มากกว่าเรื่องรักโรแมนติกยุคสงครามโลก “ฉลบชลัยย์ พลางกูร” ครูผู้อุทิศตนจนวาระสุดท้าย

ครูฉลบ และสามี กับศิษย์ดรุโณทยาน รุ่นแรก หนึ่งในนั้นคือ ด.ญ.สุรภิน สายประดิษฐ์ บุตรสาวคนโตของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” เพื่อนรักของจำกัด เข้าเรียนโรงเรียนดรุโณทยานเป็นคนแรก เลขประจำตัว 1 (ภาพและข้อมูลจากบทความ “100 ปีแห่งชีวิต ฉลบชลัยย์ พลางกูร : ครูผู้มีชีวิตเพื่อผู้อื่น” โดย กษิดิศ อนันทนาธร ใน www.the101.world/thoughts

ไม่ง่าย ที่จะมีชีวิตยืนยาวถึง 1 ศตวรรษ
แต่ยากยิ่งกว่า ที่จะมีชีวิตเพื่อผู้อื่น จวบจนวาระสุดท้าย

ผู้หญิงชื่อ ฉลบชลัยย์ พลางกูร เลือกแล้วที่จะทำสิ่งนั้น

6 เมษายน พุทธศักราช 2560 “ครูฉลบ” จากโลกนี้ไปในวัย 100 ปีเศษ ท่ามกลางความอาลัยรักจากผู้คน ทั้งที่รู้จักมักคุ้น และไม่เคยเห็นหน้าค่าตา
ด้วยความดีงามที่สั่งสมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

ทั้งในฐานะ “ครูใหญ่” ของโรงเรียน ดรุโณทยาน
และในฐานะสตรีผู้อุปการะลูกหลานของบุุคคลที่ถูกภัยการเมืองคุกคาม จนได้รับยกย่องว่าเป็น “ครูผู้มีชีวิตเพื่อผู้อื่น”

Advertisement

ดอกไม้สีหวาน รายรอบกรอบรูปวาดตั้งหน้าศพ ถูกจัดวางตามคำสั่งเสียของผู้ล่วงลับ
กวีนิพนธ์ ถูกร้อยเรียงคัดกรองทุกถ้อยคำอย่างประณีต เพื่ออุทิศแด่ครูผู้เป็นที่รักยิ่ง
บทเพลงทรงพลัง ทว่า หม่นเศร้าในน้ำเสียงแห่งการสูญเสียถูกขับร้องในงานฌาปนกิจเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน
หรือ “วัดประชาธิปไตย” ตามชื่อที่คณะราษฎรตั้งขึ้นในคราวแรก

ฝูงชนสวมชุดสีดำ หลั่งไหลขึ้นสู่เมรุ เพื่อส่งครูฉลบเป็นครั้งสุดท้าย

ต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวชีวิตที่ห่างไกลจากคำว่าราบเรียบ และธรรมดาสามัญ

Advertisement

นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ผู้ก่อตั้ง “ดรุโณทยาน”

ฉลบชลัยย์ มหานีรานนท์ เกิดเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2459 ที่จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรคนรองของขุนสมาน สมุทกรรม กับนางแฉล้ม พลจันทร์ หลังจบอนุปริญญาประโยคมัธยม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อด้านอนุบาลศึกษาที่อังกฤษ เมื่อปี 2479 พบรักกับ *จำกัด พลางกูร* นักศึกษาหนุ่มด้านปรัชญาการเมือง และเศรษฐศาสตร์ ม.ออกซฟอร์ด กระทั่งกลับมาแต่งงานกันในวันที่ 11 กันยายน 2482
1 ปีต่อมา โรงเรียนดรุโณทยาน ถือกำเนิดขึ้นที่สะพานหัวช้าง เมื่อแรกตั้งเป็นโรงเรียนอนุบาล กระทั่งขยายไปถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 และย้ายมายังถนนประชาชื่นในปี 2527
สอนทั้งวิชาความรู้ทั้งในหนังสือ และจริยธรรม ความหมั่นเพียร การเป็นพลเมืองดีของสังคม รวมถึงความรักในประชาธิปไตย
เรื่องราวในชีวิตของฉลบ ราวกับโรยด้วยกลีบกุหลาบ ทว่า เพียงไม่นาน สิ่งไม่คาดฝันก็บังเกิด

จำกัด และฉลบชลัยย์ พลางกูร ที่ยุโรป (ภาพจากเฟซบุ๊ก 100 ปีชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์)

