เล่า ร้อง เล่น ‘พระมหาชนก’ น้อมถวายองค์อัครศิลปิน ‘เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ครั้งที่ 12’

จังหวัดราชบุรี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกาญจนบุรี และวัดขนอน ผนึกกำลังจัดงาน “เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ครั้งที่ 12” เพื่อแสดงความอาลัยและร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยการนำบทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” บางส่วนมาร้อยเรียง จัดการแสดงอย่างสร้างสรรค์ ผ่านผลงานการแสดงจากเหล่าศิลปินพื้นบ้าน 9 คณะ 9 การแสดง ตามแนวคิด “ศิลปะ ศิลปิน แผ่นดินรัชกาลที่ 9” ในวันที่ 13-14 เมษายนนี้

ครูหมู จฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงศ์ ครูช่างแกะหนังใหญ่และครูผู้สอนศิลปะการแสดง คณะหนังใหญ่วัดขนอน หนึ่งในหัวใจสำคัญของงานได้กล่าวถึงที่มาของเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอนว่าเป็นสิ่งที่ทางวัดเคยมีอยู่ก่อนแล้ว โดยริเริ่มกันมากว่า 11 ปี และปีนี้เป็นปีที่ 12

จฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงศ์ หรือครูหมู สาธิตการแกะหนังใหญ่

“แรกๆ ใช้เป็นงานสงกรานต์เที่ยวไทย พอทำมาเข้าปีที่ 5-6 เริ่มใช้คำว่าเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ทำเรื่องให้เข้ากับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อให้เข้ากับธีมการท่องเที่ยว จึงเป็นที่มาของเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน โดยปกติแล้วจะมีการแสดงพื้นบ้าน 4 ภาคร่วมกับกลุ่มเพื่อนๆ ด้วยกัน ปีนี้เลยมาวางแผนประชุมร่วมกัน ทำเพื่อถวายในหลวง ร.9 ร่วมกันทั้งหมด 9 คณะ 9 การแสดง ร่วมกันแสดงเรื่องพระมหาชนก เลยเป็นที่มาของปีนี้ ใช้สโลแกนว่า ‘ศิลปะ ศิลปิน แผ่นดินรัชกาลที่ 9’”

โดยกลุ่มเพื่อนทั้ง 9 คณะ 9 การแสดงของครูหมูนั้น ประกอบด้วย 1.หนังตะลุง 2.มโนราห์ดิเกร์ฮูลู จ.นครศรีธรรมราช (การแสดง 1 และ 2 โดย อ.วาที ทรัพย์สิน ทายาทศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุง และ อ.สุชาติ ทรัพย์สิน) 3.กลุ่มการแสดงนาฏศิลป์ไทยร่วมสมัย ของ อ.กฤษฏิ์ ชัยศิลบุญ (กฤษฏิ์ทีม) 4.หุ่นละครเล็ก คลองบางหลวง 5.หุ่นคน แม่เพทาย จ.เพชรบุรี 6.กลุ่มตากับยาย จ.เพชรบุรี 7.คณะดอกไม้การบันเทิง ของ อ.วรรณศักดิ์ ศิริหล้า 8.โขน นาฎศิลป์ และ 9.คณะแสดงหนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี

Advertisement

‘พระมหาชนก’ บทพระราชนิพนธ์บนความคุ้นชิน

พระมหาชนก บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ครูหมูกล่าวว่าพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมาใหม่ จนคนไทยเกิดความคุ้นชิน

“หนังใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในประเทศไทยตอนนี้ จะมีเรื่องรามเกียรติ์เรื่องเดียว เรามองเห็นว่าในหลวง ร.9 พระองค์ท่านได้ประพันธ์บทพระราชนิพนธ์ขึ้นมาใหม่ เดิมทีเป็นเรื่องเก่า เป็นเรื่องชาดกอยู่แล้ว พระองค์ได้นำมาทำใหม่ที่คุ้นชินกับคนไทย คนไทยจะคุ้นชินกับรูปแบบการ์ตูน แอนิเมชั่น หนังสือ คนไทยจะคุ้นชินกับตรงนี้มากที่สุด เลยจับประเด็นนี้ขึ้นมา โดยกลุ่มศิลปินที่ร่วมงานกันไม่รู้จะทำอะไรได้นอกเหนือจากงานศิลปะ ดังนั้นเลยจับเนื้อเรื่องพระมหาชนกขึ้นมา”

