ผลงานระดับโลก ใบหน้าจำลอง บรรพบุรุษหญิงไทย (?) ปลายยุคน้ำแข็ง 13,000 ปีมาแล้ว

เมื่อเร็วๆ นี้ วารสารชื่อดังระดับโลกคือ Antiquity ในประเทศอังกฤษ ได้เปิดเผยรูปจำลองใบหน้าของมนุษย์โบราณอายุ 13,000 กว่าปี ซึ่งขุดที่แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นระดับโลก เพราะนอกเหนือจากมนุษย์โบราณฮอบบิทที่เคยค้นพบที่อินโดนีเซียแล้ว ก็ไม่เคยมีโครงกระดูกของมนุษย์แบบปัจจุบันที่ใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการขึ้นรูปหน้า และทำให้เราเห็นว่าลักษณะทางกายภาพเป็นอย่างไรมาก่อน

ที่สำคัญงานชิ้นนี้บุกเบิกโดยทีมนักโบราณคดีชาวไทย

บทความดังกล่าวมีชื่อว่า A Late Pleistocene woman from Tham Lod, Thailand: the influence of today on a face from the past หรือแปลเป็นไทยว่า “ผู้หญิงในสมัยไพลสโตซีนตอนปลายจากถ้ำลอด ประเทศไทย: รูปหน้าคนปัจจุบัน อิทธิพลจากหน้าตาคนในอดีต” โดยตีพิมพ์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขียนโดยนักวิจัย 4 ท่านคือ ดร.ซูซาน เฮยส์, ดร.รัศมี ชูทรงเดช, นัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์, ศ.สรรใจ แสงวิเชียร และ ดร.ทพญ.กนกนาฏ จินตกานนท์

รศ.ดร.รัศมี อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อ ค.ศ.2015 ได้พบกับ ดร.ซูซาน เฮยส์ แห่งมหาวิทยาลัยวอลลองกอง (Wollongong) ประเทศออสเตรเลีย ที่ประเทศอินโดนีเซีย ผู้เชี่ยวชาญด้านการจำลองใบหน้าคนโบราณ จากนั้นจึงติดต่อเพื่อให้มาทดลองจำลองรูปหน้าของโครงกระดูกที่ขุดได้จากเพิงผาถ้ำลอดตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นโครงกระดูกของเพศหญิงที่พบบริเวณเพิงผาถ้ำลอดที่เก่าที่สุด โดยเธอมีอายุเมื่อตายประมาณ 25-35 ปี ซึ่งนับเป็นโครงกระดูกที่เก่าที่สุดอายุประมาณ 13,640 ปีมาแล้ว

Advertisement
รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ริเริ่มการจำลองหน้าคนโบราณ

วาดภาพ เติมเนื้อหนัง เทียบคลังกะโหลก 720 ตัวอย่าง

เทคนิคที่ ดร.ซูซาน ใช้คือเริ่มต้นจากการใช้เทคนิคการจำลองใบหน้าจากกะโหลก (Facial approximation) แบบ 2 มิติก่อนด้วยการวาดภาพ จากนั้นจึงค่อยๆ เติมกล้ามเนื้อและเนื้อหนังลงไปบนผิวกะโหลก โดยอาศัยการเปรียบเทียบจากแฟ้มภาพประวัติกะโหลกศรีษะของผู้หญิงในยุคเดียวกันจำนวน 720 ตัวอย่างจาก 25 ประเทศทั่วโลก มาเปรียบเทียบกัน เพื่อหาความเป็นไปได้

ความจริงแล้วก่อนหน้างานของ ดร.ซูซาน นั้น ดร.รัศมี ได้ให้คุณวัชระ ประยูรคำ ประติมากรอิสระ ทดลองปั้นใบหน้าเป็นแบบ 3 มิติ หรือประติมากรรมลอยตัวมาก่อนหน้านี้โดยอาศัยข้อมูลจากคุณนัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์ คงคาสุริยฉาย ที่ทั้งเป็นผู้ขุดค้นโครงกระดูกนี้ วิเคราะห์ และจำลองแบบขึ้นมาด้วยการอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และหล่อเรซินขึ้นมาเบื้องต้น

ดังนั้น ใบหน้าที่ ดร.ซูซาน วาดขึ้นมา และที่คุณวัชระ ปั้นขึ้นมานั้นถึงจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็จะเห็นได้ว่ามีใบหน้าที่มีความละม้ายคล้ายกัน แสดงว่าข้อมูลการจำลองใบหน้ามีความถูกต้องระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ดร.ซูซาน ได้เลือกใบหน้าที่เธอเป็นคนวาดตีพิมพ์ในวารสาร เพราะเป็นใบหน้าที่ผ่านกระบวนการเปรียบเทียบกับตัวอย่างอื่นๆ จำนวนมาก

Advertisement

 

 

