“เขาหาว่าผมบ้า!?!” เปิดตัว นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ ผู้ลงมีดชำแหละ พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน

ผศ.นพ ถนอม บรรณประเสริฐ

‘พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อภินิหารคนจนชนชั้นกลางทิ้งที่ดิน หมดสิทธิ์มีบ้านหลังที่ 2’

‘ชำแหละ ล่าสุด! พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กระทบประชาชนส่วนใหญ่?’

‘อัยย่ะ! เอกซเรย์ร่างกฎหมายภาษีที่ดินฯ กะให้เกษตรกรรายย่อยสูญพันธุ์เลยเหรอ ? (คนชั้นกลางอย่านึกว่ารอด)’

3 บทความสุดฮอตในเวปไซต์ ‘มติชนออนไลน์’ วิพากษ์ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฉบับล่าสุดอย่างเผ็ดร้อนตั้งแต่ชื่อเรื่องไปจนเนื้อหาซึ่งทั้งเข้มข้นด้วยสาระแบบแจงยิบและจวกยับ สำนวนภาษาแพรวพราวแสบสันต์โดนใจคนจนยอดแชร์และจำนวนผู้อ่านถล่มทลาย

Advertisement

เป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางในทั้งแวดวงวิชาการและผู้คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพ.ร.บ.ดังกล่าว

เปล่าเลย ! ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย หรือเอ็นจีโอรายใดที่กลั่นกรอง ชำแหละ และนั่งเคาะแป้นพิมพ์

หากแต่เป็นผู้มีคำนำหน้าว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ พร้อมห้อยท้ายอย่างไม่ปิดบังถึงสังกัดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถนอม บรรณประเสริฐ คือชื่อจริงของผู้ถือมีดชำแหละกฎหมายฉบับนี้ที่เขามองว่า ‘ไม่เป็นธรรม’ บีบบังคับให้คนชั้นกลางต้องจ่ายภาษีบ้านหลังที่ 2 ตลอดชีวิต โดยเชื่อว่าจะทำให้สังคมไทยเปลี่ยนโครงสร้างจากครอบครัวเกื้อกูล กลายเป็นสังคมครอบครัวโดดเดี่ยว ส่งผลต่อผู้คนทั้งเกษตรกรรายย่อย ไปจนถึงชนชั้นกลาง ส่วนเศรษฐียังคงลอยตัว ทั้งที่เดิมดูเหมือน พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาเรื่องคนรวยถือครองที่ดินเยอะ

Advertisement

ส่องโปรไฟล์แล้วไม่ธรรมดา !

จบแพทย์เมื่อ พ.ศ.2533 จาก ม.สงขลานครินทร์ แล้วต่อเฉพาะทางที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรจุเป็นอาจารย์แล้วบินไปศึกษาต่อที่ ม.ฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา กลับมาพัฒนาสูตรดองศพนิ่ม อีกทั้งก่อตั้งศูนย์ฝึกผ่าตัด ซึ่งกลายเป็นศูนย์ฝึกผ่าตัดจากร่างอาจารย์ใหญ่ที่ใหญ่สุดในเอเชีย
ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬา หน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้าให้คนไข้มะเร็ง

ทุ่มเทถึงขนาดไปเรียนศิลปะที่เพาะช่างเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการผ่าตัด !

ขณะนี้กำลังเตรียมการริเริ่มศูนย์ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูง เพื่อพัฒนาการเพาะอวัยวะ สร้างวัสดุแบบฝังที่มีราคาสูงลิบขึ้นเองในประเทศไทย
หากนั่นยังน่าประหลาดใจไม่พอ ขอบอกว่าคุณหมอท่านนี้ยังสนใจประวัติศาสตร์ถึงขั้นค้นคว้า ‘เอกสารโบราณ’ เป็นงานอดิเรก ทั้งยังศึกษาความเป็นมาของงานช่างหล่อหลวงอย่างเจาะลึก

ที่กล่าวมานี้ เกี่ยวอะไรกับความสนใจในเรื่องกฎหมายและภาษีที่ดิน ?

ทำไมสนใจพรบ.นี้ถึงขนาดเขียนบทความวิเคราะห์อย่างละเอียด ?