Advertisement

นอกจากนี้ ครูหมูยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องตัวหนัง บทพากย์ บทเจรจา ที่ต้องเปลี่ยนแปลงจากเดิม โดยมอบหมายให้ครูกฤษฏิ์ (กฤษฏิ์ ชัยศิลบุญ) เพื่อนผู้ทำการแสดงฟ้อนรำแบบล้านนา เป็นผู้เขียนบทให้

“ครูกฤษฏิ์มีบริษัททำอีเวนต์ ออแกไนซ์ เขียนบทละครอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมอบหน้าที่การแต่งบทให้ครูกฤษฏิ์ไป พอครูกฤษฏิ์แต่งบทมา เราจะแบ่งเป็นกลุ่มศิลปิน นักแสดง แบ่งเป็นตอนๆ แสดงร่วมกัน หากสร้างเป็นหนังใหญ่ ถ้าแสดงเป็นเรื่องพระมหาชนกเลยต้องใช้ต้นทุนทางการสร้างสูง ต้องมีบทที่ชัดเจน ดังนั้นเลยเอาศิลปินหลายๆ กลุ่มที่เคยแสดงมาแสดงร่วมกัน เพื่อแบ่งกันคนละตอน คนละช่วง รวมเป็นเนื้อเรื่องได้ในระยะเวลาไม่นานนัก” ครูหมู จฬรรณ์ กล่าว

ส่วนบทที่เคยใช้เป็นเรื่องรามเกียรติ์นั้น ได้ปรับให้เป็นบทละครแล้ว เราจะใช้เป็นซาวด์ การพากย์ ดนตรี โดยที่กล่าวมานี้ได้มอบหมายให้ครูกฤษฏิ์เป็นผู้รับผิดชอบ เราจะเล่นเป็นสื่อผสมร่วมกัน ส่วนตอนที่วัดขนอนรับมาจะนำเสนอหนังใหญ่ การแสดงเรื่องเงาของหนังใหญ่ ตัวหนังทำแบบร่วมสมัยขึ้นมา ทำให้มีสีสัน เกิดความชัดเจน โดยขนาดของตัวหนังจะใหญ่ขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย

สำหรับตัวหนังที่ต้องแกะเพิ่มเติม ครูหมูกล่าวว่าเสร็จสิ้นไปแล้ว 2 ตัว หลังจากนี้ต้องแกะตัวอื่นๆ ปลีกย่อย รวมทั้งหมดแล้วกว่า 10 ตัว

แตกต่าง แต่เหมือนเดิม

แม้จะปรับเปลี่ยนการแสดงจากเรื่องรามเกียรติ์เป็นพระมหาชนก ครูหมูยืนยันว่าการเชิดยังใช้พื้นฐานของการเชิดหนังใหญ่เสมือนการเชิดรามเกียรติ์อยู่ แต่ลัษณะการเชิดจะเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย

“เพราะว่าเนื้อเพลงที่ใช้มีความแตกต่างกัน เป็นเรื่องของซาวด์บ้าง เราจะประยุกต์เอา อาจไม่ได้เป็นรูปแบบโบราณเลย แต่ยังมีกลิ่นอายความเป็นหนังใหญ่ อย่างการเก็บเท้า การไขว้เท้า ก็ยังเป็นหนังใหญ่อยู่” ครูหมูย้ำชัดเจน

ด้านการฝึกซ้อม ครูหมู จฬรรณ์ กล่าวว่า จะนัดซ้อมกันสัก 2 ครั้ง โดยทีมนักแสดงของวัดขนอนกับทีมนักแสดงที่เคยแสดงร่วมกันมีความคุ้นชินกับการเชิดอยู่แล้ว เพราะเคยทำการแสดงร่วมสมัยมาแล้ว เราทำแบบอนุรักษนิยม ประยุกต์ขึ้นมาทั้งสองแบบ จึงไม่น่าหนักใจมากแม้เนื้อเรื่องจะเปลี่ยนไป

