บึงกาฬโมเดล ผนึกกำลัง แก้ปัญหาวิกฤตยางพารา

แฟ้มภาพ

กำลังเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับ ‘บึงกาฬ’ จังหวัดน้องใหม่ลำดับสุดท้ายของประเทศไทย

จังหวัดเล็กๆ เเต่มีศักยภาพในการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยตำแหน่งที่ตั้งติดต่อชายแดน สปป.ลาว อันเป็นข้อได้เปรียบมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะเดียวกันยังเป็นจังหวัดที่มีเเหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ เเละกำลังเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวอย่าง ‘ภูสิงห์-ภูทอก’

ในด้านภูมิศาสตร์ บึงกาฬ เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ครองตำเเหน่ง ศูนย์กลางยางพาราของภาคอีสาน ที่ประกาศความยิ่งใหญ่ผ่าน “งานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ” งานระดับภูมิภาคที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

ในปีนี้เเม้ยางพารากำลังประสบปัญหาวิกฤตด้านราคา เเต่จังหวัดบึงกาฬ ภายใต้การนำของผู้ว่าฯ พงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เหล่ากาชาดจังหวัดบึงกาฬ หอการค้าจังหวัดบึงกาฬ และองค์การหน่วยงานราชการ-เอกชน ยังเดินหน้าจัด “งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2559” อย่างยิ่งใหญ่ถึง 7 วันเต็ม เพื่อสร้างต้นเเบบเเนวคิดเเก้วิกฤตยางพารา

Advertisement

ดังที่ นิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ประกาศชัดเจนว่า “จังหวัดบึงกาฬ จะเป็นโมเดลนำร่องแก้ปัญหายางพาราอย่างยั่งยืน”

เพราะวิกฤตไม่ได้เป็นเพียงเเค่ปัญหา หากหาทางออกได้มันจะสร้างโอกาสที่ยิ่งใหญ่ นิพนธ์จึงจับมือกับอาจารย์จากสถาบันวิจัยยางเพื่อหาวิธีการเเปรรูปยางพารา สร้างผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า

“ตอนนี้เรากำลังจะมีโรงงานผลิตหมอนเเละที่นอนยางพาราของชุมชนสหกรณ์ยางพาราจังหวัดบึงกาฬ ที่คนในจังหวัดทุกคนจะได้ประโยชน์ เพราะตอนนี้น้ำยางพารามีราคาประมาณ 10 บาท หมอนเเต่ละใบใช้ยาง 5 กิโลกรัม เท่ากับ 1 ใบใช้ยางพารา 50 บาท เราสามารถขายได้ราคาหลักร้อยถึงหลักพัน เป็นการเพิ่มมูลค่าต่อกิโลกรัมมากขึ้น โดยในเเต่ละวันสามารถผลิตหมอนได้ 8,000 ใบ ใช้น้ำยางพารา 40,000 กิโลกรัม ต่อปีใช้ยางพารา 12,000 ตัน ส่วนที่นอนยางพารา 1 ผืนใช้น้ำยางพารา 300 กิโลกรัม ต่อปีคาดว่าจะผลิตได้ 20,000 ผืนใช้ยางพาราประมาณ 6,000 ตัน ซึ่งทั้งหมดคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตในจังหวัดบึงกาฬ ยางพาราที่เหลือส่วนหนึ่งจะนำไปแปรรูปเป็นยางเเท่งเเละยางรมควัน อีกส่วนจะนำไปวิจัยนำสนามกีฬา ช่วยให้จังหวัดบึงกาฬมีสนามตะกร้อ สนามฟุตบอลจากยางพาราที่มีคุณภาพ”

Advertisement

ยางพาราบึงกาฬ

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ยังวางเเนวคิดไว้ว่าอนาคตจะเเปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์อื่นที่มีราคามากขึ้น เช่น ล้อรถยนต์ ล้อรถแทรกเตอร์ รถไถนาด้วย

