‘ขบวนการแรงงาน’ ไม่ควรโดดเดี่ยว สร้างคุณภาพชีวิตคนทำงาน ต้องยกระดับทั้งสังคม

“ขบวนการแรงงาน” เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมให้แก่คนทำงาน อันจะเห็นบทบาทสำคัญในสังคมไทยอย่างชัดเจนในยุคก่อนนี้ เช่นที่เห็นชัดเจนช่วงปี 2516 เมื่อขบวนการแรงงานออกมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ร่วมกับขบวนการชาวไร่ชาวนา และขบวนการนักศึกษาเป็นสามประสาน

ปัจจุบันขบวนการแรงงานก็ยังคงต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมของคนทำงาน ในรูปแบบสหภาพกลุ่มต่างๆที่เน้นเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการ

ล่าสุดในการเสวนาเรื่อง “ความร่วมมือระหว่างขบวนการแรงงาน ขบวนการสหกรณ์ และขบวนการชุมชนในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน” ที่มูลนิธินิคม จันทรวิทุร จับมือองค์กรที่เกี่ยวข้องจัดขึ้นเนื่องในวันแรงงานสากลและวันแรงงานแห่งชาติ(1พฤษภาคม)

ในการเสวนามุ่งประเด็นว่า เมื่อพิจารณาดูแล้วขบวนการแรงงาน ขบวนการสหกรณ์ และขบวนการชุมชนเป็นขบวนการประชาชนที่อยู่บนพื้นฐานของขบวนการประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน สมควรร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาประเทศร่วมกับขบวนการอื่นๆของประชาชน

Advertisement
บรรยากาศการเสวนา

สถานการณ์แรงงานที่ง่อนแง่น

โกวิทย์ บุรพธานินทร์ กรรมการมูลนิธินิคม จันทรวิทุร ชี้ให้เห็นถึงความไม่มั่นคงด้านต่างๆ ที่เป็นความท้าทายของผู้ใช้แรงงานปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคม

1.ความไม่มั่นคงในการจ้างงาน แรงงานประเทศไทยร้อยละ40เป็นแรงงานการศึกษาต่ำ เมื่อเป็นไทยแลนด์4.0แรงงานเหล่านี้จะตกงานหรือไม่

2.ความไม่มั่นคงในงานที่ทำ ในยุคกระแสโลกาภิวัฒน์มีอิทธิพลต่อปัจจัยการสร้างงานแต่ละประเทศ เมื่อสภาพเศรษฐกิจฝืดเคืองก็ไม่มีโอกาสสร้างงานเพิ่ม

3.ความไม่มั่นคงเรื่องค่าจ้าง เมื่อเศรษฐกิจฟุบ โอทีอาจน้อยลงหรือไม่มีเลย บางคนอาศัยค่าล่วงเวลาเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือน

4.รายได้ไม่พอในอาชีพอิสระ เช่นเกษตรกร เมื่อเศรษฐกิจตกหรือผลกระทบจากนโยบายสาธารณะบางประการ

5.ความไม่มั่นคงเรื่องตัวแทน เมื่อทุนสามารถเคลื่อนย้ายไปโดยไม่ต้องติดอยู่ในประเทศ โอกาสการเป็นตัวแทนต่อรองในขบวนการแรงงานก็ถูกลิดรอนอำนาจ

6.ความไม่มั่นคงในการมีลูกหลานสืบทอด จากความเคร่งเครียดในการทำงานปัจจุบันทำให้คนแต่งงานช้าลง

7.ความไม่มั่นคงเรื่องทักษะอาชีพ เดี๋ยวนี้ต้องมีทักษะรอบด้านจึงมีโอกาสหางานมากขึ้น ช่างฝีมือที่เก่งอย่างใดอย่างหนึ่งจะลำบาก