สำหรับการแสดงจริงในวันที่ 13 และ 14 เมษายนนั้น ครูหมูกล่าวว่า ลำดับการแสดงทั้ง 2 วันเหมือนกัน แสดงเรื่องเดียวกัน เพราะว่าผู้ชมบางท่านไม่สะดวกมาวันที่ 13 จึงมาวันที่ 14 บางท่านก็มาทั้งสองวัน ได้ชมทั้งสองรอบเลย

“เพราะว่างานเราเป็นงานเปิด จัดฟรี เป็นการชมการแสดงฟรีทั้งหมด แต่มีเรื่องอาหารที่เคยแจกฟรี ภายหลังมาเราจัดทำเป็นเบี้ย เบี้ยละ 5 บาท เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานได้แลกบี้ยกับซุ้มที่ทางวัดจัด ส่วนการจัดงาน 2 วัน (13-14 เม.ย.) นั้น เพิ่งเริ่มได้ 2-3 ปี เมื่อก่อนแสดงแค่วันที่ 13 วันเดียว พอเป็นวันที่ 13 จะตรงกับหลายๆ ที่ หน่วยงานราชการก็ดี อะไรก็ดี จะจัดงานตรงกัน”

“ท่านผู้ชมที่มาก็มาบอกว่าอยากดู อยากชมนะ แต่ติดที่นู่นที่นี่ ขอให้เพิ่มอีก 1 วัน พอเราดูแล้วว่ากำลังเราเริ่มไหวก็เลยจัดเพิ่มอีก 1 วัน เพราะว่าการจัด 2 วันค่าใช้จ่ายมันจะมากขึ้น แต่เมื่อก่อน เวลาแสดงเราจะสลับกัน โดยบางครั้งวันที่ 13 อาจจะแน่นหน่อย พอมาวันที่ 14 นักแสดงอาจจะน้อยลงไปสัก 1-2 คณะ แต่พอทำรวมกันเป็นทีม แบ่งเป็นเนื้อเรื่อง คือจะต้องเหมือนกันเลย 2 วัน”

จาก 9 สู่ 1

“เริ่มเปิดตัวขึ้นมาจะใช้ คณะโขน นาฏศิลป์ แสดงตอนแรกเลย คือตอนที่พระโปลชนกกับพระอริฏฐชนกสู้รบกัน เป็นตัวแสดงของโขนที่แสดงเป็นละครขึ้นมา จากนั้นเป็นตอนที่หนีออกจากเมืองมา พระมารดาท้องพระมหาชนกอยู่ จะเป็น หนังตะลุงกับมโนราห์ ของ อ.วารี ทรัพย์สิน แสดงตอนที่พี่น้องร่วมสาบานกับพราหมณ์” ครูหมูกล่าวถึงลำดับการแสดง

ภายหลังจากพระมหาชนกเกิด ตอนเป็นเด็ก จะเป็น กลุ่มตากับยาย จ.เพชรบุรี ออกมากับ หุ่นคน คณะแม่เพทาย จ.เพชรบุรี ออกมาแสดงร่วมกัน พอเริ่มเป็นหนุ่มขึ้นมา ได้ร่ำเรียนวิชา คุยกับพระมารดาแล้ว ก็จะออกเรือเพื่อไปหาเงินทอง ส่วนนี้เป็นของ กฤษฏิ์ทีม เข้ามาเสริม พอถึงตอนออกเรือ แล้วเรือแตก จะเป็น หุ่นละครเล็ก คลองบางหลวง มาแสดงร่วมกับ หนังใหญ่วัดขนอน ส่วนหนังใหญ่จะเล่นตั้งแต่เรือแตกไปจนถึงนางมณีเมขลาอุ้มพระมหาชนก ส่วนนี้กฤษฏิ์ทีมจะเข้ามาช่วยเสริม แสดงร่วมกัน เมื่ออุ้มพระมหาชนกไปถึงเมืองมิถิลาแล้ว ส่วนนี้เป็นของกฤษฏิ์ทีมทั้งหมดเลย กฤษฏิ์ทีมจะเข้ามาเสี่ยงพระราชรถ จนถึงการแต่งงานกับนางสิวลี จนถึงการครองเมือง จากนั้นจะเป็น พี่กั๊ก วรรณศักดิ์ ศิริหล้า นักเล่านิทาน จะออกมาเล่านิทานเรื่องต้นมะม่วง ตอนที่เป็นบทพระราชนิพนธ์ของในหลวง ร.9 จะมาสรุปให้กับผู้ชมได้ทราบว่าเรื่องมะม่วงเป็นคำสอนอย่างไร เข้าสู่ฟินาเล่ แล้วก็จบ

