คอลัมน์ ประสานักดูนก : สงกรานต์

ไก่ฟ้าหางลายขวาง

สวัสดีวันปีใหม่ครับ รอบปีที่ผ่านมา แวดวงดูนกยังคึกคักเหมือนทุกปี เพราะแต่ละปี แต่ละฤดูกาลที่ผันเปลี่ยนไป นกเดิมๆ ทั้งที่เคยเห็น หรือนกใหม่ที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อนของนักดูนก ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาในถิ่นอาศัยต่างๆ ให้นักดูนกเดินทางตะลอนไปทั่ว แม้นกตัวเดิม ก็เหมือนนกใหม่ เพราะเมื่อได้เห็น ได้สังเกตก็จะรู้จักนกชนิดนั้นมากขึ้น  โดยเฉพาะนกอพยพที่วิถีชีวิตสอดประสานกับฤดูกาลที่ไม่หยุดนิ่งเป็นอย่างดี ช่วงนี้เป็นฤดูกาลอพยพผ่านของนกอพยพ นกจับแมลง นกชายเลน นกคัคคู กำลังเดินทางกลับภูมิลำเนาเกิด ไปหาคู่ ทำรังวางไข่ บางกลุ่มเปลี่ยนแปลงชุดขนชนิดหนังคนละม้วน จากเดิมสีจืดๆ หาความสะดุดตาไม่ได้ กลายเป็นสวมชุดขนแต่งงานสีสันสะดุดตา เช่น นกชายเลน ซึ่งจะมีช่วงเดียวคือยามนี้เท่านั้นที่จะได้เห็น แม้จะเห็นนกเก่าที่เคยเห็นแล้ว ก็เหมือนได้เห็นใหม่อีกรอบ เพราะชุดขนไม่เหมือนเดิม

ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ นกอพยพระลอกแรกเริ่มทยอยเดินทางผ่านบ้านเรา มีเป้าหมายที่ประเทศรัสเซีย จีน มองโกเลีย เกาหลีและญี่ปุ่นเพื่อผสมพันธุ์ เดือนนี้มี นกจับแมลง นกคัคคู และ นกชายเลน เป็นนกเด่น จากเดิมที่ก่อนฤดูหนาว ปรากฏการณ์เหยี่ยวอพยพสร้างกระแสการดูนก เป็นการโหมโรงของนกอพยพที่จะพบมากขึ้นในฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป จนถึงวันนี้ นกบางชนิดที่มีโอกาสพบเห็นน้อยมาก ก็พากันพาเหรดขึ้นฝั่ง ผ่านบ้านเราใช้เป็นทางหลวงขึ้นเหนือ เช่น นกหัวโตขายาว ซึ่งทำรังวางไข่ในประเทศมองโกเลีย และอพยพไปอาศัยในฤดูหนาวที่ทวีปออสเตรเลีย ดังนั้น นักดูนกไทยแทบไม่มีโอกาสพบในฤดูหนาว แต่เมื่อปลายเดือนมีนาคม ก็มีรายงานพบ นกหัวโตขายาว วัยเด็ก ที่ชายหาดวนอุทยานปราณบุรี อยู่ร่วมกับนกหัวโตทรายเล็กและนกหัวโตทรายใหญ่ สร้างความคึกคักให้คนดูนกอพยพแวะเวียนกันไปเยี่ยมทะเลเมืองปราณบุรีกันแทบจะทุกวัน หรือ นกจับแมลงคิ้วเหลือง นกแซวสวรรค์หางดำ สองชนิดนี้เป็นนกอพยพผ่านหายาก ที่จะพบได้ในช่วงเดือนเมษายนเท่านั้น เรียกว่าถ้าคนดูนกคร้านเดินทาง กลัวแดดไม่ออกไปดูนก ก็คงพลาด ไม่ได้เห็นนกเทพเหล่านี้ เพราะนกอพยพผ่านจะมาไวไปไว แวะพักหาอาหาร หาน้ำดื่ม ไม่กี่วัน แม้แต่ในสวนสาธารณะกลางเมืองกรุงก็พบได้ จะเดินทางต่อด้วยอิทธิพลของฮอร์โมนเพศที่เร่งเร้าอยู่ในสมอง ให้ถึงบ้านฤดูร้อนเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ส่วนกระแสนกป่า ดูเหมือนจะลดลง โดยเฉพาะนกดอยในภาคเหนือ แต่จริงๆ แล้วเป็นโอกาสอันดีที่จะได้สังเกตพฤติกรรมการจับคู่ผสมพันธุ์ เช่น ไก่ฟ้าหางลายขวาง นกกระทาป่าไผ่ หากกระแสนกป่าจะเปลี่ยนทิศไปทางปักษ์ใต้ เช่น นกเงือก นกหว้า เริ่มจับคู่หรือเลี้ยงลูกกันแล้ว แม้จะเสี่ยงชุ่มฉ่ำเปียกโชกด้วยพายุฝนและทากดูดเลือด สัญลักษณ์ของป่าดิบชื้นอันอุดมสมบูรณ์ แต่จะได้เห็นพฤติกรรมของนกป่าปักษ์ใต้ ลองนึกภาพ นกหว้าตัวผู้ ลำแพนขนหางที่มี “นัยน์ตาหลอก” หรือ ocelli ละลานตานับพันดวงไว้ยั่วยวนนกตัวเมียให้ใจอ่อนยอมตกล่องปล่องชิ้นเป็นคู่ตุนาหงัน

โมเมนต์แบบนี้ก็คงคุ้มค่ากับการเดินป่าไกลๆ หลายกิโลเมตร!

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image