อดีตเด็กนอกระบบ’3 จังหวัดใต้’ เฉลิมชัย โสวิรัตน์ อาสาดึงน้องน้อยออกจากมุมมืด

แบลัง (ขวา) กับ อาเดล สะมอรี (ซ้าย) กลุ่มหม้อดินเผา

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปรียบไปไม่ต่างจากแดนสนธยา เป็นเมืองในสายหมอกที่คนข้างนอกมองอย่างไรก็ยากจะทะลุผ่าน เหมือนมีใยบางๆ มากางกั้น

พื้นที่ที่เหมือนร้างจากสงบร่มเย็นมาแสนนาน…

ทว่า ในอีกมุมหนึ่งเรากลับได้เห็นเด็กๆ และเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่บางคนอาจมองว่าเป็นเด็กหลังเขา ไม่เอาไหน ค่อยๆ ก้าวออกมาทำกิจกรรม มาเล่นดนตรี เล่นกีฬา ทำงานศิลปะ สนุกสนาน เฮฮา เข้าคอร์สอบรมพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำไปด้วยกัน

“ใช่ครับ จากที่เคยอยู่ในป่า จากที่เคยหายไปจากครอบครัว ก็กลับมาอยู่ในครอบครัว กลับมาอยู่ในชุมชน อย่างตอนเย็นๆ จะมาเล่นเตะบอลกันแล้ว ตอนแรกเรายังไม่ได้ทำเป็นงานวิจัย พอเอาไปเสนอผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แปลกใจว่ามีแบบนี้ด้วยหรือ ไหนลองเอาวิธีของคุณไปทำกับพื้นที่อื่นสัก 5-6 พื้นที่ ดูว่ามันสำเร็จหรือเปล่า ก็เลยเกิดเป็นงานวิจัยขึ้นมา….”

Advertisement

เฉลิมชัย โสวิรัตน์ หรือที่บางคนเรียกว่า “แบลัง” เล่าให้ฟังถึงความสำเร็จส่วนหนึ่งในความเพียรพยายามที่จะหาวิธีการดึงเอา “เด็กนอกระบบ” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับเข้ามาใช้ชีวิตเป็นที่เป็นทางเหมือนเดิม

แม้จะมีจุดอ่อนเรื่องการศึกษา แต่ชีวิตหนึ่งใช่ว่าจะต้องเรียนรู้จากห้องสี่เหลี่ยมเพียงอย่างเดียวเสมอไป การที่เด็กๆ ได้เสาะหาสิ่งที่ตัวเองชอบ ได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก และพัฒนาขึ้นมาเป็นวิชาชีพก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง

เช่นเดียวกับ “แบลัง” ที่ยอมรับตรงๆ ว่า ผมจบแค่ ม.6 และก่อนหน้าจะก้าวขึ้นมาเป็นประธาน “บ้านพิราบขาวชายแดนใต้” ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนนอกระบบ ผมเคยเป็นเด็กเกเรมาก่อน

Advertisement

แบลัง เป็นคนยะหริ่ง จ.ปัตตานี แม้จะสำเร็จการศึกษาในระบบโรงเรียนเพียงแค่มัธยม 6 แต่ความที่รักการเรียนรู้ เมื่อสนใจสิ่งใดก็จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนเจนจบ

ปี 2548 ในวัยเพียง 24 ปี เป็นประธานกลุ่มเยาวชน “ชมรมเตะกระป๋อง” ชมรมที่เป็นการรวมตัวของเด็กๆ กลุ่มแก๊งต่างๆ เตะฝุ่นไปวันๆ ก่อนจะเกิดลูกฮึดลุกขึ้นมาเปลี่ยนบทบาทของกลุ่ม หันมาสร้างสรรค์งานจากวัสดุจากท้องถิ่น เช่น กะลามะพร้าว มาทำเป็นของใช้ เครื่องประดับ ฯลฯ

และเป็นที่มาของกลุ่ม “ศรัทธา : กล้าศิลป์ อาเนาะกายู” (แปลว่า “ลูกไม้พันธุ์ใหม่”) ออกบูธขายสินค้าหัตถกรรมฝีมือสร้างสรรค์ของเด็กๆ ในกลุ่ม ทั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่กรุงเทพฯ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