ผมเห็นในอินเตอร์เนตเขาโต้แย้งกันเยอะ ก็อ่านอยู่บ้าง แต่ตอนแรกไม่ได้สนใจมาก จนกระทั่งมาจับหลักได้ว่าเขาโต้กันเพราะมีเศรษฐีไม่กี่คนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากของประเทศนี้ไว้ พอเห็นข้อมูลของกระทรวงการคลังที่บอกเรื่องการแบ่งเป็น 4 ประเภทคือที่ดินรกร้าง พาณิชยกรรม บ้านหลังที่ 2 และบ้านหลังแรก ผมว่า เอ๊ะ ! มันไม่ชัดเจน แปลได้หลายอย่าง เลยพยายามหาร่างกฎหมายตัวจริงมาดู เริ่มทำความเข้าใจพบว่ามันไม่น่าจะใช่อย่างที่จะเขาแก้ คือตอนแรกจะแก้เรื่องคนรวยถือครองที่ดินเยอะ ผมว่าทำไปทำมาเดี๋ยวจะกลายเป็นว่าที่ดินคนจนจะหายไปเยอะกว่าเดิม เลยเขียนโต้ไปว่า ไม่ใช่จะฉวยโอกาสนี้ใช้เป็นเครื่องมือที่จะร่างกฎหมายไปเอื้อนายทุนอีกนะ

ปัญหาหลักคืออะไร ?

เท่าที่ดูร่างอย่างละเอียด พบว่ามันผสมกันระหว่างกฎหมายภาษีโรงเรือนกับกฎหมายภาษีท้องถิ่น แต่ตัดหมวดคุ้มครองประชาชนออกไป กฎหมายเก่าทำมาตั้งแต่ พ.ศ.2475 หรืออะไรนี่แหละ เก่ามาก แต่อย่างหนึ่งที่กฎหมายเก่าทำไว้ คือมันพัฒนาจนกระทั่งไม่กระทบประชาชน แต่เขาตัดหมวดนี้ออกไปแล้วคิดเอาใหม่ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมาจากรายงานการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์บางชิ้น แต่มันไม่ถูก เพราะต้องดูผลกระทบทางสังคม รัฐปกครองแผ่นดิน ไม่ใช่การใช้เศรษฐศาสตร์นำ แต่ต้องใช้ความเป็นธรรม ที่ผ่านเราสงบสุขเพราะแผ่นดินถูกปกครองด้วยธรรม ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์

จากสำนวนการเขียน ดู ‘อิน’ มาก ?

คือพื้นเพผมเป็นคนพัทลุง เด็กๆก็วิ่งเล่นในท้องนาประจำ เลยคุ้นเคยกับสภาพเกษตรกรรมในชนบท เพราะตั้งแต่เด็กจนจบม.6 เห็นเพื่อนทำนา เราจะรู้ว่าบางปีทำ บางปีก็ไม่ได้ทำ โอกาสหรือความรับรู้เรื่องข้อมูลข่าวสารน้อย ที่ดินอยู่กันเป็นครอบครัว บางทีป้าให้ที่ดิน บางทีแม่ให้ สะสมเป็นแปลง ถ้าไม่มีลูกหลาน พอตายปุ๊บก็จะแบ่งที่ดินออกไป คนก็จะได้แปลงละเล็กละน้อย กระจัดกระจาย เลยเข้าใจว่าสภาพเกษตรกรรมในชนบท เขาคือเจ้าของประเทศ เขาคือคน 80 เปอร์เซนต์ อยู่มาก่อนนักธุรกิจ เพราะฉะนั้นเขามีสิทธิ์ที่จะอยู่ในประเทศนี้

เคยศึกษากฎหมายด้านการแพทย์มาก่อนหรือเปล่า ?