เพื่อชาติ เพื่อ humanity เพื่ออุดมการณ์สามีเสรีไทย

ต้นเดือนธันวาคม 2484 องค์การต่อต้าน “ญี่ปุ่น” ในสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกก่อตั้งขึ้น รู้จักกันต่อมาในนาม “เสรีไทย” นำโดย ปรีดี พนมยงค์
แน่นอนว่า จำกัด สามีของเธอเข้าร่วมขบวนการดังกล่าว เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเผด็จการที่ยอมจำนน และเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น
28 กุมภาพันธ์ 2486 เพียง 3 ปีหลังการแต่งงาน จำกัด รับหน้าที่เดินทางไปเมืองจีน เพื่อเจรจาให้ฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับบทบาทของเสรีไทย ซึ่งในขณะนั้น
เป็นช่วงเวลาที่สุ่มเสี่ยงต่อการพ่ายแพ้สงครามอย่างยิ่ง

“ข้าพเจ้าได้รับมือภรรยาแล้วกล่าวว่า อยู่ดีๆนะ ภรรยาของข้าพเจ้าก็สลัดมือ ก้มหน้าวิ่งหนีเข้าไปในประทุนเรือโดยไม่กล้าสบตาข้าพเจ้า”

ข้อความจากบันทึกจำนวนเกือบ 1,000 หน้าของ จำกัด พลางกูร บอกเล่ารายละเอียดในคืนอำลา โดยไม่รู้ว่านั่นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้พบกัน เพราะเสรีไทยหนุ่มต้องจบชีวิตลงที่โรงพยาบาลในเมืองจุงกิง (ฉงชิ่ง) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2486 โดยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับและกระเพาะอาหาร ทว่า ยังมีข้อสงสัยในเวลาต่อมาว่า อาจถูกวางยาพิษโดยทางการจีน หรือญี่ปุ่น เนื่องจากผู้ดูแลคนหนึ่งของเขาถูกจับได้ในปีต่อมาว่าเป็นสายลับให้ฝ่ายญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม เขาทำภารกิจได้สำเร็จ โดยสามารถเข้าเจราจากับ เจียงไคเช็ก ผู้นำจีนในขณะนั้น ซึ่งให้สัญญาว่าเมื่อสงครามสงบ รัฐบาลจีนจะประกันเอกราชให้แก่ไทย

ส่วนหนึ่งในบันทึกของจำกัด พลางกูร
ส่วนหนึ่งในบันทึกของจำกัด พลางกูร

ศ.เกียรติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้เรียบหนังสือ เพื่อชาติ เพื่อ Humanity อันเป็นคำพูดสุดท้ายก่อนสิ้นลมหายใจของเสรีไทยผู้นี้ ยกย่องว่า จำกัด พลางกูร เป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย เพราะเป็นผู้สละชีวิต เสี่ยงภัยเดินทางไปยังเมืองจีน ….กระทั่งส่งผลให้ประเทศรอดพ้นจากการตกเป็นผู้แพ้สงครามในที่สุด

70 ปีต่อมา หลังมรณกรรมของ จำกัด พลางกูร ครูฉลบ ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หลังจากชมละครเวทีเรื่อง เพื่อชาติ เพื่อ Humanity
โดยนิสิตเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2556 ความตอนหนึ่งว่า

“มีคนถามว่า ทำไมฉันไม่รั้งเขา ฉันรั้งไม่ได้หรอก ฉันต้องสนับสนุนเขา การที่เขาได้มาร่วมเสรีไทย ทำให้มีโอกาสรับใช้ชาติ ถ้าไม่ได้ร่วมงานนี้เขาคงจะเสียใจ “

สะท้อนความยึดมั่นในอุดมการณ์ของสามีผู้ล่วงลับ อุดมการณ์ที่ความตายของเขาไม่อาจพรากมันไปจากใจผู้หญิงคนนี้

ครูฉลบในช่วงบั้นปลาย ขณะให้สัมภาษณ์ ไทยพีบีเอส หลังจบละครเวที เพื่อชาติ เพื่อ humanity เมื่อปี 2556

