ลัดฟ้ามาประชุม 25 ประเทศร่วมถก IBBY AORIC 2017 หนังสือเด็กยุคดิจิทัล

การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง กิจกรรมที่จะมีขึ้นทุกวันอาทิตย์เวลา 14.00-16.00 น. ที่ห้องสมุดดรุณบรรณาลัย

วันที่ 9-12 พฤษภาคมนี้ กำลังจะมีการประชุมครั้งสำคัญ “การประชุมสภาหนังสือเด็กและเยาวชนนานาชาติ ระดับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียครั้งที่ 3” (The 3rd Asia Oceania Regional IBBY Congress) หรือ IBBY AORIC 2017 สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับสภาหนังสือเด็กและเยาวชนนานาชาติ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ที่โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ และอุทยานการเรียนรู้ ชั้น 8 อาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในระดับภูมิภาคเอเชียโอเชียเนีย ซึ่งจะมีขึ้นในทุก 2 ปี

วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า ทักษะ เทคนิคการผลิต เรื่องราวที่ทันสมัย ตลอดจนงานวิชาการที่สำคัญในการที่จะส่งเสริมและพัฒนาหนังสือเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นเป็นลำดับ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ระหว่างนักเขียน นักวาดภาพ นักเล่านิทาน บรรณารักษ์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำเอาสิ่งต่างๆ ที่ได้ไปต่อยอดในการพัฒนาตนเองและจะนำไปสู่การพัฒนาการอ่านการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน

พรอนงค์ นิยมค้า ในฐานะเลขาธิการ “มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก” หรือ ThaiBBY เล่าถึงที่มาของ IBBY (International on Books for Young People) ว่า เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2496 ที่ซูริค ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมดกว่า 70 ประเทศทั่วโลก

Advertisement

มีพันธกิจคือ “นำหนังสือสู่เด็ก นำเด็กสู่หนังสือ” ส่งเสริมการอ่านหนังสือ และผลิตหนังสือที่ดีสำหรับเด็ก โดยที่หนังสือที่ผลิตต้องเป็นหนังสือที่เด็กชอบและมีคุณค่าทางสุนทรียภาพด้วย เน้นการส่งเสริมการอ่านในเด็กช่วงวัยตั้งแต่ 0 ขวบ ไปจนถึง 18 ปี

พรอนงค์ นิยมค้า

ความท้าทายของคนทำหนังสือเด็ก

สำหรับ ThaiBBY ซึ่งก็คือ “มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก” ก่อตั้งโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

พรอนงค์ เล่าว่า ความที่รู้จักกับทาง IBBY ญี่ปุ่น และแนะนำว่า ไทยน่าจะกลับเข้ามาเป็นสมาชิก (ไทยเคยเป็นสมาชิกมาก่อนแต่ขาดการเป็นสมาชิกไประยะหนึ่ง) เธอซึ่งขณะนั้นเป็นกรรมการสมาคมฯ จึงตกลงใจชักชวนเพื่อนๆ ในสมาคมฯ มี แปลน ฟอร์ คิดส์ นานมีบุ๊คส์ อมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ฯลฯ รวมตัวกันเป็นชมรมโลกหนังสือเด็ก ก่อนจะก่อตั้งเป็น “มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก” และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า ThaiBBY ตั้งแต่ปี 2544

โดยเชิญ นพ.เกษม วัฒนชัย เมื่อครั้งที่ยังมิได้เป็นองคมนตรี เป็นประธานมูลนิธิ ปัจจุบันเป็น คุณหญิงกษมา วรวรรณ มีสุธาทิพ ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการห้องสมุดดรุณบรรณาลัย เป็นรองประธาน

“ในอดีตคำว่า “หนังสือเด็ก” จะหมายถึงหนังสือเรียนสำหรับเด็กประถม ผลิตขึ้นเพื่อฝึกการอ่านให้ครู ตัวอย่างเช่น หนังสือดรุณศึกษา ซึ่งเป็นหนังสือสอนอ่าน ก กา แต่ไม่ใช่หนังสือภาพสำหรับเด็กที่ส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านหนังสือ

“หนังสือภาพสำหรับเด็กต้องเป็นหนังสือที่พ่อแม่อ่านให้ลูกฟังตั้งแต่ก่อนไปโรงเรียน และดำเนินเรื่องด้วยภาพเป็นหลัก โดยพ่อแม่อ่านให้ลูกฟังให้ลูกสนุกกับการอ่านหนังสือ เช่น หนังสือ “ปีเตอร์ แร็บบิท” ซึ่งคนอังกฤษจะใช้อ่านให้เด็กฟังก่อนนอน ทำให้เด็กรักการอ่าน เป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่ที่บ้าน” เลขาธิการ ThaiBBy บอกและว่า

การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ทำให้เด็กช่างสังเกต เพราะขณะที่อ่านจะมีภาพที่ในตัวเรื่องไม่ได้อธิบายแต่เด็กจะสังเกตเห็น ฉะนั้นหนังสือภาพต้องเป็นหนังสือภาพที่ดี ภาพต้องเป็นฝีมือระดับครู ลึกซึ้ง ประทับใจเด็ก ซึ่งกว่าจะได้แต่ละเล่มใช้เวลาเป็นปี คนทำก็อยู่ไม่ได้

สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทย แต่ทุกประเทศก็เช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีผู้สนับสนุน เช่น มูลนิธิเอสซีจีที่จะคัดหนังสือเด็กคุณภาพดีในระดับโลกมาพิมพ์จำหน่ายในราคาถูก เพื่อให้หนังสือดีๆ สามารถไปถึงมือเด็กได้ และมีรายได้เข้ามาพอที่จะพิมพ์ซ้ำ

เรามีพันธมิตรมากมายล้วนเป็นจิตอาสาด้วยกันทั้งสิ้น เช่น คุณคิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ นานมีบุ๊คส์ หรือ แปลน ฟอร์ คิดส์ รวมทั้งคุณปานบัว บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายการตลาด บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ก็เป็นกรรมการ ThaiBBY คือต่างคนก็เข้ามาให้ความช่วยเหลือกันคนละมือละไม้ ทุกคนเป็นอาสาสมัคร ทำด้วยใจกันทั้งนั้น เพราะการทำหนังสือเด็ก กำไรคือความสุข

รวมทั้งสำนักพิมพ์อีกหลายๆ แห่งก็เป็นพันธมิตรร่วมด้วยช่วยกัน เช่น อมรินทร์พรินติ้งที่นำหนังสือเก่าที่ดีๆ มาพิมพ์ซ้ำ แต่เนื่องจากราคาที่แพง และคนยังซื้อน้อย ประกอบกับมีโทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ตเข้ามา ทำให้หลายคนเห็นว่าลูกเรียนรู้จากสื่อใหม่ก็ได้ ทว่า สิ่งที่ได้รับนั้นต่างกันมาก เพราะหนังสือภาพจะช่วยให้เด็กมีสมาธิด้วย และมีเรื่องราวดีๆ ที่จูงใจให้เด็กทำตาม

สุธาทิพ ธัชยพงษ์

สมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต พี่เลี้ยงอันตราย

“เพราะเราหลีกเลี่ยงยุคดิจิทัลไม่ได้ สื่อต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่หนังสือที่เป็นกระดาษอย่างไรเสียก็ไม่หายไปจากโลกนี้แน่นอน เพราะมันนิ่ง มีสัมผัสของกระดาษ แม่ถือหนังสืออ่านให้ลูกฟัง มันยังมีความสัมพันธ์นี้อยู่ แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องไปกับสื่อใหม่ เป็นแฟลตฟอร์มบนดิจิทัล แต่ทำอย่างไรให้ไม่มีในแง่ลบ ทำอย่างไรให้น่าสนใจ”

เลขาธิการ ThaiBBY เล่าถึงที่มาของประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้

แน่นอนว่าสิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่การมาถึงของสื่อดิจิทัล แต่เป็นความไม่เข้าใจของพ่อแม่ ที่หลายๆ คนใช้สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ทำหน้าที่เป็นเสมือนเพื่อนเป็นพี่เลี้ยงของลูก ทำให้เด็กไม่มีสมาธิ ในดิจิทัลยังแฝงสิ่งที่เป็นอันตรายมากมาย

“เด็กวัยอนุบาลควรให้อยู่กับหนังสือจะดีกว่า พอขึ้นระดับประถมแล้วค่อยให้รู้จักกับสื่อดิจิทัล สื่อดิจิทัลเป็นแค่เครื่องมือ การสร้างตัวตนของเขาสำคัญกว่า ถ้าเราสร้างตัวตนของเขาได้แล้ว มีพื้นฐานที่ดีแล้ว ต่อไปเมื่อเจอสื่อดิจิทัลอย่างไรก็อยู่ได้ แต่ถ้าเป็นเหยื่อของสื่อตั้งแต่แรก พอโตไปแก้ไขยาก”

เช่นเดียวกับสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ที่ คิม บอกว่า ตั้งแต่ที่ สุวดี จงสถิตย์วัฒนา ก่อตั้งนานมีบุ๊คส์มาเมื่อ 25 ปีที่แล้ว มีความตั้งใจเป็นส่วนหนึ่งที่ยกระดับการศึกษาของคนไทยผ่านเครื่องมือสำคัญ คือ หนังสือ

