การชุมนุมพระสงฆ์ “อดีต-ปัจจุบัน และอนาคต”

พระสงฆ์ช่วยกันเคลื่อนย้ายรถทหาร ที่จอดปิดทางเข้าพุทธมณฑล จ.นครปฐม ไม่ให้พระสงฆ์และประชาชนเข้าร่วมสัมมนา "สกัดแผนล้มการปกครองคณะสงฆ์ไทย" เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์

พระสงฆ์ช่วยกันเคลื่อนย้ายรถทหาร ที่จอดปิดทางเข้าพุทธมณฑล จ.นครปฐม ไม่ให้พระสงฆ์และประชาชนเข้าร่วมสัมมนา “สกัดแผนล้มการปกครองคณะสงฆ์ไทย” เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์

เด็กไทยหลายรุ่นเรียน ท่อง และจำ เกี่ยวกับ “การชุมนุมของพระสงฆ์” ในเหตุการณ์สำคัญหนึ่งของพุทธศาสนาว่า

“พระสงฆ์ 1,250 รูป มาชุมนุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย พระสงฆ์เหล่านั้นยังเป็น ‘เอหิภิกขุอุปสัมปทา’ หรือพระสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าทรงอุปสมบทให้, พระสงฆ์ที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์…”

นั่นคือ ภาพการชุมนุมของพระสงฆ์ในอดีตหลายพันปี ที่เรียกว่า “วันมาฆบูชา”

Advertisement

ถึงยุคปัจจุบันการชุมนุมของพระสงฆ์ มีให้เห็นได้เป็นระยะ และบางครั้งก็คาบเกี่ยวกับเรื่องทางโลก

แม้เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศ “ห้ามมิให้มั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” (ประกาศฉบับที่ 7/2557)

หากการชุมนุมของพระสงฆ์ก็ยังเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้

Advertisement

หนึ่งคือ กรณี พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือ “พุทธะอิสระ” เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย พร้อมกลุ่มลูกศิษย์ เดินทางมาที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับมติมหาเถรสมาคม ที่ว่า “พระเทพญาณมหามุนี” หรือ “พระธมฺมชโย” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ไม่ปาราชิก เพราะไม่มีเจตนาครอบครองทรัพย์สินของวัดดังที่ถูกกล่าวอ้าง

(ซ้าย) รูปหล่อจำลองเจ้าพระฝาง ตามภาพนิมิตของชาวบ้าน (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระฝาง) (ขวา) ภาพวาดเจ้าพระฝางขณะว่าราชการเมืองสวางคบุรีตามจินตนาการ (ภาพจาก https://th.wikipedia.org )
(ซ้าย) รูปหล่อจำลองเจ้าพระฝาง ตามภาพนิมิตของชาวบ้าน (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระฝาง) (ขวา) ภาพวาดเจ้าพระฝางขณะว่าราชการเมืองสวางคบุรีตามจินตนาการ (ภาพจาก https://th.wikipedia.org )

หนึ่งคือ การชุมนุมของพระสงฆ์และฆราวาสกว่าสามหมื่นคน ที่บริเวณพุทธมณฑล นำโดย พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ในนามศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (ศพศ.) ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายองค์กรชาวพุทธอื่นๆ ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อห้ามหน่วยงานภาครัฐเข้ามาก้าวก่ายเรื่องทางสงฆ์, ยึดถือมติมหาเถรสมาคมใน การเสนอนาม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช, ขอให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

แต่แรกก็แปลกใจกับ “กิจของสงฆ์” ในลักษณะนี้ แต่เมื่อพลิกอ่านประวัติศาสตร์ของประเทศ ก็จะเห็นว่า นี่เป็น “กิจนิมนต์” ที่พระท่านรับอยู่เช่นกัน

วันนี้ขอหยิบนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมีนาคม ที่มีบทความชื่อว่า “ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ.2313 : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับการปราบ ‘พวกสงฆ์อลัชชี’ ที่เมืองสวางคบุรี” ของ ธีระวัฒน์ แสนคำ

