3 ปี ‘บิลลี่’ สูญหาย ชีวิตไร้หวังของ ‘กะเหรี่ยงแก่งกระจาน’

ผู้สูงอายุผูกข้อมือให้ มึนอ ภรรยาบิลลี่และลูกสาว ในพิธีเรียกขวัญ ประเพณีชาวกะเหรี่ยง โดยมีคำกล่าวเรียกขวัญให้บิลลี่กลับมา

17 เมษายน 2557 บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยหายตัวไปหลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวฐานครอบครองน้ำผึ้งป่า 6 ขวด

ผ่านไป 3 ปี คดียังไม่คืบหน้า ยิ่งสร้างความมืดมนให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย

ท่ามกลางคำถามจากทั่วโลก คดีบิลลี่เป็นหนึ่งในกรณีที่องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติเป็นห่วง โดยเฉพาะในการประชุม ICCPR เมื่อกลางเดือนที่แล้ว มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบคดีนี้อย่างละเอียด หลังจากที่ดีเอสไอไม่รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ พร้อมยุติการตรวจสอบคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร

หลังการตั้งคำถามจากยูเอ็น มีการให้ข่าวว่านายกรัฐมนตรีสั่งให้สอบสวนทั้ง 2 คดีนี้ต่อ

Advertisement

ล่าสุด มึนอ-พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาบิลลี่เผยว่าทางดีเอสไอเรียกตัวแม่บิลลี่ไปสอบสวนเพิ่ม โดยก่อนนี้สาเหตุที่ดีเอสไอไม่รับเป็นคดีพิเศษเพราะมึนอที่เป็นผู้ร้องไม่ได้เป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะให้แม่บิลลี่เป็นผู้ยื่นร้องใหม่หลังจากที่เหตุการณ์ผ่านมาแล้วถึง3ปี
คดีบิลลี่เกี่ยวพันกับคดีเจ้าหน้าที่อุทยานบุกเผาทำลายบ้านและยุ้งฉาง ราว 100 หลังของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานเมื่อพฤษภาคม 2554 ที่ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
ตัวแทนกะเหรี่ยง 6 คน ได้ฟ้องศาลปกครองต่อกรมอุทยานแห่งชาติฯ เรียกร้องค่าเสียหายและให้กลับไปอาศัยทำกินที่เดิม ซึ่งบิลลี่เป็นตัวแทนชาวกะเหรี่ยงที่ต่อสู้เรียกร้องเรื่องนี้มาตลอด

7 ก.ย. 2559 ศาลปกครองกลางตัดสินว่าปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ แต่ให้จ่ายสินไหมทดแทนข้าวของเครื่องใช้ในบ้านที่ถูกเผาคนละ 10,000 บาท ซึ่งผู้ฟ้องได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อ

ส่วนการอ้างมติครม.ปี 2553 เรื่องฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ว่าเป็นการอาศัยอยู่ในชุมชนดั้งเดิมนั้น ศาลตัดสินให้ไม่อาจเรียกร้องได้ เพราะถือว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้บุกรุกแผ้วถางป่าดงดิบไม่ยอมอาศัยทำกินในพื้นที่ซึ่งรัฐกำหนดให้

บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ

หมู่บ้านใจแผ่นดิน ใครบุกรุก?

หมู่บ้านใจแผ่นดิน หรือบางกลอยบน เป็นที่ซึ่งกะเหรี่ยงแก่งกระจานเคยอาศัยอยู่และถูกเจ้าหน้าที่เผาทำลายโดยให้ไปอยู่รวมกันที่บ้านบางกลอยล่าง

จากการลงพื้นที่บ้านโป่งลึกบางกลอย อ.แก่งกระจาน ที่ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดขึ้นล่าสุด

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ข้อมูลว่า มีหลักฐานว่าชาวกะเหรี่ยงที่นี่ไม่ได้บุกรุกป่าแต่อาศัยอยู่ที่ใจแผ่นดินมานานแล้วก่อนการตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คาดว่าอยู่มาตั้งแต่ก่อนสมัยรักาลที่ 3-4 ในแผนที่ทหาร (1:50,000) ปี 2512 ก็สำรวจพบหมู่บ้านนี้ ในการสำรวจทุกครั้งก็พบว่ามีหมู่บ้านนี้มานานแล้ว

ในปี2530-2531มีโครงการสำรวจประชากรเพื่อลงทะเบียนชาวเขา กะเหรี่ยงที่ใจแผ่นดินก็ไม่ได้ตกสำรวจแต่อย่างใด

