ปรากฏการณ์ “หมุดคณะราษฎร” ภาพสะท้อนโหยหาประชาธิปไตย

ไม่ใช่เพียงกระแสโซเชียลที่พร้อมจะดับวูบลงไปเพียงข้ามคืน หากแต่กลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ เมื่อเกิดกรณีการอันตรธานหายไปอย่างไร้ร่องรอยของ “หมุดคณะราษฎร” จากลานพระบรมรูปทรงม้า โดยถูกนำหมุดใหม่มาแทนที่

โดยหมุดเดิมมีข้อความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ”

สำหรับหมุดใหม่ มีข้อความรอบนอกว่า “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”

ส่วนข้อความในวงด้านใน ระบุว่า “ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน”

Advertisement

อย่างไร และเมื่อใด ไม่มีใครรู้ กระทั่งเพจเฟซบุ๊ก “หมุดคณะราษฎร” เผยแพร่ภาพพร้อมข้อความที่ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าหมุดดังกล่าว หายไปไหน ? และทำเช่นนั้นด้วยวัตถุประสงค์อะไรกันแน่ ?

องค์กร สมาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองหลายแห่งออกแถลงการณ์เรียกร้องทวงคืน
นักวิชาการหลากสาขา ทะยอยออกมาแสดงความคิดเห็น พร้อมจี้ประเด็นความรับผิดชอบ
ตามมาติดๆด้วยทายาทคณะราษฏร อย่างหลานชายหลวงเสรีเริงฤทธิ์ ที่บุกแจ้งความยังสน.ดุสิต เจ้าของพื้นที่ ให้ช่วยตามหาหมุดกลับคืนมา

ยังมีนักศึกษาจากจุฬา ฯ เกษตร ฯ และรามคำแหง ที่นอกจากมาแจ้งความในคดีเดียวกัน ยังยืนชูป้ายถามหาหมุด
ไหนจะแคมเปญรณรงค์ในเวปไซต์ change.org ที่ขณะนี้มีมากกว่า 1 แคมเปญ ภายใต้จุดประสงค์เดียวกันคือเรียกร้องให้เอาผิดผู้ก่อเหตุ และสนับสนุนให้ประชาชนเรียกร้องหมุดเดิมอันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยคืนที่เก่า

Advertisement

ในขณะที่ภาครัฐยังเงียบกริบ ตั้งแต่ผู้อำนวยการเขตดุสิตซึ่งแม้ยอมรับว่า “รับรู้” แต่ไม่ทราบรายละเอียด , อธิบดีกรมศิลปากร ที่ชี้แจงว่าไม่อยู่ในขอบข่ายการรับผิดชอบ แม้แต่โฆษกรัฐบาลอย่างเสธไก่อู สรรเสริญ แก้วกำเนิด ก็ปัดตอบข้อซักถามเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

สไลด์หน้าจอมือถือส่องโลกออนไลน์ เหล่า ‘ชาวเน็ต’ อารมณ์ดี ก็ตัดต่อภาพหมุดใหม่มายั่วล้อ สร้างมุมขำขันในสถานการณ์อึมครึม พร้อมๆกับการแห่ไปเยี่ยมชมสถานที่ตั้งหมุด พร้อมถ่ายภาพอวดโฉมในโซเชียลราวกับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่

ที่มาของหมุดหมายสำคัญชิ้นนี้เป็นอย่างไร ทำไมหมุดโลหะบนพื้นถนนที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนแทบไม่รู้จัก จึงส่งแรงกระเพื่อมต่อสังคมไทยอย่างยิ่งในห้วงเวลานี้ ?

“หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ”
สัญลักษณ์อำนาจอธิปไตยของประชาชน

ย้อนเวลากลับไปในวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2479 พิธีฝังหมุดคณะราษฎร ถูกจัดขึ้นโดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะราษฎร เป็นผู้ฝังหมุดที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” พร้อมอ่านประกาศท่ามกลางชุมนุมคณะผู้ก่อการ เนื้อหาตอนหนึ่งว่า

