“เหมือนขีดชื่อทวดผมออกจากประวัติศาสตร์” พริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ทายาทคณะราษฎร

ยังคงเป็นประเด็นที่สังคมจับตาอย่างใกล้ชิด สำหรับการสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยของ “หมุดคณะราษฎร” บริเวณลานพระราชวังดุสิต ซึ่งนับวันดูเหมือนจะยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้นทุกที

ย้อนกลับไปเมื่อ 16 เมษายน พริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ วัย 30 ปี เดินทางไปยัง สน.ดุสิต เพื่อแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ขอให้มีการติดตามหาหมุดกลับคืนมา

ชายหนุ่มคนนี้ กลายเป็นจุดสนใจในทันทีเมื่อมีข้อมูลเปิดเผยว่าเขาคือทายาทของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ หนึ่งในคณะราษฎร ผู้มีส่วนในเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม เมื่อ พ.ศ.2475 ซึ่งตนมีศักดิ์เป็น “เหลน” แท้ๆ

แม้มีความทรงจำรางเลือนเกี่ยวกับคุณทวด แต่อุดมการณ์ประชาธิปไตยร่ำร้องให้ออกมาดำเนินการในฐานะประชาชน ที่ห่วงความเสียหายของประเทศชาติ ทั้งยังเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งคิดตามอุดมการณ์ของคณะราษฎร ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว อย่าเงียบเฉยอย่างที่เป็นอยู่

Advertisement

เขายอมรับอย่างแมนๆว่า “กลัว” ถึงขั้นสวดมนต์และดูฤกษ์ยามก่อนก้าวเท้าออกจากที่พักเพื่อปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วง

ถึงอย่างนั้น ก็ยังเอื้อนเอ่ยถ้อยความเผ็ดร้อนอย่างการให้ปลดภาพ นายควง อภัยวงศ์ ออกจากร้านกาแฟใต้พรรคประชาธิปัตย์ หากไร้ท่าทีใดๆจากผู้ที่ขึ้นชื่อว่าสืบทอดอุดมการณ์พรรคอันมีที่มาจากคณะราษฎร

ล่าสุด นายอภิสิทธิ์ออกมาตอบปัดว่าหมุดนี้มิใช่ของคนใดคนหนึ่ง จะมาพาดพิงถึงใครไม่ได้ และฝ่ายความมั่นคงต้องไปสืบสวนสอบสวนถ้อยแถลงนี้ และแม้เขาจะเห็นด้วยเรื่องการดำเนินการ แต่ก็คาดหวังว่าจะได้คำตอบที่น่าประทับใจกว่านี้ พร้อมระบุว่า “จะเลิกคิดถามอะไรต่ออีก”

Advertisement

เบื้องลึกเบื้องหลังของการดำเนินการในครั้งนี้ มีที่มาอย่างไร ความต้องการที่แท้จริงของทายาทขุนนางเก่าผู้นี้คืออะไรกันแน่ ?

เหตุผลหลักที่ทำให้ตัดสินใจออกมาแจ้งความ ?

ต้องบอกก่อนว่าไม่ได้โกรธที่หมุดหาย เพราะคิดว่าประชาธิปไตยอยู่ในตัวคนมากกว่า แต่มันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผมไม่ได้แจ้งความในฐานะลูกหลานคณะราษฎร แต่ไปในฐานะประชาชนธรรมดาคนหนึ่งที่เห็นว่าทรัพย์สินราชการหายไป เลยไปลงบันทึกประจำวันไว้ว่าช่วยไปดูหน่อยว่าในท้องที่ของท่านมีอะไรหายไปบ้าง เพราะเมื่อไปค้นดู พบว่าหมุดนี้สร้างมาจากมติ ครม. มติคณะรัฐสภา หรือจะตีความเป็นอย่างอื่นก็ไม่ทราบนะ

ก่อนไปได้ปรึกษาครอบครัวไหม ?