“ที่บางกลอยบนชาวกะเหรี่ยงจะอยู่กันแบบวิถีชีวิตดั้งเดิม แต่ละบ้านจะมีพื้นที่ทำกินห่างกัน 2-5 กม. หลังมีประกาศอุทยานแห่งชาติย้ายหมู่บ้านให้มาอยู่รวมกับชาวบ้านที่บางกลอยล่าง ก็มีปัญหาเรื่องที่ทำกินไม่พอ ดินอาจจะไม่สมบูรณ์นักก็ทำกินกันไม่ได้”

ภายหลังจากมีการเผาทำลายบ้านบางกลอยบน ทัศน์กมล โอบอ้อม ส.ส.เพชรบุรีเข้ามาช่วยประสานงานกับชาวกะเหรี่ยง เข้าร้องเรียนต่อสุรพงษ์ กองจันทึก ขณะนั้นเป็นประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ

หลังการร้องเรียนไม่กี่วัน ทัศน์กมลถูกยิงเสียชีวิตขณะขับรถเข้าตัวเมืองเพชรบุรี

3 ปีต่อมา หลังการตายของทัศน์กมล ‘บิลลี่’ ผู้นำชาวกะเหรี่ยงที่ออกมาต่อสู้เรื่องคดีนี้ก็หายตัวไป

ปู่คออี้ ชีวิตที่ไม่เหมือนเคย

‘บิลลี่’ ที่หายตัวไปเป็นหลานของ ปู่คออี้ หรือ โคอิ มีมิ ผู้นำจิตวิญญาณกะเหรี่ยงแก่งกระจานอายุ 106 ปี 1 ใน 6 ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงที่ยื่นฟ้องศาลปกครอง
ปู่คออี้เกิดที่บ้านใจแผ่นดินเมื่อปี 2454 อยู่ที่นั่นมาตลอดชีวิต ก่อนจะต้องย้ายมาอยู่บางกลอยล่าง

เดิมชุมชนกะเหรี่ยงจะอยู่กันแบบกระจาย แต่ละบ้านมีพื้นที่ทำกินของตัวเองโดยทำไร่หมุนเวียน พึ่งพาตัวเองด้านอาหาร ใช้เงินจากการขายผลผลิตเพื่อซื้อเกลือซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ผลิตเองไม่ได้

ส่วนบ้านบางกลอยล่างที่เจ้าหน้าที่ให้มาอาศัยรวมกัน ลักษณะบ้านจะปลูกอยู่ติดกันหนาแน่น จนมีปัญหาเรื่องที่ทำกิน ซึ่งชาวกะเหรี่ยงที่นี่มีบัตรประชาชนไทยเกือบทุกคน
ปู่คออี้ เล่าว่า ที่บ้านใจแผ่นดินนั้นอากาศเย็นสบาย อยู่กันพอมีพอกินตามวิถีชีวิต

“ที่โน่นปลูกข้าวกัน เขามาทำให้เสียหายก็ไม่ได้กิน พอมาอยู่ข้างล่างนี่ร้อน นอนไม่หลับ ลูกหลานก็ทำไร่ไม่ได้ พอไม่ปลูกทำกินเองก็ไม่มีกิน เราทำอะไรด้วยความเมตตา ทำความดีมาตลอดน่าจะได้อะไรบ้างนะ

“อยากกลับไปจะตายอยู่แล้ว ได้ขึ้นไปอยู่ข้างบนจะไม่ขออะไรแล้ว เขาบอกว่าอย่าทำลายบ้านทำลายเมือง อย่าทำลายต้นไม้ ฉันไม่ทำอยู่แล้ว”

เมื่อถามถึงการหายตัวไปของหลาน ปู่คออี้ตอบว่า “ก็คิดถึงบิลลี่ แต่เขาหายไปตรงไหนก็ไม่รู้ ไม่รู้จะทำยังไง สุดเสียดาย”

ในวันที่ลงพื้นที่นั้น ‘มึนอ’ หลานสะใภ้เอารูปบิลลี่ที่เพื่อนต่างชาติวาดมาให้ปู่คออี้

ปู่คออี้รับรูปวาดแล้วพูดเพียงว่า “เอารูปมาให้แล้วเมื่อไหร่ตัวจริงจะมา”

ปู่คออี้-โคอิ มีมิ

 วิถีชีวิตเดิมถูกทำลาย

อีกหนึ่งคนที่เกิดและอยู่ที่บ้านใจแผ่นดินทั้งชีวิต และร่วมฟ้องพร้อมกับปู่คออี้ ลุงหมี ต้นน้ำเพชร อายุ 70 ปี เล่าว่า ก่อนถูกเผามีบ้านอยู่ 3 หลัง อาศัยกับลูกหลานรวม 10 คน

