต่เมื่อลองเอาคำพูดตลอดทั้งเรื่อง ไปใส่ใน Word Cloud ปรากฏคำว่า Village มากที่สุด มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับบ้านของคนคนหนึ่งที่กำลังถูกทำลาย, Think ที่สัมผัสได้ถึงความกลัว ไม่มั่นใจ ส่วนคำว่า Basel ซึ่งเป็นชื่อของผู้กำกับ ภาษาอาหรับแปลว่า Brave (ความกล้า)

เมื่อลองฟิลเตอร์เฉพาะคำที่มีนัยยะทางการเมือง นอกจาก Village ยังพบ Army, Soldiers, Arrest และ Land สะท้อนการกระทำที่เจ็บปวดอย่างสังเกตได้ คำที่มีความรู้สึกผุดขึ้นเยอะมาก เช่น Hope, Mother, Home, Memory และ Father ฯลฯ

“สำหรับผมรู้สึกว่ามันกระตุ้นอารมณ์ และทำให้รู้สึกว่าในทางการเมืองมีอะไรหลายอย่างที่เกิดตรงนั้น โดยที่เราอาจจะไม่เคยเห็นหรือทราบมาก่อน”

ธีมหลักที่ว่าด้วยเรื่อง ‘บ้าน’ ซึ่งไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้าง หมายถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรรม แต่ด้วยปัจจัยอะไรกันที่ทำให้คำว่า ‘บ้าน’ กลายเป็นชนวนขัดแย้งที่หาทางออกไม่ได้ และเป็นตัวจุดชนวนในหลายพื้นที่ทั่วโลกด้วย?

ในมุม อ.ดร.ฟูอาดี้ยกภาษาวิชาการเรียกว่า ‘Settler Colonialism’ การล่าอาณานิคมแบบผู้ตั้งถิ่นฐาน ว่าง่ายๆ คือ การเอากลุ่มคนหนึ่งเข้าไปเพื่อไปสลายอัตลักษณ์ของอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเริ่มต้นในสหรัฐ แคนาดา นิวซีแลนด์ ในหลายๆ ครั้งจึงเห็นประเทศเหล่านี้มีการตอบโต้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอิสราเอล

“มุมมองของอิสราเอล คือเป็น ‘คนนอกประเทศ’ ที่เข้ามาอยู่ แต่ถ้ามองในมุมภายในใช้คำว่า Demographic Engineering ซึ่งคล้ายกับ Transmigration คือการ ‘ย้ายถิ่นฐาน’ เพื่อมากลืนภาษา ศาสนา ต่างๆ

เหมือนที่เกิดขึ้นใน ‘เวสต์แบงก์’ คือการเอาชาวยิวเข้าไปอยู่ พยายามสร้างถิ่นฐานถาวร แล้วไล่คนที่อยู่ตรงนั้นออกไป เป็นบ้านใหม่ที่สร้างขึ้นในดินแดนที่มีคนอยู่อยู่แล้ว มันเลยเป็นปัญหาจนทุกวันนี้” อ.ดร.ฟูอาดี้ชี้

ยกกรณี ‘ชาวอุยกูร์’ ที่ซินเจียง ก็มีลักษณะเดียวกันคือ ‘ชาวฮั่น’ ถูกเกณฑ์ไป คนมุสลิมที่อยู่ในซินเจียงก็ถูกบังคับไม่ให้ถือศีลอด, ละหมาด มัสยิดถูกทำลาย

‘ชาวชวา’ ถูกส่งไปเกาะต่างๆ เพื่อแต่งงานเป็นชนชั้นปกครอง เอาประชากรไปซึมในหมู่เกาะต่างๆ ของอินโดนีเซีย

หรืออย่าง ‘เมียนมา’ ก็เห็นมาเลเซีย ย้ายคนไปอยู่ซาบาห์-ซาราวัก เพื่อที่จะไปคอนโทรลตรงนั้น มันเกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทยเอง

“อย่าง 200 กว่าปีที่แล้ว ตอนที่สยามไปยึด ‘ปาตานี’ ก็มีลักษณะนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรียกว่า ‘Siamization’ คือเอาคนหลายแสนเข้าไปอยู่ใน 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งในยุครัฐบาลทักษิณก็เคยมีการเสนอไอเดียแบบนี้ขึ้นมา

แค่อยากบอกว่า เหตุการณ์ที่เราดูในหนัง มันเริ่มต้นจากพื้นฐานแบบนี้ และไม่ใช่ที่เดียวในโลก”

“ถ้าพ่ายแพ้ในทางกฎหมายก็อาจจะทำได้ แต่ในแง่สิทธิมนุษยชนมันก็เป็นปัญหาอยู่ ตอนที่ชาวสยามถูกเกณฑ์ไปอยู่สามจังหวัด ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในลักษณะเดียวกัน ลามมาจนถึงทุกวันนี้” อ.ดร.ฟูอาดี้ขยายความให้เห็นหัวเชื้อของเปลวไฟ

อิสราเอลถล่มกาซา เมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 80 ราย ด้านกาตาร์ชี้ชัด ยิวไม่สนใจการเจรจาหยุดยิง

ล้างเผ่าพันธุ์รูปแบบใหม่
ถอดหมวก-เห็นใจ ทางออกยังมีไม่สายเกิน

มองคาแร็กเตอร์ที่น่าสนใจที่สุด คือ ‘ยูวาล อับราฮัม’

