The Backpackcar เรื่องราวระหว่างรอยล้อ ของ ‘ยุทธภูมิ พิบูลย์สวัสดิ์’

ทำไมต้องออกเดินทาง?

คนเราเดินทางเพื่อค้นหาสิ่งใด?

เชื่อว่าหลายคนยังคงตั้งคำถามไม่จบไม่สิ้น หากเพียงการออกเดินทางจะช่วยไขคำตอบให้กระจ่างขึ้นได้

“ชีวิตในทุกวันนี้ก็เหมือนกับต้องค้นหาอยู่ตลอด เพราะยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าเรากำลังออกไปหาอะไร บางทีอาจจะแค่ออกไปตามหาความต้องการของตัวเองก็ได้…”

Advertisement

อรรถาธิบายจาก POP MT หรือ ยุทธภูมิ พิบูลย์สวัสดิ์ ผู้เปรียบการเดินทางเยี่ยงชีวิตและลมหายใจ เจ้าของรายการสารคดีชื่อดัง The Backpackcar

เป็นบุตรชายคนโตของ พ.อ.พิเศษ สมภูมิ พิบูลย์สวัสดิ์ กับนางมยุรี ครุฑเหิร

เขาเกิดและมีชีวิตวัยเด็กอยู่ในกรมทหารย่านท่าน้ำบางโพ แต่เลือกเล่าเรียนด้านศิลปะ ด้วยชีวิตที่พบเจอกฎระเบียบทำให้เขาวาดฝันถึงเสรีภาพและความเป็นอิสระ

Advertisement

จวบจน โอกาส เดินทางมาถึง ยุทธภูมิจึงเริ่มเดินทางด้วยสองขาและพละกำลังของตนไปตามสถานที่ต่างๆ การใช้ชีวิตบนความเป็นจริงส่งผลให้การมองเห็นโลกต่างจากมนุษย์ในสังคมสำเร็จรูปทั่วไป

ปัจจุบัน ยุทธภูมิเลือก รถยนต์ เป็นพาหนะคู่ใจ ซึ่งเขาเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถพาเขาเดินทางไปที่ไหนก็ได้ โดยหลักไมล์และรอยล้อระหว่างการเดินทางจะเป็นเครื่องยืนยันคำตอบว่าสิ่งที่ตัวเองทำกำลังพาไปสู่สิ่งใด

ยุทธภูมิกับพาหนะคู่ใจ ณ ต้นแม่น้ำ Lhasa

“…ชีวิตเราไม่ได้เร่งด่วนขนาดนั้น เราเดินทางเพื่อค้นหาอะไรบางอย่างที่เราอยากเห็นเท่านั้น การค้นหาของเราต้องเดินทางให้ช้า ผมจะมีคำของผมคำนึงว่า ‘เราจะเห็นมากขึ้น เมื่อเราเดินช้าลง’…”

Backpackcar คืออะไร?

มาจาก Backpacker แต่เป็นการเดินทางแบบ Backpacker ผ่านรถยนต์ โดยไปกับรถ ปกติ Backpacker คือการแบกเป้สะพายไปเรื่อยๆ แต่ Backpackcar คือไปที่ไหนก็ได้ที่มีรถไปด้วย เป็นคำที่คิดขึ้นเอง

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เคยเปิดร้านอาหารอยู่ตรงสะพานพระราม 5 ที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ตอนนั้นนึกชื่ออะไรไม่ออก จึงนำคำนี้ไปใช้ ยุคนั้นมีเพื่อนๆ น้องๆ ที่ชอบเดินทางมานั่งคุยกันที่ร้าน แลกเปลี่ยนกันเรื่องการเดินทาง โดยในร้านจะมีรูปถ่ายกับวิดีโอที่เคยถ่ายไว้เปิดใส่โปรเจ็กเตอร์ คนก็จะมาหาข้อมูลการท่องเที่ยวกัน

ทำไมถึงเป็น’รถยนต์’?