ครับ คือผมเป็นอนุกรรมการแพทยสภา ช่วงที่มีปัญหาเรื่องกฎหมายการควบคุมเสตมเซลล์ แพทยสภาสั่งว่า ถ้าคิดจะโต้แย้งเรื่องนี้ ให้ไปค้นมาอธิบายเขาก่อนว่ากฎหมายเสต็มเซลล์ทั่วโลกคุมอย่างไร คำสั่งแค่นี้ ใหญ่มาก เล่นเอาผมทำงาน 2 ปี ต้องไปอ่านกฎหมายของสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มหาศาล ! เลยต้องจับหลักก่อนว่าหลักการของกฎหมายนี้มีเป้าหมายเพื่ออะไร พอจับได้ปุ๊บ ที่เหลือมันจะโยงกันเป็นเป็นกระบวนท่า กฎหมายแต่ละประเทศ ชื่อไม่เหมือนกัน แต่พอจับหลักการคือปรัชญาได้แล้ว จะพบว่าสิ่งที่เหมือนกัน คือ การมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและคุ้มครองประชาชน

วิพากษ์แรงอย่างนี้ กลัวไหม ?

มีคนทักเยอะเหมือนกันว่าเดี๋ยวก็ถูกพาไปปรับทัศนคติหรอก ตอนแรกก็คิดนะว่าเป็นหมอ ไปเถียงเรื่องนี้จะเหมาะไหม แต่คิดว่าเราอยู่จุฬา ในนามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เราก็ถือว่ามีการศึกษา มีความรู้ มีสิทธิแสดงความเห็น ประชาชน มีสิทธิทักท้วงในเหตุผลทางวิชาการ ไม่ได้กล่าวหา แต่สะท้อนปัญหาโดยหลักวิทยาศาสตร์ เพราะกฎหมายนี้ไม่ได้กระทบนักเศรษฐศาสตร์ ไมได้กระทบคนเขียนกฎหมาย ไม่ได้กระทบคนรวย แต่กระทบคนทั้งประเทศ เรามาจากชนบท ควรพูดแทนคนทั้งประเทศที่มาจากชนบท ที่เขาไม่รู้เรื่อง คนไทยส่วนใหญ่ไม่อ่านกฎหมาย หลักการแพทย์ สิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่การรักษา แต่เป็นเรื่องจริยธรรม การปกครองประเทศก็เช่นเดียวกัน สำคัญที่สุดคือความสงบสุขของประชาชน ไม่ใช่ความร่ำรวยของประเทศ

แรงบันดาลใจครั้งแรกที่เริ่มศึกษากฎหมาย ?

ผมมีงานอดิเรกอย่างหนึ่ง คือศึกษาความเป็นมาเกี่ยวกับพระพุทธรูปทำให้ต้องไปค้นเอกสารโบราณในหอจดหมายเหตุและหอสมุดแห่งชาติ ได้อ่านหมายรับสั่ง พระบรมราชโองการ ราชกิจจานุเบกษา และพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 ทำให้เห็นว่าพระองค์ทรงแก้ปัญหา โดยเอาทุกข์สุขประชาชนเป็นที่ตั้ง ท่านเห็นว่ากรณีนี้เกิดขึ้นซ้ำๆกัน ให้บัญญัติไว้ว่าอย่างนี้ เลยเห็นว่าที่แท้กฎหมายมาจากความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ได้มาจากทฤษฎีหลักการข้อมูลทางวิชาการอะไร

 

 

อะไรทำให้ศัลยแพทย์คนหนึ่งหลงใหลในเรื่องราวของพระพุทธรูปและเอกสารโบราณ ?

ชอบวิชาสังคมมาตั้งแต่เด็ก เรียนได้เกรดสี่ตลอด (หัวเราะ) เป็นคนขี้สงสัย ชอบดูของเก่า สงสัยว่ามันมายังไง เคยนั่งรถผ่านหอสมุดแห่งชาติ สงสัยว่าทำไมไม่ยุบไปเสียที เก่าแล้ว พอตอนหลังไปค้นเอกสาร พบว่า โอ้โห ! เป็นคลังเก็บข้อมูลที่มีคุณค่าที่สุด มีเป็นแสนๆรายการ อ่านลายมืออาลักษณ์ในบัญชีเดินทุ่งที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพฯทรงทำไว้ ที่ ครึ่งวันอ่านได้ย่อหน้าเดียว นี่เจ้าหน้าที่เขาอ่านแล้วทำบัญชีถูกต้องหมด โคตรเก่งเลย ยากมาก พอรู้ว่ายากแล้วสงสัย เลยโยงกันไปมา จับมาเรียงกันใหม่ แบบวิชาแพทย์ที่ต้องวินิจฉัยโรค ต้องเอกซเรย์ เจาะเลือด ตรวจเลือด เห็นเอกสารตัวเดียวไม่พอ ต้องโยงให้เป็นเรื่อง

เคยไปเรียนศิลปะกับ อ.ปัญญา เพ็ชรชูที่เพาะช่างด้วย ?