“เราเชื่อว่าหนังสือสร้างตัวตน เพราะฉะนั้นหนังสือมีความสำคัญอย่างมากที่สุด เป็นเครื่องมือทรงพลังที่จะสร้าง Active Citizen หรือพลเมืองที่เป็นคนดี คนเก่ง รับผิดชอบต่อตัวเอง และรับผิดชอบต่อสังคมได้

“ความเป็นเด็กเล็กมาเป็นปัจจัยสำคัญตรงที่ว่า การปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็กมากที่สุด นี่คือที่มาของวัฒนธรรม “อ่านหนังสือให้ลูกฟัง” หรือ “อ่านหนังสือกับลูก” ที่คนในประเทศที่พัฒนาแล้วดำรงอยู่อย่างเป็นนิสัย” คิมบอก

“นิ่ง” หนังสือเด็กปฐมวัย ผลงาน ชีวัน วิสาสะ ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น และ “นางนวลกับมวลแมวผู้สอนให้นกบิน” สำนักพิมพ์ผีเสื้อ อยู่ใน IBBY Honour List

มีอะไรดีใน IBBY AORIC 2017

สำหรับแวดวงคนที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเด็ก ไม่ว่าจะเป็นบรรณารักษ์ คนทำหนังสือเด็ก นักวาดภาพประกอบ นักศึกษา นักวิชาการ ฯลฯ งานนี้ถือว่าไม่ควรพลาด เพราะเป็นการประชุมครั้งใหญ่ ที่จะช่วยอัพเดทข้อมูลความรู้ทั้งในเชิงวิชาการจากงานวิจัยใหม่ๆ ที่จะมานำเสนอบนเวทีแห่งนี้ ยังมีกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อการเรียนการสอนและการทำหนังสือเด็กจากเอเชียโอเชียเนียร่วมให้ความรู้อีกเพียบ

หัวข้อซึ่งปักธงเป็นประเด็นสำคัญคือ “หนังสือเด็กในยุคดิจิทัล”

พรอนงค์ บอกว่า การประชุมครั้งนี้ ประธาน IBBY ชาวเดนมาร์ค วอลลี่ เดอ ดองค์เกอร์ จะขึ้นกล่าวเปิดงาน รวมทั้งประธานของ ThaiBBY คือ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ก็จะขึ้นกล่าวด้วย

นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการในระดับสำคัญๆ จาก 25 ประเทศ ขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ ขณะเดียวกันก็เป็นการประชุมเชิงวิชาการ มีนักศึกษา คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ มานำเสนองานวิจัย ยังมีอีก 5 เวิร์คช็อป เป็นเวิร์คช็อปสำหรับคนไทย เวิร์คช็อปสอนทำหนังสือผ้า รวมทั้งที่เกี่ยวกับการอ่าน ฯลฯ

“การจัดประชุม IBBY จะมีขึ้นทุก 2 ปี โดยที่ในส่วนของระดับภูมิภาคจะกำหนดจัดประชุมแยกต่างหาก เป็นภูมิภาคยุโรป อเมริกา ฯลฯ ซึ่งประเทศที่อยู่นอกภูมิภาคก็สามารถข้ามมาร่วมงานได้ อย่างการประชุมในครั้งนี้ นอกจากวิทยากรจาก 25 ประเทศ ยังมีจากแอฟริกาใต้ จากยุโรปมาร่วมงานด้วย โดยทุกคนต้องออกค่าใช้จ่ายเอง เราช่วยแค่ค่าที่พักเท่านั้น

“ปีนี้ที่เราหาญกล้าขอเป็นเจ้าภาพจัดประชุม เพราะเรามีพันธมิตรคนสำคัญคือ ทีเคพาร์ค ที่ร่วมสนับสนุนมาตั้งแต่ต้น และครั้งนี้ก็สนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่ง ทำให้เรามีงบประมาณเพียงพอที่จะเชิญนักศึกษาเข้าร่วมประชุมได้ถึง 100 คน”

ส่วนผู้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมการประชุม ต้องลงทะเบียนคนละ 1,800 บาท เป็นค่าเอกสารประกอบการประชุม กระเป๋าเอกสาร อาหารว่าง และอาหารกลางวัน โดยสามารถลงทะเบียนได้ที่ http://ibbyaoric2017.tkpark.or.th สอบถามรายละเอียดที่ คุณรินศิริ ทองคำ 02-257-4300 ต่อ 113 อีเมล์ [email protected]

คิม จงสถิตย์วัฒนา

การมาของ บก.ใหญ่ Gakken ที่ไม่ธรรมดา

จากเลขาธิการ ThaiBBY มาฟังทรรรศนะของคนรุ่นใหม่ คิม จงสถิตย์วัฒนา

ที่น่าสนใจคือ ในยามที่ตลาดหนังสือทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยอยู่ในช่วงขาลง แต่ตัวเลขไตรมาส 1 ของ นานมีบุ๊คส์เติบโตขึ้นเกือบ 20% โดยสัดส่วนของหนังสือเด็กและเยาวชนครอบคลุมเกือบ 80% ซึ่งหมวดที่เติบโตอย่างต่อเนื่องคือ หนังสือเสริมความรู้