รถยนต์เป็นสิ่งหนึ่งที่พาเราเดินทางไปที่ไหนก็ได้ เกือบจะทุกที่ที่เราอยากไป
สมมุติว่าจะไปลาวโดยเครื่องบิน จากสุวรรณภูมิ เราจะนั่งรถออกจากบ้าน ขึ้นทางด่วนไปสุวรรณภูมิ จากสุวรรณภูมิเครื่องบินจะพาเราไปส่งปลายทางคือลาวเลย เราจะรู้ว่าตรงนั้นคือประเทศลาว

แต่การเดินทางโดยรถยนต์ กว่าจะถึงลาวต้องผ่านระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร เราจะเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านระหว่างเรากับเขามีอะไรเชื่อมโยงกันบ้าง เหมือนกับเรื่องราวจะเกิดขึ้นบนทุกๆ รอยล้อที่ล้อเราหมุน ถ้าเราเป็นคนที่ใส่ใจในเรื่องพวกนี้เราจะสังเกตเห็น สิ่งเหล่านั้นเสมือนห้องเรียนหลังใหญ่ที่ให้เราเรียนรู้ด้วยตัวเราเอง

เริ่มออกเดินทางตั้งแต่เมื่อไหร่?

ตั้งแต่มัธยม ต้องแอบไป เพราะคุณพ่อเป็นทหาร ค่อนข้างเข้มงวดกับกฎระเบียบ เด็กๆ อยู่ในกรมทหาร ตรงสี่แยกบางโพ เราใช้เวลาว่างที่มีหนีออกไป คำว่าหนีคือไปแล้วบอกไม่หมด บอกว่าไปที่โน่นที่นี่ แต่จริงๆ ไปอีกที่หนึ่ง
สมัย ม.ต้น จะนั่งรถเมล์ไปเที่ยวด้วยตัวเอง ถ้ามีโอกาสมากขึ้นก็เริ่มขยับออกจากกรุงเทพฯ ไปขึ้นรถที่สายใต้ ดูตั๋วว่าเราจะไปไหน ไปนครปฐม ไปราชบุรี ไปสมุทรสาคร อยากไปไหนก็จะไป

หลังจากนั่งรถโดยสาร เราเริ่มไม่อยากนั่งแล้ว เริ่มคิดว่าจะมีรถอะไรที่ให้เราไปไกลได้มากกว่านี้ ด้วยความเป็นเด็ก ยังไม่มีรายได้ จึงเริ่มเก็บเงินจากค่าขนม พอเก็บได้ก้อนหนึ่ง ช่วงหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็บอกที่บ้านว่าจะไปนอนบ้านเพื่อน แต่ความจริงเราหนีออกต่างจังหวัดเลย

เริ่มโบกรถ แต่โบกรถยุคนั้นไม่ใช่ว่าไปยืนโบกรถริมถนนนะ สมมุติว่าจะไประยอง ก็ตั้งหลักว่าจากกรุงเทพฯไประยองเราต้องไปทางไหน ก็นั่งรถเมล์ไปก่อน พอใกล้ๆ ปลายทางก็เดินแกว่งๆ อยู่ตามปั๊มน้ำมัน มีเป้หนึ่งใบ มองป้ายทะเบียนรถบรรทุกที่เป็นระยอง ก็เดินไปสวัสดีคนขับรถ บอกว่าเราอยากไปเที่ยวระยอง แต่ไม่มีเงินค่ารถ เขาเห็นเราเป็นเด็ก มีเป้มา ก็ให้ไปด้วย

เพราะการเข้มงวดจากที่บ้านรึเปล่า เลยทำให้เราอยากหลุดออกจากกรอบ โดยเลือกวิถีการเดินทาง

ไม่ใช่นะครับ แต่อาจมีส่วนหนึ่ง ตอนเด็กเราโตมาในกรมทหาร เห็นการฝึก การมีระเบียบวินัย เรื่องพวกนี้เราเห็นมาตั้งแต่เด็ก รู้สึกว่าชีวิตของคนๆ หนึ่งซึ่งหมายถึงตัวเอง ความสุขของเราไม่ได้อยู่ที่การมีระเบียบวินัย ความสุขสมัยเด็กของเราคือการได้อิสระ การได้เห็นในสิ่งที่เราอยากเห็น อยากรู้อะไรนอกกรอบที่ตำราเรียนไม่ได้บอกไว้ จึงทำให้เราอยากออกไปมองโลกในมุมที่เราไม่เคยสัมผัสบ้าง

ทริปแรกคือที่ไหน?