ใช่ครับ ผมอยู่แผนกหูคอจมูก ซึ่งมีหน่วยงานหนึ่งที่ผ่าตัดบริเวณศีรษะ คอ ใบหน้า คือต้องตัดหน้าคนไข้มะเร็ง แล้วซ่อมโดยสร้างขึ้นมาใหม่ เห็นแล้วสงสาร เขาพิการเยอะ เลยคิดว่าถ้าจะซ่อมให้ดีขึ้นต้องเข้าใจความงาม เพราะมันเป็นศิลปะ เป็นทักษะชนิดหนึ่ง เลยไปหาอาจารย์ปัญญาที่เพาะช่างแล้วกราบขอเรียนกับท่านตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งทำให้ผมสามารถบูรณาการความรู้ระหว่างศิลปะกับการแพทย์ซึมซับเข้ามาได้ชัดขึ้น

จุดเชื่อมโยงของความสนใจทั้งการแพทย์ กฎหมาย ประวัติศาสตร์ และศิลปะ ?

มาจากความที่ผมไม่ยึดติดรูปแบบว่าผมเป็นแพทย์ ต้องเรียนรู้เฉพาะเรื่องการแพทย์ เป็นคนที่สนใจอะไรแล้ว ก็อยากรู้ให้จริง ตอนไปเรียนฮาร์วาร์ด ที่นั่นทำให้เรียนรู้วิธีการของฝรั่ง ครูไม่ได้สอนว่ากรอบคืออะไร แต่สอนว่า คุณอยากรู้อะไร แล้วความรู้นี้อยู่ที่ไหน คุณต้องไปถึงมันให้หมด ในวิชาแพทย์ที่ฮาร์วาร์ด ผมต้องไปหาวิศวกรเครื่องกล วิศวกรไฟฟ้า เลยรู้ว่าวิธีการเข้าถึงการตอบโจทย์ คือการบูรณาการ ต้องหลุดจากขอบก่อน อย่าขีดวงสิ ถ้าจะทำกฎหมายคุมประเทศนี้ ต้องบูรณาการความรู้ ไม่ใช่เอามาจากมิติเดียว เรื่องภาษี พอตามไปตามมา มันไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่คือเรื่องสังคม การเมือง รูปแบบการปกครองประเทศ มันผูกกันอยู่ตลอดตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน

อะไรยากสุด ?

วิชาแพทย์ไม่ยาก เพราะเรียนมา พอรู้ถึงระดับหนึ่ง ที่เหลือเป็นกระบวนท่า ถามว่าอะไรยากสุด คิดว่าวิชาโบราณคดี เพราะมันมีเหตุการณ์มากมายเหมือนที่เกิดขึ้นในชีวิตปัจจุบันของเรา แต่บันทึกไปยี่สิบทิศ พอคนอีกยุคหนึ่งตามกลับมาดู ต้องตามยี่สิบทิศนี้กลับมารวมกัน ว่าที่แท้เกิดอะไรขึ้นกันแน่ในแต่ละช่วงเวลา ต้องเอามาผูกกัน บางทีเหลือแต่เงาของอดีต คนก็ไปนั่งคิดไปทางนั้น ทางโน้น ทางนี้ เถียงกันอยู่นั่นแหละ ไม่ยุติสักที ผมนี่คิดไม่ออกเลย (หัวเราะ) แต่ก็เป็นสิ่งที่ชอบที่สุด สนุกที่สุด เพราะเพราะตื่นเต้นเวลาหาคำอธิบายเจอ โบราณคดีแบบไม่เพ้อนี่ยากมากกกก แต่วิชาประวัติศาสตร์ในไทย จากที่เคยเรียนมา ครูสอนให้ท่องจำ ไม่ได้สอนเหตุผล กลับไปสอนให้มีมุมมองปิด ว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ชอบโบราณคดีแบบไม่เพ้อ แต่ยกย่องสุจิตต์ วงษ์เทศ ทั้งที่เขามักถูกกล่าวหาว่าเขียนงานโดยไม่ค่อยมีหลักฐาน ?

