สัมภาษณ์พิเศษ : อังคณา นีละไพจิตร หลังฝุ่นใน’กสม.’จาง ความคลุมเครือของสิทธิมนุษยชน

ความขัดแย้งภายในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.)ค่อยๆเผยตัวชัดเจนช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ยื่นใบลาออก ด้วยเหตุผลว่า “บรรยากาศไม่เอื้อให้เกิดการทำงานที่สร้างสรรค์”

ตามมาด้วยการตอบโต้ผ่านหน้าสื่อ ตอกย้ำการมีอยู่ของปัญหา

น่าเสียดายที่เมื่อฝุ่นหายตลบแล้วก็ไม่พบอะไร

เป็นธรรมดาที่ในทุกองค์กรย่อมมีความขัดแย้งเห็นต่าง โดยเฉพาะในกสม.ที่มีหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เกี่ยวพันไปถึงหลายปมปัญหาหลายองค์กร การทำงานด้วยทัศนคติที่แตกต่างอันมีที่มาหลากหลาย จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

Advertisement

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นผู้ที่ออกมาให้ความเห็นต่อเรื่องต่างๆบ่อยครั้ง และรวมถึงเรื่องปัญหาภายในด้วย

ตั้งแต่อังคณาเข้ามาทำหน้าที่ น่าจะสามารถสร้างภาพใหม่ของกสม.ได้ คือ การเข้าถึงง่าย ใส่ใจรับฟังจากผู้ถูกละเมิดสิทธิ

นอกจากตำแหน่งในฐานะเจ้าหน้าที่โดยตรงแล้ว ชื่อของเธอเป็นที่รู้จักมามากกว่าสิบปี จากการออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ครอบครัว เมื่อสามี สมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน หายตัวไปโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง

Advertisement

ผ่านมา 13 ปี คดีทนายสมชายทำท่าจะปิดฉากลงด้วยความเงียบ เมื่อดีเอสไอเห็นว่าควรงดสอบสวน เนื่องจากไม่พบตัวผู้กระทำผิด แต่หลังจากที่ประชุม ICCPR ของสหประชาชาติ กระทุ้งถามถึงคดีคนหาย ทั้งกรณี บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ และ สมชาย นีละไพจิตร รัฐบาลก็แสดงท่าทีกระตือรือร้นให้รับคดีมาทำอีกครั้ง

ความมืดมนในคดีบังคับสูญหายเช่นนี้ จะมีความหวังขึ้นมาบ้าง หากมีกฎหมายออกมารองรับให้สามารถดำเนินคดีได้ คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย ที่สนช.ตีกลับโดยอ้างรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าต้องมีการรับฟังความเห็นให้รอบด้านเสียก่อน ทั้งที่ขณะนั้นรัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้ และกฎหมายฉบับนี้เคยผ่านการรับฟังความเห็นมาแล้ว

ขณะที่กฎหมายฉบับอื่นผ่านฉลุยแบบไม่ต้องลุ้น

เรื่องราวของอังคณาน่าจะสะท้อนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยได้ระดับหนึ่ง

ยืดยาว คลุมเครือ ยิ่งเป็นกรณีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องจะเผยให้เห็น “วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด” ชัดเจน

 

หลังนพ.สุรเชษฐ์ลาออก ภายในมีการเปลี่ยนแปลงไหม?

น่าเสียดาย เพราะหลังคุณหมอสุรเชษฐ์ลาออก ไม่เคยมีการพูดถึงว่าลาออกด้วยเหตุอะไร ยอมรับว่ากรรมการสิทธิฯที่เหลือทั้ง 6 คน ไม่ได้มีการพูดถึงที่คุณหมอใช้คำว่าบรรยากาศการทำงานไม่สร้างสรรค์นั้น น่าจะเป็นอะไร แล้วเราควรปรับปรุงอะไร รู้สึกเสียใจและผิดหวังว่าไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้เลย ไม่ได้มาทบทวนปัญหา

มีแต่เรื่องการแบ่งงานว่าใครจะทำงานที่คุณหมอสุรเชษฐ์รับผิดชอบอยู่ กสม.นั่งประชุมด้วยกันตลอด ไม่ได้ทะเลาะกัน ความเห็นที่ประชุมยังเป็นปกติ มีทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง ถ้าอะไรที่เห็นต่างก็จะขอให้บันทึกไว้ในบันทึกการประชุมว่าเรื่องนี้ไม่เห็นด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบการทำงานแค่ไหน จนถึงขนาดมีการลาออก?