ไม่ฟันธง “เชื้อสาย” โครงหน้าละม้าย 3 ภูมิภาค

จากภาพจำลอง ดร.รัศมี กล่าวว่า โดยลักษณะผู้หญิงคนนี้มีกายภาพเป็นแบบมนุษย์โบราณ (Archaic Homo sapiens sapiens) ที่เป็นต้นบรรพบุรุษของมนุษย์อย่างเราที่เรียกว่า “โฮโม ซาเปียนส์” โดยมีรูปร่างของใบหน้ามีโหนกแก้มสูง ดวงตารูปร่างคล้ายผลอัลมอนด์ขนาดเล็ก ผิวสีน้ำตาล ผมของเธอน่าจะเป็นสีดำออกน้ำตาลเหมือนคนเอเชียในแถบนี้โดยทั่วไป ทรงผมที่จำลองเลือกไว้ผมยาวปะบ่าและปลายที่ดูตัดไม่เรียบร้อย ส่วนความสูงน่าจะประมาณ 5 ฟุต

ดร.ซูซาน ให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า “เมื่อประเมินจากข้อมูลแล้ว ผู้หญิงคนนี้คล้ายกับหน้าตาของผู้หญิงในปัจจุบัน โดยมีความใกล้เคียงกับผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และแอฟริกา” แต่ก็อย่าเพิ่งฟันธงว่าเป็นคนเชื้อสายใดกันแน่ ถึงอย่างนั้นก็นับเป็นครั้งแรกๆ ที่คนทั่วโลกจะได้เห็นหน้าของผู้หญิงในยุคปลายสุดของยุคน้ำแข็ง

นัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์ คงคาสุริยฉาย และ ดร.ซูซาน เฮยส์ กำลังปรึกษากันถึงแนวทางการจำลองหน้าคนโบราณ

โครงกระดูกนี้ถูกฝังอยู่ใต้ดินโดยไม่มีพิธีกรรมอะไรมากนัก สังเกตได้จากเธอถูกฝังในหลุมตื้นๆ ร่างกายถูกจัดวางในท่างอตัว หันหน้าเข้าเพิงผา สภาพของกระดูกค่อนข้างแหลกเพราะกิจกรรมในสมัยหลัง ส่วนของเซ่นที่อุทิศเป็นเนื้อสัตว์ที่เหลือสภาพเป็นเพียงกระดูกสัตว์ และมีก้อนหินกรวดที่คงใช้เป็นค้อนหินสำหรับทำเครื่องมือหินกะเทาะ จากนั้นก้อนหินกรวดและหินปูนขนาดใหญ่ได้วางทับบนร่างของเธอโดยรอบเสมือนกับเป็นสัญลักษณ์ที่บอกตำแหน่งการฝัง หรืออาจป้องกันไม่ให้สัตว์มาคุ้ยเขี่ย

รูปแบบพิธีกรรมปลงศพในลักษณะนี้ จากการศึกษาของ ดร.ปีเตอร์ เบลล์วูด พบว่าเป็นลักษณะที่พบโดยทั่วไปในสมัยปลายยุคน้ำแข็งและต้นยุคอากาศอบอุ่นตอนต้นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาเหตุที่คนยุคนั้นต้องฝังศพในท่างอตัว เพราะเป็นท่าที่เหมือนอยู่ในครรภ์ของมารดา แต่ชนบางเผ่าที่ฝังศพในท่างอตัวนั้นเพราะเกิดจากการแบกศพใส่คานหามทำให้ต้องมัดแขนและมือแล้วหามมาฝังในท่างอตัว

เพิงผาถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ที่ขุดค้นโครงกระดูกมนุษย์โบราณ

ปริศนาความตายของสตรีร่างเล็ก

ทีมนักวิจัยทางด้านมานุษยวิทยาที่ทำงานร่วมกันนับสิบปีได้แก่ นัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์, ศ.นพ.สรรใจ แสงวิเชียร และ ดร.ทพญ.กนกนาฏ จินตกานนท์ พบว่าโครงกระดูกนี้เป็นเพศหญิงอย่างแน่ชัดโดยสังเกตได้จากความกว้างของกระดูกเชิงกราน และจากลักษณะฟันกรามด้านบนคู่ที่สาม และอื่นๆ ช่วยยืนยันว่าโครงกระดูกนี้ตายเมื่ออายุประมาณ 25-35 ปี จัดว่าเป็นวัยกลางคน เธอเป็นผู้หญิงร่างเล็กมีความสูงประมาณ 5 ฟุต ใกล้เคียงกับคนที่อาศัยในเขตไทย-จีนในปัจจุบัน น่าเสียดายที่ตอนนี้ยังไม่ทราบสาเหตุการตายที่แน่ชัด

