ยาขมอารมณ์ดี ‘ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์’ ทำไม ‘อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก’

สำหรับคนไทยหลายๆ คน วิทยาศาสตร์อาจเป็นยาขมหม้อใหญ่ โดยเฉพาะงานวิจัย แค่เอ่ยถึงก็เบือนหน้าหนี เพราะการอธิบายที่แสนจะเป็นวิชาการ ชวนให้ง่วงเหงาหาวนอน ยังศัพท์แสงที่ต้องแปลไทยเป็นไทยอีก
ทว่า ในกฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น (ฮา)
เช่นหนังสือเล่มนี้ “อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก” จากค่ายมติชน
ด้วยเนื้อที่หยิบเอางานวิจัยเล็กๆ แปลกๆ มาเรียกความสนใจอย่างท้าทาย
อาทิ ทำไมเราจึงไม่ควรชวนคู่เดตไปดูหนังรักหวานซึ้ง แต่กลับควรพาไปดูหนังบู๊ระเบิดภูเขาเผากระท่อม
น่าสนใจมั้ยถ้าจะบอกว่านางโชว์ในวันไข่ตกจะได้รับเงินทิปมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพราะดูเซ็กซี่มากขึ้น แล้วยังมีเรื่องของความกลัวที่อาจส่งผลกระทบกับคนรอบข้างจนดูคล้ายกับเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ฯลฯ
จึงไม่แปลกถ้าจะบอกว่า หนังสือเล่มน้อยๆ เล่มนี้เป็นหนึ่งในเล่มที่มีผู้สนใจหยิบลงตะกร้าไม่แพ้บรรดาหนังสือหนาๆ หนักๆ ที่มีอยู่มากมายมหาศาล โดยเฉพาะในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45 ที่กำลังจะเสร็จสิ้นในวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายนนี้แล้ว
ด้วยตำแหน่งหน้าที่ที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้หลายคนอาจจะเกร็ง แต่ตรงกันข้าม ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ หรือ ดร.ชิ้น เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักแปล นักเขียน นักสื่อสาร และนักอะไรต่อมิอะไรมากมายที่อารมณ์ดี เต็มไปด้วยเรื่องเล่ามากมาย
อยากรู้ว่า ทำไมจึงไม่ควรชวนเธอไปดูหนังรัก…ต้องพิสูจน์

ฮอร์โมนมีผลให้ผู้หญิงเซ็กซี่ขึ้น?

ฟังดูเหลือเชื่อนะครับ แต่นี่คือความจริง ความสำเร็จของวิวัฒนาการคือมีการส่งมอบพันธุกรรมของตัวเองไปให้รุ่นลูกรุ่นหลาน อย่างผมตอนนี้ไม่มีลูกถือว่าผมล้มเหลวในเชิงวิวัฒนาการ ถ้าใครมีลูกมากๆ ถือว่าประสบความสำเร็จ
ฉะนั้น พูดแบบทั่วๆไป ไม่เอาศีลธรรมเข้ามาเกี่ยว ยิ่งมีลูกมากเท่าไหร่ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยผู้ชายก็มีความพยายามที่จะโกงเพื่อให้ตัวเองมีลูกเยอะๆ ผู้หญิงก็เช่นกัน แล้ววิธีโกงบางอย่างก็โกงโดยไม่รู้ตัว อย่างที่บอกว่า ผู้หญิงในวันที่ตกไข่จะรู้สึกอยากทำตัวเซ็กซี่มากกว่าปกติ บางอย่างไม่ต้องทำด้วยซ้ำ คือมีฮอร์โมนบางอย่างมาปรับให้ร่างกายเซ็กซี่มากขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นกลไกโดยธรรมชาติ ที่มนุษย์เมื่อ 2-3 ล้านปีที่ผ่านมามันพัฒนากลไกเหล่านี้เพื่อให้ได้ลูกหลานมากที่สุดเพื่อให้ไม่สูญพันธุ์ ซึ่งงานวิจัยก็สนับสนุนว่าเรื่องวิวัฒนาการมีอยู่จริง

งานวิจัยแต่ละหัวข้อดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่น่าสำคัญ?