อ.ดร.ฟูอาดี้อธิบายว่า การล้างเผ่าพันธุ์ (Ethnic Cleansing) ไม่จำเป็นต้องฆ่า แต่เป็นการทำให้อัตลักษณ์หายไป

ซึ่ง เอ็ดเวิร์ด ซาอิด ให้นิยามการกระทำแบบนี้ว่า Contrapuntal Intellectual เหมือนเวลาเล่นโน้ตสองเสียงไปพร้อมๆ กัน

มองคนอย่างผู้กำกับเป็นปัญญาชนที่มองเห็นและสะท้อนความจริงหลายด้าน คนที่มีคาแร็กเตอร์อย่าง Yuval เป็นความหวังให้เราได้ ในทุกๆ ประวัติศาสตร์ เช่น เนลสัน แมนเดลลา ผู้นำการเปลี่ยนแปลงของแอฟริกาใต้

“การเปลี่ยนแปลงของพม่าในปี 2011 ก็เหมือนกัน ‘เต็ง เส่ง’ ประธานาธิบดี ก็ทำงานร่วมกับ ‘ออง ซาน ซูจี’ จนในที่สุดก็มีการเปลี่ยนผ่าน คืออย่างน้อยมีการพูดคุยเห็นอกเห็นใจกัน และคิดว่าบ้านเมืองจะต้องเปลี่ยนแปลงได้แล้ว

บ้านเราเองที่ผ่านมา การปกครองต่างๆ ผมว่าก็มีทริกเกอร์ทั้ง 2 ฝั่ง ในลักษณะนี้อยู่ เพื่อลดการนองเลือดและเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ดีกว่า”

ก่อนยกโควตหนึ่งที่ Yuval Abraham กล่าวในงานออสการ์

“I don’t think we can have security if Palestinians do not have freedom”

“การที่เรารู้สึกเจ็บปวดจากแผลที่ชาวปาเลสไตน์ถูกกระทำ เขาเองก็ควรจะรู้สึกปลอดภัยได้เหมือนกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบันนั้น ‘ไม่โปรเฟสชั่นนอล’ มันเกิดการทำลายล้างมากเกินไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการกระทำหลายๆ อย่างของ ‘ฮามาส’ นั้นถูกต้องเสมอไป

“ถอดอีโมชั่น และ Identity ของตัวเองออกไป มันมีช่องทางให้เดินอยู่ บางทีเราอาจจะต้องถอดหมวกของตัวเองออก แล้วมองดูว่าสิ่งที่ควรจะเป็น มันเป็นอย่างไร” บุตรชายของอดีตเลขาฯอาเซียนแนะ

ปัจจุบันมีองค์กรที่ทำหน้าที่แบบ Yuval ในหนังอยู่เยอะ ซึ่งสำคัญมาก อย่าง Breaking the Silent ที่เข้าไปคุยกับทหาร แล้วเอาเรื่องต่างๆ มาเล่า ทำให้เห็นว่าทหารอิสราเอลทำไม่ถูกต้อง รวมถึงกลุ่ม Combatants for Peace (CfP), Jewish voice for peace เป็นต้น

พร้อมยกสปีชของ Yuval ตอนรับรางวัลออสการ์

“เราสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเมื่อเรารวมกันเสียงจะดังขึ้น เราเห็นตรงกันถึงการทำลายล้างอย่างโหดร้ายในฉนวนกาซา

เมื่อพวกเขามองไปที่ Basel ฉันเห็นพี่ชายของฉัน แต่เราไม่เท่าเทียมกัน ฉันอยู่ในระบอบที่เป็นอิสระภายใต้กฎหมายพลเรือน และ Basel อยู่ภายใต้กฎหมายทหารที่ทำลายล้างชีวิตของพวกเขาอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้

แต่มันยังมี ‘เส้นทางอื่น’ วิธีแก้ปัญหาทางการเมืองที่ไม่แบ่งแยกชนชั้นทางชาติพันธุ์ ด้วย ‘สิทธิอันชอบธรรมที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด’ (National Rights) แต่นโยบายต่างประเทศ กำลัง ‘ปิดกั้นเส้นทางนี้’ ทำไมคุณถึงมองไม่เห็นว่าเราเชื่อมโยงกัน ว่าประชาชนของฉันจะปลอดภัย หากประชาชนของ Basel รู้สึกเป็นอิสระและปลอดภัยอย่างแท้จริง

ยังมีอีกทางหนึ่งที่ไม่สายเกินไป สำหรับชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขา และมันไม่มีทางอื่นอีกแล้ว” – Yuval Abraham

อ.ดร.ฟูอาดี้ยังทิ้งท้ายถึงเคสที่เต็มไปด้วยความห่วงกังวลจากคนไทยด้วยว่า

“ผมก็เจ็บใจเหมือนกัน ตอนเกิดเรื่องที่ ‘เมืองปาย’ สิทธิทางศาสนา ต้องแยกให้ออกจากสิทธิทางการเมือง

การนิยามเรื่องนี้ว่าอะไรผิด-ถูก เป็นสิ่งที่ยากมากในการเลือกที่จะสื่อสาร”

เมื่อไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับอิสราเอลมาช้านาน สิ่งที่พอจะแนะนำได้คือการมีจุดยืนที่ชัดเจน

“รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ยืนหยัดประชาธิปไตย จะได้รับความเคารพจากทุกประเทศ”

อธิษฐาน จันทร์กลม