กระทบจิตใจ กสม.ที่เข้ามาทุ่มเททำงาน สุดท้ายไม่สามารถทนต่อระบบหรือการทำงาน คุณหมอสุรเชษฐ์หวังมากว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายรู้สึกว่าอยู่ไปไม่เกิดประโยชน์และไม่สร้างสรรค์ การลาออกของกสม.เป็นเรื่องใหญ่ เคยมีกสม.พม่าลาออกหลายคนในคราวเดียวกัน เป็นประเด็นสำคัญที่กสม.ทั่วโลกพูดถึง

ผลกระทบในการทำหน้าที่ ปัญหาเดิมๆก็ยังคงอยู่เดิมๆ อาจจะลดลงบ้างในช่วงหนึ่ง แต่ก็ไม่รู้ว่าแล้วจะยังไงต่อ ในการทำงานเราจำเป็นต้องยึดหลักความเป็นกลางและเป็นอิสระ ต้องยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนที่ถูกละเมิด

กสม.ไม่ได้มีภาระผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายภายในประเทศอย่างเดียว ยังต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาด้านสิทธิมนุยชนระหว่างประเทศอีก 7 ฉบับที่ไทยเป็นภาคีด้วย ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านแต่สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนจะต้องได้รับความเคารพอยู่ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ

ห่วงเรื่องความน่าเชื่อถือองค์กรไหม เมื่อมีข่าวปัญหาภายใน?

เรื่องปัญหาภายในเป็นธรรมดาทุกองค์กร เพียงแต่จะเปิดเผยหรือไม่ ถ้าองค์กรที่บุคลากรอยู่ด้วยกันดีไม่ขัดแย้งกันเลยอาจเป็นความไม่เป็นประชาธิปไตยก็ได้ ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ แต่ทำยังไงจะเคารพความเห็นที่แตกต่าง แม้เราจะเคารพเสียงข้างมากแต่ต้องไม่ละเลยความเห็นของคนส่วนน้อยเช่นกัน

เคยพูดว่าอยากลาออกเหมือนกัน?

ที่จริงเป็นเพื่อนกับคุณหมอสุรเชษฐ์ เรียนมหิดลด้วยกัน คุณหมอเรียนแพทย์ เราเรียนพยาบาล ก็จะคุยกันตลอด คณะกรรมการสิทธิฯประกอบด้วยกรรมการ 7 คน แต่ทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯที่มีเจ้าหน้าที่ด้วย ต้องทำงานประสานกัน บางทีกรรมการทำงานฉลุยไปไหนแล้วสำนักงานยังเขียนรายงานไม่ได้เลย

กรรมการมาแล้วเดี๋ยวก็ไป ถ้าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานมีความเข้มแข็งก็สามารถนำองค์กรไปได้ หรืออาจให้ข้อเสนอแนะกับกรรมการได้ เพราะกรรมการก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง

การทำงาน 7 คนมีที่มาต่างกัน ประสบการณ์ต่างกัน การรับรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนต่างกัน ที่สำคัญคือมีความเชื่อต่างกัน การทำงานด้วยกันต้องใช้หลักธรรมาภิบาล ความอดทนอดกลั้น ความรู้สึกยอมรับในความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย จึงจะสามารถไปด้วยกันได้

ไม่ได้หมายความว่าต้องคิดเหมือนกัน คิดต่างกันได้แต่ต้องเคารพกัน

นอกจากเรื่องกรรมการสรรหา มีปมอื่นอีกไหมที่ทำให้กสม.ถูกลดสถานะ?

เรื่องการออกรายงานที่ล่าช้าในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง เช่นการชุมนุมทางการเมืองที่ร้ายแรง เรื่องภูมิคุ้มกัน เช่น เมื่อกสม.ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ต้องไม่ถูกฟ้องร้องคุกคาม ไม่ใช่ว่าให้ความเห็นโดยสุจริตแล้วโดนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐเห็นแย้งหรือต่อว่า

การออกรายงานที่ล่าช้าสาเหตุมาจากอะไร?

ไม่ทราบ เป็นของกสม.ชุดที่2 เห็นว่าจะออกแล้วไม่ทราบว่ามีเหตุอะไรเลยกลายเป็นว่าเอามาทบทวนใหม่ เขามองว่าการออกรายงานล่าช้าทำให้คนที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บไม่ได้รับความเป็นธรรม

เวลาออกแถลงการณ์มีปัจจัยอะไรบ้างในการพิจารณา?