ครับ ถูกต้อง งานวิจัยมันเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งในภาพๆ หนึ่งใช้จิ้วซอว์เป็นล้านชิ้น ก็เหมือนที่บอกว่า “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” จริงๆ แล้วมันไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนที่ขึ้นหิ้ง เพียงแต่ ณ ตอนนี้เราเองยังไม่รู้ว่ามันจะไปหย่อนลงตรงไหน เหมือนกับงานวิจัยเรื่องหนึ่งที่พูดถึงเรื่องการโกง ถ้าเห็นคนอื่นโกง เห็นการตรวจสอบที่หละหลวม ก็มีแนวโน้มที่คนอื่นจะโกง ถามว่ารู้เรื่องนี้แล้วได้อะไร ได้สิ คุณก็เซ็ตระบบให้มันเปิดเผยมากๆ มันก็จะโกงยาก เพราะการโกงมันก็มีเงื่อนไขของมัน

Advertisement

หัวข้องานวิจัยจะเรื่องเล็กแค่ไหนก็ทำได้?

ครับจะเป็นเรื่องเล็กแค่ไหนก็ได้ ประเด็นคือ ต้องเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้ งานวิจัยบางอย่างอาจจะรู้สึกตลกด้วยซ้ำว่าทำไปทำไมเราน่าจะรู้อยู่แล้ว ยกตัวอย่าง คนทำอะไรซ้ำๆ แล้วจะทำให้ไม่อยากทำอีก คำถามคือ ไม่เห็นต้องทำวิจัยเลย แต่ถามว่ามีประโยชน์มั้ย มีนะครับในประเทศสมัยใหม่
ยกตัวอย่าง การปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมของฟอร์ด ก่อนหน้านี้รถยนต์ต้องคนรวยมากจึงจะซื้อได้ เพราะเป็นการทำโดยใช้ประกอบมือ แต่ของฟอร์ดใช้ระบบสายพาน คน 1 คนทำหน้าที่อย่างเดียว ถามว่า ทำอย่างนี้งานซ้ำๆ ทำให้น่าเบื่อมั้ย ก็ใช่ แต่เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงที่สุด ถามต่อว่าแล้วทำอย่างไรจะให้คนทำงานซ้ำได้โดยมีความกระตือรือร้นและมีความสุขสูงสุด ก็จะมีงานวิจัยมาต่อ

ในต่างประเทศสามารถหยิบงานวิจัยคนอื่นมาขยายผลใช้เป็นส่วนตัวได้?

ตรงนี้สำคัญ เป็นวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ คือฉันรู้อะไร ฉันบอกว่าฉันรู้โดยการตีพิมพ์ แล้วความรู้ตรงนี้เป็นสาธารณะ คนอื่นสามารถเอาความรู้นี้ไปต่อยอดได้ และในทางกลับกันข้อดีของการเปิดเผยข้อมูลคือ ถ้ามีคนกลุ่มหนึ่งเอาข้อมูลเท็จมาตีพิมพ์ ถ้าผลมันน่าสนใจมาก คนอื่นจะทำซ้ำ ถ้าไม่ได้ผลก็จะเริ่มตั้งข้อสงสัย ที่สุดก็จะโดนจับได้ ฉะนั้นระบบวิทยาศาสตร์มันจะแก้ไขความเข้าใจผิดไปเรื่อยๆ ข้อมูลที่ถูกต้องเท่านั้นมันจะถูกส่งต่อไป ถ้าข้อมูลไม่ถูกต้องมันจะถูกแก้ไข

ว่ากันว่าเหตุผลที่คนไทยไม่ค่อยมีความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ส่วนหนึ่งเพราะเมื่อเรียนถึงระดับหนึ่งต้องเลือกระหว่างวิทย์หรือศิลป์?

ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ผมว่าปัญหาใหญ่สุดเลยคือ เราขาดคนเก่งทางวิทยาศตร์ที่จะสอน เราขาดสื่อดีๆทางวิทยาศาสตร์ แม้แต่ผมตอน ม.ปลาย ผมเรียนเตรียมอุดมฯ ผมเรียนฟิสิกส์เกือบตก ปรากฏว่าพอมาถึง ม.6 อาจารย์อีกท่านสอน และสอนทบทวนความรู้ของ ม.4-5 ให้ด้วย ผมพบว่าวิชาที่ตอนผมเรียน ม.4 ที่เกือบตก มันง่ายมากจนน่าตกใจ จึงบอกว่าขึ้นอยู่กับคนสอนด้วย เพราะสติปัญญาเราก็เท่าเดิม แต่พอเปลี่ยนคนสอน วิชามันง่ายเลย

Advertisement

ซึ่งวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องการทดลองน่าจะสนุก?

ใช่ครับ เรื่องหนึ่งในห้องเรียนที่ถือว่าผิดพลาดมากคือ เราเอาเนื้อหามาสอนก่อน แล้วค่อยทำการทดลอง หรือไม่ได้ทดลองเลย หลายแห่งเป็นการทดลองแห้งๆ ซึ่งอันนี้ผิดหลักธรรมชาติทางวิทยาศาสตร์มากๆ เพราะธรรมชาติของนักวิทยาศาสตร์คือ สังเกตแล้วสงสัยจึงไปหาคำตอบ ฉะนั้นสิ่งซึ่งควรทำในห้องเรียนอย่างแรกคือ ทำการทดลองก่อน เด็กจะประหลาดใจว่าทำไมเป็นแบบนี้ หลังจากนั้นจึงอธิบาย แต่ของเราพอเข้ามาปุ๊บสอนสูตรสมการยากๆ แล้วจึงเริ่มทดลอง ก็ตกม้าตายตั้งแต่เริ่มฟังแล้ว เพราะฟังก็ไม่เข้าใจ ทดลองก็ไม่เก็ต

ปัจจุบันมีการเปลี่ยนวิธีการสอน?

เท่าที่ทราบก็ยังไม่ค่อยเปลี่ยนนะครับ มันมีการบริหารจัดการที่ผิดพลาดในด้านเนื้อหาที่สอน น่ากลัวมาก (เน้นเสียง) หมายความว่าเนื้อหาที่ผมเรียนมัธยมปลายมันไปอยู่มัธยมต้นแล้ว คำถามคือจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องอัดความรู้ให้เด็กตั้งแต่ยังอยู่ชั้นน้อยๆ บางคนวิเคราะห์ว่ามีเด็กจำนวนมากที่โตแล้วไม่สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์เลย เพราะเบื่อ เรียนแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่อยากอ่านไม่อยากรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อีกเลย ซึ่งเป็นผลร้ายมากๆ เพราะโลกผลักดันไปด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราไม่สามารถที่จะเป็นประเทศพัฒนาแล้วถ้าเราไม่มีประชากรจำนวนมากพอที่เกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สหรัฐอเมริกาคนส่วนใหญ่ของเขาก็เหมือนกับบ้านเรา แต่ข้อต่างคือ เขามีโครงสร้างของระบบการศึกษา โครงสร้างของสังคมดีมาก ฉะนั้นคนที่มีความรู้คนที่เก่งสามารถต่อยอดไปได้สูงมาก สามารถมีเครือข่ายของคนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์มีมากกว่าก่อนหน้ามาก เพราะจำนวนนักวิทยาศาสตร์ที่อพยพหนีตายจากยุโรปจากการที่ฮิตเลอร์ไล่ฆ่าชาวยิว มาอยู่ที่อเมริกาเยอะมาก เป็นแรงผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น
ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น ถ้าไปดูนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลจะพบว่า มีฝรั่งแค่ 1 ใน 4 ที่เหลือหน้าตาเป็นคนเอเชีย เป็นฮิสแปนิก ฯลฯ เพราะเขาเปิดโอกาสให้ชาติต่างๆ เข้าไปแสดงศักยภาพ

งบประมาณในการวิจัยบ้านเราน้อย?