ครูผู้เปี่ยมเมตตา และ “คุณป้า” ของนักโทษการเมือง

“คนมักจะพูดถึงครูฉลบ โดยชูถึงแต่มิติความรักโรแมนติก คือแน่ล่ะว่าเป็นเรื่องเศร้าสะเทือนใจที่คู่รักที่เพิ่งแต่งงานกันไม่นาน ต้องสละชีวิตสามี เพื่อชาติ เพื่อ humanity แต่การที่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเสียสามีตั้งแต่อายุ 27 มีชีวิตต่อมาจนถึง 100 ปี ยืนหยัดผ่านยุคการเมืองและความอยุติธรรมของสังคมนี้มามากมายหลายครั้งได้นั้น ก็น่าจะดำเนินชีวิตอยู่บนความคิดความอ่าน ความเป็นตัวของตัวเองที่หนักแน่นเกินกว่าจะย้อนกลับไปอธิบายที่จุดเริ่มต้นแค่นั้นหรือเปล่า”

นี่คือความเห็นของ ฆัสรา มุกดาวิจิตร นักวิชาการชื่อดังด้านสังคมศาสตร์ ผู้รู้จักมักคุ้น ด้วยมารดาเป็นลูกศิษย์ครูฉลบ แห่งสำนักดรุโณทยาน

ฆัสรา ยังเล่าว่า นักเรียนประจำที่โตมาในยุคแรกตั้งโรงเรียนดังกล่าว แต่ละคนมีภูมิหลังครอบครัวที่ “ไม่ธรรมดา” แต่เข้าใจว่าครูฉลบ ไม่ได้สอนเด็กให้รู้ถึงความไม่ธรรมดานั้น

“เท่าที่ฟังจากแม่ ทุกคนถูกเลี้ยงเหมือนกัน เท่ากัน และธรรมดาเหมือนเด็กทั่งไป สอนให้มีวินัย รู้หน้าที่ ให้แบ่งปัน สอนวิชา สอนรสนิยม สอนคัลเจอร์ ดิฉันไม่เคยสัมผัสความอาฆาตมาตรร้ายหรือเกลียดชังในบริบทการเมืองเมื่อ 70 ปีก่อนเลย ไม่แน่ใจว่าครูคิดอย่างไร หรือตั้งใจยังไงแน่ แต่ในความคิดตัวเอง ครูฉลบช่างเป็นครูที่เป็น humanist แกไม่ปลูกต้นไม้พิษลงไปในจิตใจเด็ก”

นักวิชาการผู้นี้ ยังปิดท้ายว่า ถ้าเมืองไทยมีพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงเหมือนในเวียดนาม ครูฉลบต้องเป็นหนึ่งในนั้น

ลายมือครูฉลบ เขียนถึงการจัดการงานศพของตนไว้เป็นข้อๆอย่างละเอียด

กษิดิศ อนันทนาธร ผู้เรียบเรียงบทความเรื่อง “100 ปีแห่งชีวิต ฉลบชลัยย์ พลางกูร : ครูผู้มีชีวิตเพื่อผู้อื่น” ระบุว่า ในทศวรรษที่ 2490 ครูฉลบได้อุปการะลูกๆของผู้ที่ถูกออกจากราชการโดยไม่ยุติธรรม เพียงเพราะเหตุว่าเป็นพวกของปรีดี อบรมเลี้ยงดูจนสำเร็จการศึกษาระดับสูง

ครั้นเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาถูกคุมขัง ครูฉลบก็เดินทางไปเยี่ยมในคุกทุกสัปดาห์ พร้อมลงมือทำอาหารคาวหวานอย่างพิถีพิถัน ทั้งที่ไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวมาก่อน “คุณป้า” กลายเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ได้รับความเคารพนับถือตลอดมา

“พวกเธอหลายๆคน คิดว่าครูต้องเสียสละอะไรมากมายเพื่อนักเรียน ความจริงแล้วครูไม่ได้เสียสละอะไรมากเลย ตรงข้าม ครูเป็นหนี้นักเรียนไม่น้อย เพราะการได้ทำงาน ได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนพวกเธอรุ่นแล้วรุ่นเล่า ทำให้ครูมีความสุขมาก ทำให้อายุยืนยาว” คือคำกล่าวของฉลบชลัยย์ ต่อความเป็นครูของตนตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านไป

100 ปีของครูฉลบ อาจเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน แต่เทียบไม่ได้กับความเป็นนิรันดร์ของสิ่งดีงามที่ผู้หญิงคนหนึ่งได้สร้างไว้ให้กับโลกใบนี้ที่จะคงอยู่ไปตลอดกาล

3. ภาพหน้าศพ เจ้าตัวเขียนสั่งไว้ก่อนเสียชีวิตให้ใช้ “รูปเขียนที่อยู่บนฝาผนังห้องกินข้าว”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image