“กริชรามัน” คือสิ่งที่เตะตา พาให้ก้าวเข้าไปหยิบจับพูดคุยซักถามกับพ่อค้าที่ง่วนกับการจัดบูธมือเป็นระวิง

แค่ลักษณะของหัวกริชที่เป็นลาย “นกพังกะ” ก็มีเรื่องราวน่าสนใจพร่างพรูออกจากปากของเขามากมาย ยังมีวิธีการเหน็บกริชที่สามารถบ่งบอกได้ว่าผู้ที่เหน็บกริชนั้นเป็นคนพื้นที่ไหน ยะลา ปัตตานี หรือข้ามฟากมาจากมาเลย์

พ่อค้าคนนี้ไม่ธรรมดาแน่นอน…

 

แนะนำตัวหน่อยว่ามาจากไหน?

จริงๆ นี่เป็นงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเราทำงานกับสถาบันรามจิตติ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ผมเป็นเอ็นจีโอ ที่ทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานบ้านพิราบขาวชายแดนใต้ ซึ่งทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนนอกระบบ

เด็กนอกระบบจะมีการศึกษาน้อย อยู่ในป่า แต่งานวิจัยนี้เราจะสามารถเอาเด็กที่อยู่นอกระบบมาหาปราชญ์และเอาองค์ความรู้ที่ปราชญ์มี ในเรื่องของวัฒนธรรมหรือรากเหง้าในพื้นที่ของตนเองมาทำ ปัจจุบันเราเป็นการรวมของ 6 กลุ่ม มีกลุ่มเรือกอแระ กลุ่มกริช กลุ่มวาบูแล (เร็กเก้มลายู) กลุ่มกรงนกคุ้ม และกลุ่มหม้อปั้นดินเผา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลายไม้ของยี่งอ จ.ยะลา จากนั้นเราก็เอาเด็กที่เราเรียกว่า “เด็กนอกระบบ” ไปเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมของตัวเอง คือตัวเองมีอะไรอยู่เป็นทุนในชุมชนตนเอง ก็ดึงมาเรียนรู้และพัฒนา ซึ่งงานพัฒนาเป็นการพัฒนาภูมิปัญญาของตนเอง ให้มันต่อยอด สามารถตอบโจทย์ของตลาดได้ แล้วเอาตรงนั้นมาขาย

เป็นการประยุกต์จากงานโบราณ?

ใช่ครับ ยกตัวอย่าง กลุ่มกรงนกคุ้ม ซึ่งในวิถีวัฒนธรรมมันมีศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมากมาย เช่น การทำกรงดักนกคุ้ม ซึ่งมีการพัฒนาต่อยอดมาเป็นโคมไฟสำหรับแต่งบ้าน เพราะถ้าเป็นกรงดักนกคุ้มอย่างเดียว ถ้าเป็นคนมาเลย์ขายราคา 5,000 บาท ก็ซื้อ แต่คนกรุงเทพฯหรือแม้แต่คนต่างจังหวัดไม่รู้จะซื้อไปทำไม อย่างมากก็ซื้อไปตั้งโชว์ แต่มันราคาแพงก็ไม่มีคนซื้ออีก ก็เลยมาพัฒนา ใช้งานวิจัยสอนเยาวชนให้พัฒนา ทำอะไรก็ได้ที่สามารถตอบโจทย์ให้กับตลาด ให้กับคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลัก

ส่วนหม้อปั้นดินเผาที่เห็นอยู่ตรงนี้ ทั้งลายและทรงดูปุ๊บจะรู้เลยว่าเป็นหม้อดินจากกูบังบาเดาะ จ.ปัตตานี เราใช้หม้อแบบนี้มาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันเกือบจะสูญหายหมดแล้ว ซึ่งตอนนี้ในหมู่บ้านจะเหลือแต่โต๊ะ (ยาย) ที่ทำหม้อดิน ถ้าโต๊ะตายทุกอย่างก็ตายไปด้วย แต่ถ้ามีการรักษาต่อก็ยังไปต่อได้ เราก็เลยเอาเยาวชนมาเรียนรู้ แต่ถ้ามาทำแบบนี้เหมือนเดิมก็จะเป็นการแย่งตลาดของเมาะ (แม่) ของโต๊ะอีก ก็มานั่งคิดว่าจะทำอะไรที่มันแตกต่าง ก็หันมาทำเป็นกระถาง ฯลฯ เกิดการพัฒนาจากรูปแบบของหม้อดิน

เด็กที่เอามาฝึกอยู่ในวัยไหน?