ต้องเป็นความเห็นชอบของกรรมการทั้ง7 ยอมรับว่าอาจมีบางเรื่องที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในบางถ้อยคำบ้าง อาจถูกวิจารณ์ว่าอ่อนไปบ้าง ไม่มีสาระบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นมติของคณะกรรมการ

กรณีที่เราอยากให้ความเห็นส่วนตัวก็สามารถทำได้ มีอิสระในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน จะทำได้ในนามความเห็นส่วนตัว

แถลงการณ์หรือท่าทีต่างๆ มีการรับฟังจากผู้ที่เกี่ยวข้องไหม?

คิดว่าน่าจะได้รับการรับฟังบ้างในหลายๆเรื่อง อย่างกรณีธรรมกาย กรณีทางใต้ เรื่องระเบิด ฝ่ายตรงข้ามรัฐอาจไม่สนใจ แต่รัฐต้องทบทวนเรื่องการดูแลผู้เสียหาย

รายงานของเรา อย่างกรณีทางใต้จะได้คำวิจารณ์จากเจ้าหน้าที่ เช่น การบอกว่าทำไมไม่ไปเรียกร้องโจรบ้างล่ะ ต้องยอมรับว่ากสม.ไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่นั้นได้ เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่รัฐมีหน้าที่ตามกฎหมายและมีอำนาจในการจับควบคุมตัวผู้ที่เชื่อว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ จะทำเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจไม่ได้ เช่น ซ้อมทรมาน

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนตอนนี้มีกรณีไหนน่ากังวลเป็นพิเศษ?

เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความเห็น สิทธิชุมชน หลายคนถูกดำเนินคดีเมื่อออกมาปกป้องสิทธิชุมชนหรือแสดงความเห็นต่อสาธารณะ นักปกป้องสิทธิฯถูกคุกคาม น่ากังวล

ถ้ารัฐใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเกินไป ประชาชนก็รู้สึกอึดอัด ตอนนี้เรามีรัฐธรรมนูญแล้วต้องผ่อนปรน เช่น เสรีภาพในการสมาคม การแสดงความเห็น รวมถึงเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร เช่น การยุติเวทีประชุมวิชาการ เจ้าหน้าที่กังวลว่าจะพูดเรื่องกระทบความมั่นคง เวลาประชาชนมารวมตัวกันแสดงความเห็น ส่วนมากเป็นเรื่องกระทบปากท้องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ถ้าชาวบ้านพูดอะไรไม่ได้เลย เราจะอยู่กันอย่างไร

หนักใจไหมเข้ามาทำงานในช่วงที่สถานการณ์สิทธิฯเปราะบาง?

เหนื่อยใจ(ยิ้ม) ไม่หนักใจแต่รู้สึกเหนื่อยและท้อใจ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน การทำงานของกสม.ก็ท้าทายมากขึ้นว่าจะยืนอยู่ตรงไหน เมื่อชาวบ้านมาร้องเรียนแล้วคู่กรณีเป็นรัฐจะทำยังไง หรือโครงการขนาดใหญ่ที่เอกชนไปลงทุน เกิดผลกระทบกับชาวบ้าน เวลามีปัญหาแทนที่รัฐจะอยู่ข้างประชาน ทำไมเจ้าหน้าที่บางคนไปเข้าข้างอีกฝ่ายมาทะเลาะกับประชาชนเอง

คดีคุณสมชายหลังยูเอ็นท้วงติงแล้วรัฐบาลให้ดีเอสไอรับคดี มีความคืบหน้าไหม?

ยังไม่คืบหน้าเลย ยังไม่รู้เลยว่าดีเอสไอจะทำอะไรยังไงต่อ ไม่รู้เลย หรือพอพ้นกระแสที่ยูเอ็นถามมาแล้วจะเงียบต่อหรือเปล่าก็ไม่รู้ เรื่องบังคับสูญหายมีมานาน บางทีก็เหนื่อยนะ เรามาจนถึงวันที่ประเทศไทยมีร่างพ.ร.บ.ทรมานสูญหาย พอเข้าสภาแล้วถูกสนช.ตีกลับ ทั้งที่การรับฟังร่างกฎหมายทำมาตั้งแต่ปี 2555

ถามว่าพอใจร่างนี้ไหม ไม่ได้พอใจ 100 เปอร์เซ็นต์หรอก แต่เป็นร่างที่ถือว่ารับกันได้ระหว่างกระทรวงยุติธรรมและองค์กรสิทธิฯที่มาช่วยกันร่าง เหมาะสมที่จะไปต่อ คุ้มครองคนไม่ให้ถูกทรมาน บังคับสูญหาย มีกลไกลกฎหมายเพียงพอที่จะให้ความยุติธรรม พอสภาส่งกลับก็งงว่าจะยังไงต่อ

มองว่าทำไมสนช.ไม่รับ ทั้งที่กฎหมายฉบับอื่นก็ผ่านไม่ยาก?