“ความไม่มั่นคงเหล่านี้เป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อมีปัญหาทั้งนายจ้างและตัวแทน เราจึงต้องหันมาดูตัวเอง ดูเพื่อนร่วมงาน ดูชุมชนหรือกลไกอื่นที่มีการรวมกลุ่มรักษาผลประโยชน์สมาชิกให้ร่วมมือกันได้มากขึ้น นั่นหมายถึงการทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่าง 3 กลไก คือ ขบวนการแรงงาน ขบวนการสหกรณ์ และขบวนการชุมชน

“ทำอย่างไรจะมีกลไกที่เป็นตัวแทนผู้ใช้แรงงานจริงๆ ขณะที่เรามีกลไกสหกรณ์เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม เมื่อเราจะพัฒนากลไก 3 ตัวนี้ ที่จะส่งเสริมความเป็นธรรม ควรเน้นความชัดเจนในการรวมกลุ่มที่แท้ให้ชัดเจน สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการแรงงาน ลักษณะการรวมกลุ่มอย่างสหกรณ์จะมีการกลายพันธุ์เมื่อสมาชิกไม่เข้าใจแก่นของกลไก” โกวิทย์กล่าว

ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการแรงงานเฟื่องฟูพร้อมกับขบวนการส่วนอื่นของสังคมที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย และถูกปรามลงช่วง 6 ตุลาคม 2519 (ภาพจากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย)

ขบวนการประชาชนบนพื้นฐานประชาธิปไตย

“ขบวนการแรงงาน ขบวนการสหกรณ์ และขบวนการณ์ชุมชนเป็นขบวนการสำคัญของประชาชนมีลักษณะเป็นประชาธิปไตย คือผู้เป็นเจ้าของจะกำหนดขบวนการ ขบวนการเหล่านี้จะพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตประชาชนได้อย่างเต็มที่เมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล”

ดร.โชคชัย สุทธาเวศ เลขาธิการมูลนิธินิคม จันทรวิทุรและอาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล กล่าว และอธิบายเพิ่มว่า 1.ขบวนการแรงงาน ไม่ได้มีแค่สหภาพแรงงาน อาจประกอบด้วยปัญญาชน ชุมชน และพรรคการเมืองที่เป็นเครื่องมือสนับสนุนความสำเร็จเช่นที่อังกฤษ แต่ปัจจุบันในอังกฤษพรรคการเมืองเริ่มออกห่างสหภาพแรงงาน ขณะที่ในแถบสแกนดิเนเวียยังควบคุมพรรคการเมืองได้อยู่ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
2.ขบวนการสหกรณ์ มีวิธีการรวมตัวแบบสหภาพมีความเป็นประชาธิปไตย เน้นการรวมตัวเพื่อสร้างประโยชน์ให้สมาชิก โดยให้สิทธิประโยชน์ต่อสมาชิกก่อน สหกรณ์มีวิธีการสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐบาล เพื่อความเป็นอิสระในการดำเนินงานของสหกรณ์ แต่ช่วงที่ผ่านมาเกิดการทุจริตในสหกรณ์ จนภาครัฐเกิดแรงกระตุ้นที่จะหันมาควบคุมสหกรณ์
3.ขบวนการชุมชน ก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานประชาธิปไตย ในชุมชนสมัยใหม่อย่างหมู่บ้านจัดสรรมีการจ่ายค่าบำรุงชุมชน เลือกกรรมการหมู่บ้านและจัดบริการให้ แต่ปัจจุบันน่าเสียดายที่ไม่ได้มีการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองมากนัก ควรผสมผสานสำนึกแบบชุมชนดั้งเดิม

“ขบวนการแรงงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานต่อสู้กับรัฐบาลและกฎหมาย ขณะที่สหกรณ์มุ่งความมั่นคงในการประกอบอาชีพ รวมถึงรายได้และการศึกษาของสมาชิกและครอบครัว ขณะที่ขบวนการชุมชนมีเป้าสู้คุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน

“ทั้ง 3 ขบวนการมีเป้าหมายใกล้เคียงกันมากด้วยวิธีการประชาธิปไตย หากร่วมมือกันอย่างจริงจังเข้มแข็งร่วมกันสร้างสรรค์ประเทศโดยอาจเริ่มจากระดับพื้นที่จนถึงระดับชาติจะยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนได้”