บ้านของลุงหมีเป็นหลังแรกที่เจ้าหน้าที่เผา วันนั้นมีเฮลิคอปเตอร์ไปที่บ้าน พอได้ยินเสียงลุงหมีเลยหนี เพราะชาวบ้านแจ้งข่าวว่าจะมีเจ้าหน้าที่ขึ้นไป เจ้าหน้าที่เผาบ้านทั้ง 3 หลังพร้อมข้าวเต็มยุ้งฉาง เขาซ่อนอยู่ในป่า 3 วัน มีแต่เสื้อผ้าติดตัว ไม่กล้ากลับบ้านหรือลงมาที่หมู่บ้านข้างล่าง

“กลับไปดูบ้านรู้สึกเสียดาย เครื่องประดับของโบราณเหรียญเงินของปู่ย่า เสื้อผ้า ทุกอย่างโดนเผาหมด อยากกลับขึ้นไปอยู่ข้างบน ล่าสุดศาลตัดสินให้เงิน1หมื่นบาท เงินเรามีไม่เยอะหรอก เพราะอยู่ข้างบนไม่ต้องใช้เงิน มีแค่ทำพริกแห้งลงมาขายเพื่อซื้อเกลือเท่านั้น อยู่ข้างบนปลูกข้าวไร่ได้เต็มยุ้งฉางกินได้ทั้งปี มีพอมาแบ่งลูกหลานหมู่บ้านข้างล่าง

“พอลงมาอยู่บางกลอยก็ไม่ได้รับจัดสรรที่ดินตามที่เจ้าหน้าที่บอก ต้องไปยืมที่ดินคนอื่นที่เขาปลูกอะไรไม่ขึ้นปล่อยทิ้งร้างไว้ ปีหนึ่งได้ข้าวแค่2-3กระสอบ อยู่ไม่ได้ ต้องเป็นหนี้ร้านค้า ทุกวันนี้ไม่มีงานทำ รับจ้างทำงานเล็กๆน้อยๆ ได้เงินมาจ่ายหนี้ ห่วงก็แต่ลูกหลานจะไม่มีที่ทำกิน

“ตอนบิลลี่อยู่เขาก็หาข้าวจากคนข้างนอกมาช่วย พอเขาไม่อยู่ก็เสียใจแต่ไม่รู้จะทำยังไง วันที่หายไปเขาก็มาเยี่ยมชาวบ้านก่อน พอออกไปก็หายไปเลย” ลุงหมีเล่า

แม้ปัจจุบันจะมีหลายหน่วยงานเข้าไปพัฒนาอาชีพให้ชาวกะเหรี่ยง แต่การเพาะปลูกต่างๆไม่สำเร็จ โดยชาวบ้านสะท้อนว่าเพาะปลูกได้ผลผลิตไม่คุ้มค่า  ดินไม่ดีและไม่มีน้ำ แม้หมู่บ้านจะติดแม่น้ำแต่ไม่สามารถดึงขึ้นมาใช้เพื่อการเกษตรได้ ที่ดินหลายแห่งถูกปล่อยทิ้งร้าง

ที่เดียวในหมู่บ้านที่จะหาเงินได้คือศูนย์ทอผ้า นางกิ๊บ อายุ 39 ชาวบางกลอยบนที่ย้ายลงมาบอกว่า ตอนนี้ทั้งหมู่บ้านเหลือเพียง 2 ครอบครัวที่ปลูกข้าว นอกนั้นไม่มีที่ทำกิน ตนเองมาทอผ้าที่ศูนย์ทำทุกวันเช้าจนเย็น เดือนหนึ่งได้ไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต

แต่เดิมการทอผ้าจะเป็นงานของผู้หญิง แต่ที่นี่จะพบผู้ชายมาทอผ้าหาเงินด้วย เนื่องจากไม่มีงานอื่นให้ทำ ปัจจุบันคนหนุ่มในหมู่บ้านต้องออกไปทำงานในเมือง ส่งเงินมาให้ครอบครัว

จากชีวิตที่พึ่งพาตัวเองได้ ก็ต้องดิ้นรนหาทางรอดอื่น สิ่งที่เปลี่ยนไปตลอดกาลคือวิถีชีวิตเดิมของชาวกะเหรี่ยง

ศูนย์ทอผ้า เต็มไปด้วยผู้หญิง เด็ก และคนชรา สถานที่หลักของหมู่บ้านที่ชาวบ้านจะหาเงินได้