ครับ 0.25% มานานมากแล้ว ขยับขึ้นไปปีล่าสุดก็ไม่ถึง 0.5 ดี เทียบกับเกาหลี 4-5% ต่างกันมาก ครอบครัวต้องมีเงินกองกลางสำหรับใช้กินใช้อยู่ในการหาความรู้ ประเทศก็เหมือนกันก็ต้องวางแผนว่าจะลงทุนเพื่อความก้าวหน้าอะไรอย่างไร
มีงานวิจัยที่บอกว่าถ้าเราอยากให้ประเทศเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จากประเทศที่ไม่มีนวัตกรรมเป็นมี ต้องมี Critical man มากถึงระดับหนึ่ง ถึงผลักดันได้ ปัญหาคือตอนนี้เรามีนักวิจัยอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งมันกระจายเป็นหย่อมๆ ทำเป็นจุดๆ ซึ่งระบบรัฐที่ดีต้องทำจากจุดๆ ให้ต่อกันเป็นเส้นให้ได้ ต้องมีการจัดการจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำ แต่ตอนนี้ใครเข้ามาก็ไม่เก่งพอที่จะทำให้เป็นเส้น อยากจะได้พรุ่งนี้ที่ดีกว่า ต้องลงทุนตั้งแต่วันนี้

ทำอย่างไรคนไทยจะมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์?

เรามีคอขวดสำคัญอยู่ 2-3 เรื่องที่ทำให้เป็นสังคมวิทยาศาสตร์ยาก 1. วิทยาศาสตร์มันไม่ลงรอยกับวัฒนธรรมอื่นๆ ในสังคมไทย ลองนึกย้อนกลับไป เอาแค่ 700-800 ปี จะเห็นว่าอะไรที่ยอมให้เข้ามาอยู่ในสังคมไทยได้ เราต้องยอมส่วนหนึ่ง แม้แต่ศาสนาพุทธเองก็ต้องสมยอมทำบางอย่างเพื่อให้อยู่ในวัฒนธรรมได้อย่างสงบสุข เพราะชาวบ้านยังเชื่อเรื่องผีอยู่ พระจึงต้องทำพิธีกรรมบางอย่างซึ่งไม่ใช่พุทธเลย มาถึงวิทยาศาสตร์มันไม่ได้เข้ากับอะไรเลย

ทำให้วิทย์เข้ามาประณีประนอม?

ไม่ได้ครับ เพราะมันคนละทาง เราเองไม่มีอะไรกระตุ้นให้เป็นวิทยาศาสตร์เลย 2. ในกระบวนการศึกษาวิทยาศาสตร์ เราทำผิดมาตั้งแต่อนุบาลเลย เราศึกษาวิทยาศาสตร์แบบไสยศาสตร์ คือศึกษาแบบต้องเชื่อตามครู วิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์คือ ครูพูดอะไรให้ฟัง ครูมีความรู้ชุดหนึ่ง แต่ครูอาจจะผิดก็ได้ ถ้าเด็กรู้สึกได้เมื่อไหร่ถือว่าเราประสบความสำเร็จในการศึกษาวิทยาศาสตร์ มีตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมาก อาจารย์ได้โนเบล ลูกศิษย์ได้โนเบล ปรากฏว่าความรู้ที่อาจารย์สอนมันเป็นโมเดลอะตอมแบบหนึ่ง ลูกศิษย์พบว่าโมเดลของอาจารย์ “ในบางสภาวะ” มันผิด ต้องเปลี่ยนเป็นโมเดลอีกแบบหนึ่ง ถามว่าในสังคมไทยทำได้มั้ยที่ลูกศิษย์พบว่าอาจารย์ผิด และลูกศิษย์ได้รางวัลโนเบลด้วย คือแค่คิดก็ผิดแล้ว จะมาบอกว่าอาจารย์ผิดได้ไง แต่ฝรั่งไม่เป็นอย่างนั้น ในทางตรงข้ามอาจารย์ยิ่งยินดีที่ลูกศิษย์ไปไกลกว่าอาจารย์