“…. เพื่อเปนเครื่องป้องกันการหลงลืมและเปนอนุสสรณ์สืบต่อไปภายภาคหน้า ข้าพเจ้าได้ปรารภกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึ่งได้จัดทำขึ้น หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญนี้ทำด้วยโลหะสำฤทธิ์ และจะได้ประดิษฐานไว้ ณ จุดที่ข้าพเจ้าผู้ได้รับแต่งตั้งแลมอบหมายจากพวกพี่น้องผู้ร่วมก่อการณ์ทั้งหลายให้เปนผู้นำ และได้ยืนกล่าวประกาศอิสสระเสรี …. ข้าพเจ้าขอถือโอกาสวางหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ณ ที่นี้ ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม จงสถิตย์เสถียรอยู่คู่กับประเทศชาติชั่วกัลปาวสานเทอญ”

หมุดนี้ ได้รับการกล่าวถึงในภายหลังว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจอธิปไตยของประชาชน เป็นสิ่งรำลึกถึงการอภิวัฒน์สยาม 2475 โดยมีการทำกิจกรรมต่างๆอยู่เนืองๆ อาทิ กลุ่มคณะราษฎรที่ 2 ซึ่งเป็นการรวมตัวของนิสิตจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ที่จัดกิจกรรมทำความสะอาดหมุดคณะราษฎร เมื่อพ.ศ. 2555 พร้อมแสดงละครรำลึก 80 ปีการปฏิวัติการปกครอง นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวหลายต่อหลายครั้ง

แรงกระเพื่อมสังคมไทย ภาพสะท้อนพลังการเปลี่ยนแปลง

หลังเกิดประเด็น ‘หมุดหาย’ ก็เกิดกระแสในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการทวงคืนผ่านโซเชียล ออกแถลงการณ์ ไปจนถึงเดินทางไปแจ้งความ
ผศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ปรากฏการณ์นี้ แสดงให้เห็นว่าพลังการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของคณะราษฎรมีผลต่อสังคมโดยกว้างแล้ว เราไม่สามารถดูถูกพลังการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อีกต่อไป ไม่เหมือนเมื่อคณะราษฎรเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ ที่คนมักดูแคลนว่าชิงสุกก่อนห่ามบ้าง หรือดูถูกว่าไม่มีฐานสนับสนุนมากพอบ้าง

“ที่ว่าดังนี้ดูได้จากการที่แม้แต่เพียงการทำลายหมุดที่ยืนอ่านคำประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 กระแสต่อต้านยังกระจายออกไปอย่างรวดเร็วกว้างขวาง นี่แสดงว่าหมุดคณะราษฎรเป็นสัญลักษณ์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ในทำนองเดียวกัน การที่มีผู้คิดจะเปลี่ยนแม้กระทั่งหมุดหมายเล็กๆ นี้ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นความสำคัญของความเป็นสัญลักษณ์การเปลี่ยนแปลง เพราะแม้ว่ามันจะเป็นเพียงแผ่นโลหะไม่กี่ตารางนิ้วที่ตอกลงบนพื้นถนนที่แทบไม่มีใครสังเกตเห็น ก็ยังมีพลังรบกวนในเชิงสัญลักษณ์ต่อผู้ที่ไม่นิยมคณะราษฎร”

ยุกติยังบอกอีกว่า ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่รัฐในขณะนี้ก็ไม่ควรจะปล่อยปละละเลยและไม่ยินดียินร้ายกับการที่หมุดถูกถอดไป เพราะหากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใส่ใจ ก็จะทำให้คนคิดไปว่าผู้มีอำนาจรัฐขณะนี้ไม่เห็นความสำคัญของคณะราษฎร ไม่ต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ไม่สนใจอำนาจของประชาชน ไม่ให้ความสำคัญกับทุกข์สุขของประชาชนตามหลักการของคณะราษฎรไปด้วย

คณะราษฎรทำอะไร ไยคนแคร์ ?

นอกเหนือจากกระแสทวงคืนแล้ว ปฏิเสธไมได้ว่า นอกเหนือจากกระแสตามหาหมุด ยังมีความเห็นอีกมุมที่มองว่าหมุดดังกล่าวไม่ได้มีคุณค่าใดๆ เนื่องจากคณะราษฎรไม่ได้สร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ อีกทั้งไร้บทบาทต่อสังคมปัจจุบัน

ประเด็นนี้ อติภพ ภัทรเดชไพศาล นักแต่งเพลง และเจ้าของผลงานหนังสือ “เสียงเพลง วัฒนธรรม อำนาจ” กล่าวว่า แท้จริงแล้วอุดมการณ์ของคณะราษฎร ส่งผลสะเทือนมากมาย แม้แต่ “เพลงชาติไทย” ก็คือผลผลิตของคนกลุ่มนี้