จำไม่ได้จริงๆ เพราะว่าชีวิตมันไปไหนอยู่ตลอด มีการเดินทางอยู่ตลอด

เวลาไปไหนจะไม่วางแผนเลย ถ้าไม่ออกนอกประเทศนะ ถ้าออกนอกประเทศจะต้องยื่นเอกสาร อย่างในประเทศ เรามีแค่เสื้อผ้า มีเวลา มีเงินค่าน้ำมันนิดหน่อย แล้วก็ออกเดินทาง มืดไหนก็นอนที่นั่น พฤติกรรมนี้สืบเนื่องตั้งแต่เด็กๆ ที่เราโบกรถ ตอนโต พอเริ่มเดินทางโดยรถยนต์ก็ยังใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ มืดไหนเจอที่นอนก็นอน

ก่อนออกเดินทางต้องศึกษาเส้นทางก่อน?

น้อยครับ ถ้าออกนอกประเทศก็มีบ้าง ดูคร่าวๆ ว่ามีภัยธรรมชาติอะไรบ้าง แต่ถ้าในประเทศไทย แค่รู้สึกว่าเราจะไป ส่วนตัวจะหลีกเลี่ยงถนนหลัก จะเข้าตามชุมชน วิ่งตามถนนท้องถิ่น

เข้าใจว่าถนนสายหลักถูกมนุษย์สร้างขึ้นสำหรับการเดินทางอย่างเร่งด่วน สมมุติว่าคนมีธุระในการขนสินค้า ต้องขนสินค้าจากภาคหนึ่งไปอีกภาคหนึ่ง คุณต้องใช้ถนนเส้นนี้ ซึ่งชีวิตเราไม่ได้เร่งด่วนขนาดนั้น เราเดินทางเพื่อค้นหาอะไรบางอย่างที่เราอยากเห็นเท่านั้น การค้นหาของเราต้องเดินทางให้ช้า

ผมจะมีคำของผมคำนึงว่า “เราจะเห็นมากขึ้น เมื่อเราเดินช้าลง” เพราะฉะนั้นยิ่งเราเดินช้าลงเท่าไหร่ สิ่งรอบๆ กายก็ทำให้เราเห็นชัดขึ้นเท่านั้น

เดินทางเพื่อหาอะไร’บางอย่าง’เจอแล้วหรือยัง?

เจอ แต่ทุกวันนี้ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าสิ่งที่ออกไปค้นหาคืออะไร เวลาเราออกไปเจอก็จะรู้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เคยหามา

อย่างมิตรภาพที่เจอในสถานที่ เวลาดูข่าวในกระแสหลักที่บอกว่าสถานที่หนึ่งเลวร้ายมาก แต่พอเราไปใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้น มันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น บางเขตหรือบางจังหวัดที่ดูแล้วว่าอันตรายที่สุดสำหรับมนุษย์ ไม่ว่าจะด้านเส้นทางหรือภัยธรรมชาติ พอได้เข้าไปอยู่ ได้เห็นความมีน้ำใจของผู้คนที่หยิบยื่นให้เรา หลายที่ที่เป็นเช่นนี้

ชีวิตในทุกวันนี้ก็เหมือนกับต้องค้นหาอยู่ตลอด เพราะยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าเรากำลังออกไปหาอะไร บางทีอาจจะแค่ออกไปตามหาความต้องการของตัวเองก็ได้ และแม้จะเป็นความต้องการของตัวเองก็ยังตอบไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง หรือหาเจอครบแล้วหรือยัง

ได้กลับมาแก้ไขความเข้าใจผิดเหล่านั้นบ้างไหม?

ได้บ้างบางส่วนในคนที่รู้จัก แต่ในสังคมวงกว้างคงทำอะไรไม่ได้ เช่นเขตหวงห้ามหนึ่งของประเทศเพื่อนบ้าน เคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปแล้วมีปัญหาเรื่องการฆาตกรรม เรื่องจี้ปล้นต่างๆ

ตอนขับรถเข้าไป เจ้าหน้าที่ก็เตือนว่าอย่าเข้าไป อันตราย ถามเขาว่ามันอันตรายยังไง เขาบอกว่าโจรเยอะ คำว่าโจรสำหรับประสบการณ์เดินทางของเราคือมิจฉาชีพ ลักทรัพย์ แต่ด้านความมั่นคงอาจหมายถึงฝ่ายหนึ่งที่ต่อต้านรัฐบาล เกี่ยวกับขั้วทางความคิด จึงมั่นใจว่าคนเหล่านั้นไม่ทำอะไรนักเดินทางอย่างเราแน่นอน สุดท้ายก็ขับรถเข้าไป ได้เจอกับคนเหล่านั้น เขาเป็นทหารและพลเรือนทั่วไป