สังคมไทยผูกกับวัฒนธรรมอำนาจ ซึ่งวัฒนธรรมอำนาจมันอาศัยความไม่เท่าเทียม มันเลยมีอำนาจอยู่ได้ แต่ในวิทยาศาสตร์มันเป็นวัฒนธรรมเท่าเทียม ความรู้คืออำนาจ ยอมรับผิดได้ ไม่มีอะไรที่จะต้องต่อว่ากัน

แล้วต้องทำอย่างไร?

เรื่องหนึ่งซึ่งผมว่าเป็นความจริงคือ คุณภาพครูตอนนี้โดยเฉลี่ยไม่ดี ไปดูต้นเหตุ คนเก่งๆ ไม่ค่อยเลือกเรียนครู ถามว่าทำไม ผลตอบแทนก็ไม่ดี แต่…เอาเข้าจริงๆ เงินเดือนครูดีกว่าเมื่อ 10-20 ปี มากเลย ขณะเดียวกันแบบประเมินของเราเป็นสิ่งที่รัดคอครู ครูสอนดีบางทีก็ไม่เป็นที่นิยมของเด็ก ฉะนั้นเมื่อเด็กประเมินครูๆ จะได้คะแนนน้อยมาก
มันมีปัญหาล้อมรอบ แต่ปัญหาใหญ่คือ เราไม่มีระบบนิเวศที่ดีที่ทำให้คนเก่งอยากเป็นครู ประเทศที่ดี ต้องมีคนเก่งๆ กระจายไปเป็นสิ่งต่างๆตามที่เขาอยากเป็น รวมทั้งครู


วิทยาศาสตร์น่าสนใจที่ตรงไหน?

“… มันน่าตื่นเต้นเมื่อเราสามารถอธิบายได้หลายๆ เรื่องที่ไม่น่าจะอธิบายได้ และฟังดูสมเหตุสมผล ตื่นเต้นเวลาได้ยินคำอธิบายเหล่านี้ คอนเซ็ปต์หลายอย่างที่เราเรียนในห้องเรียน ปรากฏการณ์ที่ดูซับซ้อนสามารถเขียนอธิบายเป็นสมการได้ในบรรทัดเดียว

เช่น เราส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์สมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์เพื่อการคำณวน แต่มันสามารถคำณวนได้ด้วยสมการสั้นๆ แค่บรรทัดเดียว ซึ่งสามารถใช้หัวเราคำนวณได้ด้วย แล้วสมการนี่มันเกิดตั้งแต่สมัยนิวตัน 300-400 ปี เลยรู้สึกว่ามันน่าตื่นเต้นดี”

ดร.ชิ้น เล่าถึงที่มาของความสนใจวิทยาศาสตร์ว่ามาจากความที่เป็นคนรักการอ่าน และพบว่าในบรรดาหนังสือทั้งหลาย หมวดวิทยาศาสตร์น่าสนใจที่สุด จึงมุ่งมั่นที่จะเรียนทางสายนี้มาตลอด และได้รับทุน พสวท.ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ส่วนปริญญาเอก ได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ทุนมอนบุโช ด้านอนุพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยคุมะโมะโตะ เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาประเทศไทยได้เข้ามาทำงานวิจัยที่ไบโอเทค

ความที่สนใจด้านงานเขียนงานแปล จึงได้รับมอบหมายให้ทำงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์

กระทั่งปัจจุบันจากรองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสิ่งพิมพ์และการสื่อสารวิทยาศาสตร์ มาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สวทช.