เราเปิดกว้างรับตั้งแต่อายุ 15-35 ปี เรารับหมด เพราะถ้าเรารับแต่เยาวชน 15-25 ปี แต่มันยังมีกลุ่มที่อายุ 26-35 ปี กลุ่มนี้เป็นพี่ใหญ่ ถ้าเราเอาน้องมา แล้วไม่ทำอะไรกับพี่ใหญ่ สักวันหนึ่งพี่ใหญ่ก็จะดึงน้องกลุ่มนี้กลับไปอีก แต่ถ้าเราเอาพี่มาด้วย เอาน้องมาด้วย มันจะเป็นกลุ่มที่ช่วยปกป้องกันเอง เราจึงต้องคิดเผื่อต้องดึงพวกนี้เข้าไปด้วย

ทำมานานแค่ไหนแล้ว?

จริงๆ ประเด็นเยาวชนนอกระบบ ผมทำมา 10 ปีแล้ว แต่เรื่องอาชีพผมทำมาโดยตลอด แต่ผมทำกิจกรรมในพื้นที่ด้วย ทำค่าย อบรมให้ความรู้ในเรื่องอาชีพ การเพิ่มศักยภาพของเยาวชน การทำกิจกรรมสร้างรอยยิ้ม เช่น เล่นดนตรี ฯลฯ

3 จังหวัดชายแดนใต้ใครก็มองว่าเป็นแดนสนธยา…ทำอย่างไรจะดึงเด็กที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่กับเรา?

ผมเชื่อในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า ต้อง “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” แต่ภาครัฐไม่ทำตาม ไปพัฒนาเลยโดยที่ไม่เข้าใจ หรือพัฒนาและเข้าถึง แต่ก็ไม่เข้าใจเลย

เราต้องรู้จักตัวเราเองก่อนว่าเราเป็นใคร มาจากไหน แล้วพูดกับเขาเข้าใจมั้ย จะทำอะไรให้เขา หรือทำอะไรทางเรา เราต้องเข้าใจพวกนี้ก่อน จึงจะทำกับน้องกับเยาวชนในพื้นที่ได้ เราเป็นหนึ่งองค์กรที่เข้าใจ เพราะที่เขาอยู่เราก็เคยอยู่มาก่อน

สิ่งที่เราทำวันนี้เรารู้จักตัวเอง เรารู้ว่าเขาจะไปไหน เพราะเราเคยทำมาก่อน เราไม่ใช่ภาครัฐ เราเป็นเอ็นจีโอที่เกาะกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อจะทำกับเด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เราเลยรู้จัก รู้ว่าเขาต้องการอะไร เราทำสิ่งที่เขาอยากจะทำ เราไม่ได้ทำตามที่เราอยากจะได้ แล้วมาสร้างกลไกหลายอย่างเพื่อให้เขาเดินต่อไปได้ ไม่ใช่ให้ตังค์ ให้ความรู้แล้วก็ปล่อย แล้วเขาจะเดินต่อไปอย่างไร แต่สิ่งที่เราทำ เราทำมาโดยตลอด เขาล้มเราก็ฉุดขึ้นมาให้เขาลุกขึ้นเดินต่อ