ปาดตาดูแค่ไม่กี่ย่อหน้าก็รู้แล้วว่า อาจารย์สุจิตต์ เขียนงานออกมาขนาดนั้นได้ ต้องมีความรู้ลึกซึ้ง และรู้ทุกมิติถึงจะมองเห็น บางทีแค่ไม่กี่ประโยค แต่ผมเขียนไมได้ เพราะมองไม่เห็น บางอย่างผมอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ก็มองว่าเขาคือผู้รู้ ในขณะที่นักโบราณคดีที่เขียนงานโดยตัดแปะมาเนี่ย อ่านแล้วก็เฉยๆ ผมคุยกับรุ่นน้องที่เป็นแพทย์ก็คิดเหมือนกันว่างานของสุจิตต์ วงษ์เทศคล้ายบทความทางวิทยาศาสตร์ คือประมวลผลแล้วเขียนออกมา เป็นการบูรณาการความรู้ แต่บทความทางโบราณคดี เหมือนวรรณคดี (หัวเราะ) เหมือนบทบรรยายมากกว่า ยกหลักฐานมาแค่ย่อหน้านึงอธิบายเสียยาวเฟื้อย แต่ไม่ได้เอาหลักฐานทั้งหมดมาเชื่อมโยงเข้าหากัน

ขอย้อนมาที่งานหลัก สรุปแล้วทำอะไรอยู่ ?

เป็นแพทย์ (ยิ้ม) อยู่หน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้าซึ่งตั้งขึ้นมาเพราะแพทยสภาให้ทำหลักสูตรขึ้นมาเรียนเฉพาะทาง งานหลักคือ ซ่อมคนไข้ที่ผ่าตัดมะเร็ง หน้าแหว่ง เราคิดว่าตั้งสาขานี้ขึ้นมา เพื่อ….. (หยุดคิด) ผมขอยืมคำฮาร์วาร์ดมานะ ว่า To alleviate human suffering from diseases นี่คือเป้าหมายของการตั้งโรงเรียนแพทย์ ซึ่งทำทุกอย่างเพื่อลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยจากโรค หน่วยเราพยายามลดความอับอายที่คนไข้เข้าสังคมไม่ได้ ปลอบประโลมชีวิตเขา วันก่อนเจอเด็กอายุ 17 เป็นมะเร็งที่กินเร็วมาก ต้องตัดจมูก ตัดหน้าทิ้งครึ่งหนึ่ง เรามีหน้าที่ออกแบบว่าจะซ่อมยังไง แค่ไหน ส่วนเรื่องศัลยกรรมความงามก็ทำ เพื่อสอนหมอที่ต้องการโฟกัสเรื่องนี้ให้เขาทำได้อย่างมีมาตรฐาน ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน

อวัยวะส่วนไหนทำศัลยกรรมยากที่สุด ?

ตา เพราะบางทีทำออกมา 2 ข้างไม่เท่ากัน เลยต้องระวัง เหมือนวัดดวง ทำไป 10 ราย สมมตว่าหลุดไป 2-3 ราย แก้กันเหงื่อตก บางทีแก้ไมได้ ปวดหัวเลย ทำไม่ดีจะยุ่ง รื้อไปเละตุ้มเป๊ะ ส่วนจมูกไม่ยาก เพราะไม่มีการขยับ เป็นแท่งๆนึง นิ่งๆ ในขณะที่ตาทั้งปิด ทั้งเปิด ทั้งกระพริบ

เคสที่ฝังใจที่สุดตั้งแต่เป็นแพทย์ ?