แปลบทความมาตั้งแต่ปี 2534 ตีพิมพ์ในนิตยสารประเภทวิทยาศาสตร์และความรู้รอบตัว ส่วนผลงานที่เป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คทั้งที่เป็นงานแปลและงานเขียนมีมากกว่า 23 เล่ม อาทิ สู่ชีวิตอมตะ ดีเอ็นเอ ปริศนาลับรหัสชีวิต จากอณูถึงอนันต์ วิทยาศสตร์ต้องรู้ วิทยาศาสตร์ในสตาร์วอร์ส สเต็มเซลล์ โคลนนิ่งไดโนเสาร์ ฤาฝันจะเป็นจริง กรรม-บัง-กฎ แปลกจริงวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

เมื่อวิทยาศาสตร์เหมือนจะมีคำตอบให้ในทุกสิ่ง เราสามารถอธิบาย “เดจาวู” ด้วยวิทยาศาสตร์?

“สมองของเราประมวลผลตลอดเวลา และมีความแม่นยำระดับหนึ่ง แต่บางอย่างเวลาประมวลมันไม่ได้ประมวลจากสิ่งที่เห็นตรงหน้า 100% แต่ไปดึงมาจากข้อมูลเก่า แล้วมันไม่ได้ดึงมาทั้งยวง มันดึงมาเป็นกระจุกๆ ยกตัวอย่าง เดินๆมา เอ้ย ภาพตรงนี้แบบนี้เวลานี้ คนยืนตรงตึก มีของวางตรงนี้เราเคยเห็นมาก่อน ประเด็นคือ เราอาจจะเคยเห็นตึกที่คล้ายแบบนี้มาก่อน หรือาจจะเคยเห็นในภาพ จริงๆ อาจจะเห็นอีกตึกที่คล้ายกัน แล้วเคยเห็นคนที่อยู่ในจังหวะตำแหน่งที่คล้ายกัน แต่สมองจับมาอยู่รวมกัน

ชื่อหนังสือ “อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก” แสดงอาการทางสมองที่คล้ายอย่างนี้ คือ เวลาชวนผู้หญิงไปดู โดยเซนส์ของคนทั่วไปมักจะคิดว่าชวนไปดูหนังรักสิจะได้ซาบซึ้ง ประเด็นคือ มันอาจจะซาบซึ้งกับหนัง แต่ไม่ได้ซาบซึ้งกับคนที่พาไป ในทางกลับกันพอไปดูหนังแอ็กชั่น อะดรีนาลีนมันหลั่ง เกิดความตื่นเต้น สมองตีความแล้วเอามารวมกัน ทำให้รู้สึกว่าคนที่พาเรามาน่าตื่นเต้นน่าค้นหาไปด้วย สมองเราผนวก 2 เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องมาเป็นเรื่องเดียวกัน ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อหนังสือ มันเป็นการแหวกความเชื่อ”

ถามว่า เขียนบทความที่สื่อสารให้คนสนใจวิทยาศาสตร์มานาน เป็นผลมากขึ้นแค่ไหน?

“ถ้าวัดยากมากเลย แต่ประเด็นคือ ในช่วง 2-3 ปีนี้ ผมได้พบกับคนที่บอกว่าเขาเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง แล้วเล่มนี้ทำให้เขาอยากเรียนวิทยาศาสตร์และไปเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์ ผมว่าเป็นความน่าภาคภูมิใจ เหมือนผมที่มาเรียนวิทยาศาสตร์เพราะผมเจอครูดี รู้สึกว่าวิทยาศาสตร์สนุก ผมว่าก็คุ้มนะ หลังขดหลังแข็งเสียเวลาหลายร้อยชั่วโมงในการทำหนังสือสักเล่ม แล้วมีคนที่อ่าน แล้วเป็นการชี้เส้นทางให้เขา แล้วไม่ใช่แค่คนเดียว ผมเจอ 3-4 คนแล้วในระดับการศึกษาต่างๆ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image