พูดถึงวันนี้ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มันเป็นอะไรที่เป็นสงครามทางการเมือง มากกว่าสงครามทางจิตวิทยาของคนในพื้นที่ ผมยังเชื่อในกลไกของภาครัฐว่า ถ้าภาครัฐทำสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการ มันจะเป็นพื้นที่ที่สงบสุขได้ แต่พื้นที่ต้องการอย่างไรเราต้องรู้จักด้วย และต้องทำไปทีละสเต็ปๆ แต่ผมคิดว่าตอนนี้เรายังไม่ได้แก้ปัญหา เราแค่ชะลออะไรบางอย่างเท่านั้นเอง

วันนี้ถ้าหันกลับไปดูเด็กที่จะเติบโตมาเป็นพี่ เราเข้าไปป้องกันแล้วครับ เพราะถ้าเราไม่ทำ พอโตไปเขาจะทำสิ่งที่ไม่ดีบางอย่างเหมือนพี่ ส่วนมากเป็นยาเสพติดอันดับ 1 แต่ผมไม่พูดถึงประเด็นความมั่นคงนะ เพราะถ้าเด็กเยาวชนในพื้นที่เป็นแนวร่วมกันหมด ผมจะอยู่ในพื้นที่ได้อย่างไร เพราะผมทำงานกับเด็ก

ถามว่าผมกลัวมั้ย ผมก็กลัวนะ แต่ผมเดินทางทุกพื้นที่ ผมไม่เคยกลัวแนวร่วมเลย สิ่งที่เราทำ ภาครัฐอาจจะมองว่าเราต่อต้านรัฐก็ได้ ภาครัฐอาจจะมองว่าเราส่งเสริมแนวร่วมก็ได้ มันก็เป็นไปได้ทุกอย่าง ขณะเดียวกันแนวร่วมอาจจะมองว่าเราเป็นสายให้กับตำรวจก็ได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่เราทำวันนี้ เราพยายามทำให้ดีที่สุด ผมเน้นที่เรื่องยาเสพติดอย่างเดียว

ลดความเสี่ยงที่เด็กเข้ามาอยู่ในวงจรยาเสพติดได้มากน้อยแค่ไหน?

ถามว่าดีขึ้นมั้ย เราประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่เชิงคุณภาพเราดูได้ ดูจากกิจกรรม จากผลงาน จากสื่อที่เด็กเล่าเรื่อง มันเห็นอะไรบางอย่าง

มีเด็กเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้น มีคนที่พูดถึงการลดบุหรี่ สี่คูณร้อยมากขึ้น มีคนที่พูดถึงอาชีพมากขึ้น พูดถึงดนตรี ภูมิปัญญา หัตถกรรมมากขึ้น แสดงว่าสิ่งที่เราทำมันได้ผลทางกายภาพ เราเห็นภาพเด็กเหล่านี้มากขึ้น

เอางบประมาณมาจากไหน?

ผมวิ่งชนภาครัฐหมดละครับ โชคดีที่ผู้ใหญ่ในพื้นที่สนับสนุนในการทำกิจกรรมมาโดยตลอด แต่ผมอยากให้ผู้ใหญ่ อยากให้ประเทศเห็นว่าเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่บอกว่าเป็นแนวร่วมจริง ผมจะให้เห็นภาพว่าเด็กเหล่านี้บนลานกิจกรรมของผมเป็นอย่างไรบ้าง และมีมากขนาดไหน แล้วเด็กที่ออกมาไม่ใช่แค่เด็กที่มาเที่ยว ผมอยากจะเห็นเด็กๆ ออกมาทำกิจกรรมกัน ถ้าเด็กเต้นบีบอย ผมก็อยากจะเห็นว่ามีเด็กบีบอยกี่กลุ่มใน 3 จังหวัด ถ้าเด็กสร้างกลุ่มอาชีพ มีเด็กกลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มกิจกรรม กลุ่มดนตรี ผมอยากดูว่าเด็กเหล่านี้มีกลุ่มอะไรบ้าง แล้วเราจะได้นับเด็กดูว่ามีเด็กที่เป็นแนวร่วมสักกี่คน นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะทำ แต่มันทำไม่ได้เพราะต้องใช้เงินเยอะ

กับงานนี้ที่เอาผลงานของเด็กทั้ง 6 กลุ่มมาวางขาย เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ทำกับเด็กนอกระบบ?