ครอบครัวผมเคารพในสิทธิเสรีภาพมาก คุณพ่อเรียนจบจากนิวยอร์ก มิลิทารี อคาเดมี เป็นเหมือนโรงเรียนเตรียมทหาร จึงมีค่านิยมอเมริกันหน่อยๆ ผมอายุ 12-13 ก็ถูกเตะออกจากบ้านมาสู้ชีวิตเองแล้ว เขาจะไม่มายุ่งอะไร เราเลยตัดสินใจด้วยตัวเองบ่อย ท่านก็ไม่มาทัดทาน ส่วนคุณแม่ เป็นห่วงแน่นอนอยู่แล้ว ตอนจะไปแจ้งความ ไม่ได้บอกท่านก่อน เปิดทีวีมาเจอเลย (หัวเราะ) ท่านก็ช็อกเล็กๆ แต่ไม่ได้ห้าม

และต้องเน้นย้ำด้วยนะครับว่า ในกลุ่มของลูกหลานหลวงเสรีเริงฤทธิ์เองก็ไม่ได้มีความเห็นตรงกันทั้งหมด คนที่เฉยๆ รู้สึกว่าเปลี่ยนแล้วไม่เป็นไร ก็มี แต่คนที่เดือดก็เยอะ ผมก็บอกว่าอาสาออกไปเป็นหนังหน้าไฟ ออกไปว่ากันตามกระบวนการ แล้วทางตำรวจทหารท่านว่าอย่างไร ผมก็ว่าตามนั้น
ผมแจ้งแต่แรกแล้วว่าเคารพในคำตอบ และเชื่อมั่นในตัวท่านศรีวราห์ว่าท่านคงทราบกฎหมายดีกว่าผม ท่านคงหาคำอธิบายได้ดีกว่า

ได้ปรึกษาเรื่องนี้กับทายาทคณะราษฎรคนอื่นๆหรือเปล่า ?

อย่างที่เรียนไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าอาสาเป็นหนังหน้าไฟ แต่ขอพูดว่า ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ลูกหลานคณะราษฎรบางคนไม่แสดงตัวหรอกครับ เพราะเป็นของแสลง

กลัวผลกระทบที่จะตามมาภายหลังหรือไม่?

กลัวแน่นอน ปกติผมเป็นคนไม่ธรรมะธัมโม ไม่รู้ฤกษ์ยามใดๆ ทั้งสิ้น แต่วันก่อนที่จะไปแจ้งความ ถึงขั้นสวดมนต์ ดูฤกษ์(หัวเราะ) แต่พอนึกว่ามันอาจจะเกิดความเสียหายต่อชาติบ้านเมือง ก็คิดว่าควรจะออกมาด้วยหน้าที่ ผมยังไม่เห็นผู้ใหญ่คนไหนทำอะไรเท่าไหร่ เมื่อสังคมเรียกร้องความกล้าหาญทางจริยธรรม ผมก็ทำ
ความกล้าของผมยังไม่ได้เสี้ยวหนึ่งของคุณทวดเลย เชื่อว่าสิ่งที่ทำเป็นไปเพื่อชาติบ้านเมือง ถ้าคนอื่นเห็นเป็นอย่างอื่นก็ไม่เป็นไร เราเห็นปัญหาก็ไปแจ้งเท่านั้นเอง ท่านจะจัดการหาทางออกอย่างไรก็แล้วแต่ท่านเลย เอาที่สบายใจ

การที่มีต้นทุนชีวิตสูง ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจหรือชาติตระกูล มีผลให้กล้าออกหน้าในเรื่องนี้ไหม?

ไม่เลยครับ คิดว่าตัวเองเป็นเด็ก เป็นผู้น้อยในสังคม ไมได้มีสถานะสูงส่งกว่าคนอื่น ไม่คิดว่าจะมีอะไรช่วยปกป้องได้ ไม่งั้นจะสวดมนต์ทำไม (หัวเราะ)

ถ้าหลังจากนี้เรื่องไม่คืบหน้า มีแผนจะดำเนินการต่ออย่างไร?