1.โคลงภาพพระราชพงศาวดาร ภาพ "ตีเมืองสวางคบุรี" เขียนในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยหลวงสุวรรณสิทธิ์ ในภาพเจ้าพระฝางนั่งเปลให้ทหารหามหลบหนีออกจากเมืองพร้อมด้วยลูกช้างเผือก 2.พระสงฆ์ช่วยกันเคลื่อนย้ายรถทหาร ที่จอดปิดทางเข้าพุทธมณฑล จ.นครปฐม ไม่ให้พระสงฆ์และประชาชนเข้าร่วมสัมมนา "สกัดแผนล้มการปกครองคณะสงฆ์ไทย" เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 3.พื้นที่ด้านหลังโบสถ์วัดพระฝาง ที่เคยมีต้นมะม่วงไข่กาในอดีตคือที่ประหารชีวิตแม่ทัพนายกองของเจ้าพระฝางทั้ง 4 รูป
1.โคลงภาพพระราชพงศาวดาร ภาพ “ตีเมืองสวางคบุรี” เขียนในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยหลวงสุวรรณสิทธิ์ ในภาพเจ้าพระฝางนั่งเปลให้ทหารหามหลบหนีออกจากเมืองพร้อมด้วยลูกช้างเผือก 2.พระสงฆ์ช่วยกันเคลื่อนย้ายรถทหาร ที่จอดปิดทางเข้าพุทธมณฑล จ.นครปฐม ไม่ให้พระสงฆ์และประชาชนเข้าร่วมสัมมนา “สกัดแผนล้มการปกครองคณะสงฆ์ไทย” เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 3.พื้นที่ด้านหลังโบสถ์วัดพระฝาง ที่เคยมีต้นมะม่วงไข่กาในอดีตคือที่ประหารชีวิตแม่ทัพนายกองของเจ้าพระฝางทั้ง 4 รูป

“เจ้าพระฝาง” ที่ว่า คือพระสงฆ์ทางเหนือชื่อว่า “พระพากุลเถระ” พระพากุลเถระลงมาเล่าเรียนที่กรุงศรีอยุธยาจนได้แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะอยู่วัดศรี อโยธยา และสังฆราชา เมืองสวางคบุรี ตามลำดับ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระพากุลเถระก็ซ่องสุมผู้คน ตั้งตัวเป็นเจ้า เปลี่ยนมานุ่งห่มผ้าสีแดงแทน คนจึงเรียก “เจ้าพระฝาง”

เมื่อเจ้าพระฝาง เป็น “ผู้ทรงศีล” ย่อมดูน่าเชื่อถือว่า “คนสามัญ” ผนวกกับความสามารถเรื่องวิชาอาคม และมีแม่ทัพนายกอง เช่น พระครูคิริมานนท์, พระครูเพชรรัตน, พระอาจารย์จันทร์ ฯลฯ ล้วนเป็น “พระสงฆ์”

เรื่องขวัญกำลังใจของกองทัพของเจ้าพระฝางจึงเต็มเปี่ยม

ชุมนุมของเจ้าพระฝางได้เปรียบในเรื่องของ “ศรัทธาประชาชน” อย่างชัดเจน

ในส่วนของศักยภาพ ชุมนุมเจ้าพระฝางก็ถือว่า “ไม่ขี้เหร่” ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกว่า เจ้าพระฝางเคยยกทัพไปตีเมืองพิษณุโลกครั้งแรก แม้จะไม่รู้แพ้รู้ชนะ แต่ก็สามารถทำการรบต่อเนื่องได้ถึง 6 เดือน และตีเอาเมืองได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าเมืองพิษณุโลก

ต่อมากองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เจ้าพระฝางส่งทหารลาดตระเวนและตีเอาเสบียงจากราษฎรถึงเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาท พร้อมกับการหาข่าว สังเกตการณ์ กองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปในคราวเดียวกัน

หากกรมการเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาทก็รายงานข่าวนี้กลับไปที่กรุงธนบุรีเช่นกัน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงมีพระราชดำรัสให้ยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง โดยโปรดให้ พระยาพิชัยราชาเป็นแม่ทัพคุมกำลังพล 5,000 คน พร้อมช้าง ม้า และอาวุธ ยกเข้าตีทางทิศตะวันตก, พระยาอนุชิตราชาคุมกำลังพล 5,000 คน พร้อมช้าง ม้า และอาวุธ ยกเข้าตีทางทิศตะวันออก และทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีก 10,000 คน

คืนวันเสาร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 9 พ.ศ.2313 ชุมนุมเจ้าพระฝางแตกพ่าย

รายละเอียดอื่นๆ ที่เหลือจากนี้ขอท่านได้โปรดติดตามอ่านจากนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ที่ยังมีเนื้อหาส่วนที่น่าสนใจอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมรภูมิศึกเมืองสวางคบุรี, การจัดการเมืองสวางคบุรี, การพิจารณาโทษและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในสิกขาบทของพระสงฆ์

เผื่อเหตุการณ์ในอดีตนี้จะได้เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำหรับพระและฆราวาสในปัจจุบันและอนาคตเหมือนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image