ดร.โชคชัยเน้นย้ำว่า ต้องส่งเสริมวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยและต้องส่งเสริมรัฐบาลประชาธิปไตยจนถึงพรรคการเมืองที่มีนโยบายสอดคล้องกับเป้าหมายขบวนการ หรืออาจตั้งพรรคขึ้นใหม่โดยอำนาจต่อรองของประชาชนจะชี้ว่าทำอะไรได้แค่ไหน

ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการแรงงานเฟื่องฟูพร้อมกับขบวนการส่วนอื่นของสังคมที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย และถูกปรามลงช่วง 6 ตุลาคม 2519 (ภาพจากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย)
ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการแรงงานเฟื่องฟูพร้อมกับขบวนการส่วนอื่นของสังคมที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย และถูกปรามลงช่วง 6 ตุลาคม 2519 (ภาพจากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย)

จิตวิญญาณสหกรณ์ที่หายไป

ไพบูลย์ แก้วเพทาย เลขานุการมูลนิธิไพศาล ธวัชชัยนันท์และผู้ร่วมก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้านครหลวง ชี้ให้เห็นว่าโลกยุค 4.0 เมื่อการจ้างงานเปลี่ยนไป ขบวนการแรงงานทั่วโลกจึงเล็กลง

“ปัจจุบันในต่างประเทศทั้งอเมริกาและยุโรป การรวมตัวชุมนุมแรงงานไม่ได้ทำผ่านสหภาพ แต่เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งสมัยก่อนคนรวมจากการทำงานในโรงงานขนาดใหญ่ จะเห็นว่าขบวนการแรงงานตอนนี้มีวิกฤตหลายด้าน”

ไพบูลย์ยกตัวอย่างประเทศที่มีการรวมกลุ่มกันอย่างมีประสิทธิภาพ คือรูปแบบสหกรณ์ในประเทศอิสราเอล เมื่อมองว่าสหกรณ์เป็นกระบวนการทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมแล้ว ในอิสราเอลขบวนการแรงงานและขบวนการสังคมมีบอร์ดบริหารร่วมกันสามารถชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลได้

“สหกรณ์อิสราเอลมีขนาดอยู่ 25 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจประเทศ อีก 25 เปอร์เซ็นต์เป็นของรัฐ และอีก 50 เปอร์เซ็นต์เป็นของเอกชน เครือข่ายสหกรณ์อิสราเอลจึงมีประสิทธิภาพสูง อย่างในสังคมเกษตรกรจะมีกระบวนการครบวงจรผ่านสหกรณ์ตั้งแต่กู้เงิน ขนส่งขนส่ง และค้าขาย เป็นเครือข่ายเกื้อกูลและมีจิตวิญญาณสหกรณ์จริงๆ

“สหกรณ์ไทยปัจจุบันแสวงประโยชน์ส่วนตนมาก วิกฤตที่เกิดกับขบวนการแรงงาน สหกรณ์ และชุมชน เกิดจากที่ภาครัฐที่พยายามทำให้เป็นสังคมเจ้าขุนมูลนายใช้อำนาจนิยม เกิดวิกฤตเรื่องคนทั้งผู้นำและสมาชิก และเมื่อสังคมไทยถูกครอบมานานก็สร้างรากไร้อารยะทำให้สังคมก็ไร้อารยะไปด้วย ส่วนสังคมอารยะคือสังคมที่เคารพต่อสิทธิ 3 ประการ 1.ความเสมอภาค 2.ความเป็นมนุษย์ 3.เสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตย” ไพบูลย์กล่าว

ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการแรงงานเฟื่องฟูพร้อมกับขบวนการส่วนอื่นของสังคมที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย และถูกปรามลงช่วง 6 ตุลาคม 2519 (ภาพจากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย)