ไม่มีครับ ถึงจุดนี้ ในทางคดี ผมว่ามันจบไปแล้ว ถ้าท่านว่าอย่างไรผมก็ว่าตามนั้น แต่สิ่งที่ผมติดตามอยู่คือท่านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่พรรคก่อตั้งโดยสมาชิกคณะราษฎร โดยที่พรรคของท่านยืนยันมาตลออดว่าเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา อันสร้างมาจากคณะราษฎร คำพูดทุกคำพูดของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่เคยพูดในสภา ก็เป็นมรดกตกทอดจากคณะรัฐสภา ในฐานะที่ท่านควง อภัยวงศ์ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีด้วย ทั้งผู้ก่อตั้งพรรคด้วย ผมคิดว่าต้องเป็นระดับหัวหน้าพรรคที่ออกมาพูด ถึงจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะออกมาในนามพรรคแล้ว ?

ใช่ครับ ผมไม่ได้ทวงถามความรับผิดชอบนะ หลายๆ สื่อลงไปแบบนั้น แต่ผมทวงถามในแง่ของการเรียกร้องให้ท่านแสดงความคิดเห็น ผมเคารพความเห็นของท่าน ไม่ว่าท่านจะบอกว่าย้ายหมุดได้เลย เต็มที่ แล้วปลดภาพท่านควง อภัยวงศ์ ออกจากร้านกาแฟใต้พรรคประชาธิปัตย์ก็ทำเลย หรือท่านจะบอกว่า ไม่ได้ ! ต้องไปตามหาหมุดกลับมา แม้แต่จะใช้สิทธิในการให้สัมภาษณ์ตามปกติว่าไม่มีความเห็น ท่านก็จำเป็นต้องพูดว่าท่านไม่มีความเห็น แต่ไม่ใช่เงียบ ท่านต้องการอยู่ในที่ปลอดภัยหรืออย่างไร

คิดว่าตัวเองเป็นฮีโร่ไหม ในการออกมาดำเนินการครั้งนี้?

ไม่เลย ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้น้อยนำเรื่องไปกราบเรียนผู้ใหญ่ว่ามีเรื่องนี้เกิดขึ้นเท่านั้นเอง

สนใจหมุดมาก่อนที่จะสูญหายหรือไม่ เคยร่วมงานรำลึกต่างๆที่จัดขึ้นบริเวณหมุดหรือเปล่า?

ไปครับ ไปตลอด แต่ก็ไม่ได้มีอะไร จนกระทั่งเกิดเรื่องนี้ บางท่านพูดด้วยซ้ำว่าการถอนหมุด อาจจะรุนแรงกว่าการปักหมุด

ตอนหลวงเสรีเริงฤทธิ์เสียชีวิต คุณอายุแค่ 4 ขวบ มีความทรงจำอะไรเกี่ยวกับท่านบ้าง?

ส่วนใหญ่เป็นความทรงจำผ่านเรื่องเล่าครับ คุณปู่จะเล่าเยอะ มีรูปคุณทวดในบ้าน มีหนังสืองานศพ สิ่งที่ประทับใจผมมากคือความเป็นทหาร ซึ่งท่านเป็นแม่ทัพพายัพ เป็นทหารที่ยิ่งใหญ่ มีคนเคารพมากมาย
สมัยก่อนตอนยังเป็นครอบครัวใหญ่ เรามีแม่บ้าน ซึ่งเมื่อก่อนเรียกว่าบ่าวประมาณ 10 กว่าคน จะมีการเลือกตั้ง มีกระทรวงซักผ้า กระทรวงห้องครัว มีไบล์โหวตด้วยนะ ผมได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวงซ่อมเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ มีหน้าที่ซ่อมคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ (หัวเราะ) ป้าดูแลห้องครัว วันนี้มีผู้หลักผู้ใหญ่มา ก็ต้องเตรียมอย่างงั้นอย่างงี้ บ่าวจะไปสังกัดอยู่กระทรวงนั้นๆ ต้นคิดเรื่องนี้คือคุณทวด (ยิ้ม)

หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์)

ครอบครัวปลูกฝังแนวคิดทางการเมืองไหม?