“ผมมองว่าการก้าวจากภาคการผลิตวัตถุดิบ เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม จะเป็นทางออกของวิกฤตยางพาราที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ซึ่งเป็นโมเดลการเเก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด นอกจากชุมชนสหกรณ์ที่เป็นเจ้าของโรงงานเเล้ว ในส่วนเกษตรกรเจ้าของสวน การแปรรูปจะช่วยเเก้ปัญหาเรื่องน้ำยางพาราที่ล้นตลาดขณะนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคายางพาราดีขึ้นได้ในอนาคต เเล้วผมมีเเนวคิดว่าจะคืนกำไรให้กับชาวบ้าน อย่างตอนนี้ราคาอยู่ที่กิโลละ 10 บาท เเต่โรงงานเเปรรูปของเราตั้งใจจะรับซื้อวัตถุดิบมาแปรรูปในราคาที่ดีกว่านี้เพราะหมอนเเละที่นอนมีกำไรค่อนข้างมาก” นายนิพนธ์กล่าว

เช่นเดียวกับ พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เเละประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า มากกว่าจะขายวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะในจังหวัดบึงกาฬที่ผ่านมามีเเค่ต้นน้ำ คือยางพารา เเละกลางน้ำ คือยางเเท่ง ต่อไปเราต้องรวมกลุ่มกันและส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปทำหมอนที่นอน ทำสนามกีฬา

“ในส่วนของรัฐบาลจะต้องส่งเสริมอย่างทั่วด้าน เพื่อเเก้ปัญหาราคายางที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ เช่นการส่งเสริมให้กระทรวงคมนาคมใช้ยางพาราผสมในการทำถนน เเละสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ออกมาตอนนี้ เป็นการเเก้ปัญหาที่ถูกทางเเล้ว โดยเฉพาะการส่งเสริมเรื่องการแปรรูปและให้หน่วยงานของรัฐเป็นตัวนำในการใช้ผลิตภัณฑ์ยาง รวมถึงการผลักดันราคายางกิโลกรัมละ 45 บาท ก็เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลกล้าตัดสินใจ”

พินิจยังเเนะนำอีกว่า ถ้าประเทศไทยจะสนับสนุนให้มีการเเปรรูป เรื่องตลาดเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องมีการศึกษาด้วยว่าผลิตภัณฑ์ไหนเป็นที่ต้องการของตลาด ผลิตภัณฑ์ไหนที่มีอยู่เยอะเเล้ว ต้องส่งเสริมให้มีการผลิตอย่างอื่นที่หลากหลาย ไม่ใช่ทำหมอนอย่างเดียวกันหมดทั้งประเทศ มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยางอีกเยอะ

ด้านวิกฤตราคายางพาราตอนนี้นับว่าหนักมากในรอบสิบกว่าปี ชาวสวนหลายคนถึงขั้นโค่นยางทิ้ง เเต่พินิจยืนยันว่า “ไม่โค่นเเน่นอน”

“เพราะราคาไม่ว่าจะมากน้อยเท่าไหร่ก็ตาม ยางพาราก็ไม่มีขาดทุน ยิ่งชาวบ้านที่เป็นคนกรีดเองก็ยิ่งไม่ขาดทุนมีรายได้เข้ามาอยู่เเล้ว เพียงเเต่มันอาจจะน้อยลงเท่านั้น เเต่ถามกระทบชาวสวนหรือไม่ มันก็ต้องกระทบเพราะได้เงินน้อยลงมากจนไม่น่าเชื่อว่าจะน้อยขนานนี้ แต่ตอนนี้รัฐบาลบอกว่าจะปรับขึ้นถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

หลายคนมักตั้งคำถามว่าวิกฤตราคายางตกต่ำอย่างหนักเกิดจากปริมาณยางที่ล้นตลาดหรือไม่นั้น พินิจอธิบายว่า ยางพาราในตอนนี้ยังไม่ล้นตลาด ปริมาณยังอยู่ในความต้องการ เเต่ที่ราคายางชะลอตัวลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกมันหดตัว ทำให้เงินฝืด คนไม่มีกำลังซื้อ ไม่ว่ารถยนต์หรืออะไรก็ตามชะลอตัวลง ราคายางจึงตกลงเเต่ความต้องการยางพารายังไม่ลดลง คือยังมีความต้องการจะใช้อยู่ เเต่ต่อไปยางจะล้นตลาดหรือไม่นั้นก็ยังไม่แน่ถ้าเศรษฐกิจเเย่ลงเเนวโน้มความต้องการในตลาดก็จะลดลงอีก

ส่วนอนาคตราคาของยางพาราจะเป็นอย่างไรนั้น พินิจประเมินว่า ในปีหน้าราคายางน่าจะเพิ่มขึ้น