มีเคสเดียวในชีวิต ผมจำได้ดี ครอบครัวหนึ่ง ขอไม่บอกว่าเป็นใคร เป็นเศรษฐีร้อยล้านในยุคเมื่อ 30 ปีก่อน ตอนนั้นผมยังเป็นนักเรียนแพทย์ปี 5 ผู้หญิงคนหนึ่งสวยมาก มีลูกเล็กๆน่ารักมาก 2-3 คน กินยาฆ่าหญ้า 1 ช้อนชาเพราะโกรธที่สามีมีภรรยาน้อย ก็ล้างท้องไป สามีสำนึกผิดมาร้องไห้ขอโทษ ยอมหมดทุกอย่าง ปรับความเข้าใจกันได้ตั้งแต่วันแรกที่มารพ. ลูกก็มาร้องไห้ข้างเตียง ภรรยาไม่อยากตายแล้ว แต่ในที่สุดเขาก็เสียชีวิต กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ทำให้เห็นว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง มันไม่ได้กระทบแค่ชีวิตคนๆนั้น มันกระทบไปหมด ผมฝังใจมาก เพราะฉะนั้นพอไปเห็นกฎหมายที่ดิน เลยรู้สึกอิน ว่านี่คนนะ ไปเก็บภาษีเขาอย่างนี้ ไหวไหม

มันไม่ได้กระทบแต่เขา ชีวิตเขาล่ะ ครอบครัวเขาล่ะ คุณมองคนเป็นหน่วยไม่มีชีวิตหรือยังไง.

เขาหาว่าผมบ้า !?!

“เพราะการทำศัลยกรรมใบหน้า ผิดไปหนึ่งมิลลิเมตร ก็ถูกฟ้องได้ ไม่ละเอียดก็ต้องละเอียด มองทะลุ สอนลูกศิษย์ตลอดว่ามิลนึงต้องดูให้ออก ทักษะที่ดูเป็นมิลลเมตรนี้ ไม่ได้มาจากวิชาแพทย์ แต่มาจากการเรียนปั้น ซึ่งได้ฝึกตา” นพ. ถนอมย้อนเล่าถึงสาเหตุที่ไปเรียนศิลปะ โดยฝากตัวเป็นศิษย์ศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู แห่งวิทยาลัยเพาะช่าง ศิลปินระดับชาติผู้ล่วงลับ

“เพื่อนบอกว่า มันบ้า (หัวเราะ) ตอนไปหาอาจารย์ปัญญาที่เพาะช่าง อาจารย์ท่านหนึ่งในแผนกปั้นก็คิดว่าไอ้นี่บ้า แต่อาจารย์ปัญญาบอก หมอมาเรียนเถอะ รับหมด เพราะศิษย์ผมบางคนก็ปีนต้นไม้ กินแมลงสาบ เราก็ไปเรียนจริงๆ และเอาจริงเอาจังมาก เริ่มจากเขียนลายเส้นก่อน ฝีมือก็พอไปได้ พอจะให้ลงสี ขอไม่เรียน เพราะเรียนไปใช้ผ่าตัด ไม่ต้องใช้สี เอาแต่เส้น แสง เงา เลยโดดไปเรียนปั้น ก็ได้นำทักษะมาใช้ในงานจนถึงทุกวันนี้”

คุณหมอยังเล่าว่า ก่อนอาจารย์ปัญญาเสียชีวิต ได้ฝากเรื่องสุดท้ายไว้ว่า ขอช่วยศึกษาความเป็นมาของโรงเรียนเพาะช่างว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะข้อมูลเท่าที่มีอยู่ย้อนกลับไปได้แค่สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ความจริงมีจุดเริ่มต้นย้อนหลังไปไกลกว่านั้น

“ผมได้ค้นคว้าร่วมกับคุณรัชดา โชติพานิช นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์ ทำให้พบเอกสารชุดใหญ่ของกระทรวงธรรมการเลยได้เห็นถึงการจัดตั้งโรงเรียนสามัญจนถึงโรงเรียนช่างว่าเกิดขึ้นอย่างไร รัชกาลที่ 5 ทรงพยายามมากขนาดไหน เป็นการไขความลับที่ว่า ทำไมโรงเรียนเพาะช่างจึงเกิดจากสามัคยาจารย์ ซึ่งก็คือคุรุสภา แต่วิชาของเพาะช่างทำไมมาจากกรมช่างสิบหมู่”

เอกสารสำคัญชุดดังกล่าวถูกจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ‘ประมวลเอกสารประวัติศาสตร์โรงเรียนช่างในสมัยรัชกาลที่ 5-6’ สำหรับเป็นที่ระลึกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพของอาจารย์ปัญญา เพื่อสืบสานและตอบแทนแด่ครู จากศิษย์ ที่เคยถูกหาว่าบ้า.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image