ไม่ครับ ที่บ้านถือว่า ไม่ว่าใครเป็นซ้าย เป็นขวา หรือเป็นอะไร ก็แล้วแต่เลย บางคนไปร่วมชุมนุม กปปส. บางคนเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง แต่เราก็นั่งทานข้าวด้วยกัน

หวังจริงๆหรือ ว่าจะสามารถนำหมุดเดิมกลับมาได้?

ตัวหมุดมันไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญมากทางด้านวัตถุ แต่มีคุณค่าทางจิตใจบางอย่าง ไม่ใช่เฉพาะลูกหลาน จริงๆ แล้ว ผู้ที่เคารพตัวบุคคลในคณะราษฎร เช่น อ.ปรีดี พนมยงค์ หรือท่านจอมพลทั้งหลาย มีอยู่เยอะ

สมมติว่าได้หมุดที่หายไปกลับมา ควรทำอย่างไรต่อ เปลี่ยนคืนที่เดิม ฝังข้างหมุดใหม่ หรือเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ?

จริงๆ ผมได้หมดนะ แต่อยากทราบว่าหน่วยงานใดจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไรเท่านั้นเอง ถ้าท่านประกาศว่าจะเปลี่ยนหมุด หรือจะดำเนินการอย่างเป็นทางการตั้งแต่แรกเลย ผมก็ไม่ออกมาหรอก แต่มันมีความไม่ชัดเจน จนนำมาสู่ความไม่สบายใจ สังคมตั้งคำถาม

สมมติท่านนายกฯทุบโต๊ะบอกว่าจะใช้มาตรา 44 เปลี่ยนหมุด นั่นแหละ ผมยอมรับเลย

ในยุคจอมพลสฤษดิ์ หมุดก็เคยถูกถอนไป แต่ท่านมีความชัดเจน มีการบอกกล่าวว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร มันจะไม่มีปัญหาถ้าทำอย่างจอมพลสฤษดิ์

คิดอย่างไรที่การสับเปลี่ยนหมุดส่งแรงกระเพื่อมไปถึงการขุดประวัติคณะราษฎรแล้ว ?

ดีแล้วครับ จะได้กลับไปศึกษา ที่ด่ากันว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม ก็ไม่ได้โกรธอะไรนะ วิจารณ์ได้ทั้งสิ้นเลย จะได้มีคนออกมาบอกว่ามันก็มีส่วนนี้นะ ไม่ว่าจะเรื่องที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพฝากบ้านฝากเมืองไว้กับท่านปรีดี พนมยงค์ หรือหลังจากนั้นที่มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นเยอะมาก

น้อยใจแทนบรรพบุรุษบ้างไหม ?

น้อยใจอยู่แล้ว มันเหมือนขีดชื่อทวดเราออกจากประวัติศาสตร์ แต่เราไม่คิดจะไปทำอะไร ด้วยความเป็นเด็ก ก็แค่บ่นไปตามลมตามแล้ง ไม่อย่างนั้นก็ออก พรบ.มาเลย ว่าสิ่งที่คณะราษฎรสร้างมาให้ยกเลิกหมด วุฒิบัตรของนักฏหมายระดับประเทศที่จบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ต้องเอาออก เพราะธรรมศาสตร์เกิดจากคณะราษฎร

สมัยเรียนประถม-มัธยม เวลาครูอธิบายประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร รู้สึกอย่างไร ?