‘มองไปที่เดียวกัน’ ทางผสานระหว่างขบวนการ

ด้าน ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เห็นสอดคล้องเรื่องขบวนการสามประสาน โดยกล่าวว่า ขบวนการแรงงาน สหกรณ์ และชุมชน ดูเหมือนแยกจากกันแต่จริงๆแล้วเชื่อมโยงกันด้วยแนวคิดสังคมนิยม อย่างสหกรณ์ที่เป็นสังคมนิยมแนวปฏิรูปสันติวิธี

“ประเทศไหนที่เป็นประชาธิปไตยทางการเมืองสูง มีระบบเศรษฐกิจผสมระหว่างสังคมนิยมและทุนนิยม ขบวนการแรงงานและสหกรณ์จะเติบโต ทำให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมมีความเป็นประชาธิปไตย

“ขณะที่ประเทศไทยเราบอกว่าเป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยม แต่ทุนนิยมแบบไหนที่มีคนเพียง50คนแรกที่รวยที่สุดถือครองทรัพย์สินมากกว่า80เปอร์เซ็นต์ของประเทศ มีคน2เปอร์เซ็นต์ถือครองเงินฝาก98เปอร์เซ็นต์ของประเทศ

“ขบวนการแรงงานและสหกรณ์ที่เข้มแข็งจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลดลง ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมจะเพิ่มขึ้น ทำอย่างไรจะเชื่อมโยงขบวนการแรงงานและสหกรณ์ให้ได้ เพื่อให้คุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานดีขึ้น เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น” อ.อนุสรณ์กล่าวและบอกว่า โครงสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำผูกขาด ไม่สามารถทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตยได้

“ถ้าจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ต้องเปลี่ยนที่โครงสร้างเศรษฐกิจ ให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมีความเสมอภาคเป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่ความสัมพันธ์แนวดิ่ง แต่เป็นแนวราบด้วยแนวคิดสหกรณ์ที่มองว่าคนเท่ากัน เป็นหลักการประชาธิปไตย เน้นความเท่าเทียมเสมอภาค ต่างจากแนวคิดทุนนิยมที่คนถือหุ้นมากมีเสียงมากกว่า ระบบนี้ดีมากในอุดมคติ แต่มีข้อจำกัดในความเป็นจริง”

คำถามสำคัญคือจะเชื่อมโยงขบวนการแรงงานเข้ากับขบวนการสหกรณ์อย่างไร?

อ.อนุสรณ์มองว่าต้องเน้นที่ “ยุทธศาสตร์” โดยที่ผู้นำทั้งสองส่วนต้องมีเป้าหมายร่วมกัน
เป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ อ.อนุสรณ์ เสนอคือ 1.มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน 2.สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำ 3.สร้างและพัฒนาประชาธิปไตยในระดับฐานรากให้เข้มแข็ง 4.ส่งเสริมค่านิยมวัฒนธรรมประชาธิปไตย ความเสมอภาคเป็นธรรม 5.การบูรณาการเพื่อประสิทธิภาพและความเข้มแข็งของขบวนการ

“ส่วนข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมคือการสร้างเครือข่ายระหว่างขบวนการแรงงาน สหกรณ์และชุมชน โดยทุกฝ่ายเป็นเจ้าภาพร่วม และต้องมีการศึกษาและพัฒนาระบบกลไกกฎหมาย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมของสภาปฏิรูปการเมือง รัฐสภา และรัฐบาลเพื่อแสวงหาทางออก” ผศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

เป็นข้อเสนอจากนักวิชาการและผู้คลุกคลีในขบวนการแรงงาน เมื่อเห็นว่าขบวนการแรงงานจะขับเคลื่อนอย่างโดดเดี่ยวโดยผู้ใช้แรงงานไม่ได้ แต่ต้องร่วมมือกับขบวนการที่มีเป้าหมายเดียวกันบนพื้นฐานประชาธิปไตย

เพราะคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงานจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากคุณภาพชีวิตของคนในสังคมยังไม่ดี ขบวนการเหล่านี้จะต้องทำงานผสานกัน แม้เป้าหมายจะยากและยิ่งใหญ่ก็ตามที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image