ก็ไม่รู้เหมือนกัน ตอนสนช.ส่งกลับยังไม่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเลย แต่สนช.อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 77 แล้วกฎหมายที่วันนึงผ่านหลายๆฉบับทำไมง่ายจัง ทำไมฉบับนี้จึงดูแล้วดูอีก และที่บอกว่าไปแก้กฎหมายอาญาก็ได้ แก้ไม่ได้หรอก ถ้าแก้ได้แก้ไปนานแล้ว พ.ร.บ.นี้ต้องสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านทรมานและการบังคับสูญหาย ต้องมีกฎหมายโดยเฉพาะ เพราะมีหมวดที่ว่าด้วยคณะกรรมการที่เป็นอิสระ

เขาตีกลับเพื่อให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ทั้งที่เคยรับฟังไปแล้ว?

มีไปแล้ว ให้ไปหมดแล้ว ไม่ทราบเหมือนกันว่ากระทรวงยุติธรรมจะตั้งต้นตรงไหนต่อ ได้ยินว่าจะตั้งคณะกรรมการในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมาย อย่างน้อยต้องมาดูเรื่องเยียวยา ถามว่าร่างเดิมพอใจไหม ก็ไม่ได้พอใจหรอก มาตราที่ว่าด้วยกรรมการ ให้ดีเอสไอเป็นฝ่ายเลขาสืบสวนสอบสวน กรณีคุณธวัชชัย อนุกูลตายที่ดีเอสไอจะให้ใครมาดู

ไม่ผ่านเพราะกฎหมายกระทบกับเจ้าหน้าที่โดยตรงหรือเปล่า?

ไม่รู้ เพราะว่าในสนช.ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารเยอะอยู่ อยากบอกว่าถึงวันนี้เราควรมองไปข้างหน้ามากกว่า ทุกคนต้องช่วยกันหากลไกคุ้มครอง ไม่ต้องมองข้างหลังว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับหน่วยงานไหน อยากให้พิจารณากฎหมายโดยการมองไปข้างหน้า ต่อไปนี้เราต้องมีกลไกไม่ให้มันเกิดขึ้น กรณีพลทหารที่ตาย ถ้ามีพ.ร.บ.จะชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นการอบรมวินัย ซ่อม หรืออะไรก็แล้วแต่จะทำไม่ได้ เพราะเข้าข่ายการทรมาน เพราะฉะนั้น ตรงนี้เป็นการช่วยรัฐมากวก่า

กฎหมายฉบับนี้เป็นความหวังกรณีคุณสมชายและกรณีที่คล้ายกัน?

ใช่ เป็นความหวังของทุกคน ดีเอสไอบอกว่าจะเอาคดีบิลลี่คดีสมชายกลบัเข้ามาถ้าพ.ร.บ.นี้ผ่าน อ่าว พอไม่ผ่านแล้วจะทำยังไง กรณีพฤษภาทมิฬก็มีคนหายเยอะ ถามว่าต้องสู้กันอีกแค่ไหน ในชีวิตเราจะได้เห็นกลไกการคุ้มครองแบบนี้ไหม หรือจะต้องมีคนที่ถูกซ้อมถูกทำให้หายไปอีกสักกี่คนรัฐถึงจะได้คิดและตระหนักให้มีกลไกคุ้มครองอย่างจริงจัง
ตอนนี้คดีคนหายของไทยมี 82 กรณีอยู่ที่สหประชาชาติที่รัฐยังไม่สามารถคลี่คลายได้ รวมตั้งแต่ทนง โพธิ์อ่าน พฤษภาทมิฬ และสงครามยาเสพติดทางใต้ด้วย

ห่วงไหมว่ากฎหมายจะไม่เป็นจริงแม้ไทยจะลงนามอนุสัญญาไปนานแล้ว?