ช่วงนั้นยังไม่ได้สนใจประเด็นพวกนี้เท่าไหร่ มาเริ่มสนใจเรื่องการเมืองหลังปฏิวัติปี 2549 เป็นต้นมา ผมเป็นผลพวงของการรัฐประหารปี 2549 ตอนนั้นนอนอยู่บ้านที่เกียกกายดีๆ เห็นรถถังเตรียมจะออกมา ตอนนั้นรู้สึกว่าทำไมระบบปกติมันดำเนินต่อไปไม่ได้

แล้วปรึกษากับใครไหม หรือศึกษาด้วยตัวเอง ?

ส่วนใหญ่ซื้อหนังสือมาอ่านและลงคอร์สเรียนเอง ผมเป็นคนเรียนเชิงกว้าง คือเรียนเรื่องนั้นๆ เพราะความชอบ อย่างด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองก็เรียนที่ออกซ์ฟอร์ด ชมรมดีเบต ผมก็ได้ 100 คะแนน จริงๆแล้ว ปริญญาใบแรกเป็นวิศวกรรม ต่อมาเป็นด้านดนตรี ,เศรษฐศาสตร์การเมือง ที่กำลังจะจบเป็นรัฐศาสตร์ ทุกใบเป็นปริญญาตรีหมด ไม่ได้เรียนเชิงลึกในแง่ที่จะไปเป็นด็อกเตอร์

ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง คิดว่าอะไรที่ “ไม่โอเค” ในประเทศนี้ ?

ผมรู้สึกว่าระบบของประเทศนี้มันมีอะไรบางอย่างเป็นแบริเออร์อยู่ ทำให้เราไม่สามารถใช้ความรู้ความสามารถได้อย่างเต็มที่
อยากให้คนรุ่นใหม่ใช้ความรู้ความสามารถทำประโยชน์ประเทศชาติได้มากขึ้น
ส่วนตัวแล้วอยากรับใช้ชาติด้วยการนำความรู้ที่มีมาพัฒนา อย่างด้านเศรษฐศาตร์ ผมเรียนเรื่องการทำให้ประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง หรือเรื่องไอทีผมก็ทำได้หลายอย่าง เราคิดเรื่องดีๆ ใส่ไปให้ได้เยอะแยะ แต่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้เสนอด้วยซ้ำ อย่างเรื่องพร้อมเพย์ที่นำมาผูกกับบัตรประชาชน ผมว่าพลาดแล้ว ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน

ในฐานะที่สนใจประวัติศาสตร์การเมือง เคยลองขบคิดวิพากษ์คณะราษฎรหรือคุณทวดของตัวเองไหม ?

จริงๆ ก็มีสิ่งที่ท่านทำผิดพลาด เช่น การเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ โดยส่วนตัวผมไม่ได้ชอบฝ่ายอักษะเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ผมเป็นเหลน ยังวิพากษ์ทวดตัวเองได้ ทำไมคนอื่นจะวิพากษ์ไม่ได้ จะไปโกรธอะไร ไม่มีทั้งสิ้น

คิดอย่างไรกับการที่มีกลุ่มบุคคลไปทำพิธีกรรมถอนหมุด เมื่อปี 2555 ?

คิดว่าตลก คำเดียว เพราะผมไม่เชื่อไสยศาสตร์ และการที่คุณไปทำพิธีถอนหมุดได้โดยไม่โดนนำตัวใส่ตระกร้อให้ช้างเตะ ก็เพราะคณะราษฎร

มีผู้วิเคราะห์ว่าการเปลี่ยนหมุดครั้งนี้เป็นเรื่องไสยศาสตร์เหมือนกัน ?

อันนี้ยอมรับว่าไม่เคยคิด ไม่มีในหัวเลย (หัวเราะ)

เชื่อเรื่องการสับเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร ว่าทำเพื่อลบล้างประวัติศาสตร์และความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรหรือไม่ ?

รัฐบาลยังไม่ทราบ แล้วผมจะทราบได้อย่างไร (ยิ้ม).