พอเราเจอ เขากลับเป็นอีกแบบหนึ่ง มันขัดแย้งกับที่ทุกฝ่ายว่าไว้ เพราะเขาไม่ทำอันตรายเราเลย พอเรากลับมาก็มาเล่าให้กลุ่มคนสนิทฟังว่าไปเจออะไรมา แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้ทุกคนเดินทางเข้าไปในเขตที่เราเคยไปอยู่ เป็นการบอกกล่าวได้เท่านี้ ไม่ใช่วงกว้างนัก

เรียกตัวเองว่านักเดินทาง ไม่ใช่นักท่องเที่ยว?

ใช่ นักท่องเที่ยวคงคิดว่าชีวิตหนึ่งจะไปเที่ยวที่ไหน สิ่งที่ 1 การท่องเที่ยวแบบสำเร็จรูปคือการเดินทางไปในที่ที่มีคนกำหนดไว้ให้แล้วว่าคุณมาตรงนี้ ต้องมาถ่ายรูปตรงนี้ ถ้าคุณมาจังหวัดนี้แล้วไม่กินสิ่งนี้ก็เหมือนคุณมาไม่ถึง อย่างที่ 2 ท่องเที่ยวสถานที่ทางธรรมชาติ คำว่าสถานที่ทางธรรมชาติคือต้องอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยด้วย รถยนต์ต้องเดินทางเข้าไปถึง มีเจ้าหน้าที่ มีอุทยานเข้ามาจัดการนักท่องเที่ยว

แต่นักเดินทางคือการเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่ได้ถูกมนุษย์สำเร็จรูปกำหนดไว้ มันเป็นสิ่งที่เวลาคุณไปถามใครเขาอาจไม่มีข้อมูลให้ ยิ่งมนุษย์ที่เกิดในซีกโลกร้อนด้วยแล้ว จะมีความกลัว เวลาเราถามเขาจะบอกว่าไม่รู้ อย่าไปเลย อันตราย เราถูกสอนให้กลัวในสิ่งที่มองไม่เห็นมาตั้งแต่เด็ก

มนุษย์ในบางประเทศอาจไม่เป็น อาจเพราะพันธุกรรม ด้วยโครโมโซม เขาอาจมีความใฝ่รู้ แต่คนในอีกแถบหนึ่งถูกสอนมาว่าอย่าตัดเล็บตอนกลางคืนเดี๋ยวผีผลัก แต่เขาไม่บอกเหตุผลว่ามันมืด เรื่องเหล่านี้ทำให้เราอยากเห็น และสิ่งที่เราอยากเห็นมันทำให้เราอยากเดินทาง เรารู้สึกว่ามันแตกต่างจากการท่องเที่ยว แต่มันคือการเดินทาง

มีปัญหาเรื่องการสื่อสารไหม?

น้อยนะครับ สมมุติว่าเราพูดภาษาอะไรไม่ได้เลย พูดได้แค่ภาษาไทย ทุกอย่างมันใช้ภาษามือได้หมด การพูดคุยระหว่างเราคงไม่มีอะไรนอกเหนือจากถามทาง กินข้าว นอน เราสามารถใช้ภาษามือ กระดาษ 1 แผ่น หรือไม่ก็รูปถ่ายเอาไว้ถามทาง เช่นมีทางแยก 2 ทาง ยื่นรูปให้เขาดู เขาก็ชี้ให้เรา เราก็ไปได้แล้ว เราจะกินข้าว เราทำท่ากินข้าว เราจะนอน เราทำท่านอน แต่ถ้าเรารู้ภาษานิดหน่อย มันทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น

จากการเดินทางของเรามาเป็น The Backpackcar ได้อย่างไร?

ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 3-4 ปีก่อน ในยุคหนึ่งที่เรามีเงินอยู่บ้าง ช่วงที่เริ่มซื้อของได้ เรามีกล้องวิดีโอ มีการถ่ายทำอยู่ตลอด

ย้อนกลับไปอีกในช่วงเปิดร้านอาหารที่มีการฉายวิดีโอการเดินทางขึ้นโปรเจ็กเตอร์ มีคนเจอภาพการเดินทางตั้งแต่ตอนนั้น มีคนบอกว่าทำไมเขาไม่เคยเห็นภาพการเดินทางแบบนี้จากที่ไหนมาก่อน ส่วนใหญ่ที่เราเจอในทีวีสถานที่มันจะซ้ำๆ กัน เพราะว่ามันเป็นการเดินทางแบบสำเร็จรูป ที่ไหนสวย รายการก็จะเข้าไปถ่าย ที่ไหนอันตราย รายการไม่เข้าไปแน่นอน แต่ตัวเราเองเราไปคนเดียว เขายิงกันอยู่เราก็เดินฝ่าเข้าไปเพื่อเข้าไปถ่าย เพราะฉะนั้นภาพถ่ายของเราเลยมีอะไรหลากหลาย

จนถึงเวลาหนึ่งที่มันตกผลึก มีคนทำเกี่ยวกับช่องทีวีเข้ามาคุย ใหม่ๆ ยังไม่สนใจเพราะไม่มีเวลา ตัวเราเองเป็นคนไม่รู้เรื่องการผลิตหรือโปรดักชั่นใดๆ เลย ผลจากการเดินทางทำให้เราอยากเล่าเรื่องในมุมที่เราอยากเล่า เลยเริ่มฝึกตัดต่อวิดีโอด้วยตัวเอง นั่งทำไปจนตกผลึก

จนได้เจอกับสถานีหนึ่งซึ่งพอคุยกันแล้วมันเป็นธรรมชาติ คำว่าธรรมชาติคือมันไม่ได้มีธุรกิจใดๆ มาเคลือบแฝงหรือตักตวงผลประโยชน์จากเรามาก เลยตัดสินใจเข้าไปคุยที่ช่อง ตกลงกันว่าเราจะทำให้ แล้วก็เซ็นสัญญา นับจากตรงนั้นมาเกือบ 4 ปีแล้ว รวมถึงหนังสือที่เขียนอยู่ด้วย ก็หลายปีแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำรายการมีเรื่องธุรกิจ เรื่องตัวเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้แนวทางการเดินทางของเราเปลี่ยนไปไหม?

ไม่เลยครับ เรามีความตั้งใจแล้วว่าถ้าการทำรายการทีวีหรือการเขียนหนังสือทำให้วิถีการเดินทางของเราเปลี่ยน เราพร้อมจะหยุดทำทันทีโดยไม่ลังเล

การทำรายการทุกวันนี้มันไม่ได้ทำให้เราก่อเกิดรายได้ขึ้นเท่าไหร่ เพียงแต่ทำให้รายจ่ายในการเดินทางน้อยลง สมมุติว่าไปออกทริปที่ยุโรป 2 เดือน เราอาจใช้เงิน 1 ล้านบาท แต่พอทำรายการทีวีเราอาจใช้เงินแค่ 2 แสนบาท อีก 8 แสนบาทมาจากโปรดักชั่นทีวีหรือสปอนเซอร์

ไม่มีทริปไหนเลยที่เราจะได้อะไรคุ้มค่ากว่าการเดินทาง แต่ถ้าเทียบกับวิถีการเดินทางปกติมันดีกว่าเยอะในแง่เอกสารการเดินทางต่างประเทศ เมื่อก่อนเราเป็นคนๆ หนึ่งที่แต่งตัวไม่เรียบร้อย เนื้อตัวเราไม่สะอาด เวลาเดินทางไปทำหนังสือเข้าแต่ละประเทศ เราไม่สามารถบอกได้เลยว่าเราเป็นใครมาจากไหน แต่ทุกวันนี้เรามีเอกสารหลักฐานว่าทำสารคดีรายการท่องเที่ยว เราเขียนหนังสือท่องเที่ยว เรามีตัวตน การอนุญาตเข้าแต่ละประเทศจึงง่ายขึ้น

เรียกตัวเองว่าเป็น’กูรูด้านการเดินทาง’ได้ไหม

ไม่ครับ เป็นไปไม่ได้เลย เราเป็นเพียงคนเดินทางกับชีวิตจริงๆ มากกว่า คำว่ากูรูอาจแปลว่ารู้ทุกอย่าง ซึ่งเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราแค่ไม่กลัวเฉยๆ แค่กล้าไปในที่ที่ไม่มีคนไป

ผมสามารถเดินเข้าไปในความมืดได้เลยโดยที่ไม่มีไฟฉาย ในที่ที่มองไม่เห็น ซึ่งขัดกับพฤติกรรมมนุษย์ทั่วไปที่ต้องการมองเห็นก่อนการก้าวเท้าเข้าไป แต่ผมไม่สนใจในสิ่งแบบนั้น ผมสามารถเดินเข้าไปได้เลย