ความจริง ในพื้นที่ใกล้เคียงกันยังพบโครงกระดูกผู้ชายที่ฝังศพในท่างอตัวในหลุมรูปคล้ายวงกลมที่แหล่งโบราณคดีเพิงผาบ้านไร่ โดยที่กะโหลกศีรษะของโครงนี้ปรากฏร่องรอยบาดแผล ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการตาย ชายคนนี้ตายเมื่อ 45-50 ปี สังเกตได้จากฟันที่ล่วงเกือบหมดปาก จัดว่าเป็นคนแก่แล้วในสมัยนั้น จากการตรวจสอบอายุด้วยคาร์บอน 14 พบว่ามีอายุน้อยกว่าโครงกระดูกที่เพิงผาถ้ำลอดราว 3,000 ปี ขุดค้นโดยโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อปี 2544 ซึ่งสนับสนุนทุนโดย สกว. เช่นกัน แสดงว่าประเพณีการฝังศพท่างอตัวจึงเป็นวัฒนธรรมที่สืบเนื่องยาวนานหลายพันปีในพื้นที่นี้ ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นการฝังศพในโลงไม้ที่เรียกว่าโลงผีแมน

สภาพโครงกระดูกระหว่างที่ขุดพบที่เพิ่งผาถ้ำลอด

 

ภาพลายเส้นแสดงโครงกระดูกมนุษย์และหลักฐานร่วมที่ค้นพบ

ภูมิศาสตร์โบราณ สะพานแผ่นดิน และวิวัฒนาการผู้คนบนเขตแดนไทย

ช่วงเวลาระหว่าง 13,000 ปีมาแล้วถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก เพราะเป็นช่วงเวลาสิ้นสุดของยุคน้ำแข็ง (Ice Age) หรือ “สมัยไพลสโตซีน (Pleistocene Epoch)” ผลก็คือสภาพภูมิอากาศทั่วโลกเกิดความผันผวนสูงมาก อากาศค่อยๆ อบอุ่นขึ้น ทำให้น้ำแข็งจากขั้วโลกและตามที่ต่างๆ ได้ละลาย ซึ่งมีปริมาณมากถึง 50 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น จนผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เคยเดินเท้าถึงกันด้วยสะพานแผ่นดินไม่สามารถเดินทางถึงกันได้อีก ช่วงเวลานี้เรียกกันว่า ยุคอากาศอบอุ่น หรือ สมัยโฮโลซีน(Holocene /Recent Epoch) เริ่มต้นหลัง 13,000 ปีเป็นต้นไป และพวกเราเองในปัจจุบันก็อยู่ในยุคนี้เช่นกัน

ต่อเรื่องนี้ ดร.รัศมี ได้ความเห็นว่า “เราไม่ค่อยมีความรู้่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายประชากรในช่วงเวลานั้นมีอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อการอพยพเคลื่อนย้ายของประชากรอีกระลอกหรือหลายระลอกจากอาฟริกาไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของโลก หลักฐานในภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีน้อยมาก เท่าที่ปรากฏมีจากฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนามตอนเหนือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย”

ดังนั้น โครงกระดูกนี้จึงสำคัญระดับโลกเพราะทำให้เห็นการเคลื่อนย้ายประชากรในเอเซีย และวิวัฒนาการของคนบนดินแดนประเทศไทย ซึ่งในอนาคตถ้ามีการจำลองภาพใบหน้าคนโบราณมากขึ้นก็จะทำให้สามารถเข้าใจวิวัฒนาการทางกายภาพของคนในภูมิภาคนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ทำไมผู้คนในแต่ละประเทศจึงมีหน้าตาคล้ายกัน รวมถึงทำให้เราเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความเป็นมาของคนก่อนที่จะเป็นคนไทย

แต่ในหน้าจำลองของผู้หญิงที่เพิงผาถ้ำลอดนี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นตัวแทนของผู้หญิงไทยหรือคนในภูมิภาคนี้ได้ทั้งหมด แต่เป็นตัวแทนของคนในเขตที่สูงที่เคยอาศัยอยู่ใกล้กับพรมแดนไทย-พม่าเมื่อ 13,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นหน้าตาของคนโบราณที่มีความถูกต้องมากที่สุดด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การปั้นและจำลองใบหน้าจากจินตนาการ
นับเป็นความก้าวหน้าทางด้านโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นักโบราณคดีไทยสามารถสร้างผลงานและชื่อเสียงได้ในระดับโลก

ทีมวิจัยด้านมานุษยวิทยาจากซ้ายไปขวาคือ นัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์ คงคาสุริยฉาย และ ศ.นพ.สรรใจ แสงวิเชียร

 

บทความที่ได้รับการตีพิมพ์
Hayes, S., Shoocongdej, R., Pureepatpong, N., Sangvichien, S., & Chintakanon, K. (2017). A Late Pleistocene woman from Tham Lod, Thailand: The influence of today on a face from the past. Antiquity, 91(356), 289-303. doi:10.15184/aqy. 2017.18.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image