“ในสมัยจอมพล ป. มีนโยบายสร้างชาติ ทำให้เกิดงานละครและเพลงจำนวนมาก อย่างเพลงศึกบางระจัน เพลงอยุธยารำลึก ที่สำคัญคือมีการขับเน้นเรื่องราวของวีรบุรุษที่เป็นสามัญชนตามอุดมการณ์ของคณะราษฎร อย่างเรื่องชาวบ้านบางระจัน เรื่องเลือดสุพรรณ ส่งผลสะเทือนกลายเป็นความคลั่งไคล้ในวัฒนธรรมป๊อป ถูกสร้างเป็นละคร หนัง หนังสือ กระทั่งการ์ตูน หรือกรณีของท้าวสุรนารีก็ได้รับการยกย่องมาก การสร้างอนุสาวรีย์ของท่านก็เกิดขึ้นหลังจากปฏิวัติ 2475 ไม่นาน รวมถึงเกิดการผสมวงดนตรีไทยสากล และวงสุนทราภรณ์ของกรมโฆษณาการ เกิดเพลงปีใหม่ เพลงสงกรานต์ ลอยกระทง หรือกระทั่งเพลงชาติ ก็แน่นอนว่าเป็นผลผลิตของคณะราษฎรโดยตรง” อติภพอธิบายอย่างละเอียด

นิสิตนักศึกษาในนามกลุ่มคณะราษฎรที่ 2 ทำความสะอาดหมุดและแสดงละครรำลึก 80 ปี อภิวัฒน์สยาม เมื่อ พ.ศ.2555

สั่งให้จำ ทำให้ลืม ย้าย-รื้อ-ถอน
หวังสั่นคลอนประวัติศาสตร์การเมืองไทย ?

หลังการหายไปของหมุดคณะราษฎร แล้วมีหมุดใหม่มาแทนที่ นักวิชาการหลายรายเชื่อว่าเป็นความพยายามลบล้างความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎร
ประเด็นในลักษณะนี้ ณัฐพล ใจจริง เคยศึกษาและเขียนบทความพิมพ์เผยแพร่เกี่ยวกับการรื้อสร้างเหตุการณ์ปี 2475 โดยคนบางกลุ่มที่มองว่าคณะราษฎรเป็น “ผู้ร้ายทางประวัติศาสตร์”
มีบันทึกล้อเลียนข้อความหมุดคณะราษฎร โดย หลุย คีรีวัต นักนสพ.ชื่อดังในอดีตว่า

ในวันนั้นและที่นั้น พันเอก พระยาพหลฯ หัวหน้าขบถได้หลอกลวงทหารเหล่าต่างๆ ในกรุงเทพ ให้มารวมกันและได้ยืนขึ้นประกาศระบอบประชาธิปไตย” และสุดท้ายเขาได้ให้ฉายาหัวหน้าคณะราษฎร (พระยาพหลฯ) ว่า “หมูห่มหนังราชสีห์ออกนั่งแท่น”

นอกจากนี้ ในยุคนั้นยังมีการใช้สื่อนสพ.วิพากษ์การ “ไร้ความชอบธรรม” ของคณะราษฎร ซึ่งได้รับความเห็นใจและชวนติดตามจากผู้อ่านอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หมุดถูกถอนออกไป เพราะในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ต่อมา ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ ครั้งเป็นเลขาธิการรัฐสภา ได้นำหมุดดังกล่าวกลับคืนมาได้

ตัดภาพมาในยุคสมัยใหม่ ก็ยังมีความพยายามถอนหมุด แม้เป็นเพียงในเชิงพิธีกรรม ดังเช่นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2558 มีกลุ่มบุุคคลสวมนิมนต์พระสงฆ์มา ทำพิธี “ถอนหมุดคณะราษฏร” แต่ไม่ได้ถอนออกมาจริงๆ

การทำพิธีถอนหมุดคณะราษฎร โดยบุคคลกลุ่มหนึ่ง เมื่อพ.ศ.2558

นอกจากนี้ ยังมีสัญลักษณ์ของคณะราษฎรอีกหลายแห่ง ที่ดูเหมือนจะม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควรจะเป็น เช่น “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ที่หลักสี่ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการปราบกบฏบวรเดช ภายในบรรจุอัฐิผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว

อนุสาวรีย์นี้ ถูกเคลื่อนย้ายอย่าง “เงียบๆ” เมื่อปลายปี 2559 โดย รฟม. ซึ่งเปิดเผยในภายหลังว่า มีการทำพิธีสักการะ โดยไม่ได้แจ้งสื่อมวลชน เพราะไม่ต้องการให้เป็นประเด็นทางสังคม โดยได้เคลื่อนย้ายจากตำแหน่งเดิมไปทางทิศเหนือ เพื่อไม่ให้กระทบโครงสร้างสถานีวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน ซึ่งสร้างขึ้นในยุคจอมพลป.พิบูลสงคราม โดยตั้งใจจะให้ตั้งชื่อว่า “วัดประชาธิปไตย” แต่ในช่วงนั้นได้รับมอบกิ่งพระศรีมหาโพธิ์จากอินเดีย และพระบรมสารีริกธาตุ จึงเปลี่ยนเป็นวัดพระศรีมหาธาตุ มีช่องบรรจุอัฐิผู้มีส่วนในการอภิวัฒน์สยาม อาทิ จอมพล ป.พิบูลสงคราม พระยาพหลพลพยุหเสนา ปรีดี พนมยงค์ พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นต้น

หมุดหาย ใคร (ต้อง) รับผิดชอบ ?

การสูญหายอย่างไร้ร่องรอยของหมุดคณะราษฎรนี้ ได้มีนักวิชาการ และเครือข่ายต่างๆออกมาถามหาความรับผิดชอบ เริ่มจาก ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทน์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ยืนยันว่าหมุดดังกล่าวถือเป็นโบราณวัตถุของชาติ เนื่องจากเก่าเกิน 50 ปี อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญ แม้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา แต่ในความจริงแล้วเมื่อปี 2556 อดีตอธิบดีกรมศิลปากรก็เคยมีแนวคิดที่จะประกาศให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นโบราณสถาน ซึ่งหมุดคณะราษฎรก็สำคัญต่อความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของคนทั้งประเทศเช่นกัน

ด้าน สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่าการนำหมุดใหม่ไปสับเปลี่ยน เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอาญา และขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 57(1) ประกอบมาตรา 78 ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม จะต้องเร่งดำเนินการนำหมุดกลับมา ไม่เช่นนั้นจะใช้สิทธิตามมาตรา 51 ฟ้องร้องต่อไป

ส่วน เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ก็เรียกร้องให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรมศิลปากร และสำนักงานเขตดุสิต รับผิดชอบต่อภารกิจในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยและปกปักรักษาสมบัติสาธารณะ โดยให้เอาผิดทางกฎหมายและลงทัณฑ์ทางสังคม

การย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญอย่างเงียบๆ เมื่อปลายปี 2559

ความหวังได้คืน ปลุกกระแสตื่น ของแถมเปลี่ยนหมุด

ในขณะที่ยังไม่มีเบาะแส หรือความชัดเจนใดๆ ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชื่อดัง บอกว่า

“คิดว่าจะได้คืนครับ แต่คงเป็นการแอบไปโยนทิ้งข้างทางที่ไหนสักที่เพราะเรื่องมันดังมาก”
พร้อมกันนั้น ก็แสดงความเป็นกังวลว่าอาจมีความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะเป็นสัญญาณของการไม่ประนีประนอมของฝ่ายที่ต่อต้านประชาธิปไตย แต่ในทางกลับกันก็มีผลดีเกิดขึ้นคือทำให้ผู้คนสนใจเรื่องราวของประวัติศาสตร์หน้านี้มากขึ้น โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว

สอดคล้องกับ ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ที่ให้ความเห็นในฐานะนักประวัติศาสตร์ว่า การลุกขึ้นมาเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร ยิ่งกระตุ้นสังคมรู้จัก หลังจากไร้คนสนใจมานาน พร้อมย้ำว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ ขอให้คนรุ่นหลังเป็นผู้ตัดสิน ส่วนตัวของวัตถุคือ หมุดคณะราษฎรนั้น ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาไม่เพียงไม่กี่วัน หลังหมุดคณะราษฎรสูญหาย ประเด็นที่สุดแสนเข้มข้นนี้จะลงเอยอย่างไร คงต้องติดตามกันยาวๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image