นอกจากนี้ ครูหมูยังกล่าวเสริมว่าการแสดงชุดนี้จะทำการแสดงร่วมกันทั้งหมด มิได้แบ่งแยกเป็นส่วนหรือตอนชัดเจน

“แสดงไปด้วยกัน ถ้าแยกกันไป บางคณะให้โจทย์ ตีโจทย์ไปแล้วมันไม่ต่อเนื่อง ต้องเอาตัวแสดงของทีมนู้นเข้ามาเพื่อเล่าเรื่อง หนังใหญ่อาจออกไปเป็นตัวเดิน เป็นพระมหาชนก เล่าเรื่อง แล้วก็ออกเป็นฉากนู้นนี้ แบ่งเป็นองก์ๆ ไป องก์ที่ 1-8 แบบนี้”

เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอนครั้งที่ 12

ครูหมูเผยถึงความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานครั้งนี้ว่า ภูมิใจมาก อย่างน้อยเราเป็นคนในชุมชน เป็นเด็กที่เกิดในชุมชนหนังใหญ่อยู่แล้ว คุณพ่อก็เป็นนายหนัง แสดงหนังแบบโบราณ แบบจารีตมาตลอด จนตอนนี้เรามาทำให้กับชุมชน ให้กับวัด ทำให้ชุมชนได้มีกิจกรรม ได้ดูแลหนังใหญ่ที่เป็นของชุมชนเรา ของประเทศเรา เป็นมรดกของไทยเราด้วย

“ทั้งยังได้ทำในสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะได้ทำ คือเรื่องพระมหาชนกเนี่ย ต้องเล่าย้อนว่าสมัยผมเรียนจบศิลปะไทย ผมทำทีสิสเรื่องพระมหาชนก ทำเป็นหนังใหญ่เนี่ยแหละ แต่ว่าด้วยตอนนั้นเราทำแค่ 1-2 ตัว ไม่เคยคิดเคยฝันว่าจะได้ทำเป็นตอนขึ้นมา โดยตอนแรกคิดว่าคงทำเป็นตัวภาพหนังแค่ 1-2 ตัว แล้วก็เรียนจบมา ตอนนี้เราได้ทำสิ่งที่เราคิดว่าอยากทำเป็นเนื้อเรื่องขึ้นมา อาจยังไม่เต็มเรื่อง แต่ก็เป็นตอนแล้ว มีความภาคภูมิใจที่เราคิดว่าอยากทำขึ้นมาสำหรับหนังใหญ่เรื่องพระมหาชนก” ครูหมูเล่าด้วยความปลาบปลื้ม

ก่อนจากกัน ครูหมูฝากเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอนครั้งที่ 12 นี้ พร้อมเปิดใจว่า ไม่บ่อยครั้งนักที่จะทำการแสดงร่วมกัน อีกทั้งยังมีโอกาสได้ทำเรื่องที่นับเป็นความแปลกใหม่ของการแสดง เพราะการจะสร้างตัวหนัง การจะรวมนักแสดง ศิลปินหลายสาขาการแสดงเข้ามารวมได้ค่อนข้างยาก ปีนี้ทุกคนมีความตั้งใจกันมาก นักแสดงของเราทั้งหมดตั้งใจมารวมกัน อาจจะดีหรือไม่ดีอย่างไรก็อยากให้ผู้ชมมาช่วยตัดสินใจว่าเราทำออกมาแล้วเป็นอย่างไร

ร่วมชมการแสดงอันทรงคุณค่า ชิมของอร่อย เมนูพื้นบ้าน ช้อปของที่ระลึก โดยนำเงินไปแลกเบี้ย รวมทั้งประเพณีขนทรายเข้าวัดและก่อกองทราย พร้อมกับเชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมกันแต่งชุดไทยเข้าร่วมงาน ในเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอนครั้งที่ 12 ณ ลานกลางแจ้งพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี วันที่ 13-14 เมษายนนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image