ตามหาโอกาสในความยุติธรรม

อีกชีวิตที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหนาจากสิ่งที่เกิดขึ้น

มึนอ-พิณนภา พฤกษาพรรณ แม่ของลูกทั้ง 5 คนของบิลลี่

หลังจากสามีหายตัวไป มึนอ ต้องดูแลครอบครัวเพียงลำพัง ซึ่งลูกทั้งห้าของเธอกำลังศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาล2 จนถึงม.1 อีกทั้งต้องดูแลพ่อแม่ที่ไม่ค่อยสบายอยู่บ้านป่าเด็ง โดยมีรายได้จากการทอผ้า เลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่ ซึ่งรายได้มักไม่ค่อยพอ

“อยู่บางกลอยเข้าออกลำบาก ที่นี่เหมือนศูนย์อพยพ เหมือนถูกกักขังไว้ เข้าออกไม่ง่ายเลย”

ทั้งหมดนี้มึนอทำไปพร้อมกับติดตามคดีบิลลี่

“ท้อใจ ถ้าทำอะไรได้ก็จะทำ ที่ผ่านมาไปขึ้นศาลแล้วก็จบ เขาเห็นว่าน้ำหนักไม่พอ หลักฐานน้อยไป ทั้งๆ ที่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่โกรธแต่คิดว่าคนทำรู้อยู่แก่ใจว่าทำอะไร ไม่มีความหวังว่าคนที่ทำให้บิลลี่หายตัวไปจะโดนลงโทษ เราเรียกร้องสิทธิตามขั้นตอนกฎหมาย ถ้าสิ้นสุดก็คงไม่ทำอะไรแล้ว”

ใต้แววตาเศร้าของมึนอต้องแบกรับเรื่องหนักในชีวิตไว้มากมาย

“เพราะเขาเห็นว่าเราด้อยโอกาส ไม่ว่าคนไทยหรือคนชาติพันธุ์ที่ด้อยกว่าจะไม่ได้รับความยุติธรรม”

เด็กๆ รีบฉวยอาหารหลังเสร็จพิธีเรียกขวัญ

ผืนป่ามรดกโลก ปัญหาพัวพัน

นอกจากนี้ ยังมีความซับซ้อนของปัญหา เนื่องจากรัฐบาลไทยเตรียมประกาศกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของยูเนสโก ซึ่งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานรวมอยู่ในพื้นที่นี้ด้วย

วุฒิ บุญเลิศ ประธานกรรมการเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี บอกว่า การเตรียมการขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเกิดขึ้นในช่วงปี 2553-2554 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการเผาไล่ที่และผลักดันชาวกะเหรี่ยง

“คาดว่าปฏิบัติการเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมพื้นที่เพื่อประกาศผืนป่ามรดกโลก”

ที่ผ่านมาเครือข่ายกะเหรี่ยงฯ ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการมรดกโลกว่าการเตรียมประกาศผืนป่ามรดกโลกจะมีผลกระทบต่อชุมชนดั้งเดิม โดยมีที่ปรึกษาคณะกรรมการมรดกโลกลงมาดูพื้นที่ จนการเสนอครั้งแรกไม่ผ่าน และจะมีการพิจารณาอีกครั้งในปีนี้

“เครือข่ายกะเหรี่ยงเห็นด้วยกับการประกาศผืนป่ามรดกโลก แต่มีข้อเรียกร้องให้คนกะเหรี่ยงกลับไปใช้วิถีชีวิตดั้งเดิม ความมั่นคงในพื้นที่ทำกินและแนวเขตไทย-พม่าต้องชัดเจน การประกาศผืนป่ามรดกโลกจะผนวกพื้นที่ผืนป่าตะนาวศรีเขตทวายและมะริด ซึ่งเป็นผืนป่าเดียวกัน เรื่องนี้เป็นที่สนใจของกะเหรี่ยงฝั่งพม่าด้วย จึงคิดว่าไทย-พม่าควรเสนอขอประกาศผืนป่ามรดกโลกร่วมกัน” วุฒิกล่าว

ชีวิตที่บ้านบางกลอยมีปมปัญหาหลายประเด็นเชื่อมโยงกัน การแก้ปัญหาพึงคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

เพราะเหนือไปจากเชื้อชาติ อาชีพ และเครื่องแบบ ทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิในการดำรงชีวิตเท่าเทียมกัน

ซอตรู้ เครื่องดนตรีของกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ซึ่งไม่พบในพื้นที่อื่น ทำจากลำไม้ไผ่ขึงเอ็น สีแล้วมีเสียงเบา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image