การให้สัตยาบันในอนุสัญญาเป็นภาระผูกพันที่เราต้องทำ ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ อย่าไปให้สัตยาบัน ดังนั้น เมื่อให้สัตยาบรรณแล้วต้องทำ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ให้สัตยาบันตั้งแต่2550 นี่ 10 ปีแล้วยังไม่แก้กฎหมายเลย และอนุสัญญาบังคับสูญหายฯลงนามตั้งแต่ 2555 นี่เป็นภาระผูกพัน รับแล้วต้องทำ ถ้าไม่ทำเราก็ถูกนานาประเทศของสหประชาชาติมองได้ว่าที่เราพูดเสมอว่าให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน จริงๆแล้วเราให้ความสำคัญจริงหรือไม่

เรื่องอนุสัญญาทรมาน บังคับสูญหาย หมายรวมถึงการควบคุมตัวโดยปิดบังสถานที่ กฎหมายจะมีประโยชน์และช่วยรัฐได้มาก เพราะอาจมีเจ้าหน้าที่บางคนนำตัวใครไปไว้เซฟเฮาส์ ต่อไปนี้จะทำไม่ได้ เมื่อเอาตัวไปจะต้องแจ้งญาติว่าอยู่ที่ไหน กฎหมายนี้มีประโยชน์กับทุกคน

ถ้าเป็นรัฐบาลปกติ กฎหมายจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากว่านี้ไหม?

ไม่รู้สิคะ หลายคนบอกว่ารัฐบาลนี้ออกกฎหมายได้ง่ายกว่า แต่ทำไมพ.ร.บ.ทรมานสูญหายจึงยากกว่าก็ไม่รู้ ใครๆก็พูดว่ากฎหมายหลายฉบับ ถ้าเป็นรัฐบาลปกติออกไม่ได้หรอก ต้องรัฐบาลนี้แหละ แต่พอเรื่องทรมานสูญหายทำไมอุปสรรคเยอะจัง

มีความหวังในการยกระดับสิทธิมนุษยชนไหม?

มีค่ะ แต่เราต้องช่วยกันอย่าหวังว่ารัฐจะเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมสำหรับเราอย่างเดียว ไม่มีอะไรหรอกที่เราได้มาง่ายๆ ทั้งผู้เสียหายและสังคมต้องช่วยกันผลักดัน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิมนุษยชน

สิทธิมนุษยชนคือของๆเรา รัฐต้องอำนวย ต้องจัดให้มีสิ่งต่างๆ ทั้งกฎหมาย กฎระเบียบ คำสั่ง เพื่อให้เราใช้สิทธิของเราได้

สิทธิติดตัวเรามาตลอด แต่ชาวบ้านไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิทำโน่นนี่ อย่างน้อยที่สุดสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานทำให้ถูกสูญหาย การเข้าถึงการศึกษา บริการสาธารณะสุข

ในฐานะที่เป็นผู้เสียหายแล้วคดีไม่คืบ บั่นทอนกำลังใจในการทำงานไหม?

ไม่บั่นทอน แต่ทำให้เข้าใจเลยว่าที่ผ่านมาวัฒนธรรมการไม่ต้องรับโทษเกิดขึ้นมาตลอดในสังคมไทย เคยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐรับโทษไหม กรณีสงครามยาเสพติดตายไปเกือบ 3,000 คนแต่เอาผิดใครไม่ได้

กรณีอุ้มหาย เราเป็นต้องคนพิสูจน์ว่าตำรวจ 5 คนเป็นคนผิด แล้วเรามีหลักฐานอะไรในมือไหม ไม่มีเลย ทุกอย่างอยู่กับอัยการหมด สุดท้ายศาลบอกว่าครอบครัวไม่มีสิทธิเป็นโจทย์ร่วม คนที่หายต้องมาร้องเอง เพราะไม่มีหลักฐานว่าตาย ก็งงๆไหม

กรณีบิลลี่ ดีเอสไอบอกว่าเมียบิลลี่ไม่ได้จดทะเบียน ปกากะญอใครจดทะเบียนล่ะ การใช้ชีวิตร่วมกันจนมีลูกห้าคนไม่ได้เป็นหลักฐานของการสร้างครอบครัวเหรอ เรามองกฎหมายที่ตัวหนังสือหรือเอาหลักความจริงมาประกอบด้วย ต้องไปเอาแม่บิลลี่มาจากโป่งลึก เรื่องที่ควรจะทำให้เป็นเรื่องง่าย กลับกลายเป็นเรื่องซับซ้อน

ชีวิตเขาทุกข์ยากพอแล้ว ต้องมาทำให้ชีวิตเขาทุกข์ยากไปอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image