ถ้าทางที่เราก้าวไปมันเป็นหนาม ผมก็พร้อมให้มันทิ่มแทงเท้าเราเข้าไป จะดึงหนามออกด้วยตัวเอง และจะไม่ร้องเรียกให้ใครช่วยเหลือ

ประทับใจทริปไหนที่สุด

ที่สุดคงไม่มี แต่หลายๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่น่าเชื่อว่าเราจะเดินทางไปได้ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผมขับรถจากเมืองไทยไปถึง Everest Base Camp ถือเป็นจุดสุดท้ายที่รถยนต์สามารถเดินทางไปได้ จุดที่นักเดินเขาจะต้องเดินเท้าขึ้นไปยังพื้นที่ที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีใครทำขนาดนั้น นอกจากพวกฝรั่งที่เขาสามารถทำเรื่องเอกสารระหว่างประเทศได้ง่าย ด้วยเรื่องของในอดีตที่เคยเป็นมหาอำนาจ เรื่องการปกครอง แต่ยังเป็นโอกาสยากสำหรับคนไทย เราเดินทางไปถึงตรงนั้นได้ก็ถือเป็นเรื่องดีใจ แต่มันไม่ได้รู้สึกประทับใจอะไรมากมาย

การเดินทางไปมองโกเลียกับไปอยุธยาของผมให้ความรู้สึกเหมือนกัน ผมนั่งคุยกับป้าขายกล้วยปิ้งที่อยุธยา แล้วป้าเล่าชีวิตสาวๆ ให้ฟัง ฟังแล้วประทับใจ อยากไปบ้านป้า ไปดูว่าตอนเด็กๆ ป้าใช้ชีวิตยังไง ผมไปกินผัดไทยใกล้ๆ บ้านแถววัดเฉลิมพระเกียรติ ร้านที่กินประจำชื่อร้านป้าแดง ป้าแดงเล่าให้ฟังว่าสมัยเด็กๆ บ้านไม่ค่อยมีสตังค์ ป้าเย็บผ้าแล้วจะไปกินผัดไทยที่ร้าน ป้าอยากกินผัดไทยมาก แต่ป้าค่อยไม่มีสตังค์ เลยไปแอบดูเขาทำผัดไทยเพื่อที่ป้าจะกลับมาทำกินเอง แล้วผมก็นั่งคุยเรื่องผัดไทยกับป้า แล้วผมก็รู้สึกว่าแค่ขับรถไปแค่ 5 กิโลเมตรก็มีความสุขแล้ว เป็นเรื่องประทับใจ ชีวิตของคนๆ หนึ่งผัดไทยดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเงิน แล้วอยากกินผัดไทย ก็เป็นความสุขของเขา วิธีการเข้าไปหาผัดไทยมันเป็นกระบวนการที่ทำให้เรารู้สึกดีและประทับใจ

เคยเหนื่อยกับการเดินทาง จนอยากพักหรือเลิกทำเลยไหม

ไม่เหนื่อยเลย การเดินทางสำหรับผมคือการหายใจ ไม่เคยรู้สึกเหนื่อย ลองไปถามคนอื่นดูว่าเขาเหนื่อยไหมที่ต้องหายใจ ไม่มีใครเหนื่อยกับการหายใจหรอก ถ้าชีวิตของผมคือการเดินทาง คือการหายใจ ก็ไม่เคยรู้สึกเหนื่อยอะไรเลย

การเดินทางมันเหมือนการที่เราเห็นสิ่งอื่นๆ เหมือนการกินข้าว เป็นชีวิตเราเฉยๆ ไม่ได้พิเศษอะไรกว่านั้น และไม่จำเป็นว่าจะต้องสำเร็จในการที่เราคิดว่าเราจะต้องไปให้ถึง หรือถ้าไปไม่ถึงแล้วผิดหวัง ก็ไม่ ผมเฉยๆ มาก

ครั้งหนึ่งเคยเดินทางไปที่สำนักสงฆ์ลารุงการ์ ที่มีหมู่บ้านเล็กๆ เรียงรายบนภูเขา ปัจจุบันปิดทำการไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าชม แต่ผมรู้สึกว่าอยากขับรถไป แล้วก็ขับรถไปจนถึงตรงนั้น แล้วก็ไปโดนจับอยู่ที่นั่น