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในญี่ปุ่นเช่นกัน ในการประชุมครั้งนี้เธอจึงเชิญ บรรณาธิการใหญ่สำนักพิมพ์ไอดอลของเธอ สำนักพิมพ์ Gakken มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำหนังสือ

สำหรับประเด็นหลัก “หนังสือเด็กในยุคดิจิทัล” เธอให้ความเห็นว่า “โลกดิจิทัล” เป็นคำเรียกของ lifestyle คนปัจจุบัน คือ เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ
ในมุมมองเรื่องหนังสือเด็ก จะไม่ได้มองว่า หนังสือเด็กจะต้องปรับเป็น digital format หรือไม่ อย่างไร แต่มองว่าด้วยโลกในปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น หนังสือจะเป็นส่วนช่วยเตรียมพร้อมให้เด็ก ๆ มีทักษะที่จำเป็นในชีวิตให้มีความหมายได้อย่างไร นี่น่าจะเป็นโจทย์สำคัญสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี เรื่องการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการนำเสนอข้อมูลของหนังสือนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ครั้งนี้เราเชิญ Mr.Kuroda บ.ก.ใหญ่ของ Gakken สำนักพิมพ์ชั้นนำของญี่ปุ่นที่เปิดมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแลกเปลี่ยนถึงแนวคิดในการทำหนังสือซีรีส์ใหม่ ๆ ที่สร้างยอดขายถล่มทะลายในญี่ปุ่น

“หนึ่งในนั้น คือ ชุด vocaloid ซึ่งเอาเสียง vocaloid (เสียงของตัวละครในโลกเสมือนจริง – virtual reality) มาร้องเพลงในหนังสือเสริมความรู้ ซึ่งที่ญี่ปุ่นโลกเสมือนจริงมาแรงมาก ตัวละครในโลกเสมือนจริงยังจัด concert คือไม่มีนักร้องจริง ๆ มีแต่ตัวละคร

“บ.ก.ของ Gakken นำเสียง vocaloid พวกนี้มาทำหนังสือสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และอีกมากมาย จึงอยากให้มาพูดให้เพื่อนๆ วงการฟังด้วย”

ส่วนตัวเธอเองก็จะมี session ที่มาแลกเปลี่ยนด้วย ภายใต้หัวข้อ “ส่งเสริมการอ่านในโรงเรียนด้วย STREAM Approach: ไม่ใช่หน้าที่ของบรรณารักษ์คนเดียว!”

นำเสนอแนวคิดว่า หากเราซีเรียสเรื่องส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านจริงๆ จำเป็นต้องปรับวิธีการออกแบบการเรียนรู้ในโรงเรียน แนวคิดเรื่อง STREAM Approach จะช่วยให้ครูจัดการเรียนรู้ให้มีความหมาย สร้าง Active Citizen โดยใช้หนังสือเป็นเครื่องมือ

“เมืองคนเด็ก” สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก หนังสือดีใน IBBY Honour List

จาก ThaiBBY สู่แหล่งเรียนรู้เพื่อเด็กน้อย

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำหนังสือสู่เด็ก นำเด็กสู่หนังสือ จึงเป็นที่มาของการรวมตัวกันของกลุ่มจิตอาสา ตั้งเป็นมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก

แต่ระหว่างการค่อยสานค่อยก่อการทำงานนั้น แต่ละจิตอาสาก็แยกย้ายกันไปทำงานในวิถีของตน และผลักดันให้เกิดสายใยที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย สร้างความเข้มแข็งให้กับการทำงานเพื่อปูพื้นฐานสร้างเด็กและเยาวชนไทยให้มีคุณภาพ

ซึ่งความงอกงามที่ว่าได้ก่อเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในปัจจุบัน เช่น การมีขึ้นของ “อุทยานการเรียนรู้ทีเคพาร์ค” ก็เป็นการต่อยอดมาจากความตั้งใจในการทำงานเพื่อเด็ก

รวมทั้งการมีขึ้นของ “ห้องสมุดดรุณบรรณาลัย” ห้องสมุดปฐมวัยแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ในซอยเจริญกรุง 34 (ซ.วัดม่วงแค) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานชื่อและเสด็จเปิดเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559

อีกทั้ง “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” ที่อนุบาลวัดธาตุทอง ซึ่งจะเป็นหนึ่งในสถานที่สองแห่ง อีกแห่งคือห้องสมุดบรรณาลัย ที่เป็นความภาคภูมิใจ และบรรจุอยู่ในโปรแกรมพาผู้เข้าร่วมประชุม IBBY AORIC 2017 เข้าเยี่ยมชม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image