ครับ เป็นงานวิจัยที่ผู้ใหญ่อยากเห็นว่ามันตอบโจทย์กลุ่มตลาดได้มั้ย โดยมีระยะเวลา 1 ปี ซึ่งต่อยอดมาจากงานวิจัยที่ได้งบประมาณมาครั้งที่แล้ว และงานครั้งที่แล้วก็ต่อยอดมาจากปีก่อนหน้า

ผมทำงานวิจัยแบบนี้มาตลอด โดยตอนแรกเราทำงานเรื่องเด็กหญิงเยาวชนนอกระบบ ตอนนี้ผู้ใหญ่กำลังหันมาทำกับเด็กนอกระบบบ้าง แต่เขาทำไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้จักว่าเด็กนอกระบบคือใคร อยู่ดีๆ จะเอาเงินมาลงอย่างเดียวมันไม่ได้ เพราะพวกนี้อยู่ในป่า อยู่กับต้นกระท่อม แต่เราเข้าถึงได้ มันมีเทคนิคในการเข้าถึง

 

เฉลิมชัย โสวิรัตน์ หรือ “แบลัง”

 

ทำไมสนใจทำงานกับเด็กนอกระบบ?

ผมทำอาชีพนี้ (สร้อยกะลา) ผมทำมา 12 ปี ผมเกิดมาด้วยคำว่ากลุ่มเยาวชนทำงานกะลามะพร้าว ใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี

ตอนนั้นผมอายุ 24 ปี เป็นประธานกลุ่มเยาวชน แต่ตอนนี้ผมอายุ 35 ปีแล้ว ผมทำเรื่องกะลามะพร้าวมา 10 ปี ผมทำวันนั้นมีเด็กเยอะ แต่วันหนึ่งเด็กค่อยๆ หายไปทีละคนๆ เพราะเด็กไม่ได้เรียนหนังสือ ชมรมผมชื่อ “ชมรมเตะกระป๋อง” เป็นชมรมที่เตะฝุ่นเตะกระป๋องไปวันๆ ไม่มีการศึกษา ไม่มีหลักการทำงาน ก็รวบรวมกันมาทำอาชีพเหล่านี้ แต่วันหนึ่งเด็กหายไปๆ เด็กหายไปไหน เด็กติดยา เด็กไปอยู่ในป่า เด็กต้มกระท่อม ก็เลยคิดว่า เอ๊ะ มันต้องทำอะไรสักอย่าง ก็เลยหาเงินก้อนหนึ่งมาพัฒนางานพวกนี้

ตอนนั้นทำเรื่องการบำบัดยาเสพติด แต่เด็กไม่ออกมาเพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้ติดยา จะให้มาบำบัดทำไม ก็เลยหาเงินก้อนใหม่ ค่อยๆ ลองทำมาโดยตลอด จนพบว่าการที่เราทำไม่สำเร็จเพราะเราทำไม่ถูกจุด เราทำโดยลำพัง โดยไม่ได้เอาผู้ใหญ่เข้ามาช่วย ก็เลยคิดว่าเรามีผู้นำหลายคนในพื้นที่ เรามีโต๊ะอิหม่าม มีกำนัน นายกเทศมนตรี ฯลฯ จากนั้นก็เลยคิดว่าเอาผู้นำเหล่านี้เข้ามาช่วย เราเรียกว่าผู้นำสี่เสาหลัก มาช่วยปั๊บ-สำเร็จ

คือมีเด็กกลับมาหาเรา?

ครับ เข้ามาร่วมกิจกรรม จากที่เคยอยู่ในป่า จากที่เคยหายไปจากครอบครัว ก็กลับมาอยู่ในครอบครัว กลับมาอยู่ในชุมชน อย่างตอนเย็นๆ จะมาเล่นเตะบอลกันแล้ว ตอนแรกเรายังไม่ได้ทำเป็นงานวิจัย พอเอาไปเสนอผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แปลกใจว่ามีแบบนี้ด้วยหรือ ไหนลองเอาวิธีของคุณไปทำกับพื้นที่อื่นสัก 5-6 พื้นที่ ดูว่ามันสำเร็จหรือเปล่า ก็เลยเกิดเป็นงานวิจัยขึ้นมา