“ผมยังมองว่าอนาคตยางเคมีหรือยางเทียมจากโรงกลั่นต่างๆ จะลดลง จากการปิดตัวเนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมาก จะส่งผลให้เกิดการหันมาใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้น อาจจะมากถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันเเล้วถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะช่วยให้ราคายางขยับตัวขึ้นด้วย

นิพนธ์ คนขยัน, พินิจ จารุสมบัติ, เฉินหู้เซิง (โทนี่ เฉิน)
นิพนธ์ คนขยัน, พินิจ จารุสมบัติ, เฉินหู้เซิง (โทนี่ เฉิน)

ขณะที่พันธมิตรที่ร่วมสนับสนุนการจัดงานวันยางพารา ต่อเนื่องตั้งเเต่ปีเเรก อย่างรับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ประเทศจีน ปีนี้ก็ยังยืนยันเดินหน้าสนับสนุนเช่นเคย

เฉินหู้เซิง (โทนี่ เฉิน) ผู้อำนวยการ ฝ่ายประเทศไทย บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ประเทศจีน บอกว่า ที่ผ่านมาระหว่างรับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป กับจังหวัดบึงกาฬมีความร่วมมือที่ดีเสมอมา มีการลงนาม MOU ร่วมกัน เเละในปีนี้จะร่วมมือกับกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดบึงกาฬตั้งโรงงานแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางเเท่ง ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ ลดขั้นตอนจากการเเปรรูปแบบเดิม ที่ต้องนำน้ำยางมาทำเป็นยางก้อนถ้วยก่อนจะนำไปทำยางเเท่ง

“ในส่วนการเเปรรูปของจังหวัด ทราบมาว่าบึงกาฬกำลังจะตั้งโรงงานทำหมอนเเละที่นอนจากยางพารา รับเบอร์ วัลเล่ย์ จะเป็นเหมือนสะพานเชื่อมในการหาตลาดประเทศจีนเพื่อจำหน่าย ผมมองว่าการทำเเบบนี้จะช่วยให้ราคายางที่กำลังตกต่ำเพิ่มสูงขึ้น เพราะมีการใช้วัตถุดิบเพิ่มขึ้น ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมราคายางพาราถูกลง มันทำให้เราขายได้ยากขึ้น เพราะคนซื้อมองว่าวัตถุดิบถูกทำไมไม่ลดราคา เเต่ขั้นตอนการผลิตมันมีอีกหลายปัจจัย ดังนั้นพอราคายางพาราถูกลงเเล้วเราไม่ดีใจเลย อยากให้อยู่ในระดับที่พอดี เหมาะสม อยู่ตัวเท่าที่ผ่านมา ช่วงที่ราคายางพาราอยู่ที่ 70-80 บาท เป็นช่วงที่นิ่งเเละอยู่ตัวที่สุด เเละเป็นราคาที่ทุกคนยอมรับ” เฉินหู้เซิงทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจ

ทั้งหมดเป็นความห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจาก “งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2559” ที่จะร่วมกันหาทางออกจากปัญหา “วิกฤตราคายางพารา” ในขณะนี้

สำหรับ “งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2559” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-27 มกราคมนี้ ที่บริเวณที่ว่าการอำเภอเมืองจังหวัดบึงกาฬ ภายใต้แนวคิด “บึงกาฬเมืองแห่งยางพารา การค้า และการท่องเที่ยว” โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บึงกาฬเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยางพาราของภาคอีสาน ซึ่งงานนี้มีการพัฒนาเป็นงานระดับนานาชาติ โดยมีพันธมิตรจากต่างประเทศมาเข้าร่วมมากมาย เช่นกลุ่มรับเบอร์ วัลเล่ย์ จากประเทศจีน และตัวแทนจาก สปป.ลาว

ในงานยังเต็มไปด้วยความรู้และกิจกรรมเกี่ยวกับยางพารามากมาย อาทิ นิทรรศการ “เมืองแห่งยางพารา การค้า และการท่องเที่ยว” นิทรรศการการทำสวนยางแบบผสมผสาน นิทรรศการการค้าที่เชื่อมโยงกับ AEC การให้ความรู้ด้านยางพาราจากหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงสินค้าอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ “นิทรรศการฝากไทย” เป็นครั้งแรกของภาคอีสาน เเละกิจกรรมบันเทิงอีกมากมายตลอด 7 วัน

ห้ามพลาดงานประจำปีที่เกษตรกรชาวสวนยางทุกคนเฝ้ารอ เเล้วพบกันที่บึงกาฬ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image