วันแรกที่ไปโดนตำรวจกักตัวไว้ เขาไม่อยากให้เราเข้า แต่ผมไม่ได้ผิดหวังอะไรกับการที่เราขับรถเป็นเดือน แต่ตำรวจไม่ให้เข้า รู้สึกเฉยๆ กลับรู้สึกดีใจที่ได้ไปยืนคุยกับตำรวจ

คิดเห็นอย่างไรกับ’ออฟโรด นักทำลายเส้นทาง’

คำว่าออฟโรดสำหรับผมแล้ว ผมไม่ใช่ออฟโรด ไม่ใช่กลุ่มออฟโรดอะไรเลย คำว่าออฟโรดถูกตั้งขึ้นมาตั้งแต่มนุษย์ยังไม่มีอะไรเลย ยังไม่มีการพัฒนา ไม่มีการสร้างถนนขึ้นมาใช้ ทุกวันนี้คนในเมืองหรือในชนบทจะใช้ถนนลาดยาง เต็มที่ก็ถนนลูกรังในการใช้สัญจรระหว่างหมู่บ้าน รถยนต์ที่เขาใช้ก็เป็นรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือถ้าบ้านไหนไม่มีรถยนต์ก็จะขี่สัตว์เดินเท้า

เมื่อโลกเรามีเทคโนโลยีมากขึ้น มีการสร้างรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ สิ่งนี้ถูกสร้างมาเพื่อข้ามขีดจำกัดของภูมิประเทศ คำว่าออฟโรดเกิดจากการไม่มีถนน คนที่ใช้ชีวิตผูกพันกับยานพาหนะพวกนี้ก็มี ในบ้านเราอย่างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรก็ใช้รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ใช้รถออฟโรดอยู่

ผมก็เหมือนกัน ผมใช้รถเหล่านี้เพื่อการเดินทาง ไม่ใช่เพื่อกิจกรรมเอ็กซตรีม ในอเมริกาเราจะเห็นรถที่มีล้อใหญ่ๆ เป็นเอ็กซตรีม พวกนี้จะมีสเตเดียมให้ไปขับ เพื่อสนองความต้องการอันเกินขีดจำกัดของมนุษย์ ที่ต้องมีการปีนไต่ ขับรถแรงๆ ซึ่งผมไม่ได้สนุกกับการทำแบบนั้น

ผมจะอยู่ในเขตชาวบ้าน การที่เราขับรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อเข้าไปรับคนไข้ที่เป็นมาลาเรียออกมาที่ถนน เราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อนำเขาออกมาจากหมู่บ้าน ต้องแข่งกับเวลา บางทีที่รถติดหล่ม เราจำเป็นต้องขุดทางเพื่อให้ล้อที่ติดอยู่พ้นออกมา เพื่อแลกกับชีวิตของคนๆ หนึ่งที่ต้องพาออกมา เราไม่ได้เข้าไปเพื่อความคึกคะนองหรือท้าทายศักยภาพของรถ เราแค่นำยาไปให้เขา เอาของเล่น เอาขนมไปให้เด็กๆ เราจะทำอย่างไรก็ได้ให้ไปถึงจุดหมาย และหลีกเลี่ยงการทำลาย ทำร้ายเส้นทางให้มากที่สุด

สมมุติว่าโลกโซเชียลมีการแชร์ภาพชนกลุ่มน้อยคนหนึ่งกำลังจับไก่ไปเชือดเพื่อประกอบอาหาร บางคนเห็นแล้วบอกว่าน่าสงสาร แต่เขาอาจลืมคิดไปว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงเขาอาจออกไปกินไก่ทอดสมัยใหม่กับเพื่อนเขาก็ได้ ไก่ที่ถูกเลี้ยงมาด้านการพาณิชย์ก็นับเป็นหนึ่งชีวิตที่ต้องถูกฆ่าเหมือนกัน การเช็กอินร้านไก่ทอดแบรนด์เนมมันดูน่ารัก แต่กับภาพที่ชาวบ้านหนึ่งคนออกไปล่าไก่เพื่อนำมากินกันสิบๆ คนดูโหดร้าย

สิ่งนี้มันเป็นน้ำหนักธรรมชาติอย่างที่บอก มันก็สืบเนื่องกับออฟโรดเรื่องการทำลายเส้นทางที่ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image