ซึ่งพอทำไปก็เห็นผล 6 ชุมชน ทาง ศอ.บต.บอกว่า ไหนลองไปทำกับ 45 ชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอจังหวัดสงขลา พอเห็นผลก็เลยเกิดงานวิจัยต่างๆ ขึ้นมาอีก จนเด็กมีพื้นที่ทำกิจกรรม จึงคิดว่าถ้ามันจะยั่งยืน เด็กต้องมีอะไรที่สามารถเป็นกลไก เป็นเครื่องมือ ยึดจิตใจให้อยู่ไปตลอด ก็เลยคิดว่าต้องมีงานวัฒนธรรม มีงานหัตถกรรมยึดจิตใจเด็กเอาไว้ แต่วันนี้เราจับเรื่องหัตถกรรมก่อน แล้วค่อยจับงานวัฒนธรรมต่อ เอาไม้โยก รำกริช เอาลิเกฮูลู ฯลฯ ไปให้เด็กวิจัยต่อว่ามันจะตอบโจทย์เด็กได้มั้ย เพราะเรากำลังสร้างบันได ค่อยๆ ก้าวไปทีละก้าว เพื่อที่จะเห็นภาพต่างๆ ในพื้นที่ชัดเจนขึ้น อย่างน้อยเราคิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ได้

 

เรารู้ว่าเขาจะไปไหน เพราะเราเคยทำมาก่อน เราไม่ใช่ภาครัฐ เราเป็นเอ็นจีโอที่เกาะกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อจะทำงานกับเด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะ รู้ว่าเขาต้องการอะไร เราทำสิ่งที่เขาอยากจะทำ เราไม่ได้ทำตามที่เราอยากจะได้

 

งานมากมายขนาดนี้ มีสมาชิกกี่คน?

เรามีคนทำงานในบ้านพิราบขาว 7 คน เราไม่มีเงินเดือน มีเงินเดือนตอนนี้จากงานวิจัย แค่คนละ 1,225 บาท แต่เรามีอาชีพทำ เราสามารถขายของที่เราที่ทำเอง มันอาจจะไม่เยอะ แต่เรารักในสิ่งที่เราทำ

เรามีสมาชิก 21 คน มีเครือข่ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพันๆ คนที่จะช่วยเราดูแล ซึ่งใน 6 กลุ่มที่เราทำงานอยู่ ใน 1 กลุ่มมีสมาชิก 30 คน ยังมีที่เราทำงานเรื่องเกษตรพอเพียงอีกหลายสิบกลุ่ม ยังมีเรื่องวัฒนธรรมอีกหลายสิบกลุ่ม มีที่เป็นองค์กรทำเรื่องแบบนี้อีกหลายสิบกลุ่ม นั่นคือมวลชนของเราที่เราทำงานอยู่ที่ยะหริ่ง

ได้วิชาทำกริชจากไหน?

จริงๆ กริชผมจะเป็นหัวปัตตานี ผมเรียนรู้เอง ไม่มีครู อยากเรียนเรื่องกริชก็ไปศึกษากริชจากยูทูบบ้าง จากคนทำจริงบ้าง ดูว่าลายนี้ทำยังไง ลายนั้นทำยังไง ประวัติศาสตร์มันเป็นยังไง ผมทำทุกอย่าง อาชีพในมือผมมีเป็นร้อยอาชีพ ผมต้องเรียนรู้เพื่อที่จะสอนน้องต่อ

ผมยังเป็นคนสอนดนตรีให้น้องๆ ด้วย ผมมีวงดนตรีเป็นเร็กเก้มลายู เล่นดนตรี แต่งเพลงเอง เป็นเรื่องของ 3 จังหวัดโดยเฉพาะให้คนพื้นที่และคนข้างนอกได้รู้จัก

เพราะเด็กบางคนเราพูดเล่าด้วยปาก เด็กไม่ฟัง แต่พอเล่าด้วยบทเพลงเด็กจะฟัง ก็เลยจะทำทุกอย่าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image