หนุ่มไฮโซเจ้าของค่ายเพลงที่มีพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง

นอกเหนือจากภารกิจแจ้งความที่เป็นข่าวกระหึ่มแทบทุกสำนัก ชีวิตส่วนตัวของทายาทหลวงเสรีเริงฤทธิ์ผู้นี้ก็ไม่ใช่ธรรรมดา เคยเป็นทั้งเจ้าของค่ายเพลงชื่อว่า “เลมอน แฟกตอรี่” ที่รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ด้วยตัวเอง ไหนจะเป็นผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองแบบ Pirate Party แห่งแรกในไทยและเอเชียในนาม “พรรคพลังราษฎร์” ที่มีสมาชิกแบบเข้าๆออกๆอยู่ราว 10-20 คน
“เราเป็นเด็กรุ่นใหม่ เห็นว่าสังคมควรมุ่งสู่ระบอบประชาธิปไตย เลยจัดตั้งพรรคขึ้นมา ด้วยความที่มีความรู้ด้านไอที ได้ศึกษาเรื่อง Pirate Party ในเยอรมันมา เลยจดชื่อกับ กกต.เป็น Pirate Party Thailand แต่ กกต.บอกว่าไม่ได้ (หัวเราะ) ก็เลยเปลี่ยนเป็นพรรคพลังราษฎร์
นโยบายพรรคคือรับใช้ประชาชนเต็มที่ เน้นสมาชิกพรรคเป็นใหญ่ ส.ส.เป็นรอง ส.ส.อยู่ในพรรคจะถือไอแพด สมาชิกพรรคโหวตอะไรจะมีแจ้งเตือนขึ้นมือถือ สมาชิกบอกอะไร ส.ส.ก็โหวตตามนั้น
มีการลงพื้นที่เป็นเรื่องราว ถามว่าเขามีปัญหาอะไร โดยส่วนตัวเน้นด้านการศึกษา เลยไปทำเป็นรีเสิร์ชมากกว่า แทนที่จะนั่งบนหอคอยงาช้าง แต่ระหว่างที่เตรียมยื่นกับ กกต. ชื่อพรรคถูกสับเปลี่ยนไปมา ตอนนั้นก็เกิดรัฐประหารไปแล้ว”

ส่วนค่ายเพลงแม้จะขายให้ต่างชาติไปแล้ว แต่ก็ยังทำเพลงแบบส่วนตัวอยู่ตลอด ด้วยเหตุผลที่ว่า “เรารักดนตรี ก็ทำดนตรี”

ถามว่าภาพดูขัดแย้งไหม ระหว่างหนุ่มนักดนตรีกับนักการเมือง ?

“ผมไม่ได้มองว่ามันขัดกัน ยิ่งเป็นสิ่งที่ส่งเสริมกันด้วยซ้ำไป ดนตรีต้องใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อยากแต่งเรื่องราวยังไง ความคับแค้น ขุ่นข้องหมองใจ วิจารณ์การเมือง ต่างประเทศเขาเป็นเช่นนั้น แม้แต่เพลง Blowin’ in the Wind ก็เป็นผลพวงจากสงครามเวียดนามชัดเจน แต่เพลงในประเทศเราไม่ค่อยพูดถึงเรื่องเหล่านี้เท่าไหร่”

ปัจจุบัน พริษฐ์ หรือ “ซูชิ” เป็นพนักงานราชการในหน่วยงานแห่งหนึ่ง มีตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวข้องกับไอที ตามที่เชี่ยวชาญ โดยตอนนี้เจ้าตัวขอลาเรียนชั่วคราว

แม้ใช้เวลาส่วนมากพักอยู่ในคอนโดมีเนียมหรูกลางกรุง และเพิ่งวางแผนล่องเรือเที่ยวจากไทยไปอิตาลี ดูมีความเป็นผู้ดีและอีลิตสูง แต่ซูชิบอกว่าไม่เคยมองตัวเองอย่างนั้น หากแต่คิดฝันอยาก “รับใช้ชาติ” ด้วยความรู้ที่ตัวเองมีอย่างเต็มความสามารถ.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image